การอ่านหนังสือผูก


อีสาน

 

 

 

 

 

การอ่านหนังสือผูก

                                     

                      การอ่านหนังสือผูก  คือ  การอ่านวรรณกรรมที่เขียนไว้ในใบลานเพื่อเป็นมหรสพแก่ผู้ฟังในงานศพ(งันเฮือนดี)    ฉลองหญิงที่อยู่ไฟหลังการคลอดบุตร(สลองหม้อกรรม)     เทศน์มหาชาติ(บุญผะเหวด)  และบุญต่าง ๆ

                      ในยุคที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)  ยังคงมีวัฒนธรรมจารีตประเพณีที่อุดมสมบูรณ์นั้น   ชาวบ้านได้รับการเรียนรู้อักษรธรรอีสานและอักษรไทยน้อยที่เผยแพร่มาจากอาณาจักรล้านช้าง

อักษรเหล่านี้ได้บันทึกเรื่องราวทางศาสนา  ประวัติศาสตร์  ตลอดจนสรรพวิชาสาขาต่าง ๆ เพื่อใช้ถ่ายทอดสู่อีกรุ่นต่อไป  การเรียนรู้อักษรธรรมอีสานและอักษรไทยน้อยนั้นค่อนข้างอยู่ในวงจำกัดเฉพาะชายได้บวชเรียนเท่านั้น   เพราะการศึกษาในสมัยนั้นยังคงจัดการเรียนการสอนในวัดโดยมีพระภิกษุผู้คงแก่เรียนเป็นเจ้าสำนักเรียน 

                      เมื่อการเรียนอักษรธรรมอีสานและอักษรไทยน้อยอยู่ในวงจำกัดดังกล่าวมานั้น  จึงเป็นการยากยิ่งที่ชาวบ้านที่ไม่มีโอกาศบวชเรียน  โดยเฉพาะเพศหญิงจะไม่ได้รับความรู้ที่บันทึกด้วยอักษรเหล่านั้น  ปราชญ์บรรพชนจึงสร้างค่านิยมการอ่านหนังสือผูกในงานบุญต่าง ๆ เพื่อเป็นกุศโลบายในการเผยแพร่ความรู้โดยอาศัยพระและผู้รู้เป็นผู้ถ่ายทอด

                หนังสือผูกอีสาน  คือ ใบลานที่จารด้วยอักษรธรรมอีสานหรืออักษรไทยน้อย  ร้อยด้วยด้ายเรียกว่า  สายสนอง  ทบรวมกันเป็นผูก  เรื่องราวต่าง ๆ อาจต้องใช้ใบลานหลายผูกบรรยายเรื่องราวจึงนำผูกเหล่านั้นมามัดรวมกันเป็นมัดเรียกว่า  หนังสือผูก หนังสือผูกเหล่านี้มีความเชื่อว่าผู้หญิงห้ามจับต้องด้วยเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และสำคัญทางศาสนา  การจารและการอ่านจึงมีเพียงเพศชายเท่านั้น  แต่ก็ใช่ว่าจะห้ามเสียเลยทีเดียวผู้หญิงสามารถว่าจ้างให้จารใบลานเพื่อถวายวัดได้  บ้างก็ถวายผ้าซิ่นไหมผืนใหม่ที่ยังมีสวมใส่ถวายเพื่อห่อใบลาน  บ้างถวายเส้นผมเพื่อควั้นเป็นสายสนองร้อยใบลาน

                      วรรณกรรมที่นิยมเอามาอ่านส่วนมากจะเป็นนิทานที่ให้คติธรรม และมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน เช่น สังข์ศิลป์ไชย  กาละเกด  นางผมหอม  สุวรรณจักรกุมาร  โสวัตร  เป็นต้น วรรณกรรมเหล่านี้จะ ทำให้ผู้ฟังได้รับทั้งความบันเทิงใจพร้อมทั้งสาระที่มีคุณค่าต่อชีวิต 

                      การอ่านหนังสือผูกนั้น  ครูภูวนาท   มาตรบุรม (สัมภาษณ์.  ๒๕๕๑) ผู้เชี่ยวชาญการอ่านใบลาน  กล่าวว่า  การอ่านหนังสือผูกใบลานนั้นเราต้องไหว้    ครั้ง  เพื่อบูชาคุณสามประการ

 

 

               ครั้งที่๑     ไหว้มัดใบลานที่จะอ่านซึ่งห่อด้วยผ้าซิ่นและยังไม่แกะ

                                   เชือกออก  เพื่อบูชาพระคุณมารดาโดยมีผ้าซิ่นห่อ

                                   ใบลาน เป็นสัญลักษณ์

                ครั้งที่ ๒     ไหว้ใบลานที่แก้ผ้าห่อใบลานออกแล้วแต่ยังไม่แยกผูก

                                    เพื่อบูชาพระคุณบิดาโดยมีเชื่อกมัดไม้ประกับและไม้

                                    ประกับเป็นสัญลักษณ์

                ครั้งที่        ไหว้ใบลานก่อนอ่าน  เพื่อบูชาพระคุณครูอาจารย์ที่ ประสิทธิ์  

                                     ประสาทวิทยาความรู้ให้ตนเอง

 

                      นอกจากนี้  ครูภูวนาท  ยังได้อธิบายขั้นตอนการอ่านหนังสือผูกให้ฟังว่า  ก่อนอ่านต้องแก้ใบลานออกจากมัดแล้ววางบนกากะเยีย(ไม้ขึงเชือกเพื่อวางใบลาน)หรือจับถือประคองไว้ในระดับสายตาก็ได้  จากนั้นจึงกล่าวนะโมตัสสะฯ    จบ  เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าเสร็จแล้วจึงกล่าวคำบูชาครูดังนี้

 

ข้าขอไขหัวข้อ                       ขอไขใบลานอ่าน

จากอาจารย์ผู่เค้า                      ของเจ้าอย่าได้หวง

บ่อใด๋ผู้ข้าอ่านผิด                  ขอท่านโปรดได้ท่วง

เปิดป่องคองนำ                        นำคองลานบ่อนท่านจารเอาไว้

อย่าได้คาติดข้อง                      คองใด๋ให้มันค่อ

ให้เป็นคองค่องน้อง                 คือน้ำล่องของ

เชิญทั้งคุนาคน้ำ                    คุณแม่ธรณี

คุณบิดามารดา                         คุณครูบาอาจารย์

ขอให้มาแลซอยญู้                    ยามข้าอ่านนิทาน”

 

            จากนั้นจึงเริ่มอ่านนิทานไปด้วยทำนองธรรมวัตร   ไปจนจบเรื่องโดยอาจพักเป็นช่วงก็ได้  การอ่านหนังสือผูกจึงตกเป็นหน้าที่ของผู้ที่สามารถอ่านหนังสือผูกได้คล่องและมีน้ำเสียงไพเราะน่าฟัง

คำสำคัญ (Tags): #หนังสือผูก
หมายเลขบันทึก: 254533เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2009 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท