จิตอาสาคือประชาธิปไตยท้องถิ่น


จิตอาสาคือประชาธิปไตยท้องถิ่น

บาว นาคร

            เมื่อพูดถึงคำว่า “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นการเรียกร้องและการต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบัน แต่ละฝ่ายก็มักจะอ้างว่ากลุ่มของตนเองทำเพื่อประชาธิปไตยหรือปกป้องประชาธิปไตย หากพิจารณาแล้วมุมมองของแต่ละกลุ่มนั้นล้วนแต่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และมักจะอ้างตนฝ่ายตนเองทำถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ทำให้มีความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยในความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน

            ส่วนคำว่า “ประชาธิปไตยท้องถิ่น” ซึ่งได้เป็นหัวข้อบทความนี้ มุ่งเน้นเกี่ยวกับการปกครองตนเองของชุมชน ซึ่งมีความแตกต่างจากประชาธิปไตยในระดับชาติซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน ส่วนประชาธิปไตยท้องถิ่นเป็นประชาธิปไตยแบบทางตรง หรือประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นเป็นวาทกรรมที่หลายภาคส่วนได้นำมาใช้ในปัจจุบัน แต่การมีส่วนร่วมที่สำคัญคือ การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ หมายถึงการอาสาสมัคร การอุทิศตน[1] การมีความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง

            กรณีตัวอย่างของประเทศไต้หวัน มูลนิธิฉื้อจี้ ที่ได้ริเริ่มการพัฒนาด้วยภารกิจการสร้างคนและจิตอาสา โดยเริ่มตั้งแต่เด็กและเยาวชนให้มีการศึกษาและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้พร้อมทั้งปลูกฝังคุณธรรมเพื่อให้เป็นพลเมืองที่ดีของโลก และปลูกฝังความดีงามให้มีภายในจิตใจโดยผ่านกิจกรรมอาสาสมัครต่างๆภายในโรงเรียนเช่น การดูแลความสะอาดภายในโรงเรียน อาสาสมัครช่วยตักอาหารให้เพื่อนๆในโรงอาหาร อาสาสมัครในบ้านพักคนชราเป็นต้น นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมต่างๆที่เน้นเรื่องวัฒนธรรมเช่นการเล่นดนตรี การเชิดสิงโต การจัดดอกไม้ การชงชา ซึ่งเป็นการได้ประสบการณ์ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมจีนของตนเองด้วย รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนในการเป็นอาสาสมัครคอยดูแลระหว่างอยู่ในโรงเรียน รวมทั้งมีระบบการบริหารจัดการที่ดีภายในโรงเรียนตั้งแต่การก่อสร้างโรงเรียนด้วยหลักประหยัด ดูแลง่าย ประหยัดพลังงาน และที่สำคัญเน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญเนื่องจากมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เด็กที่ผ่านจากระบบการศึกษาในโรงเรียนเป็นผู้มีจิตอาสา ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งซึ่งแต่เดิมตัวเด็กเป็นผู้รับความช่วยเหลือได้กลายเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นโดยผ่านกระบวนการบ่มเพาะเมล็ดพันธ์แห่งจิตอาสาของมูลนิธิฉือจี้[2] การกระทำ 3 ประการเพื่อโลกสีเขียว ที่ทางมูลนิธิยึดถือเป็นแนวปฏิบัติตามคำสอนของธรรมาจารย์ของตน คือ “กินอย่างระมัดระวัง ใส่ใจ มีสติ อยู่อย่างเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมและอยู่อย่างมัธยัสถ์”

            เมื่อมาเปรียบเทียบกับบริบทของสังคมไทยที่มีทุนทางสังคมอย่างมากมายภายในชุมชนท้องถิ่น เช่นทุนมนุษย์ ทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางวัฒนธรรม เช่นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นต้น และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการขับเคลื่อนอยู่แล้ว ดังนั้น คำว่า “จิตอาสา” จึงถือได้ว่าเป็นประชาธิไตยในท้องถิ่นโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน และการจัดการตนเองภายในชุมชนท้องถิ่น ที่ทำโดยประชาชนในชุมชนเองจนสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด

            องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือว่าเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดและรับทราบปัญหาของชุมชนและสามารถแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ตรงตามความต้องการของประชาชนนั้น ควรมีบทบาทในการส่งเสริมกลุ่มหรือองค์กรชุมชนที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับอปท. ผ่านช่องทางต่างๆ โดยการสนับสนุน และส่งเสริมกิจกรรมด้านงานจิตอาสา เพราะว่าปัจจุบันมุมมองของประชาชนต่อ อปท. ว่าเป็นองค์กรหนึ่งที่เข้ามาทำหน้าที่ของชุมชนท้องถิ่น อย่างกรณีงานที่ชุมชนสามารถกระทำเองได้ เช่นการจัดการขยะหรือการทำความสะอาดภายในชุมชน หรืองานต่างๆภายในชุมชนที่ประชาชนในชุมชนสามารถกระทำได้เอง แต่คิดว่าเป็นเรื่องของ อปท. หรือเจ้าหน้าที่ของ อปท. เท่านั้น ทำให้ขาดจิตสำนึกหรือจิตอาสา ที่แต่เดิมชุมชนได้ทำมาก่อน เช่นการลงแรง หรืองานอาสาต่างๆที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน เช่น การตัดถนน การขุดลอกคูคลอง หรือแม้กระทั่งการร่วมแรงร่วมใจในการสร้างโรงเรียนภายในชุมชน ภาพเหล่านี้ได้หดหายไปจากชุมชน

            ทำอย่างไรจะให้งานอาสาสมัครหรือจิตอาสา ได้เกิดขึ้นภายในชุมชนโดยเริ่มต้นจากเด็กและเยาวชนผ่านการให้การศึกษการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม งานด้านอาสาสมัครเพื่อให้เกิดมีขึ้นภายในจิตใจของเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาในอนาคต ที่สำคัญการพัฒนาคนหรือการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือความคิดในเรื่องจิตอาสาต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน แต่สามารถกระทำได้โดยผ่านการร่วมคิด ร่วมทำจากทุกภาคส่วนทั้งประชาชน กลุ่มองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ประชาชนในท้องถิ่น สามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องรอรับความช่วยเหลือ แต่ยังสามารถให้ความช่วยเหลือกับผู้อื่นภายในชุมชนได้ด้วย ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ดังนั้น งานจิตอาสาถือว่าเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในท้องถิ่นอย่างแท้จริง



[1] เอนก เหล่าธรรมทัศน์.ประชาธิปไตยท้องถิ่น : สาระสำคัญของการเมืองและการปกครองส่วนท้องถิ่น.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มิติใหม่,2545.หน้า 28

[2] นวพร เรืองสกุล. บทความพิเศษ “ไต้หวัน 2008 การประกันสุขภาพและงานจิตอาสา.” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 17-23 เมษายน 2552 หน้า 38

หมายเลขบันทึก: 256080เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2009 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท