ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

อ่างเก็บน้ำรองรับนิคมอุตสาหกรรมที่เมืองคอน


"พี่น้องทราบไหมว่า นอกจากนิคมอุตสาหกรรมแล้ว รัฐบาลยังเตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม หากไม่มีน้ำนิคมอุตสาหกรรมก็เกิดไม่ได้"


อ่างเก็บน้ำรองรับนิคมอุตสาหกรรมที่เมืองคอน


ทรงวุฒิ พัฒแก้ว - เรื่อง ชัยพงศ์ เมืองด้วง - ภาพ

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11360 มติชนรายวัน

 

ตั้งแต่ช่วงปีใหม่เป็นต้นมาแถบ อ.ขนอม สิชล ท่าศาลา คึกคักไปด้วยเวที และการสนทนาเรื่องนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เนื่องจากข่าวคราวจากหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ รวมทั้งกลุ่มบริษัทต่างๆ ลงพื้นที่อย่างหนัก เพื่อขานรับการพัฒนาของโครงการขนาดใหญ่ จนเกิดเวทีสาธารณะ การชุมนุมและการต่อต้านจากชุมชนอย่างหนัก ตามที่ทราบกันตามข่าวสารต่างๆ

ระหว่างการเคลื่อนไหว ชุมนุมเรียกร้อง ผู้หญิงตัวเล็กๆ ได้เข้ามาร่วมวง และร่วมต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมอย่างแข็งขัน แต่สิ่งหนึ่งที่สาวร่างเล็กผู้นี้ประกาศก้องต่อเวที คือ

"พี่น้องทราบไหมว่า นอกจากนิคมอุตสาหกรรมแล้ว รัฐบาลยังเตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม หากไม่มีน้ำนิคมอุตสาหกรรมก็เกิดไม่ได้"

ประเด็นเรื่องอ่างเก็บน้ำจึงได้รับความสนใจจากพี่น้อง และผู้หญิงคนนี้ คือ นางอวยพร บุญพรหม ต่อมาพี่พรได้ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาชื่อ "กลุ่มอนุรักษ์คลองท่าทน" และกลายเป็นแนวร่วมที่สำคัญในการต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

เขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำคลองท่าทน ซึ่งที่ในผลการศึกษาของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะเป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม แท้ที่จริงโครงการมาพร้อมๆ กับอ่างเก็บน้ำคลองลาไม ที่อำเภอชะอวด และอ่างเก็บน้ำคลองกลายที่กิ่งอำเภอนบพิตำ แต่เนื่องจากอ่างเก็บน้ำคลองท่าทนอยู่ลึกเข้าไปในตัวอำเภอสิชลคอนข้างมาก และการเคลื่อนไหวต่อต้านยังไม่เป็นที่รับรู้แก่สาธารณะมากนัก ล่าสุดอ่างเก็บน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ คลองลาไมและคลองกลายได้รับการต่อต้านและถูกระงับไว้ชั่วคราว แต่คลองท่าทนยังดำเนินการต่อ

 



ล่าสุด งบประมาณอ่างเก็บน้ำคลองท่าทนถูกบรรจุอยู่ในงบประมาณของหวัด ปี 2552-2556 รวมงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 400 ล้านบาท ท่ามกลางความหวาดเสียวและตกใจของคนในพื้นที่ เนื่องจากโครงการนี้ยังเป็นที่รับรู้ของคนไม่กี่คน และขาดการมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก

อวยพรเล่าว่า "เรื่องอ่างเก็บน้ำคลองท่าทนหายเงียบไปพักหนึ่ง จนชาวบ้านคิดว่าโครงการนี้ล้มเลิกไปแล้ว เพราะการศึกษาชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่หลังจากนั้นก็มีหน่วยงานมาสำรวจเรื่องที่ดินให้ชาวบ้านลงชื่อรับทราบว่าเป็นเจ้าของที่ดิน ด้วยความไม่รู้ จึงเซ็นชื่อไป ทราบภายหลังว่าเป็นการยินยอมเรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำ"

อวยพรและทีมงานชวนเราขึ้นไปดูพื้นที่จริง และชวนนั่งคุยบนพื้นที่ ที่ทางชลประทานจะสร้างสันอ่างเก็บน้ำพอดี และให้เอกสารการศึกษาเรื่องอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งแผนการใช้งบประมาณของจังหวัด ได้ภาพรวมพอสรุปได้ว่าจะมีสร้างสร้างอ่างเก็บน้ำ ชื่อโครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน อยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด พ.ศ.2553-2556 จังหวัดนครศรีธรรมราช หมายเลขโครงการที่ 82 โดยสำนักชลประทานที่ 15 มีกรอบงบประมาณ ปี 2554 งบประมาณ 300 ล้านบาท ปี 2555 งบประมาณ 538 ล้าน และปี 2556 งบประมาณ 538 ล้าน และจากเอกสารศึกษาของบริษัท ระบุพื้นที่รับประโยชน์ คือ พื้นที่ชลประทาน พื้นที่ท่าเรือน้ำลึก และพื้นที่อุตสาหกรรม โดยใช้ระบบการส่งน้ำทางท่อ

นายแฉล้ม เพชรชู ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ตำบลฉลอง เล่าเสริมว่า อ่างเก็บน้ำนี้รองรับเซาธ์เทิร์นซีบอร์ดแน่นอน แต่ใช้เพื่อการเกษตรด้วย ในพื้นที่ตำบลฉลองจะมีระบบชลประทานเพิ่มเติม 3,000 ไร่ และเมื่อปีที่แล้วชลประทานก็เข้ามาบอกว่าใช้ในการเกษตรอย่างเดียว โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย เพราะในการเกษตรพื้นที่ของเรา ฝนทิ้งช่วงยาวนานที่สุดก็สองสามเดือน จึงไม่ขาดน้ำเลย รัฐบาลน่าจะสร้างฝายน้ำล้นเก็บน้ำเล็กๆ ดีกว่า

การต่อสู้เรื่องอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน แม้ว่าประเด็นนี้ยังไม่เข้มข้น แต่จากการฟังน้ำเสียงที่ค่อนข้างดุดัน ห้วน เอาจริงแล้ว เห็นว่าหากรัฐจะดำเนินการหรือผลักดันเรื่องนี้ต่อคงไม่ง่ายนัก เพราะเสียงสะท้อนจากพื้นที่แล้ว ชาวบ้านแทบไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ แถมต้องเป็นผู้เสียสละอีก

"ที่นี้ถือเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญมากๆ เพราะมีสายน้ำถึง 5-6 สายมารวมกัน มีแหล่งน้ำ มีน้ำตก แถบริมห้วย ริมคลองอาหารยังอุดมสมบูรณ์อีก รัฐน่าส่งเสริมทางการเกษตรมากกว่า หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ น่าจะเหมาะกว่ามากๆ ชาวบ้านก็จะได้รับผลประโยชน์เต็มที่" แฉล้มเสนอทางออกที่สอดคล้องกับพื้นที่

"ตอนนี้ชาวบ้านข้างล่างที่ต่อต้านเรื่องนิคมอุตสาหกรรม พี่พรไปบอกหมดแล้ว เราจะรวมเป็นเครือข่าย หากไม่มีอ่าง ไม่มีน้ำ อุตสาหกรรมก็สร้างไม่ได้ แม้เราจะค้านช้า แต่แนวร่วมเยอะ พี่พรยังยืนยันสร้างไม่ได้แน่นอน ยิ่งทางเข้าทางที่นี้ค่อนข้างลำบาก ใครมาสำรวจ ชาวบ้านเขาไม่รับรองความปลอดภัยได้หรอก" อวยพรบอก

อ่างเก็บน้ำและนิคมอุตสาหกรรมจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ก็ตาม เจตนารมณ์การสร้างจะเป็นเช่นไร แต่จากข้อมูลและความเชื่อของชาวบ้าน มั่นใจเต็มร้อยว่าเกี่ยวข้องแน่นอน ดูท่าทีของชาวบ้านแล้ว ค่อนข้างมั่นใจในแนวทางการต่อสู้และเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพยากรและแผ่นดินเกิด ดังนั้น พื้นที่อ่างเก็บน้ำก็คงจะร้อนขึ้นในอีกไม่ช้า หากไม่มีคำตอบของการระงับหรือยกเลิก ดังเช่น อ่างเก็บน้ำคลองลาไม และคลองกลาย ที่มีบทเรียนมาแล้ว

หน้า 11

 

 

หมายเลขบันทึก: 256975เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2009 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คนเมืองมาเป็นกำลังใจให้คนเกษตรกรรม อุตสาหกรรมค่ะ

ขอบคุณมากครับ ว่าจะเปลี่ยนหัวข้อเป็นการจัดการความรู้แล้วเหมือนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท