การพัฒนา


ทุกปัญหามีตนเองเป็นที่ตั้ง แต่ปัญหาที่อันตรายที่สุด คือ ความรู้ไม่เท่าทันความจริง

การพัฒนาจิตใจ

          การพัฒนาจิตใจ  เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การพัฒนาที่ต้องใช้หลักพุทธธรรมที่เรียกว่า  ไตรสิกขา 3  ใจของคนได้รับการพัฒนาแล้ว  ร่างกายก็จะได้รับการพัฒนาตามไปด้วย  และการพัฒนาทั้งหลายก็จะทำได้ง่ายขึ้น  โดยเฉพาะคนในสังคมหากได้รับการพัฒนาทางจิตใจให้สูงขึ้นมากเท่าใด  ความสุข  ความสงบร่มเย็นก็จะเกิดขึ้นในสังคมมากเท่านั้น    

          การพัฒนาจิตใจ  หมายถึง  การปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดที่ดีที่ถูกต้องตามหลักพุทธธรรมซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีงามและถูกต้องด้วย  ทั้งนี้ก็เพื่อปลูกฝังให้คนทุกคนในสังคมมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

          1.  เพื่อให้มีความเชื่อศรัทธาและปฏิบัติตามหลักของศาสนา

          2.  เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความสะอาดต่อการกระทำบาป

          3.  เพื่อให้เป็นผู้รู้และเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของศาสนาอย่างถูกต้อง

          4.  เพื่อให้เป็นผู้มีความเกรงกลัวต่อการกระทำบาป

          5.  เพื่อให้เป็นผู้มีความพยายามในการทำความดี  และละเว้นความชั่ว

          6.  เพื่อให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์

          7.  เพื่อให้เป็นผู้รู้จักสัจธรรมของชีวิต

          8.  เพื่อให้เป็นผู้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้

          9.  เพื่อให้เป็นผู้รู้จักความเอื้ออาทรต่อคนอื่น

          10.  เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

          สรุป  การพัฒนาจิตใจ  จึงเป็นการฝึก  การอบรมจิตใจของคนให้สูงขึ้น  ให้มีคุณธรรมมากขึ้น  เพราะคนที่ได้พัฒนาจิตใจของตนให้ดีให้เจริญขึ้นแล้ว  จะสามารถบังคับจิตใจของตัวเองไม่ให้ตกอยู่ในอารมณ์ฝ่ายต่ำอย่างใดอย่างหนึ่ง  ไม่ให้กระทำชั่วหรือทำความผิดพลาดได้อย่างแน่นอน

          คำว่า  พัฒนา  หมายถึง  การกระทำให้ดีขึ้น  ให้เจริญขึ้น  ให้รุ่งเรืองขึ้น  สามารถใช้ได้ทั้งการพัฒนาวัตถุและจิตใจ  แต่ในทางพระพุทธศาสนา  คำว่า พัฒนา นั้น  ท่านใช้คำว่า  ภาวนา  หมายถึง  การทำให้มีการทำให้เกิด  การทำให้เจริญขึ้น  ได้แก่  การบำเพ็ญ  การอบรมสมาธิภาวนา เป็นต้น

          เก่งกิจ  อนันต์ภักดี  (2526) กล่าวว่า พัฒนา หมายถึง  การอบรมกายจิตและวาจาทั้งหมด  แต่ในหลักทางพระพุทธศาสนาหมายถึง  การพัฒนาจิตนั่นเอง  มีการพูดรวมเรียกว่า  จิตภาวนา  หมายถึง  การฝึกตนเอง  อบรมตนเอง  ให้ดีขึ้น  ให้เจริญขึ้นหรือให้จิตสูงขึ้น  เพื่อให้เหนือกิเลสอาสวะ  เครื่องเศร้าหมองนั่นเอง

 

การพัฒนาความสามารถของบุคคล 5

 

          การพัฒนาความสามารถของบุคคลนั้น  ต้องเน้นการพัฒนาด้าน ความคิด เป็นสำคัญ  เพราะการพัฒนาคนนั้นจะต้องพัฒนาที่แนวความคิดก่อน  มิใช่คิดเพื่ออยากจะได้กำไรมากๆ ทางวัตถุเพียงอย่างเดียว  ต้องคิดถึงวิถีความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงและสิ่งที่ชีวิตต้องการด้วย  เนื่องจากชีวิตมนุษย์นั้นเริ่มด้นด้วยความคิด  ตัวชีวิตที่แท้จริงคือความคิดที่ประกอบด้วยคุณธรรมและมโนธรรมสำนึก  เพราะคุณธรรมและมโนธรรมสำนึกของคน  มีค่ายิ่งกว่าความรู้ที่ได้ศึกษาร่ำเรียนจากตำราซึ่งยังไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์วิจัยอย่างถูกต้องตามสภาวะที่แท้จริง

          ดังนั้น  คนจึงต้องมีความคิดมีความรู้ที่ถูกต้อง  แต่คนที่มีความรู้เพียงอย่างเดียว ไม่มีสติ  ไม่มีคุณธรรม จิตใจของเขาก็ไม่มีความมั่นคง  เพราะขาดคุณธรรมและมโนธรรมสำนึกเป็นฐานรองรับนั่นเอง

          แท้จริงแล้ว  มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้ให้แต่เพียงความรู้เท่านั้น  แต่ยังไม่ได้ให้คุณธรรมและจริยธรรมที่แท้จริงเลย  เพราะฉะนั้น  คนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยออกไปแล้วส่วนมาก   จะเป็นแต่เพียงคนที่มีความรู้เท่านั้น  ยังขาดคุณธรรมและมโนธรรมสำนึกว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร  เหมาะหรือไม่เหมาะ  ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอยู่มาก  ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัย   ยังไม่มีรูปแบบการสอนที่จะสร้างคนให้เป็นคนอย่างแท้จริงนั่นเอง

          เพียงแก้ปัญหาข้อนี้  โปรแกรมการพัฒนาชุมชนของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  จึงได้สอนนักศึกษาโดยเน้นให้มีคุณธรรมและมโนธรรมสำนึกอยู่ในใจของนักศึกษา  และเน้นไปที่การพัฒนาคนให้เป็นคน  เป็นหลักสำคัญ  โดยฝึกไปที่จิตใจก่อน  อย่างน้อยก็ให้เขาตั้งอยู่ในศีล  5  และธรรม  5  เป็นเบื้องต้น  และให้การศึกษาไตรสิกขา  3 คือ  ศีล  สมาธิ และปัญญา  ตามลำดับต่อมา  เป็นประการที่  2  และประการที่  3  เน้นพัฒนาคนต้องพัฒนาทางด้านความคิดควบคู่กันไปด้วย  เพราะเหตุทั้ง  3 อย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น  จะทำให้คนคิดเป็น  ทำเป็น  และตัดสินใจเป็นรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร  รู้ว่าอะไรถูกหรือผิด  ตามลำดับ  เพราะหลังจากนั้นไป  เขาจึงจะเป็นคนที่เข้มแข็ง  สามารถพึ่งตนเองได้  และช่วยเหลือสังคมได้

          เนื่องจากการพัฒนาทางด้านความคิด  มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติ  เพราะจุดมุ่งหมายของมนุษย์ที่แท้จริงนั้น คือ  การรวมเอาประสบการณ์ต่างๆ  เข้ามาไว้ด้วยกันและการรวมเอาประสบการณ์ต่างๆ  มาไว้ด้วยกัน  เป็นสิ่งที่มนุษย์ถูกกระตุ้นให้พยายามก่อความคิดเช่นนี้ขึ้นเพื่อตัวของเขาเองและสังคมส่วนรวมของเขาเอง

          แท้จริงแล้วมนุษย์เราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่า  เราเป็นใคร  อยู่ที่ไหน  กำลังทำอะไรอยู่  และเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้  การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของมนุษย์ในสังคมนั้นเป็นไปทั้งในทางที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนา  เพราะทั้ง  2 อย่างนี้ย่อมมาจากความคิดของมนุษย์ในสังคมเป็นผู้กำหนดขึ้น  ความคิดทั้งมวลที่มนุษย์วินิจฉัยว่าดีแล้วและเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนมาก  ก็จะนำไปสู่ความเข้มแข็งและยั้งยืน  แต่ความคิดแต่ละอย่างที่จะเกิดขึ้นได้นั้น  มูลเหตุสำคัญมาจากขบวนการรับรู้  เพราะการรับรู้นี้เป็นการจัดรวมประสบการณ์ต่างๆ จากสิ่งที่เรามีอยู่รอบกาย เช่นการสัมผัสทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  และกาย เป็นต้น  มารวมไว้ด้วยกัน  เพราะสัมผัสดังกล่าวนี้  จะสามารถทำให้คนเราพยายามทำความเข้าใจด้วยการเห็น  และการรับเอาเหตุการณ์นั้นๆ เข้ามาไว้  ท่านเรียกว่า  การรับรู้  (Perception)

          ดังนั้น  การส่งเสริมให้คนมีความคิดอ่านมาเป็นของตัวเอง  จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก  เพราะจะทำให้คนเกิดความมั่นใจในตนเอง  รู้คุณค่าของตัวเอง  ซึ่งเป็นความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาคน  การที่จะทำอะไรให้ผู้อื่นโดยไม่ให้เขามีโอกาสลองคิดเองลองปฏิบัติเอง  จะไม่ช่วยให้เขาเจริญขึ้นและเขาก็ไม่สามารถที่จะคุ้มครองตนเองได้  ดังนั้น  การสร้างความเข้าใจ  และการช่วยให้ชุมชนมองเห็นแนวทางหรือวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง  โดยให้รู้ว่า  ความคิดเหล่านั้นมีความสำคัญมากจะช่วยแก้ปัญหาชุมชนได้  จึงเป็นสิ่งสำคัญ

          วิธีการพัฒนาความสามารถของบุคคลนั้น  ที่สำคัญเป็นอันดับแรก  ได้แก  การพัฒนาให้เขาคิดเอง  ทำเอง  เห็นเอง  อย่างมีเหตุผล  จากนั้น  เขาจะเกิดความเชื่อมั่นในแนวทาง  และเห็นคุณค่าของตัวเองอันจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง  พัฒนาชุมชน  พัฒนาสังคม  ให้เจริญก้าวหน้า  ตลอดจนจะสามารถแก้ไขปัญหาของตนเอง  และสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และการพัฒนาความคิดและความสามารถของบุคคล  จึงเป็นการพัฒนาสังคมด้วย

          การพัฒนาความคิดของบุคคลจะเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการใหญ่ๆ 2 ประการ ดังนี้

          1.  การพัฒนาด้านการศึกษาภายใน  ได้แก่  การสร้างความรู้สึกนึกคิด  ทัศนคติ  วิธีการ  และนิสัยที่ดี  เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาคน  เป็นการเตรียมบุคคลให้สามารถเผชิญกับปัญหาและเหตุการณ์ต่างๆด้วยสติปัญญาได้  และเป็นการส่งเสริมบุคคลให้มีคุณภาพหรือมีมาตรฐาน  เพื่อเสริมสร้างคุณภาพระหว่างมนุษย์และธรรมชาติได้  โดยรัฐบาลได้ทำเป็นขั้นเป็นตอนไว้ถึง  6 ขั้นตอน  (ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 5  ในปี  พ.ศ.  2509  มีเป้าหมาย ดังนี้

              1.  ให้บริการการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา  (อนุบาล)  แก่เด็กให้ครอบคลุม  ร้อยละ  35.4  ของประชากรในวัยนี้

              2.  ให้บริการการศึกษาระดับประถมศึกษาแก่เด็กให้ครอบคลุม  ร้อยละ  97 ของประชากรในวัยนี้

              3.  ให้บริการการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแก่เด็ก  ให้ครอบคลุม  ร้อยละ  48.3 ของประชากรในวัยนี้

              4. ให้บริการการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแก่เด็ก  ให้ครอบคลุม  ร้อยละ  30.9  ของประชากรในวัยนี้

              5.  ให้บริการการศึกษาระดับอุดมศึกษา  ให้ครอบคลุม  ร้อยละ  4.8 ของประชากรในวัยนี้

              6.  ให้บริการการศึกษานอกโรงเรียน  โดยเฉลี่ยปีละ  1 ล้าน  5  แสนคน 

              (ทั้งหมดนั้น  ส่วนมากเป็นการศึกษาภายใน  คือภาคบังคับ)

2.  การพัฒนาการศึกษาภายนอก  ได้แก่  การพัฒนาคนให้มีประสบการณ์อยู่กับธรรมชาติรอบๆ ตัว  ให้คนมีความเข้าใจในธรรมชาติมากขึ้น  ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาคนให้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลซึ่งไม่ได้ศึกษาจากโรงเรียน  เป็นการเน้นให้คนคิดเป็น  ทำเป็น  ตัดสินใจเป็น  และแก้ปัญหาของตัวเองเป็น  คนที่สามารถพัฒนาตนเองจากภายนอกโรงเรียนนั้นพัฒนาได้จาก

          การฟังวิทยุ                              การดูโทรทัศน์ 

            การอ่านหนังสือพิมพ์                ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

          Web  site  ต่างๆ                     สื่อสารต่างๆ

เขาจะพัฒนาทางด้านความคิดเป็นอย่างมาก  เพราะเขาได้เรียนรู้กับเหตุการณ์ต่างๆ ทุกวันและตลอดเวลา  ซึ่งนั้นก็ย่อมหมายความว่าเป็นการพัฒนาทางด้านความคิดให้เขา  และเขาจะคิดได้เอง  ทำได้เอง  ตัดสินใจได้เอง  และแก้ปัญหาได้เอง  อย่างยั่งยืนและทั้งหมดนั้น  ต้องประกอบด้วยคุณธรรมด้วย

ปัญหาส่วนมากที่สังคมเราประสบอยู่ขณะนี้  คือมีแต่คนมีความรู้แต่ขาดคุณธรรมและมโนธรรมสำนึก  คนทีมีความรู้แต่ขาดคุณธรรมนั้นจะไร้เสน่ห์  เพราะวิชาความรู้นั้นมาคู่กับคุณธรรมและมโนธรรมสำนึกเสมอ  ปราชญ์ท่านได้กล่าวไว้ให้คิดว่า  คนที่ไร้คุณธรรมและมโนธรรมสำนึกนั้น  วิชาความรู้ที่เขามีอยู่ก็จะเปรียบเสมือนยาพิษสำหรับคนที่ยังรู้ไม่เท่าทัน  จะให้โทษมากกว่าให้คุณ

ท่านปัญญานันทภิกขุ  ได้พูดไว้เป็นข้อคิดว่า  การสร้างคนให้เป็นผู้มีคุณธรรมนั้นมีคนทำน้อย  คนจึงขาดคุณธรรมไป  ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า  สถาบันการศึกษาของชาติยังไม่ได้วางรากฐานการศึกษาในระดับที่ทำให้คนมีคุณธรรม  เป็นแต่เพียงสถานให้การศึกษา  ให้ความรู้เท่านั้น  คนที่เรียนจบออกไปแล้ว  เป็นนักวิชาการได้  แต่เป็นนักวิชาการที่ด้อยด้วยคุณธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานของจิตใจ  ส่งผลให้คนที่ขาดคุณธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานของจิตใจทำอะไรก็ได้  แต่ไม่ได้ดีสักอย่าง  เพราะเขายึดติดในอัตตาธิปไตย  ซึ่งทำให้เขาเป็นคนเห็นแก่ตัว  ทำอะไรเอาตัวเองเป็นพื้นฐาน  ถือว่า  ตัวจะได้ประโยชน์อะไรจากการกระทำนั้นจึงทำ  หากคนตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เห็นแก่ตัวแล้ว  จะทำอะไรก็สำเร็จยาก  เพราะทำเพื่อจะได้ไม่ได้ทำเพื่อจะให้  แต่หากคนเราถือเรื่องเอาเป็นเรื่องเล็ก  ถือเรื่องให้เป็นเรื่องใหญ่แล้วทุกๆ ส่วนของคนที่อยู่ในสังคมก็จะอยู่อย่างสันติสุข  มีแต่ความเจริญก้าวหน้า   

ที่มา.....

พระปริยัติวราภรณ์  (เจริญ  จนทโทภาโส).  (2548).  หลักการพัฒนา.  กรุงทพฯ : สหธรรมิก.  (หน้า  15-18)

หมายเลขบันทึก: 252441เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท