สมบัติของผู้ดี (ต่อ)


การอยู่ร่วมกันในสังคม ของมนุษย์

วจีจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่เที่ยวติเตียนสิ่งของที่เขา ตั้ง แต่ง ไว้ในบ้านที่ตนไปสู่.

          (๒) ย่อมไม่กล่าวสรรเสริญรูปกายบุคคลแก่ตัวเขาเอง.

          (๓) ย่อมไม่พูดให้เพื่อนเก้อกระดาก.

          (๔) ย่อมไม่พูดเปรียบเปรยเกาะแกะสตรีกลางชุมชน.

          (๕) ย่อมไม่ค่อนแคะติรูปกายบุคคล.

          (๖) ย่อมไม่ทักถึงการร้ายโดยพลุ่งโพล่งให้เขาตกใจ.

          (๗) ย่อมไม่ทักถึงสิ่งอันน่าอายน่ากระดากโดยเปิดเผย.

          (๘) ย่อมไม่เอาสิ่งที่น่าจะอายจะกระดากมาเล่าให้แขกฟัง.

          (๙) ย่อมไม่เอาเรื่องที่เขาพึงซ่อนเร้นมากล่าวให้อับอายหรือเจ็บใจ.

          (๑๐) ย่อมไม่กล่าวถึงการอัปมงคลในเวลามงคล.

 

มโนจริยา คือ

          (๑) ย่อมรู้จักเกรงใจคน. 

 

ภาค ๕

ผู้ดี ย่อมเป็นผู้มีสง่า

กายจริยา คือ

          (๑) ย่อมมีกิริยาอันผึ่งผายองอาจ.

          (๒) จะยืนนั่ง ย่อมอยู่ในลำดับอันสมควร ไม่เป็นผู้แอบหลังคนหรือหลีกเข้ามุม.

          (๓) ย่อมไม่เป็นผู้สะทกสะท้านงก เงิ่น หยุด ๆ ยั้ง ๆ .

 

วจีจริยา คือ

          (๑) ย่อมพูดจาฉะฉานชัดถ้อยความ ไม่อุบอิบอ้อมแอ้ม.

 

มโนจริยา คือ

          (๑) ย่อมมีความรู้จักงามรู้จักดี.

          (๒) ย่อมมีอัชฌาสัยอันกว้างขวาง เข้าไหนเข้าได้.

          (๓) ย่อมมีอัชฌาสัยเป็นนักเลง ใครจะพูดหรือเล่นอันใดก็เข้าใจและต่อติด.

          (๔) ย่อมมีความเข้าใจว่องไวไหวพริบ รู้เท่าถึงการณ์.

          (๕) ย่อมมีใจอันองอาจกล้าหาญ. 

 

ภาค ๖

ผู้ดี ย่อมปฏิบัติการงานดี

กายจริยา คือ

          (๑) ย่อมทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน.

          (๒) ย่อมไม่ถ่วงเวลาให้คนอื่นคอย.

          (๓) ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบจดหมาย.

          (๔) ย่อมไม่ทำการแต่ต่อหน้า.

 

วจีจริยา คือ

          (๑) พูดสิ่งใดย่อมให้เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้.

          (๒) ย่อมไม่รับวาจาคล่อง ๆ โดยมิได้เห็นว่าการจะเป็นได้หรือไม่.

 

มโนจริยา คือ

          (๑) ย่อมเป็นผู้รักษาความสัตย์ในเวลา.

          (๒) ย่อมไม่เป็นผู้เกียจคร้าน.

          (๓) ย่อมไม่เข้าใจว่า ผู้ดีทำอะไรด้วยตนไม่ได้.

          (๔) ย่อมไม่เพลิดเพลินจนละเลยให้การเสีย.

          (๕) ย่อมเป็นผู้รักษาความเป็นระเบียบ.

          (๖) ย่อมเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาเมื่ออยู่ในหน้าที่.

          (๗) ย่อมมีมานะในการงานไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก.

          (๘) ย่อมเป็นผู้ทำอะไรทำจริง.

          (๙) ย่อมไม่เป็นผู้ดึงดันในที่ผิด.

          (๑๐) ย่อมปรารถนาความดี ต่อการงานที่ทำอยู่เสมอ. 

 

ภาค ๗

ผู้ดี ย่อมเป็นผู้ใจดี

กายจริยา คือ

          (๑) เมื่อเห็นใครทำผิดพลาดอันน่าเก้อกระดาก ย่อมช่วยกลบเกลื่อนหรือทำไม่เห็น.

          (๒) เมื่อเห็นสิ่งของของใครตก หรือจะเสื่อมเสีย ย่อมต้องหยิบยื่นให้หรือบอกให้รู้ตัว.

          (๓) เมื่อเห็นเหตุร้าย หรืออันตรายจะมีแก่ผู้ใด ย่อมต้องรีบช่วย.

 

วจีจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่เยอะเย้ยถากถางผู้กระทำผิดพลาด.

          (๒) ย่อมไม่ใช้วาจาอันข่มขี่.

 

มโนจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่มีใจอันโหดเหี้ยมเกรี้ยวกราดแก่ผู้น้อย.

          (๒) ย่อมเอาใจโอบอ้อมอารีแก่คนอื่น.

          (๓) ย่อมเอาใจช่วยคนเคราะห์ร้าย.

          (๔) ย่อมไม่เป็นผู้ซ้ำเติมคนเสียที.

          (๕) ย่อมไม่เป็นผู้อาฆาตจองเวร. 

 

ภาค ๘

ผู้ดี ย่อมไม่เห็นแต่แก่ตัวถ่ายเดียว

กายจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่พักหาความสบายก่อนผู้ใหญ่.

          (๒) ย่อมไม่เสือกสนแย่งชิงที่นั่งหรือที่ดูอันใด.

          (๓) ย่อมไม่เที่ยวแย่งผู้หนึ่งมาจากผู้หนึ่ง ในเมื่อเขาสนทนากัน.

          (๔) เป็นผู้ใหญ่ จะไปมาลุกนั่งย่อมไว้ช่องให้ผู้น้อยมีโอกาสบ้าง.

          (๕) ในการเลี้ยงดูย่อมแผ่เผื่อ เชื้อเชิญแก่คนข้างเคียงก่อนตน.

          (๖) ในที่บริโภค ย่อมหยิบยกยื่นส่งสิ่งของแก่ผู้อื่นต่อ ๆ ไป ไม่มุ่งแต่กระทำกิจส่วนตน.

          (๗) ย่อมไม่รวบสามตะกลามสี่กวาดฉวยเอาของที่เขาตั้งไว้เป็นกลาง จนเกินส่วนที่ตนจะได้.

          (๘) ย่อมไม่แสดงความไม่เพียงพอใจในสิ่งของที่เขาหยิบยกให้.

          (๙) ย่อมไม่นิ่งนอนใจให้เขาออกทรัพย์แทนส่วนตนเสมอ เช่น ในการเลี้ยงดูหรือใช้ค่าเดินทางเป็นต้น.

          (๑๐) ย่อมไม่ลืมที่จะส่งของ ซึ่งคนอื่นได้สงเคราะห์ให้ตนยืม.

          (๑๑) การให้สิ่งของหรือเลี้ยงดูซึ่งเขาได้กระทำแก่ตน ย่อมต้องตอบแทนเขา.

 

วจีจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้หนึ่ง เพื่อจะพาไปพูดจาความลับกัน.

          (๒) ย่อมไม่สนทนาแต่เรื่องตนถ่ายเดียว จนคนอื่นไม่มีช่องจะสนทนาเรื่องอื่นได้.

          (๓) ย่อมไม่นำธุระตนเข้ากล่าวแทรกในเวลาธุระอื่นของเขาชุลมุน.

          (๔) ย่อมไม่กล่าววาจาติเตียนของที่เขาหยิบยกให้แก่ตน.

          (๕) ย่อมไม่ไต่ถามราคาของที่เขาได้หยิบยกให้แก่ตน.

          (๖) ย่อมไม่แสดงราคาของที่หยิบยกให้แก่ผู้ใดให้ปรากฏ.

          (๗) ย่อมไม่ใช้วาจาอันโอ้อวดตนและหลบหลู่ผู้อื่น.

 

 

มโนจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่มีใจมักได้

          (๒) ย่อมไม่ตั้งใจปรารถนาของรักเพื่อน.

          (๓) ย่อมไม่พึงใจการหยิบยืมข้าวของทองเงินซึ่งกันและกัน.

          (๔) ย่อมไม่หวังแต่จะพึ่งอาศัยผู้อื่น.

          (๕) ย่อมไม่เป็นผู้เกี่ยงงอนทอดเทการงานตนให้ผู้อื่น.

          (๖) ย่อมรู้คุณผู้อื่นที่ได้ทำแล้วแก่ตน.

          (๗) ย่อมไม่มีใจริษยา. 

 

ภาค ๙

ผู้ดี ย่อมรักษาความสุจริตซื่อตรง

กายจริยา คือ

          (๑) ย่อมไม่ละลาบละล้วงเข้าห้องเรือนแขกก่อนเจ้าของบ้านเชิญ.

          (๒) ย่อมไม่แลลอดสอดส่ายโดยเพ่งเล็งเข้าไปตามห้องเรือนแขก.

          (๓) ย่อมไม่เที่ยวฉวยโน่นหยิบนี่ของผู้อื่นดูจนเหลือเกิน ราวกับว่าจะค้นหาสิ่งใด.

          (๔) ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูจดหมายของผู้อื่นที่เจ้าของไม่มีประสงค์จะให้ดู.

          (

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องทั่วไป
หมายเลขบันทึก: 259255เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2009 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท