การพัฒนา (2)


ก่อนที่จะพัฒนาคนอื่นๆ ต้องพัฒนาที่ตัวเราก่อน

ปรัชญาการพัฒนาคน

                                       ๏ จะปลูกพืช  ต้องเตรียมดิน               

                              จะกิน  ต้องเตรียมอาหาร

                              จะพัฒนาการ  ต้องเตรียมคน             

                              จะพัฒนาคน  ต้องพัฒนาที่จิตใจ

                              จะพัฒนาใครเขา  ต้องพัฒนาที่ตัวเราก่อน..

            ที่ได้นำมากล่าวข้างต้นนั้น คือ ปรัชญาการพัฒนาคนของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  โปรแกรมการพัฒนาชุมชน  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  ได้นำมาเป็นหลักในการพัฒนาคน  เนื่องจากการพัฒนาคน  พัฒนาจิตใจของคนนั้นเป็นเบื้องต้นของการพัฒนาสังคมและพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่าง  หากเรายังพัฒนาตัวเองไม่ได้  ก็อย่าหวังว่าจะไปพัฒนาใครเขาได้  เพราะฉะนั้น  ปราชญ์ท่านจึงเน้นให้พัฒนาตนเองก่อน  ก่อนที่จะลงมือไปพัฒนาคนอื่น  ดังคำปรัชญาข้างต้นนั้น  และวิธีการพัฒนานั้น  ท่านเน้นให้ฝึกคนฝึกใจของคนตามมรรควิธีหรือ  Means  โดยเริ่มฝึกที่จิตใจ  เริ่มจากง่ายไปหายาก  เพื่อให้คนมีแนวปฏิบัติซึ่งจะทำให้เกิดประสบการณ์ในแต่ละเรื่องในแต่ละอย่าง  ซึ่งต้องส่งเสริมให้เขามีความเข้าใจในงานและสามารถปรับตัวได้อย่างถูกต้องและถูกวิธีในทุกๆเรื่อง... เพราะฉะนั้น  คนเราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนา  และมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนและฝึกตนเอง  เพื่อให้มีและให้เกิดประสบการณ์  เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง  แท้จริงแล้ว  ผู้ที่ฝึกตนเองให้ดีแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถทำงานให้ได้ดีมีประสิทธิภาพและสามารถปรับปรุงแก้ไขในจุดบกพร่องให้ดีขึ้น  และหลายคนที่ฝึกตนแล้วประสบผลสำเร็จ  ก็ได้นำเอาความผิดพลาดในครั้งแรกมาเป็นครู  ส่งผลให้สามารถทำงานและสามารถปรับตัวและแก้ไขปัญหาในทุกเรื่องได้ดี  โดยถือคติว่า  เราต้องอย่าให้เกิดความผิดพลาดในเรื่องเดิมขึ้นมาอีกหลายหนก็แล้วกัน  เพราะการทำให้เกิดความผิดพลาดในเรื่องเดิมอีกนั้น  แสดงว่าเรายังไม่พัฒนา  ยังไม่ได้แก้ไขตัวเอง  ยังไม่ได้ปรับปรุงตัวเอง  ยังไม่ยอมรับ  ยังไม่ปรับตัว  โดยสรุป คือ  เรายังโง่อยู่เท่าเดิม  และการเรียนรู้ทุกอย่างไม่จำเป็นจะต้องเรียนในห้องเรียนเท่านั้น  ทุกหนทุกแห่งเราก็สามารถจะเรียนรู้ได้ทั้งนั้น 

            ทั้งหมดที่ได้นำมานี้ คือ  ข้อแนะนำที่ปราชญ์โบราณท่านได้ชี้ไว้  ได้ให้เป็นแนวทางไว้  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรที่เราซึ่งเป็นอนุชนรุ่นหลังต้องพินิจพิจารณานำมาปฏิบัติพัฒนาตนเอง  ก่อนที่จะไปพัฒนาคนอื่น  พัฒนาชุมชน  และพัฒนาสังคม  อย่างถูกต้องและแน่นอนที่สุด

 

เป้าหมายแรกของการพัฒนาคน

            เป้าหมายแรกของการพัฒนาคนนั้นคือ  ต้องพัฒนาคนหรือพัฒนาตนเองก่อนแล้วจึงนำวิธีที่ตนได้รับแล้ว  ได้ปฏิบัติดีแล้วไปพัฒนาคนอื่น  โดยในเบื้องต้นเน้นการพัฒนาไปที่จิตใจเป็นสำคัญ  และต้องนำเอาหลักจริยธรรม คือ  ศีล  5  ธรรม 5 ประการมาเป็นปทัฏฐานในการพัฒนาจิตใจ  และการพัฒนานั้นต้องเน้นไปที่การเรียนรู้ร่วมกันต้องมีการยอมรับ  มีการปรับตัวเอง  เป็นสำคัญ  เพราะสามารถเพิ่มระดับของการเรียนรู้และการพัฒนาใจตนเองให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนได้รับการยอมรับจากท่านผู้รู้ว่าเขาเป็นผู้ที่พัฒนาตนเองแล้ว  จากนั้นจึงเน้นการพัฒนาไปที่คนในครอบครัวรอบข้างเป็นอันบังคับต่อไป  จนถึงคนในชุมชนท้องถิ่น  สังคม  ประเพณีวัฒนธรรม  และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมตามลำดับ

            การพัฒนาคนนั้นต้องเน้นที่การศึกษา  ฝึกจิตใจ  โดยการลงมือปฏิบัติ  พัฒนาตนเองก่อน  ซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับ  การปรับตัว  และการเรียนรู้ร่วมกันเป็นสำคัญหัวใจของการพัฒนานั้นอยู่ที่การพัฒนาตนเองก่อน  จากนั้น จึงเน้นไปสู่ครอบครัว  คนในชุมชน  สังคม  ตลอดถึงประเพณีวัฒนธรรม  และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  ตามลำดับ  ดังคำกลอนสอนใจของคนโบราณที่เน้นให้พัฒนาตนเองก่อน  และการพัฒนาคนของท่านพุทธทาสว่า....

                                    เป็นมนุษย์           เป็นได้               เพราะใจสูง

                        เหมือนหนึ่งยูง                  มีดี                    ที่แววขน

                        ถ้าใจต่ำ                          เป็นได้               แต่เพียงคน

                        ย่อมเสียที                       ที่ตน                  ได้เกิดมา

                                    ใจสะอาด             ใจสว่าง              ใจสงบ

                        ถ้ามีครบ                         ควรเรียก            มนุสสา

                        เพราะทำถูก                     พูดถูก               ทุกเวลา

                        เปรมปรีดา                      คืนวัน                สุขสันต์จริง

                                    ใจสกปรก           มืดมัว                และร้อนเร่า

                        ใครมีเข้า                         ควรเรียก            ว่าผีสิง

                        เพราะพูดผิด                    ทำผิด                จิตประวิง

                        แต่ในสิ่ง                          นำตัว                 กลั้วอบาย

                                    คิดดูเถิด             ถ้าใคร                ไม่อยากตก

                        จงรีบยก                         ใจตน                 รีบขวนขวาย

                        ให้ใจสูง                          เสียได้                ก่อนวันตาย

                        ก็สมหมาย                      ที่เกิดมา             อย่างเชือนเอย..ฯ 

            ปราชญ์ในสมัยโบราณได้พูดถึงระดับของการพัฒนาคน  การพัฒนาจิตใจของคนว่ามีหลายชั้นหลายตอน  ซึ่งในแต่ละขั้นตอนของการพัฒนานั้น  เริ่มต้นตั้งแต่การฝึกที่ใจของตนเอง  โดยนำเอาหลักของศีล  5  ธรรม  5  มาเป็นแนวปฏิบัติและพัฒนาตนเองก่อน  และฝึกให้ตนเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติ  ยอมรับ  ปรับตัวเองพร้อมทั้งแนวคิดให้เข้ากับคนอื่นให้ได้ก่อน  และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นตามลำดับ  โดยอย่างน้อยให้เป็นผู้ตั้งอยู่ในคุณธรรมและมโนธรรมสำนึกรู้ผิดรู้ถูก  รู้ชั่วรู้ดี  รู้สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเป็นต้นให้ได้ก่อนจนเกิดความมั่นใจเป็นขั้นตอนที่ 1  เมื่อฝึกตัวเองได้แล้ว  ต่อจากนั้นจึงขยายออกไปสู่ครอบครัวซึ่งเป็นขั้นตอนที่  2  ต่อจากครอบครัวแล้วขยายไปสู่ชุมชนซึ่งเป็นขั้นตอนที่  3  ต่อจากชุมชนแล้วจึงขยายออกไปสู่สังคมซึ่งเป็นขั้นตอนที่  4  ต่อจากสังคมแล้วขยายตัวออกไปสู่ประเพณีวัฒนธรรมซึ่งเป็นขั้นตอนที่  5  ต่อจากประเพณีวัฒนธรรมแล้วขยายไปสู่ธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 6  ตามลำดับ ดังปรากฏในแผนภูมิที่ปรากฏดังต่อไปนี้  ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างเด่นชัด  แผนภูมิมีดังต่อไปนี้

            โดยสรุปแล้ว  การพัฒนาคน  ที่แท้จริงนั้นจะต้องพัฒนาคนใน  6 ด้าน คือ

            1.  พัฒนาทางด้านจิตใจ  โดยใช้หลักศีล 5  และธรรม 5  เป็นพื้นฐานในการพัฒนา  เพราะความเป็นมนุษย์ที่จะสมบูรณ์นั้น  ในขั้นต่ำอย่างน้อยที่สุดมนุษย์เราธรรมดาจะต้องเป็นผู้ประกอบด้วย  ศีล 5  และธรรม  5  ซึ่งได้แก่ เมตตา  ปริจาคะ  กามสังวร  สัจจะ และอัปปมาทะ  ส่วนธรรมชั้นสูงซึ่งเป็นธรรมะของพระอริยเจ้านั้น  ท่านเรียกว่า  โลกุตตรธรรม

            2.  พัฒนาทางด้านร่างกาย  โดยพัฒนาการแต่งกายของมนุษย์สวมใส่เบื้องต้นพัฒนาด้วยเครื่องแต่งกายที่สะอาดเรียบร้อยและเหมาะสมกับวัย  พร้อมทั้งพัฒนาบุคลิกภาพ  ตลอดจนความสามารถในด้านต่างๆ เช่น ความรู้  ความคิด  สติปัญญา  และความเฉลียวฉลาด  ต้องทันคนเสมอ  และที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง  มีพละกำลังที่สมบูรณ์  ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ  มีความสง่างามทั้งภายในและภายนอก เป็นต้น

            3.  พัฒนาทางด้านการศึกษา  โดยต้องได้รับการศึกษาเรียนรู้อย่างบูรณาการทั้งภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียนไปจนตลอดชีวิต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีความเป็นมนุษย์ที่ยังคงอยู่  เพื่อความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ในทุกๆ เรื่อง  และเขาต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์สามารถวิเคราะห์ได้ในทุกเรื่องตั้งแต่ระยะสั้น  ระยะปานกลาง  และระยะยาว  ต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากอย่างที่ท่านเรียกว่าเป็นรัตตัญญูบุคคลหรือพาหุสัจจะบุคคล  ทั้งหมดที่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษามามาก  จากทั้งทางตรงและทางอ้อม  และวิชาความรู้ที่ได้มานั้นต้องเป็นความรู้เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันของสังคมคนหมู่มาก  เป็นวิชาที่ให้แก่สังคม  ให้แก่คนมากกว่าวิชาที่รับ (ทรัพย์) เพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว

            4.  พัฒนาทางด้านวิสัยทัศน์  โดยพัฒนาตัวเองด้วยการศึกษาเล่าเรียนจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น  จากครูบาอาจารย์  จากปราชญ์ชาวบ้าน  จากเพื่อนบ้าน  จากเพื่อนร่วมงาน  จากการอ่านหนังสือ  จากการฟังวิทยุ  จากการดูโทรทัศน์  จากการอ่านหนังสือพิมพ์  และจากการท่องเที่ยวทั้งภายในและนอกประเทศเป็นต้น  เพราะสิ่งเหล่านั้นจะช่วยทำให้เราพัฒนาขึ้นทั้งในด้านความคิด  สติปัญญาและวิสัยทัศน์ได้

            5.  พัฒนาด้านสติปัญญา  โดยพัฒนาตนเองจากการสดับตรับฟังจากท่านผู้รู้ในทุกด้านเท่าที่จะมีโอกาส  เพื่อนำเอาความรู้ที่ได้รู้  ได้เรียน  ได้ฟังมาต่อยอดภูมิปัญญาได้มากนั้นท่านว่า  ต้องเป็นผู้ใฝ่รู้  เพื่อหาความรู้มาเติมเต็มให้ตัวเอง  ที่สำคัญท่านว่าเขาต้องทำตัวให้เข้าในลักษณะของคนที่จะเป็นนักปราชญ์  4  ลักษณะ คือต้องเป็นผู้ประกอบด้วย  สุ  คือ ต้องฟังให้มาก  ต้องเป็นผู้ประกอบด้วย  จิ  คือ  เมื่อฟังเรื่องที่ได้ฟังมาแล้วก็ต้องคิด  และพิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น  ที่ไม่เป็นอย่างนั้นเพราะเหตุอะไรเป็นต้น  ต้องเป็นผู้ประกอบด้วย   ปุ  คือ ถามในข้อความที่ตนเองได้ฟังมา  ได้คิดมาแล้ว  หากเรื่องใดยังสงสัยไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง  ก็ต้องถามท่านผู้รู้ในแต่ละเรื่องจนเข้าใจโดยถ่องแท้จนหมดสงสัย  และต้องเป็นผู้ประกอบด้วย   ลิ  คือ ขีดเขียน  บันทึกจดจำเอาไว้  เพราะทุกเรื่องที่เราได้ฟัง  ได้คิด  ได้ถามมานั้น  อาจลืมได้  เพื่อป้องกันมิให้เรื่องนั้นๆ ได้สูญหายไป  เขาก็จำเป็นต้องบันทึก  ขีดเขียนเอาไว้  เรื่องทุกอย่างที่ผ่านมาจึงจะไม่ลืมเลือนไป  คนที่ประกอบด้วยลักษณะดังกล่าวมานี้  พระท่านว่าเป็นนักปราชญ์ได้  ดังที่พระท่านได้ผูกเป็นบาทภาษาบาลีไว้ว่า  สุจิปุลิ  วินิมุตโต  กถํ  โส  ปณฑิโต  ภเว. เป็นต้น  ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ความว่า  คนผู้ที่ไม่ประกอบด้วย สุ คือ  ฟังให้มาก  จิ  คือ คิดและพิจารณาให้มาก  ปุ  คือ  ถามในเรื่องที่ยังไม่เข้าใจให้กายสงสัยได้มาก  แล้วใช้  ลิ  คือ บันทึก  ขีดเขียนเพื่อกันลืมไว้ให้มาก  ผู้นั้นจะเป็นบัณฑิตไม่ได้เลย  และว่า  สุจิปุลิ  สุสมปนโน  ปณฑิโต  ปวุจจติ.  เป็นต้น  ซึ่งมีความหมายว่า  ส่วนผู้ที่ประกอบพร้อมด้วยสุจิปุลิแล้วเท่านั้น  จึงจะเป็นบัณฑิตได้

                6.  พัฒนาทางด้านสังคม  โดยต้องพัฒนาตนเองด้วยการคบหาสมาคมกัน เช่น คนกับคน  ที่อยู่ร่วมกันในทุกสังคมก็ต้องคบหากัน  หรือระหว่างประเทศ  คือ ประเทศก็ต้องสมาคมกับอีกประเทศ เป็นต้น  จะอยู่อย่างโดยเดี่ยวไม่ได้  ต้องร่วมมือกัน  คบหากัน  เพื่อจะได้หาจุดเด่นมาเสริมในจุดที่เรายังด้อย  และเพื่อจะได้นำข้อดีที่เขาใช้จนได้ผลดีแล้ว  มาใช้เป็นแนวทางของเรา  และเพื่อนำสิ่งดีมาแก้ไขปัญหาสังคมเราที่มีปัญหาอยู่มากมาย  ในปัจจุบันนี้  ให้ลดน้อยลงและให้คนในสังคมอยู่กันได้อย่างสันติสุขและเป็นระเบียบเรียบร้อย  และควรต้องศึกษาเรียนรู้ปัญหาทั้งสังคมภายในและสังคมภายนอก  เพื่อพาความหลากหลายแห่งปัญหาที่มีอยู่ในสังคมของมนุษย์มาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ  การดำรงชีวิต  โรคภัยไข้เจ็บ  อาชญากรรม  การย้ายถิ่น  การแบ่งแยกดินแดน  พลเมืองที่หลบหนีเข้าเมือง  ประเพณีวัฒนธรรม  และปัญหายาเสพย์ติดข้ามชาติ เป็นต้น  ว่าทุกปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น  ทุกปัญหาเราจะแก้ได้อย่างไร  จะดำเนินการโดยวิธีไหน  จะทำอย่างไรจึงจะแก้ได้  และจะต้องใช้เวลานานเท่าใดในแต่ละปัญหาเราจึงจะแก้ได้อย่างถูกจุด เป็นต้น

            โดยสรุปแล้ว  ทุกปัญหาที่มีอยู่ในสังคมไทยเรานั้น  พวกเรานั้นต้องช่วยกันแก้ทุกหมู่เหล่าและทุกฝ่ายต้องสามัคคีและร่วมมือกันแก้  แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใดก็ตาม  และเราต้องเข้าใจว่าในสังคมของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันมากๆ นั้น  จะต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน  หากไม่มีปัญหาก็ไม่ใช่สังคมมนุษย์  สำคัญอยู่ที่ว่าพวกเราที่เป็นสมาชิกของชุมชนได้เข้าใจในปัญหานั้นๆ หรือยัง...?  และมีความสามัคคีกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการที่จะแก้ปัญหานั้นๆ แล้วหรือยัง...?  หากยัง...ก็ตอบว่า  แก้ปัญหานั้นๆ ไม่ได้...  แต่ถ้าหากพวกเราพร้อมแล้ว  รู้เหตุแห่งปัญหาแล้ว.....และมีความสามัคคีเป็นอันเดียวกันในการที่จะแก้ปัญหาแล้ว...ขอตอบว่า....แก้ไขปัญหานั้นๆ ได้....ทำให้ปัญหาลดน้อยลงได้...อย่างแน่นอน...ฯ 

 

หมายเลขบันทึก: 252440เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท