โรงรมร้าง


สำหรับกลุ่มที่จะเริ่มต้น ก่อนอื่นแค่ทำจุดรับซื้อน้ำยางก่อนสักพัก เพื่อทดสอบความตรงไปตรงมาของสมาชิกผู้ขายน้ำยาง กับความซื่อสัตย์และทักษะการดูคุณภาพน้ำยาง การทำบัญชีง่ายๆของกรรมการที่รับซื้อน้ำยาง เรียนรู้ตลาดสักพักแล้วค่อยขยายไปสู่การทำยางแผ่น

หมู่บ้านของน้องมีโรงรมยางร้างอยู่หนึ่งหลัง....  นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก  เพราะในหลายๆพื้นที่ทางภาคใต้ก็มี สุสาน ร้างอย่างนี้ ..    เป็น สุสาน หนึ่งของความล้มเหลวในการส่งเสริมการเกษตรของรัฐไทย

 

น้องมุ่งมั่นอยากให้บ้านเกิดดีขึ้น   และอยากให้มีการรื้อฟื้นทำโรงรมยางขึ้นมาใหม่เพราะเสียดายทรัพยากรที่ลงทุนไป   

 

เราบอกน้องว่า  โรงรมยางนั้นทำไม่ง่าย    น้องเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งเพราะถามคนที่ทำสำเร็จก็เหมือนไม่ยาก

 

เราคิดว่า  หลักฐานสุสานทิ้งร้างในหลายพื้นที่น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่าไม่ใช่ง่ายนัก  แต่หากจะหาเหตุผลมาอธิบาย   เราคงมีคำอธิบายต่อไปนี้

 

การทำโรงรมยางโดยระบบกลุ่มนั้น  มีถึงห้ากิจกรรมสำคัญต้องทำให้ลุล่วง

 

หนึ่ง   รวมกลุ่ม 

สอง   รับซื้อน้ำยาง

สาม   ทำยางแผ่นดิบ

สี่       รมควันยาง

ห้า     ค้าขาย  ทำบัญชีการเงิน  ทำบัญชีสต็อคสินค้า

 

ปัจจุบัน  การรวมกลุ่มชาวบ้านเกี่ยวกับยางที่พบมากที่สุด  คือ  การทำกลุ่มรับซื้อน้ำยาง   (กิจกรรม 1 กับ 2)  ซึ่งทำง่ายกว่าโรงรมเยอะ  แต่ก็ไม่ใช่ง่ายเสียทีเดียว

 

 

กิจกรรม 1 กับ 2

 

ที่ว่า  การรับซื้อน้ำยางไม่ใช่ง่ายเสียทีเดียวนั้น  เพราะยังต้องมีเรื่องการวัดคุณภาพน้ำยาง  การชั่งน้ำหนัก  และการหาเงินทุนหมุนเวียนไว้รับซื้อ    ลำพังแค่รับซื้อน้ำยางอย่างเดียว  กลุ่มรับซื้อน้ำยางยังต้องมีกติกา 5-6 ข้อเขียนไว้บนกระดาน  เช่น

  • ต้องขายให้กลุ่มอย่างเดียวห้ามขายเจ้าอื่น  
  • มีการปรับ หากพบว่าน้ำยางที่สมาชิกนำมาส่งมีการปลอมปน  
  • ให้สมาชิกซื้อหุ้นแรกเข้าเท่ากับจำนวนเงินที่จะรับซื้อน้ำยางของตัวเองได้ 3 เดือน  ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียน  เป็นต้น 
  • บางกลุ่มกำหนดให้สมาชิกต้องวางเงินมัดจำเพื่อประกันคุณภาพน้ำยางไว้ด้วย... 

ประธานกลุ่มรับซื้อกลุ่มหนึ่งบอกว่า  ถ้าเจ้าของกรีดน้ำยางเอง  รวบรวมนำมาขายเองก็ได้น้ำยางคุณภาพดีหน่อย  ถ้ามาจากสวนที่จ้างกรีด คุณภาพจะไม่ค่อยดี  มีการผสมน้ำ (เพราะอยากได้น้ำหนัก) เป็นต้น

 

การทำกลุ่มรับซื้อน้ำยางสด มีคนทำงานเพียงคนเดียว   แค่จุ่มเครื่องมือลงไปในน้ำยางเพื่อประมาณปริมาณเนื้อยางแห้ง   กดเครื่องคิดเลขตีราคา  จดบันทึก   จ่ายเงิน แต่หากจะทำยางแผ่นรมควัน  วิธีตรวจจะยากขึ้น ต้องทดลองอบแห้งด้วย หากต้องการยางคุณภาพดีหน่อย...

 

 

กิจกรรม 3

ขั้นตอนทำยางแผ่นดิบของโรงรมที่หาดใหญ่  ต้องจ้างคนงานต่างถิ่นหรือต่างด้าวเป็นทีมประมาณ 4-5 คน   เอายางขึ้นจากบ่อน้ำกรด(อ่อน)   ป้อนยางเข้าเครื่องรีดยาง (ทำไม่ดี มือหายเข้าเครื่องรีดไปด้วย)  แล้วต้องมีชายหนุ่ม ปีนขึ้นราวตาก 2-3  ชั้น เพื่อตากยาง   ตากเต็มแล้ว  ก็เข็นเข้าเตาอบ     ทำยางแผ่น ต้องใช้น้ำพอสมควร...

 

ทำไมใช้แรงงานจากนอกพื้นที่ ?   ได้รับคำตอบว่า   คนในพื้นที่ควบคุมยาก”… เป็นงั้นไป..  คงกดค่าแรงคนต่างพื้นที่ได้ด้วยกระมัง...

 

 

กิจกรรม 4

 

เทคนิคการอบรมควันที่สำคัญคือ  ไฟไม่แรงเกินไป  ถ้าไฟแรง น้ำในยางเดือด ยางแผ่นก็เป็นฟองอากาศ   คุณภาพตก   โรงรมร้างแห่งหนึ่ง บอกว่า  ที่เจ๊งเพราะอบไฟแรงไปจนผลผลิตเสียหายนี่แหละ

 

 

กิจกรรม 5

 

การรวมกลุ่มรับซื้อน้ำยางนั้น  เช้ารับซื้อน้ำยางสายๆก็ส่งขาย ให้บริษัท หรือพ่อค้า การทำกิจกรรมวันต่อวันนั้นเรื่องการขึ้นลงของราคาไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่  

 

ส่วนการทำยางแผ่นรมควัน  ข้อมูลราคามีความสำคัญ 

 

สมมติว่า  เช้ารับซื้อน้ำยางตามราคาตลาด 30 บาท บวกต้นทุนแปรรูปรมควัน 3 บาท  คิดว่าจะขายสัก 34 บาทตามราคาตลาดขณะนั้น  โชคร้าย  เช้าวันรุ่งขึ้นที่ได้ผลผลิตเสร็จออกมาพร้อมขาย  ราคายางแผ่นรมควันตกไปเหลือ 33 บาทแค่นี้ก็ไม่ได้กำไรแล้ว  ตอนสายๆราคาเหลือ 32.50 บาท ขายช้าไปนิดก็ขาดทุน   หากยังไม่ขายเพราะคิดว่าขาดทุนก็ต้องเก็บสต็อครอราคา  เงิน 33 บาทที่จ่ายต้นทุนไปแล้ว ก็ยังไม่ได้คืน... แถมยังมีดอกเบี้ย   ต้องทำบัญชีดีๆ  ทั้งบัญชีการเงินและบัญชีสินค้า 

 

ผลิตเก่ง ผลิตดีแค่ไหน  หากคาดการณ์ราคาผิดพลาด  ทำบัญชีสต็อคสินค้าไม่ดีก็เจ๊งได้ง่ายๆ..

 

จุดเสี่ยงมีตลอดกระบวนการ.... 

รวมถึงแนวโน้มที่ตลาดต้องการน้ำยางสด  ยางก้อน  ขี้ยาง  เพิ่มขึ้น ความต้องการยางแผ่นมีแนวโน้มลดลง

 

คิดว่า  สำหรับกลุ่มที่จะเริ่มต้น  ก่อนอื่นแค่ทำจุดรับซื้อน้ำยางก่อนสักพัก เพื่อทดสอบความตรงไปตรงมาของสมาชิกผู้ขายน้ำยาง  กับความซื่อสัตย์และทักษะการดูคุณภาพน้ำยาง   การทำบัญชีง่ายๆของกรรมการที่รับซื้อน้ำยาง    เรียนรู้ตลาดสักพักแล้วค่อยขยายไปสู่การทำยางแผ่น

 

คือ มีความรอบรู้สิ่งที่จะทำ และทดสอบฝึกฝนคุณธรรมของสมาชิกและกรรมการกลุ่มเสียก่อน  มีการวางแผน ค่อยเติบโตเป็นขั้นเป็นตอน  ก็น่าจะสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเปี๊ยบเลย

หมายเลขบันทึก: 259351เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2009 08:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ อาจารย์

ก่อนอื่นต้องกราบขออภัยอาจารย์ที่หยิบเรื่องที่ไม่ตรงกับบันทึกมาสนทนาครับ

ตอนนี้ผมทำเรื่องข้าวอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช "ชวนชาวนามาเรียนรู้เรื่องการทำการค้าข้าวครับ" ปัญหาคือ ผมไม่รู้เรื่องนี้เลย ผมเป็นเพียงแค่คนธรรมดาที่พอจะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ชาวบ้านได้เท่านั้นเอง

ผมจึงอยากจะเรียนปรึกษาอาจารย์ว่า อาจารย์พอจะแนะนำหรือรู้จักใครที่ทำเรื่อง ระบบการค้าข้าวของโลก ระบบการค้าข้าวของประเทศเรา ได้หรือเปล่าครับ อาจจะเป็นบุคคล หรือหนังสือ หรืองานวิจัยก็ได้นะครับ

โครงการที่ผมเข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนขณะนี้ ผมตั้ง "ชื่อเล่น" ให้โครงการว่า "โครงการการะเกด" เจ้าของโครงการคือ "องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช" ดำเนินการในพื้นที่ ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่การทำนาหนึ่งหมื่นไร่เศษ ภาพรวมจุดมุ่งหมายของโครงการนี้คือ "ต้องการให้ชาวนาเรียนรู้และลุกขึ้นมาจัดการเรื่องข้าวด้วยชาวนาเอง"

ผมขอบคุณอาจารย์ล่วงหน้าที่กรุณาให้คำชี้แนะ

ด้วยความนับถือ

นายสวัสดิ์ พุ่มพวง

การทำบัญชีต้องใช้บัญชีอะไรบ้างค่ะ โรงรมยาง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท