ละครใบ้คณะเดียวในเมืองไทย (ที่เปิดขายบัตรชมการแสดง)


แมกกาซีนแปลก ฉบับศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2552

ทองเกลือ ทองแท้ (เกลือ)                         ณัฐพล คุ้มเมธา (ธา)                      รัชชัย รุจิวิพัฒนา (งิ่ง)

เบบี้ไมม์ คณะละครใบ้หนึ่งเดียวในไทย

         PANTOMIME หรือ ละครใบ้ เป็นศิลปะการแสดงแขนงหนึ่งที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ และทุกภาษาสามารถเข้าใจได้ เนื่องจากละครใบ้ใช้ภาษาท่าทางแทนภาษาพูดในการเล่าเรื่อง ซึ่งการใช้ท่าทางต่างๆ และการแสดงออกทางสีหน้าเป็นสิ่งที่มีความเป็นสากล ทำให้ละครใบ้สามารถดำรงอยู่ได้มาจนปัจจุบันและสามารถสร้างความบันเทิงและให้แง่คิดแก่กลุ่มคนโดยรวมไม่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในต่างประเทศมีการแสดงละครใบ้ในโอกาสต่างๆให้เห็นกันจนชินตา ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงของเราอย่างประเทศเกาหลีนั้นก็มีการจัดเทศกาลละครใบ้หรือ Mime Festival ตามท้องถนนกันเป็นประจำทุกปี แต่ในบ้านเราละครใบ้ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เมื่อพูดถึงละครใบ้หลายคนอาจคิดว่า เป็นการแสดงของคนที่ทาหน้าสีขาวทำท่าเหมือนหุ่นยนต์อยู่ริมถนนหรือบางคนก็ยังสงสัยว่าละครใบ้จะสื่ออะไรได้มากมายจริงหรือ เมื่อเป็นการแสดงที่ไม่มีการใช้เสียงหรือบทสนทนาใดๆ ซึ่งแท้จริงแล้วจะมีสักกี่คน ที่เข้าใจว่า มนุษย์เราได้เข้าสู่โลกของละครใบ้อยู่ทุกวัน โดยมิได้ตั้งใจ เพราะทุกคนใช้การแสดงท่าทางแทนภาษาในการสื่อสารอยู่ในทุกๆวัน ละครใบ้จึงไม่ใช่ เพียงการแสดงเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีสื่อความรู้สึกต่างๆ ออกมาอย่างเป็นศิลปะ

และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ตอนนี้ในเมืองไทยของเราก็ได้มีคณะละครใบ้คณะหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “เบบี้ไมม์” พวกเขาเป็นกลุ่มนักแสดงที่หลงไหลศิลปะละครใบ้ถึงขนาดไปเรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคการแสดงละครใบ้กันไกลถึงต่างประเทศเพื่อนำมาเปิดการแสดงในเมืองไทย เบบี้ไมม์ได้เข้าร่วมแสดงละครใบ้ตามเทศกาลละครต่างๆในบ้านเรามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นงานเทศกาลละครกรุงเทพที่จัดขึ้นที่สวนสันติชัยปราการการเป็นประจำทุกปี เป็นนักแสดงชาวไทยเพียงกลุ่มเดียวที่ได้ร่วมขึ้นเวทีแสดงกับนักแสดงละครใบ้ชาวญี่ปุ่น ในงาน Pantomime in Bangkok ที่จัดต่อเนื่องมานานถึง 10 ปีแล้ว ร่วมแสดงในงาน International Street Show in Bangkok ครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วเรียกเสียงหัวเราะและเสียงปรบมือจากผู้ชมอย่างล้นหลาม นักแสดงของเบบี้ไมม์เคยได้รับเชิญให้ไปแสดงที่ต่างประเทศ และเป็นคณะละครใบ้เพียงกลุ่มเดียวในเมืองไทยที่เปิดขายบัตรให้ผู้ชมได้เข้าชมผลงาน ที่สำคัญพวกเขามีแฟนคลับชาวไทยอยู่ไม่น้อย การแสดงขายบัตรครั้งแรกของพวกเขาชื่อว่า เบบี้ไมม์โชว์ โวลุ่ม 1  (Babymime Show Vol.1) จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว มีผู้ชมเข้าชมการแสดงของพวกเขานับ 1,000 คน ขณะนี้พวกเขามีเว็บไซต์เป็นของตัวเองและในอนาคตพวกเขากำลังจะสร้างแบรนด์สินค้าของที่ระลึกของพวกเขาในนามเบบี้ไมม์ออกจำหน่ายด้วย

บรรยากาศในงาน เบบี้ไมม์ โชว์ โวลุ่ม 2  (Babymime Show Vol.2) เมื่อช่วงวันที่ 13-22 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา เป็นการแสดงชุดใหม่ล่าสุดจากเบบี้ไมม์ การแสดงสำหรับ Vol.2 มีทั้งหมด 10 รอบ จัดขึ้นที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ราคาบัตรก็เป็นราคาคนไทยกันเองเพียงแค่ 300 และ 500 บาท แถมรายได้จากการขายบัตรหลังหักค่าใช้จ่ายยังมอบให้กับมูลนิธิไชยวนา หรือครูองุ่น มาลิก แห่งสถาบันปรีดีพนมยงค์สถานที่แสดงอีกด้วย                                                                  

ก่อนจะพูดถึงการแสดงของพวกเขาขอแนะนำนักแสดงละครใบ้เบบี้ไมม์ทั้งสามคนกันสักนิดหนึ่ง เบบี้ไมม์เป็นคณะละครใบ้ของคนรุ่นใหม่ 3 คนที่มารวมตัวกันด้วยความบังเอิญอย่างตั้งใจ ที่เรียกอย่างนี้เพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เริ่มต้นเมื่อปี1999 โชคชะตาทำให้ 3 หนุ่มจากต่างสถาบันการศึกษา งิ่ง , ธา, เกลือ โคจรมาพบกันในการมาเรียนละครใบ้คนหน้าขาวของครูอั๋น (ไพฑูรย์ ไหลสกุล) หลังจากพวกเขาได้เก็บประสบการณ์อยู่นาน จึงเริ่มทำละครใบ้ในรูปแบบใหม่ของตัวเองโดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “Babymime” ปี 2003 Babymime แจ้งเกิดเป็นครั้งแรกในงานระดับชาติ ร่วมแสดงกับนักแสดงละครใบ้ชาวต่างประเทศ ในงาน Pantomime in Bangkok ครั้งที่ 6 นับตั้งแต่นั้นมา คณะละครใบ้เลือดใหม่เบบี้ไมม์ก็ทำงานละครใบ้แนวที่ถนัดคือ comedy และมีผลงานต่างๆ ฝากไว้ในงานเทศกาลละครดังกล่าวทุกครั้งเรื่อยมา รวมทั้งเวทีใหญ่น้อยอีกนับไม่ถ้วน Babymime ชื่อนี้หมายถึงกลุ่มละครใบ้ที่ใช้แรงบันดาลใจและจินตนาการของเด็ก เน้นการแสดงแบบดูง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ฮาหนุก-ฮาหนาน โดยหยิบเอาเรื่องราว ที่อยู่ใกล้ตัวมานำเสนอให้น่าสนใจ อาจเป็นเรื่องธรรมดาที่คนมองข้าม โดยสิ่งที่คนดูจะได้รับจากการชมละครใบ้ของพวกเขา เบบี้ไมม์กล่าวไว้อย่างยืดยาวว่า ละครของเบบี้ไมม์ มีเนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะ ให้ความบันเทิงพร้อมด้วยสาระ, สนับสนุนให้คนไทยใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์, เป็นสื่อบันเทิงทางเลือกใหม่, รูปแบบใหม่ของการพักผ่อนเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ, เบบี้ไมม์มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ชม, ผลงานของเบบี้ไมม์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแง่เนื้อหาและคุณภาพ เห็นได้จากได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ รวม ถึงรางวัลละครส่งเสริมสุขภาวะดีเด่นในเทศกาลละครกรุงเทพฯ ครั้งที่5 และเบบี้ไมม์เป็นหนึ่งในกลุ่มละครที่ทำข้อตกลงไม่รับการสนับสนุนจากเจ้าของสินค้าบุหรี่ เบบี้ไมม์ทำงานสร้างสรรค์เพื่อสังคมเสมอ เช่น ร่วมแสดงในโครงการ Art for All, พูดกันด้วยใจ, ศิลปะสู่ชุมชน ฯลฯ

รัชชัย รุจิวิพัฒน์ (งิ่ง) จบการ ศึกษาปริญญาตรี โปรแกรมนิเทศศาสตร์ เอกการโฆษณา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับโฆษณามาก จนเกือบไม่ได้เล่นละครใบ้แล้ว เพราะเป็นนักเรียนสมาคมผู้กำกับศิลป์บางกอก BAD Creative Workshop  แล้ว ยังเป็นนักเรียน J.Walter Thompson creative workshop และ เป็นนักเรียน The Good, The Bad, The Ugly & The Film workshop ด้วย แต่โชคชะตากลับพัดพาให้ได้มาเป็นนักเรียนละครใบ้ กับคนหน้าขาว” (ไพฑูรย์ ไหลสกุล) ได้พบกับเพื่อน ๆ ที่ปัจจุบันรวมตัวกันเป็นนักแสดงกลุ่ม Babymime งิ่งเรียนละครใบ้เพิ่มเติมจาก Mr.Ulrich Loop ชาวเยอรมัน Mr.Kojimaya Mansuke ชาวญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน แม้อดีตจะเป็นนักเรียนหลายสำนัก แต่ก็ยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับละครใบ้ต่อไป มีมุมมองต่อละครใบ้ว่าเหมือนกับโฆษณา ต้องเล่าเรื่องในเวลาอันสั้น ใช้ความมีประสบการณ์ร่วมของคนดูเหมือนกัน และให้ความสำคัญกับการคิดเรื่องเป็นอย่างมาก  อนาคตอยากเล่นละครใบ้ให้ได้นานที่สุด 

ณัฐพล คุ้มเมธา (ธา) สมัยเด็กเป็นคนขี้อาย ตอนเรียนปวส.ที่พาณิชยการพระนคร เริ่มชอบทำกิจกรรม วันหนึ่งอาจารย์ให้ทำละครกับเพื่อนๆ แล้วได้เป็นผู้กำกับ ชีวิตของธาก็เลยเริ่มมันส์และหันมาสนใจการแสดง  กระทั่งงิ่ง ชวนไปเรียนละครใบ้กับครูอั๋น (ไพฑูรย์ ไหลสกุล) แล้วทึ่ง!เกิดไอเดียอยากทำละครใบ้จึงได้รวมตัวกับเพื่อนๆ ทำละครใบ้ในแบบฉบับของตัวเอง เกิดเป็น BABYMIME... ถึงเวลาเรียนจบก็เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเลือกทำงานโฆษณาที่ร่ำเรียนมา หรือละครใบ้ที่ชอบ ตอบตัวเองได้ว่าละครใบ้คือสิ่งที่อยากทำที่สุด จึงทำงานละครใบ้เป็นอาชีพเรื่อยมา และมีรายได้เสริมจากการเป็นนักแสดงประกอบหนังโฆษณา อาทิเช่น บทบาทของคนขายประกัน(แมลงสาป)ในโฆษณากรุงเทพฯ ประกันภัย , ช็อคโกแลต kitkat, ยางรถยนต์ B-Quik, คนขับสามล้อ ในโฆษณา SUNSILK ฯลฯ ทำให้ธามีโอกาสนำเทคนิคละครใบ้ที่ใช้อยู่ไปเผยแพร่ในงานโฆษณาได้ด้วย

ทองเกลือ ทองแท้ (เกลือ) เกือบสิบปีที่แล้ว เกลือได้เริ่มศึกษาศิลปะการแสดงละครใบ้กับกลุ่มคนหน้าขาว เรียนจบจาก คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมีโอกาสได้เรียนศิลปะการแสดงละครใบ้กับนักแสดงชาวญี่ปุ่น Mr. Kojimaya   Mansuke ในปีพ.ศ. 2543 สะสมการเรียนละครใบ้ต่อมาไม่ว่าจะเป็นการเรียนพื้นฐานการแสดงละครใบ้สไตล์ ยุโรปจาก Mr. Ulrich loop ศิลปินชาวเยอรมัน, เรียนพื้นฐานการแสดงละครเวทีจากคุณวรรณศักดิ์ ศิริหล้า, เรียนการแสดงกายกรรมจาก Mr. Randoll Writht , อบรมโยคะจากมูลนิธิหมอชาวบ้าน, เรียน Physical theatre กับ Mr. Mark Hill, เรียน Performing Art กับ Miss Ellen Fisher ...สารพัดจะบรรยาย เกลือมีผลงานการแสดงไม่น้อยแล้ว ได้ร่วมแสดงในงานเทศกาลละครกรุงเทพอย่างต่อเนื่อง เคยไปร่วมงานแสดงในเทศกาลละครใบ้ ที่เซี่ยงไฮ้ และที่สิงคโปร์มาแล้ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเทศกาลละครใบ้ที่กรุงเทพ ตั้งแต่เทศกาลครั้งที่ 6 เป็นต้นมา

การแสดง Vol.2 ในครั้งนี้มีคอนเซ็ปต์การแสดงเกี่ยวกับความรัก ...ละครใบ้อมชมพู หัวใจซู่ซ่าสสสส์แบ่งการแสดงออกเป็น 7 ชุดหลักๆ ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนทำให้หัวใจของผู้ชมต้องพองโตด้วยบรรยากาศที่ตลบอบอวนไปด้วยกลิ่นอายของความรัก ทั้งสุขเศร้าคละเคล้ากันไป 7 เรื่องของความรักใน 1 โชว์ครั้งนี้ ได้แก่ เรื่องแรกเป็นเรื่องของ พระอาทิตย์ กับ พระจันทร์ (โดยงิ่ง) ที่แม้จะรักกันแต่ก็ไม่เคยมาบรรจบกันสักครั้ง ต้องเดือดร้อนถึงพระราหู และอาจเป็นที่มาที่ทำให้เกิดสุริยุปราคาก็เป็นได้, เรื่อง ทหารกล้า  (โดยเกลือ) พลทหารหนุ่มต้องกู้ระเบิด ในสถานการณ์แห่งความเป็นความตาย ก่อนตัดสินใจพลีชีพ เขานึกถึงลูกและภรรยาอันเป็นที่รัก เรื่องนี้ดูแล้วอินเข้าถึงอารมณ์เลือดทหารรักชาติจนรู้สึกสงสารจับใจ, เรื่อง มะลิ  (โดยธา)  เด็กชายผู้ถูกแม่ทอดทิ้งตั้งแต่เล็ก ต้องการตามหาแม่ตัวเอง เพื่อเอาดอกมะลิไปให้ เรื่องนี้จบได้อย่างน่ารักด้วยการที่ลุงขับแท็กซี่ซึ่งเก็บเด็กคนนี้มาเลี้ยงออกตามหาเด็กชายที่หายไปจากบ้านเช่นกัน แม้ว่าเด็กชายจะเจอแม่ของเขาแต่แม่ของเขาก็ไม่ยอมรับ ขณะที่เด็กชายกำลังร้องไห้เสียใจลุงขับแท็กซี่ก็ได้เข้ามาปลอบด้วยความรักแล้วชวนเด็กชายขึ้นขี่หลังกลับบ้าน, เรื่อง แฟนคลับ  (โดยงิ่ง,ธา) ความรักของแฟนคลับที่มีต่อดาราคนโปรด นำมาซึ่งความทรงจำทีดีและไม่น่าจะดี เล่าเป็นละครใบ้ขำๆ เมื่อดาราต้องแจกลายเซ็นแฟนคลับจนไม่มีเวลาให้กับแฟนตัวเองเกิดปัญหาต้องเลิกรา แม้แต่จะรีบไปเข้าห้องน้ำ มันก็ยังไม่ทัน ปู๊ด.... แต่ไม่เป็นไรเพราะว่าคนหล่อแม้แต่...ก็ยังหอม, เรื่อง ไวโอลิน vs. เปียโน  (โดยงิ่ง,เกลือ) ชายสองคนที่ไม่ลงรอยกัน มาพบกันในห้องซ้อมดนตรีคลาสสิก เกิดการประชันระหว่างเสียงเปียโนกับไวโอลินจนแสบแก้วหู และนั่นได้ทำให้ความทรงจำในวัยเด็กของพวกเขาที่มีต่อกันหวนกลับคืนมา,เรื่อง รักสามเศร้า  รักสามเศร้าของสองหนุ่มเพื่อนรักแต่กลับมารักผู้หญิงคนเดียวกัน ความสุขของเรากับความสุขของเพื่อนคุณจะเลือกใคร แต่สุดท้ายเรื่องราวผลิกพัน ผู้หญิงที่ตนรักเอาลูกมาฝากให้เลี้ยงพร้อมแหวนหมั้นผูกมัดใจหนึ่งวงเป็นเครื่องเตือนความทรงจำถึงหญิงอันเป็นที่รักเพียงสิ่งเดียวแล้วก็จากไป จากนั้นเมื่อเลี้ยงลูกเขาแล้วก็ยังเข้าทำนองเอาลูกเขามาเลี้ยงเอาเมี่ยงเขามาอม เมื่อลูกสาวของเพื่อนที่รับเลี้ยงไว้ได้เจอผู้ชายก็ได้แต่งงานมีครอบครัวแล้วจากไป ทิ้งให้เขานึกรันทดใจก้มมองแหวนที่นิ้วนางซ้ายของเขาถึงคราวที่ต้องโยนมันทิ้งไปเสียที และเรื่องสุดท้าย **ไกรทอง**  ซึ่งเรื่องนี้เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของงานก็ว่าได้ เพราะมีการใช้เทคนิคการต่อสู้ การควงกระบอง และใช้แสงแบลคไลท์ประกอบการแสดงในฉากที่ไกรทองดำลงไปใต้น้ำเพื่อต่อสู้กับชาละวันนำตะเภาแก้วคืนมา เรื่องนี้สร้างความสนุกสนานและเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้ไม่น้อย ตลอดการแสดงร่วม 2 ชั่วโมง ผู้ชมได้ทั้งความสนุกและแง่คิดไปพร้อมๆกัน ไม่น่าเชื่อว่าการแสดงที่แทบจะไม่มีอุปกรณ์ประกอบฉากใดๆก็สามารถทำให้ผู้ชมสนุกได้ สำหรับใครที่พลาดโอกาสชมเบบี้ไมม์ในครั้งนี้ ติดตามงานแสดงครั้งต่อไปประมาณกลางเดือนมิถุนายนนี้หรือเข้าไปรู้จักกับละครใบ้และพวกเขามากขึ้นได้ที่เว็บไซต์ http://www.vrbabymime.com/

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 ไม่ต้องบรรยายก็คงจะดูออกว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องไหนน่ะค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 253379เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2009 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ข้อ1 ละครใบ้คณะแรกที่แสดงขาบบัตรชมการแสดง คือ คณะคนหน้าขาว

ข้อ2 ละครใบ้คณะแรกที่แสดงในงาน

Pantomime in Bangkokครั้งที่1,2,3 คิอ คณะคนหน้าขาว

ข้อ3 และที่สำคัญ คณะคนหน้าขาว เป็นผู้ที่เชิญนักแสดง ญี่ปุ่นมาที่แสดงในประเทศไทยครั้งแรกในงาน Pantomime in Bangkok ครั้งที่ 1

เพิ่มเติมข้อมูลที่หล่นหาย

ไม่แน่ใจว่า คณะคนหน้าขาวในที่นี้ หมายถึงละครใบ้คนหน้าขาวของครูอั๋น (ไพฑูรย์ ไหลสกุล)หรือเปล่าค่ะ เพราะเบบี้ไมม์เขาก็เป็นศิษย์อยู่

ข้อมูลที่ได้มาเขียนนี้ มาจากคำบอกเล่าของเบบี้ไมม์และเป็นข้อมูลที่ปรากฎในโปรไฟล์ของพวกเขาค่ะ

ถ้ามีข้อมูลมาอ้างอิงช่วยแจ้งเพิ่มเติมด้วยน่ะค่ะ

หรือถ้ายังสงสัยต้องรบกวนให้ติดต่อไปทางเบบี้ไมม์อีกทีน่ะค่ะ

http://www.vrbabymime.com/

ขอบคุณค่ะ

หวัดดีจ้ากานต์

 

พี่แอบมาอ่านงานเขียนของกานต์และแอบขโมยไปใช้ในการเขียนสคริปต์หลายครั้งแล้วนะ

แต้งกิ้วนะที่รวบรวมเรื่องราวที่เคยทำไว้ให้อ่าน

 

พี่ล่า

  • เขียนถ่ายทอดได้หลายมิติดีจังเลยครับ หากมองว่าเป็นสื่อทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และศิลปะการแสดง ก็เป็นสื่อคนหนึ่งที่ถ่ายทอดสื่อสารเรื่องนี้ได้ดีจัง มีกำลังการมองและมีความสามารถบอกเล่าได้ดีครับ
  • บังเอิญได้เห็นผ่านตาแว๊บๆเมื่อ ๒-๓ วันที่ผ่านมา แล้วก็ว่าจะหาข้อมูลมาเสริมให้ แต่ก็ไม่ได้ไปค้นหาอยู่ดี แต่พอจะจำได้ลางๆอยู่บ้าง เลยนำมาเล่าเสริมให้ก็แล้วกันนะครับ
  • เมื่อเกือบ ๓๐ ปีก่อนเห็นจะได้ ในขณะใกล้จบป.ตรีมหาวิทยาลัย ผมบังเอิญได้ไปเจอกับคุณอั๋น ไพฑูรย์ ไหลสกุล ซึ่งต่อมาผมเรียกแกว่าพี่อั๋น ตอนนั้นใครทำงานศิลปะหรือทำงานแนวชุมชนผมไปนับญาติกับเขาทั้งนั้นแหละ ในขณะที่แกแสดงเดี่ยวอยู่กลางสนามหลวง ผมเห็นแล้วก็ทึ่ง ตะลึง และรู้สึกได้ทันทีว่ามันเป็นทั้งความสร้างสรรค์และมีพลังชีวิตมาก ตอนนั้นผมจำได้แต่ข้อมูลที่แกเขียนกระดาษแผ่นเล็กๆตั้งไว้เพื่อเปิดหมวกว่า อั๋น คนหน้าขาว
  • ต่อมาหลายปี ผมได้ทำงานในมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน สักประมาณปี ๒๕๓๕ หรือก่อนหน้านั้น คณะทำงานจัดประชุมวิชาการประจำปี ก็ให้ผมออกแบบกิจกรรมวิชาการพร้อมกับกุมคอมเซ็ปต์ทางด้านต่างๆ
  • ผมก็เลยอยากเปิดประชุมด้วยการให้ความบันดาลใจและสร้างสรรค์กระบวนการคิดในเรื่องที่สอดคล้องกับเนื้อหาการประชุมด้วยคนสาขาอื่นๆที่นอกเหนือจากทางด้านวิชาการสุขภาพและด้านวิชาการพัฒนาสาขาต่างๆดูบ้าง ซึ่งนอกจากจะให้การเรียนรู้มิติใหม่ๆแก่คนทำงานด้วยแล้ว ก็จะเป็นการเรียนรู้ที่สร้างเพื่อนและขยายเครือข่ายการทำงานออกไปนอกวงการกันบ้างไปด้วย
  • ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการทำให้เวทีวิชาการระดับประเทศ ได้เป็นเวทีแห่งการสร้างสรรค์ เปิดกว้างให้กับความริเริ่มและความสร้างสรรค์ในสาขาต่างๆที่จะเป็นการเคลื่อนไหวสิ่งดีๆให้แก่สังคม
  • รวมความแล้ว การจัดประชุม ซึ่งในปีนั้นจัด ๓ วันและมีสื่อมวลชนกับผู้เข้าร่วมประชุมมาจากทั่วประเทศ ซึ่งก็จัดว่าเป็นเวทีที่คนมีจำนวนน้อยมาก แต่ก็ถือว่าเป็นเครือข่ายที่มีพลังต่อการออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในที่ของเขา ก็เลยเปิดประชุมด้วยกิจกรรมที่ต่างออกไปจากทุกปี โดยผมเริ่มด้วยให้คณะตลก ดูเหมือนจะเป็นคณะเจ๋งดอกจิก ไปเล่น จากนั้นก็ตามด้วยละครไบ้ คนหน้าขาว ของพี่อั๋น ซึ่งผมค้นหาแกจนเจอหลังจากผ่านไปหลายปี
  • จากนั้น ในวันที่สาม ก็ปิดประชุมด้วยการชวนผู้เข้าร่วมประชุมนั่งอยู่กับตนเองเพื่อเดินกลับออกไปให้มีจิตใจแจ่มใสและมีพลังต่อการทำงานแทนที่จะคิดว่ามีภาระในชีวิตเพิ่มขึ้นด้วยการนั่งฟัง วงคีตาญชลี ด้วยกัน

                         

  • ทั้งหมดผมทำการบ้านให้กับคณะตลก ละครไบ้ และวงคีตาญชลี ( http://gotoknow.org/blog/livelesson/299204 ) ด้วยการเล่าความคิดและให้ข้อมูลเท่าที่จะเอาไปย่อยและเล่นมุข หรือออกแบบแนวคิดให้เชื่อมโยงกับสิ่วงที่นำเสนอ ผลออกมาก็เป็นที่ประทับใจมากมายกันทุกครั้ง ซึ่งหมายความว่า นอกจากจะประสบความสำเร็จมากแล้ว ก็ทำให้ต้องทำอย่างเป็นเอกลักษณ์ของเวทีวิชาการที่จัดขึ้นต่อมาอีกนับ ๑๐ ปีเลยทีเดียว
  • ที่เล่ามาก็คงจะเสริมให้ตรงที่ว่า คนหน้าขาว เริ่มปรากฏตนเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะและการแสดง ให้เป็นที่ยอมรับว่าเขาคือ ละครไบ้ มากว่า ๒๕ ปีหรือ ๓๐ ปีเห็นจะได้แล้ว
  • ตอนผมเห็นแกครั้งแรกที่สนามหลวงนั้น แกเล่นเปิดหมวกคนเดียว แต่ตอนที่ผมชวนแกมาเล่นเปิดประชุมให้นั้น แกมาเล่นกับชาวญี่ปุ่นแล้วครับ แสดงว่า การเล่นร่วมกับละครไบ้ชาวญี่ปุ่นก็มีมานานแล้วกว่า ๒๐ ปีครับ
  • แต่เป็นคณะและจัดแสดงแบบเป็นเรื่องเป็นราวนี่ก็เพิ่งจะทราบนี่แหละครับ เพราะก่อนหน้านั้น มักจะเจอแกตามสนามหลวง ข้างถนน สวนสาธารณะ เมื่อก่อนนี้ยามว่างและเมื่อรำลึกถึงผมก็มักจะโทรศัพท์ไปคารวะแกอยู่บ้าง แต่หลังจากตอนหลังแกเริ่มดังแล้วก็เลยไม่ได้ติดต่อเลย ดีใจที่เห็นเรื่องราวของแกอีกครั้งและขอขอบคุณมากครับ

ขอบคุณมากนะค่ะ อาจารย์วิรัตน์ ที่ได้มาให้ความรู้เพิ่มเติม

พี่ล่าค่ะ

ไม่เป็นไรค่ะพี่ ตามสบายเลย

เรื่องดีๆในเมืองไทยมีอีกเยอะต้องช่วยกันเผยแพร่ไม่ให้สูญหายไป

เด็กรุ่นใหม่ไม่ถนัดทำข้อมูลเยอะๆด้วย เสียดายที่โลกทุกวันนี้เป็นสังคมสื่อแบบใหม่เน้นหลากหลาย รวดเร็ว ผ่านตา

เห็นได้จากถ้าไปดูหนังเก่าๆเราจะรู้สึกว่ามันดูเอื่อยๆช้าๆแต่ชอบเนื้อหานะ ปรัชญา แนวคิด ลึกซึ้ง กินใจ แต่หนังสมัยใหม่

Content ได้ไม่เท่า แต่ดูเอามันส์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท