วาไรตี้ นิ้วล็อก


นิ้วล็อค
เคยได้ยินบางคนบ่นปวดนิ้วมือบ่อยๆ แล้วยังบอกอีกว่า นิ้วมันเหยียดยืดออกไม่ได้...ก็แปลกใจว่าเป็นอะไร? ทำไมนิ้วที่เคยงอเข้า-ออกได้สบาย กลับมีอาการติดๆ ขัดๆ แถมมีอาการปวดอีกต่างหาก!

ลักษณะอาการข้างต้นนั้น เรียกว่า...โรค "นิ้วล็อค"

นิ้วล็อค เป็นภาษาชาวบ้านที่เรียกกันตามอาการที่เกิดขึ้น แต่ที่ถูกคือ ‘โรคนิ้วเหนี่ยวไกปืน' หรือมาจากภาษาอังกฤษว่า ‘Trigger Finger' เกิดจากความผิดปกติของนิ้วมือที่ไม่สามารถเหยียดงอได้ตามธรรมชาติ เนื่องจากปลอกหุ้มเอ็น และเข็มขัดรัดเอ็นที่นิ้วมือขาดความยืดหยุ่น เพราะใช้งานมือและนิ้วอย่างหนัก

เอ็นที่ว่าจะอยู่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว นิ้วล็อคอาจเป็นเพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วพร้อมกัน

ซึ่งมักพบในผู้หญิง ช่วงอายุ 40-60 ปี โดยส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่เกร็งนิ้วบ่อยๆ เช่น แม่บ้านที่ถือถุงพลาสติก ชอบบิดผ้าให้แห้งหมาด ช่างเย็บผ้าที่ใช้มือกระตุกเส้นด้าย ช่างทำผม พนักงานที่พิมพ์ดีด หรือใช้คอมพิวเตอร์ นักกอล์ฟ นักกีต้าร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบในคนที่เคยเกิดอุบัติเหตุบริเวณมือบ่อยๆ พบในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบชนิดรูมาตอยด์ และผู้ป่วยเบาหวาน

อาการแรกเริ่มจะรู้สึกเจ็บบริเวณฐานนิ้ว มีความฝืด สะดุดในการเคลื่อนไหวนิ้ว เวลางอหรือเหยียดนิ้วจะกระเด้งเข้า-ออก

ต่อมามีอาการล็อค คือ หากงอหรือกำนิ้วมือไว้ จะไม่ยอมเหยียดออกเอง ต้องใช้อีกมือหนึ่งมาช่วยง้างออก พร้อมทั้งมีอาการเจ็บปวดขณะดึงนิ้วให้คลายออก หรือบางครั้งอาจจะเหยียดยืดนิ้วออก แต่เมื่องอนิ้วจะงอไม่ได้

หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอุปสรรคในชีวิตประจำวัน เพราะนิ้วมืออาจเปลี่ยนรูปเป็น โก่ง งอ บวม เอียง นิ้วเกยกัน แข็งและไม่สามารถงอหรือเหยียด ข้อต่ออาจจะยึด เหยียดไม่ออก ขยับไม่ได้ หรือกลายเป็นพังผืดในที่สุด

วิธีป้องกัน คือ ระมัดระวังการใช้มือหรือนิ้ว เช่น เวลาที่ต้องหิ้วของหนักหรือต้องกำสิ่งของแน่นๆ ให้ใช้ผ้าขนหนูหุ้มที่มือไว้ เพื่อผ่อนคลายน้ำหนักซึ่งกดมาที่นิ้ว ไม่บิดผ้าแรงๆ ช่างเย็บผ้าควรใส่ถุงมือ เมื่อต้องต้องใช้อุปกรณ์ นักกอล์ฟ ควรใส่อุปกรณ์ให้ครบ และควรพักมือเป็นระยะ เมื่อทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตาม โรคนิ้วล็อค สามารถรักษาให้หายได้ หากเป็นเพียงขั้นเริ่มต้น ให้ใช้ความร้อนประคบ เพื่อบรรเทาอาการปวด จะสามารถช่วยให้นิ้วเหยียดออกได้ การรับประทานยาแก้อักเสบของกล้ามเนื้อ เป็นการช่วยลดการอักเสบของเอ็นนิ้วมือ ใช้ได้ผลในกรณีที่เป็นไม่เกิน 2-3 สัปดาห์

ยังมีการฉีดยาเข้าในเอ็นข้อนิ้วที่อักเสบ วิธีนี้เป็นการรักษาที่ได้ผล เพราะยาจะเข้าสู่บริเวณที่อักเสบได้โดยตรง แต่จะเจ็บปวดมากในเวลาฉีด หรือการรักษาขั้นสุดท้าย คือ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขเอ็นนิ้วมือ เป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก ใช้เวลาไม่นาน 
 
ปัจจุบัน ทางการแพทย์ได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดโดยใช้ ‘เครื่องมือทำฟัน' เจาะรูเล็กๆ ที่มือเพื่อสะกิดเข็มขัดรัดเอ็นซึ่งขาดความยืดหยุ่นให้คลายตัว ก่อนเจาะแพทย์จะฉีดยาชาที่มือ ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีก็เสร็จ แต่ห้ามให้แผลถูกน้ำ ใช้มือทำงานได้ตามปกติ หลังจากนั้น 7 วันก็เปิดแผลได้
  
มือและนิ้ว ถือเป็นอุปกรณ์ในการทำมาหากินที่สำคัญ หากว่ามันเกิดอาการใช้งานได้ไม่สะดวก หยิบจับอะไรไม่ถนัดแล้วล่ะก็ คงจะหงุดหงิดใจกันน่าดู ดังนั้น ควรระวัง ป้องกัน ไม่ให้อาการนิ้วล็อค.







ข้อมูลจาก :

หมายเลขบันทึก: 256666เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2009 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การฉีดยาเข้าในเอ็นข้อนิ้วที่อักเสบ นี่น่าจะเป็นสเตียรอยด์ ใช่ไหมคะ

อยากทราบว่าการรักษานิ้วล็อคโดยไม่ต้องผ่าตัด มีวิธีการรักษาอย่างไรคะ ช่วยกรุณาmail คำตอบมาให้ด้วย รออยู่ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ

การนวดด้วย diclofenac gel ร่วมกับการบริหารนิ้วมือ สามารถช่วยให้อาการของนิ้วล็อคดีขึ้นหรือไม่คะ ?ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยตอบใน mail ด้วยค่ะ

ขอทราบวิธีการรักษาปลอกเอ็นนิ้วอักเศบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท