หัวรถไฟไปทำฝาย (๑)


กิจกรรมเบาๆ แต่เป็นประโยชน์ได้ทำร่วมกัน คือ ไปทำฝายต้นน้ำลำธาร

หัวรถไฟไปทำฝาย (๑)

 

                หลังจากกิจกรรม เปิด ปรับ ปรุง เมื่อพุธที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ที่บ้านนายอุ้ม หรือพี่อุ้มของน้องๆ ซึ่งหลายๆ คนในชมรมได้บันทึกไว้[1] (แต่ป้าต๊อกแอบขี้เกียจบันทึก ได้แต่ไปตอบ ไปถาม ไปแหย่คนนู้นที คนนี้ที คงไม่ว่ากันนะจ๊ะ) ทุกคนก็สลายหายตัว เพราะเทศกาลสอบมาถึง ป้าต๊อกเองก็ยุ่งกับการออกข้อสอบ และสรรพประชุมทั้งหลาย จนพอมีเวลาหายใจกันได้หน่อยนึง เราก็เริ่มหาเรื่องกัน..อิอิ เรื่องแรก คือ เราจะไปทำฝายตามพระราชดำริ เรื่องที่สอง คือ เราจะลงพื้นที่ที่อำเภอแม่แตงเพื่อสำรวจสถานะบุคคล

                วันนี้ที่จะบอกเล่าคือเรื่องแรกค่ะ แต่ขอกระโดดไปเรื่องที่สองก่อน เพราะไม่ใช่เรื่องที่เราอยากหา แต่บังเอิญเรื่องมาหาเรา...งงมั้ย

                สืบเนื่องจากงานวันเด็กไร้สัญชาติที่สบเมย[2] ทางสภาทนายความทราบว่านักศึกษานิติศาสตร์ (ที่ไปร่วมงาน) มหาวิทยาลัยพายัพ รวมตัวกันตั้งชมรมหัวรถไฟ ประกอบกับทางสภาทนายความเองต้องลงพื้นที่เพื่อสำรวจบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะที่อำเภอแม่แตง จึงคิดว่า ถ้าจะมีนักศึกษาในพื้นที่ได้ร่วมงานด้วยก็คงจะดี ก็เลยมาชวนเด็กๆ หัวรถไฟไปร่วมงานด้วย ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะชมรมหัวรถไฟ แต่ยังมีนักศึกษาจากสถาบันอื่นด้วย งานนี้ป้าต๊อกติดภารกิจสัพเพเหระไม่สามารถไปด้วยได้ ได้แต่รอเด็กๆ มาบอกเล่าให้ฟัง และมาเขียนให้อ่าน

 

                ส่วนงานแรกเกิดขึ้นเพราะเราไม่อยากจะห่างเหินกันเกินไป ...แหม...เขียนซะหวานเจี๊ยบ ทางชมรมฯ เห็นว่าถ้าเราไม่มีกิจกรรมใดๆ เลยระหว่างนี้ อาจจะทำให้ความคุ้นเคยที่เราสร้างขึ้นมา มันจะชะงักไป ก็เลยควรจะมีกิจกรรมเบาๆ แต่เป็นประโยชน์ได้ทำร่วมกัน พอดีกับนายอุ้มส่งข่าวมาว่า ทางหมู่บ้านปางแดง อยู่ไม่ไกลจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้[3] จะทำฝายในพระราชดำริ หรือฝายต้นน้ำลำธาร เราจะสนใจไปร่วมมั้ย ซาวเสียงแล้วส่วนใหญ่ตกลง งานนี้เลยร่วมขบวนกันระหว่างวันที่ ๒ ๓ เมษายน ๒๕๕๒

                ก่อนวันงาน มีการประชุมทำความเข้าใจกัน เน้นๆ ไปที่การแต่งกายเพื่อทำฝาย ควรใส่กางเกงยีนส์ หรือกางเกงขายาว รองเท้าผ้าใบ ใครถนัดสวมถุงมือทำงาน (แบกหาม) ก็เตรียมไปเองนะ เสื้อทีมไม่มี ก็ขอสีดำแล้วกัน เพราะมันต้องเปื้อนแน่ๆ ส่วนภาคสันทนาการเราก็มีเหมือนกัน นายอุ้มช่วยเตรียมคาราโอเกะไว้ให้ แต่ต้องนอนเต็นท์ เพราะบ้านพักในศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ มีแขกผู้ใหญ่มาพัก เรายังวัยละอ่อนอยู่ก็สนุกกับการนอนเต็นท์แล้วกัน คราวนี้ป้าต๊อกตกรุ่นซะแล้ว เพราะแม่ของป้าต๊อกไปด้วย เลยเบียดบังที่พักได้มา ๑ หลัง ให้แม่กับป้าต๊อกนอน

                วันเดินทาง เด็กๆ ไปถึงศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ช่วงบ่าย (แต่ป้าต๊อกต้องตามไปตอนเย็น เพราะประชุมทั้งวัน) ทราบจากนายอุ้มว่า อาจารย์คณิต  ธนูธรรมเจริญ (คุณพ่อของอุ้ม) ได้บอกเล่าถึงประวัติการทำฝายต้นน้ำลำธาร และคาดว่าอาจารย์น่าจะพูดถึงความเป็นมาของศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ด้วย (ใช่หรือไม่ใช่...นายอุ้มและเด็กๆ มาตอบหน่อยก็แล้วกัน) รวมทั้งมีการร่างโครงการต่างๆ ที่เราจะทำกันในปีการศึกษาหน้า เพราะต้องลงกำหนดการเพื่อแจ้งกับสโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ด้วย

                ป้าต๊อกไปถึงที่ศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ ประมาณห้าโมงครึ่ง เด็กๆ กำลังเล่นสกีบกกันอย่างสนุกสนาน ไม่รู้ว่าใครไอเดียบรรเจิด เอากล่องกระดาษมาทำเป็นที่นั่ง แล้วไถลลงมาจากสันอ่างเก็บน้ำ กลายเป็นสกีบกง่ายๆ แต่สนุกกันน่าดู ป้าต๊อกว่าหญ้าแถบนั้นคงตายเรียบแหงแก๋ พระอาทิตย์คล้อยต่ำลงแล้ว ลำแสงสุดท้ายกำลังจะลับไปหลังทิวเขา พวกเราถ่ายรูปเป็นที่ระลึกก่อนไปหม่ำอาหารเย็น

                ด้วยความกรุณาของอาจารย์คณิต และเจ้าหน้าที่ศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ พวกเราสามารถกินหมูกระทะได้ที่นี่ !! ขอบคุณแทนเด็กๆ ด้วยค่ะ  J    หลังอาหารเย็น  ตามคำเรียกร้องครับพ่อแม่พี่น้อง คาราโอเกะไงคะ      คุณสวิง เจ้าหน้าที่ศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ ให้เกียรติเปิดการร้องเพลงในค่ำคืนนี้ ตามด้วยน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาร่วมขบวนหัวรถไฟ - -> นายดรีม แล้วนายดรีมไม่เคยได้ยินเสียงแปลก เลยส่งไมค์ต่อให้ป้าต๊อก คาดว่าคืนนั้นคงมีคนนอนไม่หลับกันหลายคน..ฮ่าๆ อ้อ... happy birthday ด้วยนะนายตั้ม

                เมื่อคืนจะเลิกกันกี่ทุ่มไม่รู้ แต่วันรุ่งขึ้น ๘ โมง คือเวลาอาหารเช้า และ ๙ โมง ล้อหมุน ทุกคนทำเวลาได้ดีมาก ระหว่างรอคุณสวิงมาพาพวกเราไปหมู่บ้านเป้าหมาย ป้าต๊อกก็เลยสั่งการบ้านว่า กลับมาอย่าลืมบันทึกความคิดว่า ก่อนมาเข้าร่วมกิจกรรม เราคาดว่าจะเจอกับอะไร คาดหวังอะไร และหลังจากทำกิจกรรมแล้ว เราได้อะไร

                ประมาณเก้าโมงครึ่งเราออกเดินทาง หมู่บ้านปางแดงอยู่บนเส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย เลยศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร รถต้องทิ้งไว้ที่บ้านพ่อหลวงวิฑูรย์ (ซึ่งยังหนุ่มอยู่) เข้าห้องน้ำกันเรียบร้อย ก็ออกมารับน้ำคนละ ๑ ขวด แล้วเดินเท้าอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร จึงถึงที่หมายที่จะให้เราทำฝายกัน ระหว่างทางพบเห็นชาวบ้านเริ่มทำฝายกันไปบ้างแล้ว มึดากับนายเบิร์ดทักทายเป็นภาษาปาเกอะญอ[4] เพราะรู้มาว่าชาวบ้านหมู่บ้านนี้เป็นพี่น้องปาเกอะญอเหมือนกัน พ่อหลวงถามพวกเราว่า ขอซัก ๕ ฝายจะทำได้มั้ย เด็กๆ ซ่าส์...บอกว่าได้ หุหุ

 

                เอ้า...จะทำได้หรือไม่ได้ ภารกิจครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ ตามต่อตอนหน้านะคะ (ตอนนี้ยาวมากแล้ว J)



[1] เช่น บันทึกของโดราเอมอนแห่งขุนยวม http://learners.in.th/blog/justbemyself/253276  บันทึกของดอกหญ้ามึดา http://learners.in.th/blog/4911009/254744 หรือบันทึกของพี่ใหญ่ - นายอุ้ม http://gotoknow.org/blog/706/243946

[2] อ่านย้อนหลังได้ที่ http://gotoknow.org/blog/tatatock/234627  หรือ http://learners.in.th/blog/4911009/238006 หรือ http://learners.in.th/blog/justbemyself/246052  และอีกมากมาย ลองตามรอยดูนะคะ

[3] ต่อไปขอเรียกสั้นๆ ว่า ศูนย์ห้วยฮ่องไคร้

[4] หลังจากสงสัยมานานว่าจะเรียกว่าอย่างไรระหว่าง ปกากะญอ ปากะญอ และ ปาเกอะญอ มึดา และพ่อหลวงวิฑูรย์ยืนยันว่าคนเมืองฟังไม่ชัด เลยเรียกว่า ปกากะญอ จริงๆ คือ ปาเกอะญอ เสียง เกอะ มันกึ่งๆ ระหว่าง เกอะ กับ กะ ป้าต๊อกก็ขอเรียกว่า ปาเกอะญอก็แล้วกัน คงไม่เพี้ยนมากนะ

หมายเลขบันทึก: 254476เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2009 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์คณิต ธนูธรรมเจริญ ได้บอกเล่าแนวคิดในการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร

ผ่านประสบการณ์แบบเป็นกันเองครับ แล้วก้พูดคร่าวๆเกี่ยวกับการจัดตั้งศูยน์พัฒนานี้

โดยอดีตจนถึงสภาพปัจจุบันที่ถูกพัฒนาครับ

สบายดีหรือเปล่านายอุ้ม คงสบายดีหรอกน่ะปี้น้องบ้านปางแดงถามหากันซ้าว.......................เมื่อใดจะมาร่วมกันสร้างป่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท