กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต


รวมทุนชุมชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ด้วยกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

แนวคิดพื้นฐานในการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

หลังจากประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ เป็นผลให้แนวความคิดใน การพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาที่เน้นการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน โดยมีรัฐเป็นองค์หลักในการพัฒนา ส่งผลให้ประชาชนยึดรัฐเป็นศูนย์กลางการพัฒนา มาเน้นการพัฒนาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมให้ผลของการพัฒนาตรงกับวัตถุประสงค์ ของรัฐ และความต้องการของประชาชน

แนวความคิดเกี่ยวกับการยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนามีมานานแล้ว โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนา ซึ่งดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการพัฒนาชนบทตามแนวทางดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มตั้งกรมการพัฒนาชุมชนเมื่อปีพ.ศ 2505 จนถึงปัจจุบัน

ในระดับประเทศ แนวทางการพัฒนาโดยยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) เป็นครั้งแรก และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และโครงสร้างพื้นฐาน เน้นให้คนมีความสามารถ มีศักยภาพในการคิดได้ และทำได้

การพัฒนาคนให้คิดได้และทำได้ เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนให้ประสบผลสำเร็จก่อนเป็นอันดับแรก โดยการสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนคิด และแก้ปัญหาของตนเองให้พ้นจากวัฎจักรของความ ยากจน โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในการประกอบอาชีพ ปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลให้ครัวเรือนไม่หลุดพ้นจากวงจรแห่งความยากจนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในการประกอบอาชีพและปัญหาหนี้สิน

จึงมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน เพราะเงินทุนคือปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลผลิตและรายได้ ถ้าไม่มีเงินหรือมีเงินทุนน้อย ส่งผลให้ผลผลิตและรายได้น้อย การดำรงชีพของครัวเรือนจะประสบปัญหา ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศในที่สุด

วิธีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุน โดยให้ประชาชนคิดและแก้ไขปัญหาของตนเอง ซึ่งได้รับการยอมรับว่าประสบผลสำเร็จ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินทุนแบบยั่งยืนให้กับประชาชนได้ คือ การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกันกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุนของประชาชน โดยประชาชน ซึ่งมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนทางด้านความรู้และวิธีการ ใช้ทรัพยากรในหมู่บ้าน / ตำบล เป็นหลักในการดำเนินการ โดยใช้การรวมตัวของประชาชนในหมู่บ้าน สะสมเงินที่จะได้จากการออมอย่างสม่ำเสมอจากรายได้ของตนเองหรือครอบครัว เพื่อใช้เงินทุนที่ได้จากการสะสมร่วมกันเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพของตนเอง และบุคคลอื่น ๆ ภายในชุมชน ตลอดจนถึงการใช้จ่ายในครอบครัว

แนวความคิดเรื่องการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์การผลิตในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุนนั้น เป็นแนวความคิดตั้งแต่เริ่มมีกระบวนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ครั้งแรก เนื่องจากในสมัยก่อนประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน การกู้เงินจากธนาคารเพื่อนำมาใช่จ่ายในครอบครัวหรือลงทุนในการประกอบอาชีพทำได้ยาก มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนและมักจะไม่ได้รับการการอนุมัติให้กู้ยืมในปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยมีมากขึ้น

เนื่องจากสถาบันการเงินให้ความสนใจกับลูกค้ารายย่อย มีแหล่งเงินทุนจากการดำเนินงานประชานิยมของภาครัฐ เช่นเงินกองทุนหมู่บ้าน โครงการของธนาคารออมสิน ธกส. บัตรเครดิตที่แข่งขันกันให้บริการเพื่อแสวงหากำไรจากประชาชนจากชุมชน ส่งผลให้หนี้สินภาคครัวเรือน และหนี้สินในภาครวมของชุมชนมีสูงมาก

แนวคิดในการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในปัจจุบัน จึงเน้นที่การจัดตั้งเพื่อลดรายจ่ายของครัวเรือน และลดรายจ่ายของชุมชนในเรื่องของดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าใช่จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจาการใช้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากที่ครัวเรือนหรือชุมชนต้องจ่ายออกจากครัวเรือนหรือชุมชนเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายอย่างอื่นแนวความคิดนี้จะต้องเริ่มต้นที่การจัดทำบัญชีครัวเรือน

แล้วนำบัญชีครัวเรือนทุกครัวเรือนในชุมชนมารวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือแหล่งเงินทุนอื่น ๆ จากนอกชุมชน จะเห็นภาพรวมของค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ชุมชนต้องจ่ายเงินออกนอกชุมชน และทราบปริมาณเงินทุนที่จะใช้ในการลงทุนของชุมชนในปัจจุบัน แล้วนำข้อมูลให้ชุมชนวิเคราะห์รวมกันในการแก้ไขปัญหา การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หรือกิจการอย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่ง

ดังนั้นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หมายถึง การรวมตัวของประชาชนด้วยความสมัครใจ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อออมเงินอย่างสม่ำเสมอ และใช้เงินในการลงทุนประกอบอาชีพ และใช้จ่ายทั้งของตนเองและบุคคลอื่น ๆภายในกลุ่ม บริหารและจัดการโดยสมาชิกกลุ่มกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

จัดตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2517 ที่ตำบลขรัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” และมีการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตทั่วประเทศ อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันบ้างจนถึงปัจจุบัน

หลักการและวิธีการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

ความหมาย

“กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หมายถึง การรวมตัวกันของชาวบ้าน เพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยการประหยัดทรัพย์ แล้วนำมาสะสมรวมกันทีละเล็กละน้อยเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้เป็นทุนให้สมาชิกที่มีความจำเป็นเดือดร้อนกู้ยืมไปใช้ในการ ลงทุนประกอบอาชีพ หรือเพื่อสวัสดิการของตนเองและครอบครัว (พงษ์นรินทร์ อัสวเศรณี และคณะ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตและกิจกรรมเครือข่าย กรมการพัฒนาชุมชน 2541 หน้า 8)

หลักการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จะดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ และมีประสิทธิภาพจะต้องบริหารจัดการอยู่ภายใต้คุณธรรม 5 ประการ ดังนี้

1.ความซื่อสัตย์

2.ความเสียสละ

3.ความรับผิดชอบ

3.ความเห็นอกเห็นใจกัน

4.ความไว้วางใจกัน

วัตถุประสงค์ของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

1. ส่งเสริมให้มีการประหยัดและออมเงินในรูปเงินสัจจะ

2. ให้บริหารเงินทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพและสวัสดิการของสมาชิก

3. ให้มีประสบการณ์ในการบริหาร และจัดทำเงินทุนด้วยตนเอง

4. ส่งเสริมให้มีความสามัคคี การทำงานร่วมกัน และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

5.ให้มีประสบการณ์ในการบริหาร และจัดการเงินทุนของตนเอง

เงินทุนของกลุ่ม

1. เงินสัจจะสะสม เป็นเงินที่ได้จากการออมของสมาชิก จำนวนเท่า ๆ กัน ทุกเดือนตามกำลังความสามารถ เพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ซึ่งจะจ่ายคืนเงินสัจจะสะสมเมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพแล้วเท่านั้น ซึ่งกลุ่มจะจ่ายผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล

2. เงินสัจจะสะสมพิเศษ เป็นเงินรับฝากจากสมาชิก ที่มีเงินเหลือและประสงค์จะฝากเงินได้กับกลุ่ม ซึ่งสามารถถอนเงินออกไปใช้จ่ายเมื่อจำเป็น และกลุ่มจะจ่ายผลตอบแทนใน รูปแบบดอกเบี้ยตามระเบียบของกลุ่ม

3. เงินรายได้อื่น ๆ เช่น ค่าสมัคร/ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ดอกเบี้ย

4. เงินอุดหนุน จากส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น และองค์กรอื่น ๆ

สมาชิก

สมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมี 3 ประเภท คือ

1.สมาชิกสามัญ ได้แก่บุคคลทุกเพศ ทุกวัยภายในหมู่บ้าน/ตำบล ที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิก

กลุ่ม ตามระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม

2. สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ กลุ่ม/บุคคล ภายในหมู่บ้าน/ตำบล ที่สนใจและสมัครเข้าเป็น

สมาชิกกลุ่ม โดยไม่ประสงค์จะกู้เงินจากลุ่ม

3. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ข้าราชการ หรือคหบดี ที่สนใจและให้การสนับสนุนกลุ่มโดย

ไม่หวังผลตอบแทน

หน้าที่ของสมาชิก

1. ส่งเงินสัจจะสะสมเป็นประจำทุกเดือน

2. ส่งคืนเงินกู้ตามกำหนด

3. เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่ม

4. เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี

5. มีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่ม

6. ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ดีแก่กลุ่ม

7. กำกับ ตรวจสอบการดำเนินงานของกลุ่ม

คณะกรรมการ

คณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ มี 4 คณะ ดังนี้

1. คณะกรรมการอำนวยการ จำนวน 5-9 คน มีหน้าที่ในการบริหาร จัดการกลุ่มออมทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่พึงพอใจของสมาชิก ตลอดเป็นตัวแทนของกลุ่มในการประสานงาน และติดต่อกับองค์กรภายนอก

2. คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ จำนวน 3-5 คน มีหน้าที่ในการพิจารณาให้กู้ – ยืมเงิน

ติดตามโครงการ และเร่งรัดหนี้สิน

3. คณะกรรมการตรวจสอบ จำนวน 3-5 คน มีหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีและผลการดำเนินงานของกลุ่ม

4. คณะกรรมการส่งเสริม จำนวนขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิก และระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม มีหน้าที่ชักชวนผู้สมัครใจ สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มออมทรัพย์แก่สมาชิก ประสานงานระหว่างสมาชิกกับกลุ่ม และกลุ่มกับสมาชิกให้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

กิจกรรมของกลุ่ม

1. กิจกรรมด้านการให้บริการรับฝากเงิน และการกู้ยืมเงิน

2. กิจกรรมด้านการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก

3. ขยายเครือข่ายและทำธุรกิจ เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด, โรงสี เป็นต้น

4. กิจกรรมในการพัฒนาสมาชิก เช่น การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน

ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์

1. ส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงิน และนำเงินไปใช้ในการพัฒนาอาชีพ โดยลดภาระการกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่น ๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

2. พัฒนาคนให้มีคุณธรรม 5 ประการ คือ ซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้วางใจซึ่งกันและกัน

3. ฝึกประสบการณ์การบริหารเงินทุน ให้กับบุคคลในชุมชน

4. พัฒนาศักยภาพของคนในด้านต่าง ๆ เช่น การเป็นผู้นำ การปกครอง ตามระบบประชาธิปไตย

5. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา คิดและแก้ปัญหาของตนเองด้วยวิธีการทำงานร่วมกัน

การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

1.ก่อนการจัดตั้ง

  1. ศึกษาข้อมูล/สถานการณ์

  2. ให้ข้อมูลกับผู้นำกลุ่มและประชาชนทั่วไป

  3. ให้ผู้นำกลุ่มที่ประผลสำเร็จเล่าประสบการณ์

  4. ศึกษาดูงานนอกสถานที่

2.การจัดตั้งกลุ่ม

             1 ประชุมกลุ่มเป้าหมาย

             2. ขอมติจากที่ประชุม

             3. รับสมัครสมาชิก

             4.เลือกตั้งคณะกรรมการ

     5.จัดทำระเบียบข้อบังคับ/กำหนดวันส่งเงินสัจจะ

    6.จัดทำเอกสาร/ทะเบียน/บัญชี/สมุดสัจจะสะสม

    7.ข้อตกลงการฝากเงินกับธนาคาร

  1.   8.รายงานหน่วยงานที่รับผิดชอบทราบ
  2.   9. กำหนดเป้าหมายการทำงานร่วมกัน

3.ภายหลังการจัดตั้งกลุ่ม

3.1 เข้าร่วมประชุมทุกครั้งในวันส่งเงินสัจจะ

3.2 ให้คำแนะนำ/ปรึกษาแก่คณะกรรมการและสมาชิก

  1. ประชุม/ฝึกอบรม/ให้ข้อชี้แนะ

  2. รายงานผลความก้าวหน้า

  3. เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี

  4. ร่วมกับคณะกรรมการ/สมาชิกพัฒนากลุ่มให้ก้าวหน้า

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25808เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2006 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท