เสียเวลาสักนิด...เพื่อกันความผิดหวังเรื่องข้าวปลูก


ข้าว

เสียเวลาสักนิด...เพื่อกันความผิดหวังเรื่องข้าวปลูก                         

ท่ามกลางความแปรปรวนของอากาศ โดยเฉพาะการเกิดพายุฝนตกกระหน่ำลงมาอย่างหนัก  ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา  ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในนาข้าวเป็นบริเวณกว้าง เป็นช่วงที่อยู่ในระยะการเก็บเกี่ยวพอดี ผลที่ตามมาก็ทำให้คุณภาพและผลผลิตข้าวลดลง ที่ อ.หนองบัว  จ.นครสวรรค์  เป็นอำเภอหนึ่งที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว คือ ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ทำพันธุ์จะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ อาจจะต้องพบกับความผิดหวังในเรื่องของ

1.       หว่านหรือปลูกแล้วไม่งอก

2.       งอกน้อยไม่ทั่วแปลงบางทีต้องปลูกซ่อมหรือปลูกใหม่

3.       งอกมาแล้วลำต้นไม่แข็งแรง ไม่ต้านทานโรคและแมลง

4.       บางทีต้องเลิกปลูกไปเลยเพราะหมดฤดูกาล

ปัญหาเหล่านี้แก้ไขโดยการทดสอบความงอกดูให้แน่ชัดก่อน ด้วยการสุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์จาก หลายๆ จุดทั้งด้านบน ด้านล่าง และส่วนกลาง จากภาชนะที่ใช้บรรจุเพื่อให้ได้ตัวแทนที่แท้จริงเสร็จแล้วมาแบ่งเมล็ดเป็น 4 กองๆ ละ 100 เมล็ด เพื่อใช้ในการทดสอบความงอก

-  ภาชนะที่ใช้เพาะจะเป็นถาดพลาสติกหรือจานสังกะสี , จานกระเบื้อง , กระบะเพาะ , กระถางต้นไม้ ฯลฯ

-  วัสดุที่ใช้เพาะเป็นทราย , ดิน , ขี้เถ้าแกลบหรือกระดาษทิชชู่

วิธีการเพาะ  หว่านเมล็ดลงบนวัสดุที่ใช้เพาะโดยเรียงเมล็ดให้เป็นแถวๆ ละ 10 เมล็ด จำนวน 10 แถว ก็จะได้ 100 เมล็ด  ทำพร้อมกัน 4 กระบะ แล้วพรมน้ำให้ชุ่มและป้องกันไม่ให้นก ,หนู , มด หรือแมลง คุ้ยเขี่ยหรือกัดกินเมล็ดพันธุ์

การนับต้นกล้า หลังจากเพาะแล้วประมาณ 5-10 วัน ก็นับต้นกล้า ในการนับให้นับต้นกล้าที่สมบูรณ์แข็งแรง

การคิดเปอร์เซ็นต์ความงอก  ควรนับต้นกล้าที่งอกแต่ละกระบะทั้ง 4 กระบะ นำมารวมกันแล้วหารด้วย 4 ตัวอย่าง เช่น นับต้นกล้าเรียงตามลำดับได้ ดังนี้ กระบะที่ 1 , 2 , 3 , 4 นับได้ 81 ,75,92,88 นำมารวมกันได้ 336 ต้น หารด้วย 4 ก็จะได้ความงอกเฉลี่ยร้อยละ 84  เป็นต้น และเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นจะใช้ทำพันธุ์อย่างมั่นใจได้นั้นต้องมีความงอกร้อยละ 80 ขึ้นไป

จากผลการทดสอบความงอกเราจะได้ประโยชน์อย่างไร

1. ใช้ในการประกอบการพิจารณาว่าจะใช้เมล็ดพันธุ์นั้นเพาะปลูกหรือไม่

2. ใช้ในการกำหนดอัตราการปลูก กล่าวคือ  อัตราความงอกสูงก็ใช้เมล็ดพันธุ์น้อย

อัตราความงอกเมล็ดพันธุ์น้อยก็ใช้เมล็ดพันธุ์มาก

 3. ใช้ในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ กรณีมีเมล็ดพันธุ์มากเพราะจะคัดเลือกเอาเมล็ดพันธุ์ที่มี

เปอร์เซ็นต์ความงอกที่ดีที่สุดสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายสุริยัน  ชมพูมิ่ง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ  สำนักงานเกษตรอำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์ 

คำสำคัญ (Tags): #ข้าว
หมายเลขบันทึก: 254038เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2009 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

*** อ่านบันทึกนี้แล้วน่าเห็นใจเกษตรกรนะคะ

*** ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท