พุทธวิธีบริหาร


Buddhist Style in Management

การบริหาร  หมายถึง  การทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น  (Getting  things  done  through  other  people) 

 

ความเป็นมาของพุทธวิธีบริหาร

            เมื่อว่าตามคำนิยามนี้  การบริหารในพระพุทธศาสนาเริ่มมีขึ้นเป็นรูปธรรม  สองเดือนนับจากวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้  นั่นคือ  ในวันอาสาฬหบูชา  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์  ซึ่งทำให้เกิดพระสังฆรัตนะขึ้น   เมื่อพระสังฆรัตนะเป็นสมาชิกใหม่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาอย่างนี้  พระพุทธเจ้าก็ต้องบริหารคณะสงฆ์  (พระธรรมโกศาจารย์  (ประยูร  ธมมจิตโต),  2548,  หน้า  38)

            วิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ซึ่งดำรงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน  เป็นเวลากว่า  2,500  ปี  เป็นข้อมูลให้เราได้ศึกษาเรื่องพุทธวิธีบริหาร  นอกจากนี้ ยังมีพุทธพจน์ที่เกี่ยวกับการบริหารกระจายอยู่ในพระไตรปิฎก  การศึกษาพุทธพจน์เหล่านี้ก็จะทำให้ทราบถึงพุทธวิธีบริหาร

 

หน้าที่ของนักบริหาร  5  ประการ

            การศึกษาพุทธวิธีบริหารในครั้งนี้  ขอใช้หน้าที่ของนักบริหารเป็นกรอบในการพิจารณาหน้าที่  (Function)  ของนักบริหาร  มีอยู่  5  ประการ  ตามคำย่อในภาษาอังกฤษว่า  POSDC

            P  คือ  Planning  หมายถึง  การวางแผน  เป็นการกำหนดแนวทางดำเนินงานในปัจจุบัน  เพื่อความสำเร็จที่จะตามมาในอนาคต  ผู้บริหารที่ดีต้องมีวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดทิศทางขององค์กร

            O  คือ  Organizing  หมายถึง  การจัดองค์กร  เป็นการกำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกและสายบังคับบัญชา  ภายในสัมพันธ์ของสมาชิกและสายบังคับบัญชา  ภายในองค์กรมีการแบ่งงานกันทำและการกระจายอำนาจ

            S คือ  Staffing  หมายถึง  งานบุคลากร  เป็นการสรรหาบุคลากรใหม่  การพัฒนาบุคลากรและการใช้คนให้เหมาะกับงาน

            D คือ Directing  หมายถึง  การอำนวยการ   เป็นการสื่อสาร  เพื่อให้เกิดการดำเนินการตามแผน  ผู้บริหารต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและมีภาวะผู้นำ

            C  คือ  Controlling  หมายถึง  การกำกับดูแล  เป็นการควบคุมคุณภาพของการปฏิบัติงานภายในองค์กร  รวมทั้งกระบวนการแก้ปัญหาภายในองค์กร

            เราจะพิจารณาพุทธวิธีบริหารในประเด็นที่เกี่ยวกับการวางแผน  การจัดองค์กร  การบริหารงานบุคคล  การอำนวยการ  และการกำกับดูแลตามลำดับ  ดังต่อไปนี้

 

พุทธวิธีในการวางแผน

            เมื่อว่าตามคำนิยามและหน้าที่ของนักบริหารดังกล่าวมานี้  เราต้องยอมรับว่าหลังจากตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน  6  ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา  พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ตามลำพังพระองค์เดียว  ในขั้นนี้ยังไม่มีการบริหารในพระพุทธศาสนา  การบริหารเกิดขึ้นเมื่อมีสมาชิกใหม่เข้ามาในพระพุทธศาสนาเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้  2  เดือน  นั่นคือเมื่อพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหบูชา  ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว  ขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าทรงประทานการอุปสมบทแก่ท่านอัญญาโกณฑัญญะด้วยพุทธดำรัสว่า  เธอจงเป็นภิกษุมาเถิดธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว  เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด  (วิ.มหา. 1/18/23)

            เราจะเห็นได้ว่าในพุทธดำรัสนี้  มีการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการอุปสมบทไว้ชัดเจนว่า  เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด  นั่นหมายถึงว่า  มีการกำหนดวัตถุประสงค์ส่วนตัว  เพื่อให้สมาชิกใหม่ได้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน

            พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้ผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนายึดเป้าหมายเดียวกันคือ  มุ่งปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในโอกาสอื่นว่า  พรหมจรรย์ (การบวช)  นี้  ไม่ได้มีไว้สำหรับแสวงหาลาภสักการะ  และคำสรรเสริญ  ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อศีล  สมาธิ  และปัญญาเท่านั้น  แต่มีไว้เพื่อเจโตวิมุตติ  หรือความหลุดพ้นแห่งจิต  (ม.มู. 12/352/373)

            ในพุทธวิธีเกี่ยวกับการวางแผนนี้  สิงสำคัญมาก คือ  ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ผู้บริหารต้องมี  จักขุมา  แปลว่า  มีสายตาที่ยาวไกลคือมองการณ์ไกล  (อง ติก  20/459/146) วิสัยทัศน์  นี้  ช่วยให้ผู้บริหารสามารถวาดภาพจุดหมายปลายทางได้ชัดเจน  และใช้สื่อสารให้สมาชิกภายในองค์กรยอมรับและดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นองค์กรยอมรับและดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นองค์กรทั้งหมดก็จะถูกขับเคลื่อนไปด้วยวิสัยทัศน์นี้

            พระพุทธเจ้าทรงกำหนดจุดหมายปลายทางในพระพุทธศาสนาไว้ว่า  การประพฤติปฏิบัติธรรมทุกอย่าง  มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่จุดเดียว คือ  วิมุตติ  (ด้วยความหลุดพ้นทุกข์)  ดังพุทธพจน์ที่ว่า  เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเดียว คือ  รสเค็ม  ฉันใด  ธรรมวินัยนี้ก็มีรสเดียว  คือ วิมุตติรส ฉันนั้น    (วิ.จุล. 7/462/291)

            พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้ผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนายึดเป้าหมายเดียวกัน คือ  มุ่งปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น

            การถือเอาความหลุดพ้นทุกข์เป็นวัตถุประสงค์ส่วนตัว  สำหรับสมาชิกทุกคนในพระพุทธศาสนานี้ใช้ได้กับผู้ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์  แต่เมื่อสมาชิกนั้นเป็นพระอรหันต์  ได้เจโตวิมุตติหลุดพ้นทุกข์ทั้งปวงแล้ว  วัตถุประสงค์ของเขานั้นก็เปลี่ยนไป  นั่นคือจะดำเนินชีวิตเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัว  พระอรหันต์จะดำเนินชีวิตเพื่อช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ 

            ดังจะเห็นได้ว่า  เมื่อพ้นพรรษาแรกมีพระภิกษุสำเร็จพระอรหันต์  60  รูป  พระพุทธเจ้าทรงวางแผนเพื่อประกาศพระศาสนา  แล้วส่งพระสาวกเหล่านั้นให้แยกย้ายกันไปในทิศทางต่างๆ  ด้วยพระดำรัสว่า  ภิกษุทั่งหลาย  เราพ้นแล้ว  จากบ่วงทั้งปวง  ทั้งที่เป็นของทิพย์  ทั้งที่เป็นของมนุษย์  เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก  เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก  เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  แต่อย่าไปทางเดียวกันสองรูป  แม้เราก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม  (วิ.มหา.  1/32/39)

            เนื่องจากพระองค์มีพระสงฆ์จำนวนจำกัด  พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญชาให้แต่ละรูปไปตามลำพังผู้เดียว  ส่วนพระองค์ทรงเลือกไปประกาศธรรมแก่เจ้าลัทธิในแคว้นมคธ  คือ  ชฎิลสามพี่น้อง  ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลา  2 เดือน  ปราบพยศชฎิลสามพี่น้องและบริวาร  จนให้พวกเขาหันมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  จากนั้นไปเสด็จไปเทศน์โปรดพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชาแห่งแคว้นมคธ  พระเจ้าพิมพิสารและประชาชนชาวมคธพอเห็นว่าชฎิลสามพี่น้องที่พวกตนนับถือได้ยอมรับเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้วก็คลายทิฏฐิมานะ    หันมาตั้งใจฟังธรรม  ในที่สุดก็ได้ดวงตาเห็นธรรมและหันมานับถือพระพุทธศาสนา 

            พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลาไม่นานนับจากวันตรัสรู้ซึ่งเป็นหนึ่งในแคว้นมหาอำนาจสมัยนั้น  นี่เป็นผลจากการวางแผนประกาศพระศาสนาในเบื้องต้นของพระพุทธเจ้า

            ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ประสบผลสำเร็จในการประกาศพระศาสนา  โดยที่หาผู้บรรลุธรรมตามอย่างพระพุทธองค์ไม่ได้สักคนเดียว  พระพุทธเจ้าก็เป็นเพียงพระปัจเจกพุทธะ  คือผู้ตรัสรู้เฉพาะตนที่ไม่สามารถสอนคนอื่นให้ตรัสรู้ตามได้  จึงไม่ใช่นักบริหาร  แต่เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าสามารถสอนให้คนอื่นตรัสรู้ตามได้  พระองค์จึงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ  ผู้สามารถจัดตั้งองค์กรพระพุทธศาสนาและเป็นนักบริหารกิจการพระศาสนา

            ในการวางแผนเพื่อบริหารองค์กรของพระพุทธเจ้านั้นมีการใช้วิสัยทัศน์กำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และพันธกิจขององค์กรคณะสงฆ์ไว้อย่างชัดเจน

            ในการวางแผนเพื่อประกาศพระศาสนาดังกล่าวมานั้น  พระพุทธเจ้าทรงกำหนดวัตถุประสงค์  สำหรับให้สมาชิกในองค์กรทุกคนถือปฏิบัติเป็นแบบเดียวกัน  นั่นคือ  ให้สมาชิก ยึดความหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัว  หรือการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ของคนอื่น  เป็นเป้าหมายของการดำเนินชีวิต

            การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัวเรียกว่า  อัตตหิตสมบัติ  การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ของคนอื่น  เรียกว่า  ปรหิตปฏิบัติ 

            พระพุทธเจ้าทรงมีทั้ง  อัตตหิตสมบัติที่เกิดจากพระปัญญาคุณและปรหิตปฏิบัติที่เกิดจากพระกรุณาคุณ  จึงทรงวางรากฐานในการประกาศพระศาสนาด้วยการแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอรหันต์  1,250  รูป  ในวันมาฆบูชา  หลังตรัสรู้ได้  9  เดือน

            โอวาทปาฏิโมกข์  หมายถึง  คำสอนที่เป็นหลักสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระอรหันต์เพื่อให้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป  ในโอวาทปาฏิโมกข์นี้มีการกำหนดให้นิพพานหรือความหลุดพ้นทุกข์เป็นเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม  แนวทางปฏิบัติธรรมให้ยึดหลัก  3  ประการ คือ  ไม่ทำชั่วทั้งปวง  ทำดีให้ถึงพร้อม  และทำจิตใจให้ผ่องใส  นอกจากนี้ยังกำหนดวิธีการประกาศพระพุทธศาสนาว่า  ให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยขันติหรือความอดทน  ไม่ใช้การว่าร้าย  หรือการเข่นฆ่าประหัตประหาร  เพื่อบีบบังคับให้คนหันมานับถือพระพุทธศาสนา  (ขุ.ธ.  25/24/39)  ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ

            จะเห็นได้ว่า  ในการวางแผนเพื่อบริหารองค์กรของพระพุทธเจ้านั้นมีการใช้วิสัยทัศน์กำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์และพันธกิจขององค์กรคณะสงฆ์ไว้อย่างชัดเจน  องค์กรพระพุทธศาสนาเจริญเติบโตขึ้นมาได้  นั่นก็เพราะผลมาจากวิสัยทัศน์ของพระพุทธเจ้า

 

พุทธวิธีในการจัดองค์กร

            ในการรับสมาชิกใหม่เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจะมีการกำหนดให้สมาชิกทุกคนเริ่มต้นจากศูนย์  นั่นคือไม่มีการอนุญาตให้นำชาติชั้นวรรณะหรือตำแหน่งหน้าที่ในเพศฆราวาสเข้ามาในองค์กรคณะสงฆ์ 

                ดังพุทธพจน์ที่ว่า 

                 เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่บางสาย  คือ  แม่น้ำคงคา  ยมุนา  อจิรวดี  สรภู  มหี  ไหลถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรอันเดิมเสีย  ถึงซึ่งอันนับว่ามหาสมุทรเหมือนกัน  วรรณะ  4  เหล่านี้ คือ  กษัตริย์  พราหมณ์  แพศย์  ศูทร   ก็เช่นเดียวกัน  คือ ออกจากเรือน  บวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วย่อละชื่อและตระกูลเดิมเสีย  ถึงซึ่งดันนับว่าสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหมือนกัน  (วิ.จุล. 7/461/290)

            พุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นว่า  ทุกคนที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา  เป็นพระภิกษุเสมอเหมือนกันหมด  การอยู่ร่วมกันของคนที่เท่าเทียมกันนี้  อาจก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับบัญชาภายในองค์กร  เพราะเหตุที่ว่า  เมื่อสมาชิกถือตัวว่าเท่าเทียมกับคนอื่นก็จะไม่มีใครเชื่อฟังใครหรือยอมลงให้ใคร 

            ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  การอยู่ร่วมกันของคนที่เสมอกัน  นำทุกข์มาให้  (ขุ.ธ. 25/31/45)  ถ้าเป็นเช่นนั้นการบังคับบัญชาภายในองค์กรก็มีไม่ได้  พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดให้พระภิกษุต้องเคารพกันตามลำดับพรรษา  ผู้บวชทีหลังต้องแสดงความเคารพต่อผู้บวชก่อน

            เมื่อสาวกมีจำนวนมากขึ้น  พระพุทธเจ้าทรงจัดองค์กรในพระพุทธศาสนาออกเป็นพุทธบริษัท  4  คือ ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  ในส่วนของภิกษุบริษัท  และภิกษุณีบริษัท  พระพุทธเจ้าทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่พระสงฆ์  ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงกระจายอำนาจให้คณะสงฆ์ดำเนินการให้การอุปสมบท  เมื่อมีกิจจาธิกรณ์หรือกิจการที่จะต้องทำร่วมกัน  คณะสงฆ์สามารถบริหารจัดการเองหรือเมื่อมีกรณีความขัดแย้งเกิดขึ้นในคณะสงฆ์พระพุทธเจ้าก็ทรงมอบอำนาจให้คณะสงฆ์เป็นผู้จัดการแก้ปัญหา

            พระพุทธเจ้าทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระธรรมราชา คือ  ผู้บริหารสูงสุดในองค์กรพระพุทธศาสนา  ดังพุทธพจน์ที่ว่า  เราเป็นพระราชา  นั่นคือเป็นธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม  (ม.ม.13/609/554) 

            พระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งพระสารีบุตร  ให้เป็นพระธรรมเสนาบดีมีฐานะเป็นรองประธานบริหารอยู่ในลำดับถัดมาจากพระพุทธเจ้า  และเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา  รับผิดชอบงานด้านวิชาการ 

            พระโมคคัลลานะ    เป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้าย  รับผิดชอบงานด้านบริหาร 

            พระอานนท์           เป็นเลขานุการส่วนพระองค์ 

            และทรงแต่งตั้งสาวก    ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์เป็นเอตทัคคะ คือ ผู้ชำนาญการที่รับภาระงานด้านต่างๆ เช่น

           

หมายเลขบันทึก: 252263เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2009 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท