LEAN กับการพัฒนาองค์การ


LEAN ในความหมายของผม ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเกินความสามารถ

ผมหายหน้าไปพอสมควร ด้วยตอนนี้กำลังเร่งงานวิชาการ

ที่กำลังเรียนอยู่ เลยไม่ได้มีโอกาสมาพูดคุยกับทุกท่านได้บ่อยนักครับ

วันนี้มาพูดถึงประเด็นร้อนยอดฮิตในบ้านเรากันบ้างครับ

โดยเฉพาะที่ทำงานของผม

กำลังให้ความสนใจกับเรื่องของ LEAN Management

 

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าอะไรคือ LEAN

LEAN ในความหมายที่กำหนดขึ้นมา โดยภาพรวมหมายถึง

การกำจัดความสูญเสียในการทำงาน (Eliminate Waste)

และเพิ่มคุณค่า (Value) ในการการทำงานแทน

ซึ่งรายละเอียดมีปลีกย่อยออกไปอีกครับ

 

ตัวอย่างองค์การที่เห็นได้ชัดคือ

บริษัท TOYOTA ได้นำระบบแนวคิดแบบ LEAN เข้ามาใช้

ในการปรับปรุงและพัฒนาจนทำให้ยอดขายเติบโตสูงขึ้น

อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนได้อีกด้วย

โดยที่ยังมีระบบการผลิตไม่ได้แตกต่างจากเดิมเท่าไร

เพียงแต่กระบวนการ (Processes) นั้นเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นเองครับ

จึงมีหลายๆ องค์การนำแนวความนี้มาใช้

(ท่านใดสนใจเรื่อง LEAN

ลองสืบค้นหาได้ทาง Internet หรือหนังสือครับ มีมากมายทีเดียว)

 

ส่วน LEAN ในความหมายของผมนั้น มีความสำคัญไม่แพ้ในความหมายเดิมเลย

เป็นความหมายที่ผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องในองค์การจำเป็นต้องนำมาใช้ครับ

หลักของ LEAN ในความหมายของผม ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

 

  1. L – Learning – การเรียนรู้

การพัฒนาองค์การได้ดีขึ้นนั้น บุคลากรจำเป็นที่จะต้องมีการเรียนรู้

และต้องเป็นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่เพียงแค่

รู้เรื่องแต่เฉพาะงานที่ทำเท่านั้น

แต่ต้องสามารถรู้เรื่องทั่วไป หรือ Background ขององค์การด้วย

หากรู้เรื่องต่างๆ ได้มากกว่าผู้อื่น

บุคคลนั้นย่อมได้เปรียบในการทำงาน เพราะจะมีความรู้หลากหลาย

เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่าย

ที่สำคัญผู้ที่รู้เรื่องแล้ว จำเป็นอย่างยิ่ง

ที่จะต้องรู้จักการถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นด้วย

ไม่ใช่การเก็บงำความรู้นั้นไว้เพียงผู้เดียว

หรือปล่อยให้ความรู้แห้งเหี่ยวไปตามกาลเวลาของตัวเอง

 

  1. E – Entertainment – ความบันเทิง หรรษา

การทำงานเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีความเครียด ความกดดัน

แต่เราก็สามารถที่จะค้นหากิจกรรมมาผ่อนคลายได้

เดี๋ยวนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายบุคคลเท่านั้น ที่คิดกิจกรรม

ใครที่มีความคิดดีๆ อยากแบ่งปันก็สามารถทำได้

แต่สิ่งที่สำคัญคือให้การทำงานเกิดความสนุกสนาน

ลดขั้นตอนความเป็นทางการออกเสียบ้าง

อย่าไปเน้นกระบวนการในการทำงาน

แต่ควรเน้นว่า จะทำอย่างไรดี?

เพื่อให้กระบวนการทำงานทุกขั้นตอน เกิดความสนุกสนาน

ไม่เครียด เพราะการทำงานที่ได้ประสิทธิผลมากที่สุด

คือการทำงานที่ออกมาจากหัวใจครับ

เหมือนทำอาหาร ที่บอกว่าจะทำอาหารให้อร่อย

ต้องใส่ใจลงไปด้วย

ทำงานก็เหมือนกัน ต้องใส่ใจในการทำงานด้วยครับ

ใส่ใจและแฝงด้วยความสนุกสนานต่อกัน

ซึ่งยังจะเป็นการทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ ระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกัน

 

  1. A – Attitude – ทัศนคติ

ได้แก่เรื่องของมุมมองในการทำงาน หากมุมมองของเราทุกข์

งานที่เราทำก็จะเกิดทุกข์

หากมุมมองของเราสุข

เราก็จะเกิดสุขในการทำงาน

ทัศนคติที่ดี จะส่งผลดีหลายเท่าต่อการทำงานทุกประเภท

อีกทั้งยังทำให้การพูดคุยกับเพื่อนฝูง เป็นไปด้วยความรัก

ความอบอุ่น เข้าใจกัน การกระทบกระทั่งลดน้อยลง

สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้จักมองตัวเองก่อนมองผู้อื่น

อย่าใช้ตนเองเป็นบรรทัดฐานตัดสินคนว่าเขาดี...แย่

แต่ให้ต่างมองในส่วนดีของกันและกัน

รับรองว่าการทำงานราบรื่นไม่มีปัญหา

เมื่อเจอปัญหาอย่ามัวแต่มองหาว่าใครเป็นคนทำ??

แต่ควรระดมความคิดกันว่า...

หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ หรือเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกัน

เราจะทำอย่างไร? จะเป็นการสร้างสรรค์ทัศนคติในการคิดได้ดี

 

 

  1. N – New Product – ผลิตภัณฑ์ใหม่

ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์จับต้องได้เพียงอย่างเดียว

อย่างที่เราๆ เข้าใจครับ

ผมหมายรวมถึงแนวความคิดด้วย

และเป็นแนวคิดที่พัฒนาให้เกิดเป็นนวัตกรรม (Innovation)

ให้ทันต่อการแข่งขันทางธุรกิจบนโลกใบนี้ได้

การที่องค์การจะอยู่ได้ในอนาคตนั้น

ต้องมีการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมขึ้นให้ได้

และต้องเป็นนวัตกรรมน่านน้ำสีคราม (Blue Ocean)

เพื่อที่จะได้หากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ต่อไป

หากจะเน้นให้เกิดผลิตภัณฑ์จับต้องได้เพียงอย่างเดียว

ผมเกรงว่า เราจะล้าหลังลงเรื่อยๆ

เพราะตอนนี้เรื่องของการสร้างสรรค์ความแตกต่าง

มีกระแสตอบรับค่อนข้างแรง

ใครที่ไม่รู้จักการสร้างนวัตกรรมทางความคิด

จะไม่สามารถทำงานในองค์การใดๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย

 

LEAN ในความหมายของผม ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเกินความสามารถ

เพียงแต่ทุกคนมีส่วนสรรค์สร้างนวัตกรรมดีๆ ให้แก่องค์การ

โดยนวัตกรรมนั้นๆ ต้องไม่เป็นการรบกวนหรือเพิ่มค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

แต่ต้องเป็นนวัตกรรมที่สามารถสร้างคุณค่าให้เป็นที่ประจักษ์ได้

ยิ่งเราสามารถประหยัด และเพิ่มคุณค่าในการทำงานได้มากเท่าไร

เราก็ยิ่งเป็นความต้องการขององค์การมากขึ้น

 

ยิ่งเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่หยุดนิ่ง แต่กลับทรุดตัวลงทุกวัน

ถ้าเราไม่รีบขวนขวายใช้แนวทางเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง

เราจะถูกลดคุณค่าลง เพียงเพราะว่า

เรามีความสูญเสียด้านประสิทธิภาพ ทำให้องค์การสูญเสียรายได้

และผลสุดท้ายที่องค์การจะตอบแทนเราคือ การ Lay Off

ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนไม่ต้องการ!!!

หมายเลขบันทึก: 252092เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2009 02:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เยี่ยมยอดคะคุณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท