จิตรู้อย่างไร


จิตที่ดี คือ จิตที่รู้อยู่เสมอ
 จิตรู้อย่างไร

จิตรู้ ใน 2 ลักษณะที่ตรงข้ามกัน คือ รู้จริง กับ รู้ไม่จริง

·        รู้จริง(ปัญญา) ... รู้ด้วยสติ รู้เท่าทันการกระทบ รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่เข้าไปเกาะ ไม่เข้าไปยึดด้วยความชอบใจ ความไม่ชอบใจ รู้เหตุรู้ปัจจัยและรู้ผล รู้ด้วยปัญญาที่แทงทะลุเห็นจริง รู้เท่าทันโลก (โลกธรรม) รู้เท่าทันสมมุติต่างๆ รู้ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความสืบต่อเนื่อง ความแปรเปลี่ยน ความเสื่อมและความดับไป (ไตรลักษณ์)

·        รู้ไม่จริง(อวิชชา) ... ไม่รู้เท่าทันการกระทบ ขาดสติ เผลอตัว เผลอใจ หลงไปตามอารมณ์ หลงเข้าไปคิด คิดปรุงแต่งด้วยความหลง (โมหะ) เข้าไปยึด เข้าไปเกี่ยวพันไว้ (อุปทาน) ก่อหรือสร้างสมนิสัยความเคยชินที่ไม่ดีงาม (อนุสัย/สังโยชน์) มีความติดใจ ความปรารถนาหรือความอยาก (ตัณหา/โลภะ) เมื่อไม่ได้ดังใจ ไม่เป็นดังใจ ก็เกิดความโกรธ ความขัดเคือง (โมโห/โทสะ)

จิตมีธรรมชาติอย่างไร


จิตรู้สำนึก หรือจิตในขณะที่เราตื่นโดยปกตินั้น มีธรรมชาติที่ต้องรับรู้อารมณ์อยู่ตลอดเวลา เป็นไปโดยอัตโนมัติ ตามคุณภาพของจิต ตามกำลังของสติ

·        กวัดแกว่ง ดิ้นรน ... คอยเข้าไปรับรู้ เข้าไปรับเอาการกระทบต่างๆอยู่ตลอดเวลา ทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง

·        รักษาไว้ได้ยาก ... จะรักษาให้รับรู้ สนใจ ตั้งมั่น หรือจดจ่ออยู่กับอารมณ์อย่างเดียว (มีสมาธิ) ทำได้ยาก หากไม่ได้รับการอบรมฝึกฝนอย่างดีมาก่อน

·        บังคับเอาไม่ได้ ... จะสั่งให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้ตามใจเราไม่ได้ (จิตต่างหากที่เป็นผู้สั่ง) แต่สามารถฝึกอบรมได้ โดยการฝึกเจริญสติ สมาธิ และปัญญา (วิปัสสนา)

·        เผลอ หรือหลงไปตามใจที่ชอบ ... เมื่อไม่มีสติคอยกำหนด คอยกำกับ ไม่มีสติที่มีกำลังเพียงพอ ย่อมเผลอไปรู้สึก เผลอไปคิดตามที่ใจชอบ หรือไม่ชอบ ปรุงแต่งไปตามการสั่งสมของโมหะหรืออวิชชา

จิตที่ดีเป็นอย่างไร


จิตที่ดี คือ จิตที่รู้อยู่เสมอ มีความตื่นตัวว่องไว ไม่แข็งทื่อ เหมาะแก่งาน มีความเบิกบานใจ

·        รู้ ... รู้จริง ไม่หวั่นไหวไปตามการกระทบ ไม่ตกผลัดหลงเข้าไปในความยินดียินร้าย ไม่เข้าไปยึดเกาะ

·        ตื่น ... ตื่นด้วยสติที่สมบูรณ์ ด้วยสติที่มีกำลังแข็งแรงอยู่เสมอ ไม่เฉื่อยชา ไม่ง่วงซึม ไม่เกียจคร้าน ไม่ประมาท

·        เบิกบาน ... มีความปิติ อิ่มใจ สุข สงบระงับ ไม่ขาดพร่อง ไม่ดิ้นรน

สติ คืออะไร


สติ คือ รู้ ... รู้ตัว (รู้ทัน ไม่หลง ไม่เผลอไม่เข้าไปยึด ไม่เอา)

·        รู้สึกตัว ... รู้ว่ามีความรู้สึกอะไร อย่างไร

·        รู้ทันความคิด ... รู้ว่าคิดอะไร คิดด้วยความรู้สึก คิดด้วยการจดจำ คิดด้วยความเข้าใจที่เป็นอย่างไร เป็นไปด้วยกุศล หรืออกุศล

ขาดสติ เป็นอย่างไร


โดยทั่วไป คนเราจะขาดสติ มีสติไม่สมบูรณ์ มีความรู้สึกนึกคิด การกระทำต่างๆ ไปตามความเคยชิน

·        รู้สึกตัวผิด ... รู้สึกไปตามที่ยึดไว้ว่า ชอบ ไม่ชอบ หรือเพิกเฉยไม่สนใจ

·        ไม่รู้ทันความคิด ... คิดไปตามใจที่ชอบ หรือคิดไปตามใจที่ไม่ชอบ คิดปรุงแต่ง คิดไปตามความเข้าใจที่ผิด ด้วยจิตที่เป็นอกุศล

โกรธ คือขาดสติ


อาการโกรธ คือตัวอย่างการขาดสติที่รุนแรง อันตราย น่ากลัว และเห็นได้ง่ายที่สุดชนิดหนึ่ง

·        โกรธเพราะไม่ได้ดังใจ ... ขัดใจ ไม่เป็นอย่างที่อยากให้เป็น ไม่เป็นอย่างที่คิด อย่างที่อยากจะได้

·        โกรธเพราะถูกทำให้เดือดร้อน ... ถูกกระทำจากสิ่งภายนอก หรือคนอื่น
ที่เป็นการเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบ ไม่ยุติธรรม ไม่รับผิดชอบหรือเห็นแก่ตัว เป็นต้น

เมื่อใดที่ควรจะมีสติ


ควรจะมีสติอยู่เสมอ ทุกครั้ง ทุกขณะที่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

·        อาการรู้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบ ... จึงต้องฝึกให้รับรู้การกระทบต่างๆ ด้วยสติ ไม่ให้หลงไปกับการกระทบต่างๆ ไม่หลงไปกับการคิดปรุงแต่ง

·        คอยสำรวมระวังการกระทบที่ไม่ก่อประโยชน์ ... ไม่ทำให้เกิดขึ้น ไม่แสวงหา หรือเชื้อเชิญการกระทบที่ทำให้เกิดอกุศล

มีสติ คือรู้ตามจริง


ให้รับรู้การกระทบต่างๆตามจริง ไม่ใช่รู้ชนิดที่หลงไปตามความเคยชิน ตามใจอคติที่ชอบ หรือเกลียด ชอบให้กำหนดรู้ว่าชอบ ไม่ชอบก็ให้กำหนดรู้ว่าไม่ชอบ แล้วอย่าไปเอาด้วย อย่าไปยึดเอาไว้อีกเช่นเคย ให้วาง ให้ปล่อย ให้เป็นอิสระ ฝึกทำใจให้เป็นปกติ มีใจที่เป็นกลาง

·        รู้เท่าทันความจำฝังใจเดิมๆที่เคยยึดเอาไว้ ... โดยการกำหนดรู้การกระทบครั้งใหม่ให้ถูกต้องตามจริง เพื่อแก้ไขความจดจำเดิมที่ไม่ถูกต้อง

·        ไม่สร้างหรือก่อการจดจำอันใหม่ที่จะเผลอใจเข้าไปยึด ...ไม่ว่าจะเป็นการยึดด้วยอาการหลงติดใจว่าชอบพอใจ หรือยึดด้วยอาการขัดเคืองว่าไม่ชอบไม่พอใจ

·        ให้หลุดจากความติดใจ ... หลุดจากการเข้าไปคลุกคลี สั่งสม หมกมุ่น ทำซ้ำๆ
อยากได้อีก อยากทำอีก อยากเสพ ไม่รู้จักพอ ... ฝึกให้หลุดจากนิสัยที่คอยตามใจกิเลสอยู่เรื่อยไป

·        ให้หลุดจากความติดสบาย ... หลุดจากความประมาท การพลัดวันประกันพรุ่ง หลุดจากความหลงในวัย หลงในร่างกาย และทรัพย์สิน สิ่งที่ครอบครองภายนอกต่างๆ

พูดไม่ระวัง ฟังไม่เป็น คือขาดสติ


อาการพูดที่ไม่ระมัดระวัง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการขาดสติที่เราเผลอทำได้ง่ายๆ บางคนทำบ่อยๆ จนติดเป็นนิสัย

·        พูดไม่มีสาระ ... พูดมาก พูดสนุกสนานคึกคะนอง พูดแต่เรื่องของคนอื่น

·        พูดด้วยใจที่เป็นอกุศล ... พูดกล่าวร้าย ดูถูก เหยียดหยาม

·        พูดโอ้อวด ... อวดดีอวดเด่น ยกตนข่มผู้อื่น

·        พูดความเท็จ ... โกหก หลอกลวง เสแสร้ง หรือบิดเบือน

·        พูดตามความรู้สึก ... พูดโดยที่ไม่รู้จริง ไม่มีข้อมูล

·        พูดเอาแต่ได้ ... เห็นแก่ตัว นึกถึงแต่เรื่องผลประโยชน์ที่ตนจะได้

·        เป็นผู้พูดที่ไม่ฟังคนอื่น ... คอยแต่จะพูดเรื่องของตัวเอง แต่ไม่สนใจฟังเวลาที่คนอื่นพูด

หลงโลก หลงสมมติ คือขาดสติ


ให้ถามตัวเราเองเสมอว่า เกิดมาทำไม จะใช้ชีวิตอย่างไร มีอะไรเป็นเป้าหมายของชีวิต ควรจะเพียรพยามทำอะไร ก่อนที่เราจะตาย จบสิ้นชีวิตนี้

·        ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ... เมื่อมีความเกิด ความเจ็บ ความแก่ ความตายนั้น
เป็นเรื่องธรรมดา ความทุกข์จากร่างกายนี้เป็นเรื่องปกติ แม้เราจะดูแลรักษาให้ดีอย่างไรก็ตาม ทำได้เพียงประคองไว้ เมื่อร่างกายเติบโตเต็มที่แล้วก็จะค่อยๆเสื่อมสภาพไปตามลำดับ จะบังคับให้สวยงาม มีกำลัง มีความสบายกายอยู่เสมอไม่ได้ พิจารณาให้เห็นว่า แม้เราจะใช้ร่างกายนี้ ... ร่างกายก็ไม่ใช่ของเรา บังคับเอาตามใจเราไม่ได้ จึงไม่ควรเข้าไปยึดว่าเป็นของเรา

·        ความเข้าใจ ข้อตกลงทางโลก ล้วนเป็นสิ่งสมมติ ... ส่วนหนึ่งเป็นข้อตกลงเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เอาเปรียบเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่ก็มีหลายส่วนที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาตามใจของกิเลส ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเป็นระบบการลงโทษ หรือให้รางวัล และกลายเป็นระบบของอำนาจ เกิดมีความแตกต่างในเรื่องของโอกาส มีระบบการแข่งขัน มีการสั่งสมทางวัตถุและเกิดช่องว่างทางสังคม ... การให้แบ่งปัน การช่วยเหลือกัน อย่างเข้าใจและจริงใจ ยังมีอยู่น้อย เมื่อเทียบกับความเห็นแก่ตัว

ไม่บังคับ และไม่ปล่อย


การฝึกอบรมจิตในขั้นต้นนั้น อาศัยการคอยตามดูจิตอยู่เสมอ ดูด้วยสติ โดยยึดหลักที่สำคัญคือ ไม่บังคับ และไม่ปล่อย

·        ไม่บังคับ... เราจะไปบังคับ ไปสั่งให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะการไปบังคับไปสั่ง อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้สงบ อยากให้สบายนั้น เป็นกิเลสหรืออกุศลอีกตัวหนึ่ง ซึ่งจะทำงานซ้อนทับเข้ามาอีก เมื่อเราขาดสติ ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง (ยังยึดเอา ยังมีความเข้าใจที่ผิด คลาดเคลื่อน(มิจฉาทิฏฐิ)) ... เมื่อจิตเขาจะคิดปรุงแต่ง ก็ไม่ต้องไปบอกว่าไม่ต้องคิด ไม่ต้องไปห้าม ไปหยุด (จริงๆ แล้ว เราหยุด หรือห้ามเขาไม่ได้) คือ ไม่ให้ไปสร้างความอยาก ความขัดเคืองใจ หรือไม่พอใจ ที่จิตเขาคิดปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน ไปทางนั้นบ้าง ทางนี้บ้าง ... ไม่ให้ไปคิดปรุงแต่ง เพิ่มความอยาก ความไม่พอใจเข้าไปซ้อนทับเพิ่มเติม

·        ไม่ปล่อย ... ถึงเราจะบอกว่า ไม่ไปบังคับ (บังคับเอาด้วยความอยาก) แต่เราก็ ... "ไม่ปล่อย" คือ จะไม่ปล่อยให้เป็นตามความเคยชิน ตามนิสัยเดิมๆของเรา ... ที่เราต้องทำคือ ให้มีสติเพิ่มเข้าไป ให้กำหนด หรือมีความตั้งใจ ความใส่ใจ ที่จะคอย "ตามดู" ... ให้เราคอยตามดูอาการของจิต เมื่อมีการกระทบต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ... ให้รู้ว่า ตอนนี้มีการกระทบอะไร เช่น เห็นรูปที่สวยงามยั่วยวน แล้วให้รู้ว่ามีอาการอย่างไร รู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบ ไม่พอใจอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น พอชอบใจ มันอยากจะดูอีก มันคิดมันปรุงแต่งอย่างไร ... หรือพอได้ยินเสียงเพลงที่ไพเราะชอบใจ จิตเขาแสดงอาการอย่างไร เราเผลอเข้าไปฟัง เคลิ้มตาม คิดตามหรือไม่ อย่างไร ...เมื่อมีการกระทบอย่างหนึ่งเกิดขึ้น มันทำให้ใจเราคิด ชักจูง ชักชวน โน้มน้าว หลอกล่อให้คิด เตลิดไป โยงใยไปหาเรื่องราวต่างๆอย่างไร ความจำเก่าๆ ความคิด ความรู้สึกเก่าๆ มันผุดขึ้นมาทำงานได้อย่างไร ... เมื่อกระทบแล้ว จิตของเราสั่งการให้พูด ให้แสดงการกระทำอะไร ออกไปอย่างไร ... คอยตามดูจิต ให้เห็นว่าเขามีธรรมชาติหรือคุณภาพทั้งในส่วนของกุศลและอกุศลจิตอยู่เป็นอย่างไร ... ให้เห็นว่าเราคอยตามใจในส่วนของอกุศลจิตอย่างไร ... เมื่อค่อยๆเห็นแล้ว ก็ให้พิจารณาดูว่า ยังจะคงตามใจที่ชอบ ที่ไม่ชอบ ตามความเคยชินเดิมๆอีกต่อไปหรือไม่?

ขอขอบคุณข้อมูล จากศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ  : http://www.vcharkarn.com/varticle/33946#P3 ()

 

 

หมายเลขบันทึก: 249613เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2009 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จิตมีอาการกุศล อกุศลให้รู้ จิตหนีไปคิดให้รู้ ไม่แทรกแซง เป็นกลาง สติจะค่อยๆเกิด แล้วปัญญาจะตามมาครับ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะที่ช่วยแสดงความคิดเห็น รู้สึกยินดีมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท