วัฒนธรรมอินเดียที่เข้ามาในประเทศไทย - ฉบับย่อ


วัฒนธรรมอินเดียที่เข้ามาในประเทศไทย

การติดต่อค้าขายระหว่างชาวอินเดียและชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสื่อสำคัญที่ก่อให้เกิดการเผยแพร่วัฒนธรรมอินเดียมายังรัฐโบราณแถบนี้ การแลกเปลี่ยนมีมาตั่งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ในช่วงวัฒนธรรมหินใหม่หรือช่วงสังคมเกษตร หลักฐานทางโบราณคดีคือ พบขวานหินขัดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและขวานหินแบบมีบ่าอายุในช่วง 4,000 – 2,000 ปี แพร่กระจายไปดินแดนที่ชนเผ่าที่พูดกลุ่มภาษาออสโตรเอเชียติค ได้แก่ภาษาญวน มอญ เขมร ภาษามุณฑะ(ภาษาหนึ่งในอินดีย) กับ ชนเผ่ากลุ่มภาษาออสโตนีเชียน ได้แก่ภาษาอินโดนีเชีย และพวกจาม

เหตุการณ์ที่เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณการค้าขายระหว่างชาวอินเดียและชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทยคือ แต่เดิมอินเดียได้ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยโดยเฉพาะทองคำในบริเวณเมดิเตอร์เรเนี่ยนและเอเชียกลาง แต่ราว พ.ศ.ว. ที่ 4 – 5 ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้นในแถบนี้ ทำให้การคมนาคมในแถบนี้ถูกตัดขาด อินเดียไม่อาจซื้อทองคำในไซบีเรียได้อีกต่อไป จึงหันไปซื้อทองคำในโรมันจนทำให้เศรษฐกิจโรมันกระทบกระเทือนไม่อาจขายทองให้อินเดียได้อีก ด้วยเหตุนี้อินเดียจึงเดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหาแหล่งที่ซื้อทองคำใหม่ และเรียกดินแดนแถบนี้ว่า “สุวรรณภูมิ”

ชาวอินเดียที่เป็นพ่อค้า นักบวชเหล่านี้ได้เดินทางเข้ามาทั้งทางบกและทางน้ำดังที่พบในหลักฐานในจารึก อ.วังไผ่ จ.เพชรบูรณ์ ของกษัตริย์แห่งเจนละ และการพบลูกปัดหินประเภทหินคาเนเลียน หินโอนิกซ์ หินอาเกต ลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ ซึ่งมีแหล่งผลิตในอินเดีย แพร่กระจายอยู่ตามแหล่งโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะที่ค้นพบในประเทศไทย แหล่งโบราณคดีคลองท่อม จ.กระบี่ และ เกาะคอเขา จ.พังงา

รัฐโบราณแรกรับวัฒนธรรมอินเดีย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ฟูนัน เจนละ ทวารวดีและศรีวิชัย

หลักฐานทางวรรณกรรม เช่น

  1. คำภีร์มหาวงศ์ในลังกาที่เขียนขึ้นในพ.ศ.ว.ที่ 11 – 12 กล่าวถึงการสังคยนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ในช่วงพ.ศ.ว.ที่  3  พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูตมาเผยแพรพระพุทธศาสนาในดินแดน สุวรรณภูมิ
  2. ชาดก มิลินทปัญหา มหานิเทศ นิยายของศาสนาเซน และมหากาพย์รามยณะ มักจะกล่าวถึงพ่อค้าที่ชอบเล่นเรือมาค้าขายในแถบตะวันออกที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ หรือ สุวรรณประทีป เมืองท่าสำคัญที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขายที่อยู่ในประเทศไทยเช่น ไชยา เวียงสระ คลองท่อม

วัฒนธรรมสำคัญที่อินเดียนำมาเผยแพร่ในประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยได้แก่

  1. การใช้ตราประทับที่เป็นสื่อกลางติดต่อสื่อสารระหว่างสถาบันกษัตริย์ ศาสนา เอกชนหรือหมู่คณะเพื่อผลทางการเมือง
  2. ระบบการปกครอง ระบบกษัตริย์ การจัดตั่งรัฐแบบอินเดีย  คติการสร้างเมือง
  3. งานวรรณกรรม เช่น รามเกียรติ์ ภควัตคีตา ซึ่งมีอิทธิพลต่อความรู้สึก ความคิด ของคนในภูมิภาคนี้
  4. ศาสนาพราหมณ์ และพุทธ หลักความเชื่อต่าง ๆ  การนับถือเทพเจ้าต่าง ๆ การสร้างพระพุทธรูป และการสร้างเทวรูป
  5. ภาษาสันสกฤตที่ใช้ในราชกาล ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกที่ใช้ในพระพุทธศาสนาในนิกายเถรวาท
  6. เครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนกีฬาบางประเภท ซึ่งชาวพื้นเมืองได้นำมาดัดแปลงใช้ให้เหมาะสมกับตนเอง
วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง
หมายเลขบันทึก: 258632เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2009 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท