ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

สืบสานเพลงร้องสารภัญญ์


สารภัญญ์

            สรภัญญ์หรือสารภัญญะหรือสรภัญญะ



กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้สรุปไว้ว่า

     สรภัญญ์ (สะ-ระ-พัน หรือ สอ-ระ-พัน) หรือ สารภัญญะ (สา-ระ-พัน-ยะ) หรือ สรภัญญะ” (สอ-ระ-พัน-ยะ) สามารถออกเสียงได้ทั้งสี่แบบ และถือว่าถูกต้องตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น เป็นบทสวดประเภทหนึ่งที่อุบาสกและอุบาสิกาในภาคอีสานนิยมสวดกันในวันอุโบสถศีล (วันพระ) หรือบางครั้งก็นำมาสวดประชันกันว่าคณะสวดหมู่บ้านใดจะสวดได้ไพเราะ และบทสวดใครจะมีคารมคมคายกว่ากัน การสวดสรภัญญ์นี้ภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า ฮ้องสรภัญญ์

สรภัญญ์ เป็นการสวดมนต์ในทำนองสังโยค คือ การสวด เป็นจังหวะหยุดตามรูปประโยคฉันทลักษณ์ บทสวดจะมีลักษณะเป็นฉันท์หรือกาพย์ก็ได้ แต่ที่นิยมกันมากคือ กาพย์ยานี สำหรับเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับศาสนา บาปบุญคุณโทษ นิทานชาดก นอกจากนั้น ก็ยังมีการแต่งกลอนเน้นไปทางศิลปวัฒนธรรม เช่น กลอนถามข่าว โอภาปราศัย ชักชวนให้ไปเยี่ยม การลา หรือไม่ก็อาจจะเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นของอีสาน อาทิ เรื่องกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เป็นต้น บทสวดสรภัญญ์มักไม่เน้นในเรื่องความรักหรือการเกี้ยวพาราสีของคนทั่วไป เพราะการสวดสรภัญญ์นั้นเกี่ยวข้องกับทางศาสนา และผู้ฝึกสอนเป็นพระภิกษุ จึงไม่ให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก แต่อาจจะมีบางเรื่องเช่น ตอนนางยโสธราพิมพาอาลัยอาวรณ์เจ้าชายสิทธัตถะที่หนีออกบวช ที่แสดงความรัก


สำหรับการสวดสรภัญญ์ในเมืองไทยนั้นมีการสวดมานานแล้ว ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่การสวดในยุคนั้นนิยมสวดเป็นภาษาบาลี และมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยตรง ไม่มีเรื่องแต่งใหม่เป็นคำไทย ผู้ที่สวดจึงมักเป็นพระสงฆ์ และอุบาสกอุบาสิกาที่อ่านภาษาบาลีได้คล่องแคล่ว เมื่อการสวดสรภัญญ์ได้รับความนิยมมากขึ้น ปราชญ์ทางพุทธศาสนาจึงได้แต่งคำสวดเป็นภาษาไทย ให้อุบาสกอุบาสิกาและแม่ชีใช้สวดในวัด เช่น สวดทำวัตร เนื้อหาก็จะได้จากกระทู้ธรรมในพุทธศาสนสุภาษิต และธรรมบท


ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่สามารถสืบทราบได้ว่ามีการสวดสรภัญญ์ตั้งแต่เมื่อใด

ปัจจุบันการสวดสรภัญญ์ของพี่น้องชาวภาคอีสานนั้น นิยมสวดกันในงานศพ งานทอดผ้าป่า งานกฐิน งานทอดเทียน งานกวนข้าวทิพย์ และในกิจกรรมวันธรรมสวนะ (วันพระ) ส่วนภาคกลางนั้นนิยมร้องในงานศพ เช่นเดียวกับการสวดพระอภิธรรม


การสวดสรภัญญ์ของภาคอีสานนี้ เทียบกับ ภาคกลาง ก็คือ สวดโอ้เอ้วิหารราย ส่วน ภาคเหนือ จะเรียกการสวดแบบนี้ว่า อื่อระนำ จ๊อยทำนองธรรม และ ภาคใต้ เรียก สวดค้าน จุดมุ่งหมายของการสวดไม่ว่าจะของภูมิภาคใดก็ล้วนมีจุดประสงค์เดียวกันคือ การเผยแพร่ธรรมะ ดังนั้น เนื้อหาที่ใช้สวดจึงมักให้คติธรรม เช่น เรื่องเวสสันดรชาดก และชาดกต่างๆ


การสวดสรภัญญ์มีรูปแบบการสวด ตามลำดับการขับสรภัญญ์เป็นกลุ่มของกลอนดังนี้


๑. กลอนเตรียมตัว  จะกล่าวถึงการเตรียมตัวกราบไหว้พระรัตนตรัย เนื่องจากธรรมเนียมของชาวพุทธก่อนจะทำสิ่งใดจะต้องไหว้พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ก่อนเป็นอันดับแรก กลอนนี้จึงเสมือนกลอนนมัสการหรือไหว้ครูนั่นเอง


๒. กลอนบูชาดอกไม้  กลอนบทนี้แสดงให้เห็นถึงการบูชาดอกไม้ที่ทุกคนเตรียมมาและถืออยู่ในมือแล้ว หรือบางทีก็วางไว้ที่ขันกะหย่องตอนกราบพระครั้งแรก การบูชาด้วยดอกไม้ของหอมถือว่าเป็นอามิสบูชา เป็นการบูชาเบื้องต้นที่ศาสนิกชนควรจะทำ


๓. กลอนไหว้คุณครูบาอาจารย์  นอกจากไหว้พระรัตนตรัยแล้ว สิ่งที่ควรรำลึกต่อไปก็คือ ครูอาจารย์


๔. กลอนเดินทาง  เป็นกลอนพรรณนาการเดินทางมาร้องสรภัญญ์ กลอนนี้เป็นการสะท้อนภาพชนบท ที่นักร้องสรภัญญ์ได้เดินทางจากบ้านของตนเองบุกป่าฝ่าดงมายังสถานที่ร้องสรภัญญ์


๕. กลอนปัญญาน้อย  เป็นกลอนแสดงการถ่อมตนไม่โอ้อวด ให้เกียรติผู้อื่น


๖. กลอนให้รักษาศีล  เป็นการเริ่มกลอนที่เป็นเนื้อหาสาระของจริยธรรม คือว่าด้วยเรื่องทาน ศีล ภาวนา


๗. กลอนพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ  เป็นกลอนที่กล่าวถึงเนื้อหาของพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ว่ามีอยู่กี่ประการ


๘. กลอนสังขารไม่เที่ยง  เป็นกลอนที่กล่าวถึงสภาวธรรม คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขาร เพื่อเตือนนิกรชนให้สำนึกอย่าประมาท


๙. กลอนนรก-สวรรค์  เป็นกลอนที่ว่าด้วยนรก ซึ่งเป็นปลายทางของคนบาป และสวรรค์ซึ่งเป็นอานิสงส์ของคนบุญ


๑๐. กลอนคุณบิดาคุณมารดา  เป็นกลอนที่เสริมด้านคุณธรรม เป็นการแสดงคุณบิดามารดา และชี้นำให้รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ ที่เรียกว่า กตัญญูกตเวที


๑๑. กลอนลาและอวยพร  เป็นกลอนส่งท้าย ผู้ร้องสรภัญญ์จะบอกลาพระสงฆ์และผู้ฟังทุกคน แล้วอวยพรให้มีความสุข อยู่ดี มีแฮง (มีแรง)


คุณประโยชน์ของการสวดสรภัญญ์ นอกจากจะทำให้ผู้ที่สวดได้เข้ามาใกล้ชิดพระศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว ในบทสวดยังเป็นบทกลอนที่เป็นประโยชน์ เช่น กลอนบูชาครู กลอนบูชาดอกไม้ กลอนศีล กลอนพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ กลอนบูชาคุณบิดร มารดา ซึ่งล้วนแต่บ่งบอกถึงการรู้คุณ กตัญญู รู้จักการขออภัย ให้อภัย รู้จักความดีความชั่ว ซึ่งเป็นยอดแห่งมนุษยจริยธรรมทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีการนำเอาวรรณคดีท้องถิ่นของภาคอีสานมาแต่งเป็นกลอน จึงทำให้ผู้ฟังได้รู้เรื่องนิทานพื้นบ้านต่างๆ ซึ่งเป็นนิทานที่มีคติสอนใจ จึงเป็นการสืบสานไม่ให้นิทานพื้นบ้านต้องสูญหายไปกับกาลเวลา


ในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่ชาวอีสานได้ร่วมใจกันสืบสานการสวดสรภัญญ์ให้คงอยู่ ด้วยการสวดในกิจกรรมวันธรรมสวนะและงานบุญต่างๆ รวมไปถึงได้จัดให้มีการประกวดสวดสรภัญญ์กันอยู่เสมอ มีการแข่งขันตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับภาค นอกจากนั้นแล้ว ยังได้ถ่ายทอดให้กับเยาวชนโดยการบรรจุอยู่ในเรียนการสอนวิชาวรรณกรรมท้องถิ่นในโรงเรียนต่างๆ ของภาคอีสานอีกด้วย จึงเชื่อได้ว่าการสวดสรภัญญ์อันเป็นอีกหนึ่งในมรดกวัฒนธรรมนี้จะยังคงอยู่คู่กับชาวอีสานต่อไป ตราบนานเท่านาน


คำสำคัญ (Tags): #สารภัญญ์
หมายเลขบันทึก: 253756เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2009 05:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • สวัสดีค่ะ
  • ที่วัดเขากำแพง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
  • ท่านพระครูสุวรรณประชานุกูล ท่านเจ้าอาวาส
  • ท่านได้นำวิธีการขับร้อง (สวด) บทสรภัญญ์ มาสอนเด็กๆในโรงเรียน ไพเราะมาก โดยท่านได้แต่งบทกลอนเชิดชูบุคคล
  • และให้เด็กๆขับร้อง ดิฉันคิดว่าสมควรแก่การสืบทอด ให้คงอยู่คู่แผ่นดินค่ะ

สวัสดีตอนเช้าๆ ครับคุณลำดวน

  • ขอบคุณที่แวะมาทำความรู้จักและใหกำลังใจกัน
  • เป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้ตลอดไป
  • ที่สุพรรณอากาศร้อนมั้ยครับ อีสาน(กาฬสินธุ์) ร้อนมากเลย
  • ถ้าคุณลำดวนมีโอกาสมาแถวอีสานยินดีต้อนรับนะครับ
  • โชคดีครับ ค่อยพบกันใหม่

เราชาวอีสาน ควรอนุรักษ์เอาไว้ สร้างแรงจูงใจ ให้คนหนุ่มสาวมีความหวงแหน

ช่วงนี้เข้าพรรษา มีการทอดเทียน ขับร้องสารภัญสนุกมากครับ

  • ขอบคุณครับ คุณพีระพล
  • ที่แวะมาเยี่ยม มาทักทาย  ทำความรู้จักกัน
  • ขอให้มีความสุขสมหวังครับ

** อยากได้เนื้อหากลอนจะหาได้จากไหน

** จะได้นำไปให้พระครูท่านพาเยาวชนร้อง

** ถ้าท่านใดมีส่งให้ด้วยนะค่ะ จะขอบคุณมาก

อยากได้บทสวดสรภัญญะ มาเปิดให้เด็กฟังเหมือนกันค่ะ

เพราะทุกวันศุกร์ก่อนเลิกเรียนจะเป็นกิจกรรมไหว้พระ-สวดมนต์ -สวดสรภัญญะ

ก็ไปกันแบบ ถูกมั่ง เพี้ยนกันบ้าง ทั้งครู ทั้งนักเรียน แต่ก็อยากให้เด็กได้รู้จักการสวดสรภัญญะเอาไว้บ้าง ใครมีข้อมูลตรงนี้ ก็เอามาฝากด้วยนะคะ จะเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง

หวัดดีค่ะ

คิดถึงแม่(แม่เสียแล้ว) จำได้ว่าตอนที่ท่านยังมีชีวิตเคยพาไปที่วัดฝึกร้องสรภัญญะ (ตอนเด็ก) เลยอยากฝึกร้องค่ะ

อยากได้เนื้อร้องนะคะเพราะมากเคยร้องเลยอยากได้เนื้อมาฝึกน่ะค่ะ

เคยร้องบทบูชาพระรัตนตรัย

บทสำเรียง (วันไหว้ครูจะมีร้องคะ)

อีกบทหนึ่งจำไม่ได้นะคะ

บทที่ 1 ร้องว่า

มาลาดวงดอกไม้ มาลาดวงดอกไม้มาตั้งไว้เพื่อบูชา

ขอบูชาคุณพระพุทธ ขอบูชาคุณพระพุทธ ผู้ได้ตรัสรู้มา

ขอบูชาคุณพระธรรม ขอบูชาคุณพระธรรม ผู้ได้นำคำสอนมา

ขอบูชาคุณพระสงฆ์ ขอบูชาคุณพระสงฆ์ ผู้ดำรงค์พระวินัย

บทที่ 2 ร้องว่า

จำเรียงทอยล๋อยกรานแด่อาจารย์เชียวชาญสอน

เคารพคุรอันสุนทรเอื้ออาทรด้วยกายใจ เอื้ออาทรด้วยกายใจ.....ที่เหลือจำไม่ได้ (อิอิ)

บทที่ 3 จำได้ทอนเกลือบสุดท้ายที่ร้องว่า

พฤหัสบดีดล พฤหัสบดีดล

เปรียบเป็นเช่นโพธิ์ไทรให้ร่มเงาเหล่านกกา ให้ร่มเงาเหล่านกกา

อะไรประมาณนี้นะคะ (อยากได้เนื้อร้องมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆค่ะช่วยลูกนกตาดำๆด้วยนะคะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท