การรับรู้ 2


Perception

         4.  องค์ประกอบ

                        อารี  พันธ์มณี  (2544, หน้า 16, 31) กล่าวว่า  การรับรู้นี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ  2 องค์ประกอบ คือ

                          1.  ภาพ (figure) หมายถึง ส่วนสำคัญที่ต้องการเน้นให้เกิดการรับรู้

                               2.  พื้น (ground) หมายถึง ส่วนประกอบที่ทำให้ภาพชัดเจนขึ้น

                     พลางกูร  ยอดน้ำคำ (2548, หน้า 14-15)  กล่าวว่า องค์ประกอบของการรับรู้ มี  3 ประการ  ได้แก่

                           ประการที่ 1 การรับรู้เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของสิ่งเร้า  ซึ่งจะไปกระตุ้นอวัยวะรับสัมผัสให้เกิดการทำงานและส่งรายละเอียดไปยังประสาทสัมผัสเพื่อส่งต่อไปยังสมอง  เรียกกระบวนการนี้ว่า  การสัมผัส

                           ประการที่ 2  การรับรู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ที่บุคคลได้รับแล้วนำมาผสมผสานกับข้อมูลอื่น เรียกกระบวนการนี้ว่า การรับรู้ (perception)

                           ประการที่  3  การรับรู้เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและคุณลักษณะของผู้รับรู้  ประกอบด้วย ทัศนคติ ประสบการณ์เดิม แรงขับ บุคลิกภาพ รวมทั้งลักษณะอื่นๆ ของผู้รับรู้ เช่น การเอาใจใส่ความสามารถในการเรียนรู้ เป็นต้น

                     ฮาวกินส์,  และคนอื่นๆ (Hawkins et al.,1998, p. 211)  กล่าวว่า การรับรู้ (perception)  ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ  3  ส่วน  ได้แก่ 

                           1. การเปิดรับ (exposure) เกิดขึ้นเมื่อตัวกระตุ้นเช่นอาจจะเห็นป้ายโฆษณา  ผ่านเข้ามาในประสาทตา เห็นภาพนั้นได้ 

                           2. ความเข้าใจ (attention) เกิดขึ้นเมื่อ ประสาทส่วนรับรู้ส่งความรู้สึกนั้นไปยังสมองเพื่อทำการประมวลผลข้อมูล  ซึ่งก็จะทำให้เกิดการตีความ  และ

                           3. การตีความ (interpretation)  สิ่งที่ได้รับมาให้เป็นความหมาย 

                     นอกจาก  3  ส่วนที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมี การจดจำ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าทีเก็บความหมายจากสิ่งกระตุ้นนั้นเอาไว้ในความจำระยะสั้น (short-term memory) เพื่อนำมาใช้ ตัดสินใจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทันด่วน  หรืออาจจะเก็บความหมายนั้นไว้ในความจำระยะยาว (long-term memory) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเกี่ยวกับข่าวสาร  (information  processing)

                     จากที่นักการศึกษากล่าวมาสรุปได้ว่า  การรับรู้มี  4 องค์ประกอบ ได้แก่   1)  การเปิดรับ  เกิดขึ้นเมื่อตัวกระตุ้น  เช่น ได้เห็นภาพต่างๆ  อันส่วนสำคัญที่ต้องการเน้นให้เกิดการรับรู้  ผ่านเข้ามาในประสาทตา เห็นภาพนั้นได้  2) ความเข้าใจ เกิดขึ้นเมื่อประสาทส่วนรับรู้พื้นภาพ  คือส่วนประกอบที่ทำให้ภาพชัดเจนขึ้น  แล้วส่งความรู้สึกนั้นไปยังสมอง เพื่อทำการประมวลผลข้อมูล  ซึ่งก็จะทำให้เกิดการตีความ  3) การตีความ สิ่งที่ได้รับมาให้เป็นความหมาย  และ 4)  การจดจำ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่เก็บความหมายจากสิ่งกระตุ้นนั้นเอาไว้ในความจำระยะสั้น เพื่อนำมาใช้ตัดสินใจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทันด่วน  หรืออาจจะเก็บความหมายนั้นไว้ในความจำระยะยาวก็ได้

     5.  ประเภท

           การรับรู้  (perception) เป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับจิตวิทยา  สังคม  และพฤติกรรมการรับรู้  มีนักการศึกษาได้จัดแบ่งประเภทของการรับรู้ไว้ ดังต่อไปนี้

           ณัฏฐพร  ชินบุตร  (2547, หน้า 40)  กล่าวว่า การรับรู้แบ่งออกเป็น  4 ประเภท ดังนี้

                 1. การรับรู้ทางอารมณ์  หมายถึง  การรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ  เช่น รู้สึกดีใจ เสียใจ ตื่นเต้น รัก เกลียด ชื่นชม เป็นต้น

                 2. การรับรู้ลักษณะของบุคคล  ต้องอาศัยการแปลข้อมูล  3 ประการ คือ

                      2.1  ลักษณะทางกายภาพ เช่น รูปร่าง  หน้าตา ลักษณะแขน ขา เท้า สีผิว

                      2.2  พฤติกรรม เช่น การพูดคุย การยิ้ม การหัวเราะ และการเดิน

                      2.3  คำบอกเล่า เช่น คำบอกเล่าจากญาติพี่น้อง เพื่อน  และผู้ใกล้ชิด

                 3. การรับรู้ของกลุ่มบุคคล หมายถึง มโนภาพ หรือมโนคติของสิ่งต่างๆ ตามที่บุคคลรับรู้  เป็นภาพที่อยู่ในความคิด หรือจินตนาการของบุคคล  และบุคคลสามารถบอกลักษณะของภาพเหล่านั้นให้ผู้อื่นทราบได้ด้วย

                 4. การรับรู้ปรากฏการณ์ทางสังคม  เป็นการตีความหรือแปลความหมายสิ่งต่างๆ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ตามความเชื่อของตนเองเพื่อให้เกิดความเข้าใจ  และสามารถอธิบายสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้  การรับรู้ปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุสำคัญ  2 ประการคือ

                      4.1 ระดับการรับรู้ หมายถึง การที่บุคคล  มีความรู้  ความสามารถ  ประสบการณ์  เชาว์ปัญญา หรือความเฉลียวฉลาด เมื่อต่างกัน  ย่อมมีผลในการตีความต่อสิ่งต่างๆ ได้ต่างกันด้วย

                      4.2 การเปลี่ยนการรับรู้ คือ ถ้าผู้มีการรับรู้ต่ำ เมื่อได้มีโอกาสสนทนา  หรืออภิปรายกับผู้ที่มีการรับรู้สูง  ก็อาจจะถูกผู้มีการรับรู้สูง  เปลี่ยนแนวความคิด  หรือแนวทางการรับรู้ได้

           โดยการรับรู้ทางอารมณ์และการรับรู้ภาพพจน์ของกลุ่มบุคคลเป็นการรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ  ส่วนการรับรู้ลักษณะของบุคคลและการรับรู้ปรากฏการณ์ทางสังคมต้องอาศัยการแปลความหรือตีความจากข้อมูลและความเชื่อ

              จากที่นักการศึกษากล่าวมาสรุปได้ว่า  การรับรู้แบ่งออกได้เป็น  4 ประเภท  ได้แก่ 1) การรับรู้ทางอารมณ์  เป็นการรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ 2) การรับรู้ลักษณะของบุคคล ทางกายภาพ ทางพฤติกรรม และทางคำบอกเล่า  3) การรับรู้ของกลุ่มบุคคลทางมโนภาพหรือมโนคติของสิ่งต่างๆ ตามที่บุคคลรับรู้  และสามารถบอกลักษณะของภาพเหล่านั้นให้ผู้อื่นทราบได้ด้วย  และ 4) การรับรู้ปรากฏการณ์ทางสังคม เป็นการตีความหรือแปลความหมายสิ่งต่างๆ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ตามความเชื่อของตนเองเพื่อให้เกิดความเข้าใจ  และสามารถอธิบายสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้  โดยการรับรู้ ทางอารมณ์และการรับรู้ภาพพจน์ของกลุ่มบุคคลเป็นการรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ  ส่วนการรับรู้ลักษณะของบุคคลและการรับรู้ปรากฏการณ์ทางสังคมต้องอาศัยการแปลความหรือตีความจากข้อมูลและความเชื่อ

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 259732เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2009 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บรรณานุกรม/การรับรู้

ณัฏฐพร ชินบุตร (2547). การรับรู้ในบทบาทหน้าที่และความต้องการในการพัฒนาตนเองของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

บุญลือ คชเสนีย์ (2544). บทบาทที่คาดหวังและบทบาทที่เป็นจริงของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาเขตการศึกษา5เกี่ยวกับการส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.

ผกา สัตยธรรม (2544). คุณธรรมของครู. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ลักขณา สริวัฒน์ (2539). จิตวิทยาเบื้องต้น (จิต.101) (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : โอ.เอส. พริ้นติ้งส์. เฮ้าส์

สังคม ศุภรัตนกุล. (2546). การรับรู้บทบาทและแรงจูงใจของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับการปฏิบัติงาน ในการให้บริการหลักในศูนย์สุขภาพชุมชนจังหวัดหนองบัวลำภู.วิทยานิพนธ์ปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสาธารณสุข บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สินธร คำเหมือน (2550). บทบาทผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา ตามทรรศนะของครูและผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.

อารี พันธ์มณี. (2544). จิตวิทยาการเรียนการสอน (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ : เลฟแอนด์ลิพเพรส.

Schiffman, L. G., & Kanuk, L. L. (2000). Consumer Behavior (7th ed.). Upper Saddle River, N.J Prentice Hall.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท