เยือนนครวัด : 2. กะบาลสะเปียน บันทายศรี โตนเลสาบ และการแสดง


๔ ธ. ค. ๔๘

         ออกไปวิ่งริมออกกำลังที่ถนนหน้าโรงแรม ชื่อถนน Sivatha เป็นถนนไม่มีเลน     คือไม่มีเส้นแบ่งเลน    ดูจากความกว้างประมาณ ๓ เลน    ข้อดีคือมีส่วนทางเดินริมถนนกว้างมาก ประมาณ ๖ เมตร     มีรางระบายน้ำใต้ดินริมถนนแต่ไม่ทำงาน    เพราะมีแต่การสร้าง แต่ไม่มีการบำรุงรักษา     อันนี้ผมว่าอาจจะมี ๒ สาเหตุ    (๑) มีคนสนใจแต่การสร้างเพราะได้ประโยชน์จากธุรกิจก่อสร้าง ทั้งที่เป็นประโยชน์บนดิน และประโยชน์ใต้ดิน   (๒) ไม่เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะทำหน้าที่ได้ต้องมีอย่างน้อย ๒ องค์ประกอบ คือวัตถุ (รูปธรรม) กับความเอาใจใส่ดูแล    ไม่ว่าจะเป็นลูกเมีย หรือบ้าน หรือสถานสาธารณะ    ความรู้สึกแรกที่ออกมาเห็นริมถนนคือขยะเกลื่อนกลาด แสดงระดับวัฒนธรรมว่าด้วยความสะอาดของเมือง    ผมวิ่งริมถนน (ทางเท้ารก วิ่งไม่ได้) มุ่งใต้ผ่านธนาคารกรุงไทย  บริษัทแคมชิน (Camshin) ที่มีโลโก้เหมือนบริษัทชินในเมืองไทย    ไปจนถึงบริเวณที่น่าจะเป็นท่ารถโดยสารซึ่งเริ่มจะออกนอกเมืองก็วิ่งกลับ     บริเวณนี้เขาเก็บต้นมะพร้าวสูงเกือบ ๒๐ เมตรไว้หลายต้น    ระหว่างทางกลับสังเกตเห็นโรงแรม De la Paix ใหม่เอี่ยมปลูกต้นตาลตโนดขนาดสูง ๓ – ๔ เมตร โดยวิธีย้ายต้นมาปลูก   ให้เห็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีไม้ประดับที่มากับการท่องเที่ยว    วิ่งกลับมาถึงโรงแรมอังกอร์ สตาร์เห็นถนนซอยตรงข้ามโรงแรมมีต้นไม้ใหญ่มากสองข้างทางจึงเดินไปดู    และเลยไปถึงสี่แยกไฟแดงก็พบว่าเป็นถนนสายที่ ๖ ซึ่งเป็นถนนสายหลักเส้นหนึ่งของประเทศ    ผมหมายตาเป้าจับภาพไว้หลายที่    เอาไว้ให้สว่างอีกหน่อยจะมาเก็บภาพไว้  
         เรื่องประเทศกัมพูชาจากวิกิพีเดียมีประโยชน์มาก    ทำให้ผมทราบว่าพลเมืองกัมพูชา เชื้อชาติที่มีมากอันดับสองคือจาม    ที่สมัยก่อนเรียกแขกจาม    คนกรุงเทพจะรู้จักมุสลิมบ้านครัวแถวเจริญผล    นั่นแหละครับคนจาม    คนเชื้อสายจามที่โด่งดังที่สุดในขณะนี้น่าจะเป็น ผบ. ทบ. พลเอกสนธิ บุณยะกลิน    จะเห็นว่าคนจามได้ผสมกลมกลืนกับสังคมไทยจนเป็นคนไทยเต็มตัวไปแล้ว ไม่ถือเป็นชนกลุ่มน้อย  
         ภาพใหญ่ของพื้นที่ที่เป็นประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน    มีคนตั้งถิ่นฐานกว่า ๓ พันปี    ผมแบ่งอารยธรรมในดินแดนนี้เป็น ๓ ช่วง    คือ (๑) ช่วงก่อนอาณาจักรขอม  จุดเด่นคืออาณาจักรฟูนัน และอาณาจักรเจนละ ในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๒ – ๔   (๒) ช่วงอาณาจักรขอม ซึ่งรุ่งเรืองในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ – ๑๓     ในสมัยที่รุ่งเรืองสูงสุด อาณาจักรขอมกว้างไกลมาก    ทางตะวันตกไปถึงพม่า     ทางตะวันออกไปถึงเวียดนาม     ทางตอนเหนือไปจดจีน     และทางใต้ถึงแหลมมะลายู     ปราสาทเมืองสิงห์ที่กาญจนบุรี และพระปรางค์สามยอดที่ลพบุรี เป็นพยานหลักฐานว่าอิทธิพลของขอมไปถึงบริเวณนนั้น        ช่วงนี้ขอมรบกับอาณาจักรจัมปา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม    สยามก็ไปช่วยรบด้วย ดังปรากฏในภาพสลักหินที่นครวัด มีทั้งกองทัพละโว้ และกองทัพสยาม   (๓) ช่วงหลังอาณาจักรขอม    ร่องรอยที่ผมอยากมาดู คือ ช่วงที่ ๒ และ ๓

น้ำตกกะบาลสะเปียน   ศิวลึงค์ใต้ธาร
         นี่เป็นจุดแรกและจุดสุดยอดของวันนี้    เพราะต้องนั่งรถไปกว่าชั่วโมงและลงจากรถเดินไปประมาณ ๓ กม.   เป็นทางขึ้นเขา ที่มีช่วงชัน หรือต้องปีน ๓ จุด    เมื่อกลับมาได้อย่างเรียบร้อย ผู้สูงอายุทุกคนเกิดความมั่นใจในสุขภาพของตนเอง    สิ่งที่ไปดูตีความได้หลายอย่าง ตามวิธีมองของคนสมัยนี้     (๑) เป็นร่องรอยของความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของศิวลึงค์    จึงแกะสลักหินใต้น้ำในลำธารต้นน้ำเป็นหัวกลมๆ แล้วบอกว่าเป็นศิวลึงค์    และบอกว่าน้ำที่ผ่านศิวลึงค์เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์    (๒) ผมเดาว่าคนที่มาแกะสลักศิวลึงค์จำนวนพันนี้คงจะได้รับคำบอกว่าได้บุญสูงส่ง   จึงมีแรงบันดาลใจสูงมากในการทำงานในป่าทึบต้นน้ำ    ทำให้งานยากๆ สามารถบรรลุได้ โดยศรัทธา   (๓) มีคนบอกว่านี่เป็นวิธีสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้น้ำ    ไม่ให้ผู้คนทำลายต้นน้ำ หรือทำความสกปรก    (๔) ดูจากกิจการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของเสียมราฐในขณะนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าผลของการทำงานที่ยากอย่างมหัศจรรย์เหล่านี้   ช่วยทำรายได้เลี้ยงลูกหลานคนเขมรโบราณเจ้าของผลงาน
         นอกจากศิวลึงค์ เราเห็นรูปสลักโยนีใต้น้ำหนึ่งที่    แวดล้อมด้วยศิวลึงค์จำนวนร้อย
         ชม “พันลึงค์”  ใต้น้ำและบางส่วนเหนือน้ำแล้ว เราปีนลงไปดูน้ำตก    ชักรูป แล้วเดินกลับด้วยความอิ่มเอม    ทริปนี้ใช้เวลาเดิน ๒ ชม. เศษ

      

นารายณ์บรรทมสินธุ์ และศิวลึงค์นับพัน             ศิวลึงค์เรียงแถว

        

            ศิวลึงค์และโยนี                                ศิวลึงค์นับพันในลำธาร

บันทายศรี
         ปราสาทที่ฝีมือแกะสลักละเอียดงดงามที่สุด    ทำด้วยหินทรายสีชมพู    ชื่ออาจแปลว่าปราสาทแห่งความงาม หรือปราสาทแห่งสตรี ก็ได้    ความพิเศษคือไม่ได้สร้างโดยกษัตริย์ แต่สร้างโดยที่ปรึกษาของราชา    ชื่อจริงคือปราสาทแห่งเทวะทั้งสาม คือเทวะผู้สร้าง ผู้ปกปักรักษา และผู้ทำลาย  ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู  

     
ลวดลายแกะสลักหินประณีตที่สุด 

ลวดลายแกะสลักหินสีชมพู 

สุดยอดความงามของหินแกะสลัก 


โตนเลสาป
         นั่งรถผ่านสลัม  มีบ้านเคลื่อนที่ทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง    เสาสี่ต้น สามารถยกโดยคนสี่คน หนีน้ำได้    ลงเรือแล่นชมทะเลสาบ    มีเรือนแพ และเรือที่ใช้เป็นบ้าน    มีโรงเรียนลอยน้ำ     สถานีตำรวจลอยน้ำ    ห้องสมุดเคลื่อนที่     ศูนย์การค้าลอยน้ำ   ได้เห็นชีวิตชาวน้ำ ซึ่งต่างจากชีวิตคนไทยที่เป็นวัฒนธรรมบก ยิ่งขึ้นทุกวัน     มีเด็กชาวเวียดนามมาแสดงการนั่งในกะละมังผาดโผนเพื่อขอเงิน เป็นอาชีพอย่างหนึ่ง    ระหว่างทางเกิดรุ้งกินน้ำสองวง    ไปได้หน่อยฝนตก คนที่ขึ้นไปนั่งชั้นดาดฟ้าต้องลงมาในเรือ 

 

     

บ้าน 

รุ้งกินน้ำเหนือฟ้าเรือนแพ 

สองพี่น้องวณิพกนักแสดง 

 

อาหารเย็นและชมการแสดง
           ที่ภัตตาคาร โตนเล แม่โขง    อาหารบุฟเฟ่ต์ หลากหลายมาก และรสถูกปากคนไทย    การแสดงมี รำเบิกโรง    รำทำนา    รำนกยูง (คล้ายฟ้อนนกไทใหญ่)   รำเก็บไข่มดแดง    รามเกียรติ    และฟ้อนนางอัปสรา

     

 รามเกียรติเขมร

รำนกยูง 

รำอวยพร 


          ซื้อหนังสือ ๒ เล่ม ในราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ   คือเล่มละ ๒๐๐ บาท   ซี้อที่อาคารห้องน้ำสำหรับนักท่องเที่ยว    และภายหลังได้ซื้อเพิ่มอีก รวมเป็น ๓ เล่ม
1. Along the Royal Road to Angkor. By Hitoshi Tamura & Yoshiaki Ishizawa
2. Ancient Angkor Book Guide. By Michael Freeman and Claude Jacques.
3. Lonely Planet 2005. Cambodia.  เล่มนี้ซื้อจากเด็กที่ปราสาทนาคพัน ราคา ๒๐๐ บาทเช่นกัน   

เยือนนครวัด : 1 


 

หมายเลขบันทึก: 25523เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2006 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท