พูดไปสองไพเบี้ย นิ่ง...เสียตำลึงทอง


สุภาษิตไทยหลายสุภาษิต ส่วนมากเป็นสุภาษิตให้คนสงบเสงี่ยมเจียมตัว

 

อ่านไม่ผิดหรอกครับ ผมตั้งใจเขียนให้เป็น

พูดไปสองไพเบี้ย...นิ่ง...เสียตำลึงทอง

คนละความหมายกับ

พูดไปสองไพเบี้ย...นิ่งเสีย...ตำลึงทอง

 

ซึ่งความหมายที่สองคือความหมายจริงของสุภาษิตนี้

ความหมายว่าอย่างไรครับ

พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง มีความหมายว่า

พูดมากไปก็เท่านั้น สู้อยู่เฉยๆ อาจจะได้อะไรมาบ้าง

 

แต่ในความหมายแรกนั้น ผมให้ความหมายว่า

พูดไปเสียแค่นิดหน่อย แต่ถ้านิ่งเฉยไม่ทำอะไร จะเสียมากกว่าที่เป็นอยู่

 

จะเห็นได้ว่าสุภาษิตโบราณของไทย

เป็นสุภาษิตที่สอนได้ดีเหมือนกันครับ

สามารถทำให้เรามองเห็นภาพของวัฒนธรรมไทยได้ชัดเจนว่า

ไม่ควรจะทำอะไรที่เกินหน้าเกินตา

ควรจะอยู่เฉยๆ อย่าแสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะมันไม่มีประโยชน์

 

สุภาษิตไทยหลายสุภาษิต ส่วนมากเป็นสุภาษิตให้คนสงบเสงี่ยมเจียมตัว

และเป็นสุภาษิตแง่ Negative  หรือแง่ส่อเสียด เกือบจะทั้งนั้นครับ

เช่น

ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา

(ตักใส่แก้วน้ำธรรมดาๆ ได้ไหม ใส่กะโหลกมันน่ากลัว แล้วผมจะต้องเสียเวลาทำไม?)

ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา

(แล้วต้องรอให้ถึงเวลานั้นก่อนหรือท่าน? อันนี้สงสัยมาจากหนังจีนกำลังภายใน)

อาบน้ำร้อนมาก่อน

(ทำไมไม่อาบน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น จะลำบากอยู่ใย เสียเวลาโดยใช่เหตุ)

เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด

(เดินทางอื่นก็ได้ฟะ...ทางที่ไม่มีหมาผ่าน จะได้ไม่ต้องโดนกัดเหมือนผู้ใหญ่)

อย่าวัดรอยเท้า

(จะเสียเวลาวัดอยู่ใย เดินๆ ไปเหอะ)

เถียงคำไม่ตกฟาก

(ไม่ได้เถียง แต่ท่านไม่ฟังเหตุผล ท่านสรุปเอาเอง ท่านมองด้านเดียวแล้วเหมาว่าเราผิด)

ได้คืบจะเอาศอก

(คนเราก็ต้องฝันให้ไกลสินะ จะหยุดแค่นี้เหรอ?)

อย่าทำเป็นสู่รู้

(คุณไม่รู้ ผมรู้มากกว่าคุณ ก็แนะนำให้ คุณจะได้ไม่โง่กว่านี้ไง อย่าทำเป็นรู้ดีกว่าผม!!)

ทำดีอย่าให้เด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน

(ก็คุณนั่งเฉยๆ พอผมทำ คุณก็มาว่าผม

ก็แล้วทำไมคุณไม่ทำให้มากกว่าผมล่ะ? นั่งเฉยๆ ทำไม?)

 

 

ยังมีอีกมากมาย ที่ยกตัวอย่างมา แค่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับ

แสดงให้เห็นว่าอย่างไร?

 

ก็แสดงให้เห็นว่า ใครจะก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็ต้องเข้าหาผู้ใหญ่

ต้องประจบประแจง ต้องชื่นชมยกย่องว่า

ท่านนั้นเก่งเหลือเกิน...ท่านนั้นเป็นเยี่ยม...เลิศเลอเพอร์เฟกต์

แล้วเขาคนนั้นก็จะได้ดีมีหน้ามีตาในสังคมเพียงเพราะ

เขารู้จักเข้าหาผู้ใหญ่ ว่าง่าย เชื่อผู้ใหญ่

 

ในมุมมองของผม ผมเห็นว่า หากสังคมไทยยังเป็นแบบนี้

แย่ครับ

แย่อย่างเดียว และก็ไม่สามารถที่จะเยียวยารักษาได้

หรือแม้กระทั่งการพัฒนาสร้างสรรค์ประเทศให้ดีขึ้น

เพียงเพราะยึดติดกับค่านิยมเดิมๆ

ที่ไม่สามารถใช้ได้กับการดำรงชีพในปัจจุบันนี้หรอกครับ

 

สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป แล้วทำไมเรายังคงหยุดนิ่งกับที่

โลกเขาพัฒนาไปมากขึ้น แต่เรากลับถดถอย

 

หากจะวิเคราะห์จริงๆ นั้น ผมเชื่อว่ามาจากความเป็นอยู่ของสังคมไทยมากกว่าครับ

การที่มีสุภาษิต คำพังเพยออกมานั้น แสดงให้เห็นว่า

คนไทยเป็นชาติที่เน้นเรื่องความพอเพียง มานานแล้ว

เพราะไม่กระตือรือร้นที่จะแข่งขันกับชาวบ้านเขาเลย

เป็นลักษณะของการอยู่อาศัยแบบสบายๆ พึ่งพาอาศัยกัน

จึงไม่จำเป็นต้องกระตือรือร้นในการทำงานหรือคิดสรรค์หาอะไรใหม่ๆ

ทำให้คนไทยกลายเป็นคนขี้เกียจ คนไม่ทะเยอทะยาน

เพราะในสมัยก่อน บ้านเมืองไทยสงบสุขมาช้านาน

มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ชุมชนละแวกใกล้เคียงรู้จักกัน

เป็นเพื่อนบ้านกันทั้งหมด

 

แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน

กลายเป็นสังคมแห่งการแข่งขัน แต่ละคนล้วนหาหนทางเพื่อความอยู่รอด

หากเรายังคงมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ

ย่อมหนีไม่พ้นความถดถอยล้าหลัง

ยิ่งเอาสุภาษิตมาพูด มาอ้างในเรื่องของการทำงานด้วยแล้ว

ยิ่งทำให้เราไม่สามารถพัฒนาอะไรได้ดีขึ้น

คงต้องรอให้ท่านๆ เหล่านั้นได้สูญสลายกลายร่าง เป็นเถ้าถ่านเสียก่อน!!!

จึงจะสามารถพัฒนาและสร้างระบบวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาได้

 

ความสวยงามและช่างเปรียบเทียบของคนไทย

เป็นที่เลื่องลือครับ แต่ในกรณีนี้ผมมองว่า

สุภาษิตและคนพังเพยไทย โดยส่วนใหญ่

สอนให้เราติดอยู่ในกรอบ (In of box)

การที่มีคนลุกขึ้นมาทำสิ่งที่แตกต่าง ออกนอกกรอบ (Out of box)

กลับเป็นที่น่ารังเกียจ และรับไม่ได้

เพราะเป็นความคิดของเด็กรุ่นใหม่ที่ก้าวหน้ากว่า

 

อาจจะเพราะกลัวเสียหน้า...เด็กเก่งกว่า

เลยใช้อำนาจที่มีในการผูกขาดหลักการทั้งหลาย

อ้างว่า ที่ผมเคยทำมา วิธีการ.......สามารถใช้ได้ดี

แล้วเราก็หลงเชื่อในสิ่งที่ทำสำเร็จมาแล้วในอดีต(ชาติ)...

ทำตามกันต่อไป ทั้งๆ ที่มีทางออกมากมายที่ง่ายกว่าวิธีที่ท่านบอกอีกเยอะ...

 

ถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่ ที่พร้อมจะเพิ่มพลัง และศักยภาพของประเทศ

ต้องกล้าที่จะเสนอไอเดียเจ๋งๆ หยุดเสียทีครับกับคำว่า

พูดไปสองไพเบี้ย...นิ่งเสียตำลึงทอง

 

เพราะการที่เราไม่พูด ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เลย

จะทำให้ธุรกิจหรืองานที่เราทำนั้น เสียผลกำไรหรือขาดทุนมากกว่า

เพราะว่าถ้าเรานิ่ง ก็จะเสียตำลึงทอง คือ กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้า

แต่ถ้าเราพูด ก็แค่เสียเวลาหรือเสียเงินควักกระเป๋าลงทุนนิดหน่อย

แต่ผลตอบกลับมหาศาลกว่าครับ

เลือกเอาว่าเราจะ

พูดไปสองไพเบี้ย...นิ่งเสียตำลึงทอง หรือ

พูดไปสองไพเบี้ย...นิ่ง...เสียตำลึงทอง

ก็คิดกันต่อไปเองครับ!!!

หมายเลขบันทึก: 252198เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2009 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คิดได้ดีค่ะ  คิดได้ สองแบบ  สร้างภาพกันมานานแล้ว..ใช่ไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท