ไปดูพระท่านตั้งกลุ่มสัจจะฯ..บอกได้คำเดียวว่า..ประทับใจ


“คนพร้อม คนดี” ... เป็นหัวใจข้อที่สำคัญที่สุด พระอาจารย์จึงเรียกว่า “เสาเอก”

ลงนครศรีธรรมราชครั้งนี้  (13 มีค) โชคดีมากๆที่ได้ไปอยู่ร่วมในกระบวนการตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อคุณธรรมครบวงจรชีวิต ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลเทพราช อำเภอสิชล   และไปร่วมสังเกตการประชุมกรรมการของสถาบันการเงินบ้านโมคลาน  

 

ที่ว่าเป็นโชคดีมากๆเพราะทั้งสององค์กรถือเป็น best practices ของจังหวัดนครฯ  และการได้เข้าร่วมในกระบวนการที่เป็น หัวใจ  ของความสำเร็จขององค์กรการเงินชุมชนนั้น  ไม่ใช่เป็นโอกาสที่หาง่ายนักสำหรับคนไกลพื้นที่   

 

สถานการณ์หมู่บ้านกับนัยของการตั้งกลุ่ม

 

หมู่บ้านแห่งนี้มีทั้งยาง  ทั้งปาล์ม ทั้งสวนผลไม้  บางคนทำเห็ด  ค้าขาย  รับซื้อรวบรวมผลผลิต  ผู้คนฐานะดีไม่มีคนจน (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์)   แต่พื้นที่นี้มีประสบการณ์การทำงานกลุ่มล้มแล้วลุก ลุกแล้วล้ม ไม่ต่างจากอีกหลายๆพื้นที่  ทั้งโรงรมยางและกองทุนหมู่บ้านและอื่นๆ..   เราสรุปว่าสาเหตุของความล้มเหลว  คือ  ความไม่เป็นธรรม  ความไม่โปร่งใส  การขาดประสบการณ์การบริหารจัดการ  ผลคือ  การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย  ขาดความไว้วางใจกันในหมู่บ้าน

 

การตั้งกลุ่มสัจจะฯครั้งนี้  จึงมีนัยกว้างกว่าการรวมกลุ่มการเงิน  แต่หมายถึงความพยายามสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาใหม่ในหมู่บ้านว่า  การรวมกลุ่มให้ประสบความสำเร็จนั้นย่อมทำได้    ที่สำคัญที่สุด คือ  การรวมกลุ่มจะเป็นเครื่องมือหลอมรวมคน สร้างทุนทางสังคมขึ้นในหมู่บ้านอีกครั้งได้มากน้อยแค่ไหน    งานนี้จึงท้าทายอยู่ไม่น้อย

 

ผู้ก่อตั้ง

 

 ผู้มีบทบาทในการก่อตั้งกลุ่มสัจจะฯ ครั้งนี้คือพระอาจารย์สุวรรณ แห่งวัดป่ายาง ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง   ถือเป็นการขยายกลุ่มสัจจะฯ  เป็นกลุ่มที่ 22 ของจังหวัดนครศรีฯ  

 

คนมีบทบาทสำคัญอีกคนคือ น้องรัช  แห่งหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์...สาวตำบลเทพราชนี่เอง  ...  ทำงานกับกลุ่มอื่นๆมามาก   ดีที่สุดคือกลับมาช่วยบ้านตัวเอง   น้องรัชจึงช่วยประสานงานระหว่างหมู่บ้านกับพระอาจารย์

 

ผู้ใหญ่บ้านสนับสนุนอยู่ห่างๆ    พระอาจารย์บอกว่า   ผู้ใหญ่บ้านไม่ควรเข้ามาเป็นแกนอยู่ในกลุ่มองค์กรการเงิน    โดยเฉพาะสถานการณ์แบ่งฝักแบ่งฝ่ายเช่นนี้   กลุ่มที่ปลอดการเมือง  น่าจะทำงานง่ายกว่า เมื่อทุกฝ่ายสบายใจที่จะเข้ามา    กลุ่มก็สร้างประโยชน์ให้กับหมู่บ้านและหลอมรวมทุกฝ่ายได้ 

 

เราสรุปว่า...นี่คือ  หัวใจข้อแรกของความสำเร็จ   คือ   ปลอดการเมือง/ไม่มีฝักฝ่าย/เปิดโอกาสให้ทุกคน

 

เวทีอาหาร

 

พระอาจารย์นัดชาวบ้านไว้สิบโมงเช้า     ตอนแรก  ชาวบ้านประมาณ 10 กว่าคนมารวมกันที่ศาลาวัด  อายุตั้งแต่ 25-60 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง    มีเด็กน้อย 3 คนมากับแม่ แต่ละครอบครัวถือปิ่นโตหม้อข้าวหม้อแกงมาด้วย

 

สิบโมงครึ่ง  เริ่มรับประทานอาหาร... อาหารจากหลายบ้านหลายชนิด  รสชาติเข้มข้นแบบนครฯแท้   อาหารพื้นบ้านนั้นล้วนเป็นของสด  ผสมผสานกับความตั้งใจจริงที่จะร่วมบุญร่วมงานกันของชาวบ้าน    จึงเป็นอาหารมื้ออร่อยมากที่สุดมื้อหนึ่งทีเดียว  ..

 

ชาวบ้านอิ่มแล้ว   พระอาจารย์ก็เปิดเวที

ชาวบ้านเสร็จงานจากสวน  ทยอยเข้ามาอีก....

 

ลงเสาเอก

 

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่พระอาจารย์ลงพื้นที่มาคุยกับชาวบ้าน   ครั้งก่อนหมั้นไว้   ครั้งนี้มาแต่งจริง  พระอาจารย์บอก   กระบวนการแต่งจริงเป็นการปลูกเรือนที่เริ่มด้วยการ  ลงเสาเอก ...เราคิดว่า..นี่คือหัวใจข้อสอง

 

เสาเอก จะเป็นอะไร...  หลายคนอาจคิดถึงเงินออมก้อนแรก....แต่ผิดถนัด  เสาเอกคือ  คนชื่อพร้อม กับคนชื่อดี  

 

ใครชื่อพร้อมบ้าง  พระอาจารย์ถามเสียงขึงขังแล้วรอคำตอบ  ตอนแรกผู้คนจะงงๆ   พวกเราที่เข้ามา แสดงว่าพร้อมใช่ไหม    คนพร้อม จะมาร่วมประชุม  มารับฟัง  คนไม่พร้อม ไม่มีเวลา ไม่มาประชุม   พวกเราเริ่มถึงบ้างอ้อ..   ใครชื่อดีบ้าง  พระอาจารย์ถามอีก    พวกเราดีไหม   ตอนนี้ผู้คนเริ่มตอบรับ

 

พระอาจารย์ถามย้ำให้ทุกคนตอบตัวเองอย่างมั่นใจว่า   ตัวเองนั้นพร้อมและดีพอที่จะมาร่วมกลุ่ม

 

คนพร้อม คนดี  ... เป็นหัวใจข้อที่สำคัญที่สุด  พระอาจารย์จึงเรียกว่า เสาเอก

 

ตอนนี้ชาวบ้านมาเพิ่มเป็นกว่า 20 คนแล้ว... 

 

พระอาจารย์ใช้เวลาตอกย้ำเรื่องคน...คนพร้อมกับคนดี   จากเดิมที่ชาวบ้านนั่งเรียงหน้ากระดานฟังพระอาจารย์พูด   ท่านเปลี่ยนให้คนนั่งล้อมวงกัน บอกกันแต่ละคน (รวมทั้งเด็กน้อย) ว่าตนพร้อม

 

และกรรมการกลุ่ม  ก็เลือกมาได้จากคนพร้อมคนดีชุดแรกนี่เอง.....

 

กระบวนการตรงนี้ประทับใจมาก...รวมเวลาประมาณ 40  นาที

 

กติกา

 

เมื่อเข้าใจเรื่องคนและได้สมาชิกรุ่นแรกแล้ว   พระอาจารย์ก็มาชวนชาวบ้านทำความเข้าใจเรื่องกติกา

 

เครือข่ายกลุ่มสัจจะฯนั้นมีประสบการณ์มานาน  จึงมีต้นแบบของกติกาหลายสิบข้อ เป็นตุ๊กตาให้ชาวบ้านพิจารณาและตกลงร่วมกันทีละข้อว่าจะรับ หรือปรับเปลี่ยนอย่างไร

 

พระอาจารย์ใช้เวลาอีกเป็นชั่วโมงกับการพูดคุยตกลงกันเรื่องกติกา    

 

ที่พูดคุยกันนานหน่อยมีสองเรื่อง คือ (หนึ่ง) จะรับคนที่ไม่เข้าประชุมวันนี้เป็นสมาชิกรุ่นแรกหรือไม่   ข้อสรุปคือ ไม่  เพราะยังไม่ได้ทำความเข้าใจเรื่องกติกา  ใครสนใจก็ค่อยมาสมัครใหม่ปีหน้า...  ประโยชน์ด้านสวัสดิการของสมาชิกรุ่นสองจะน้อยกว่าสมาชิกรุ่นแรก

 

(สอง)  การออมเพื่อสวัสดิการ   มีทางเลือกคือออมวันละบาทหรือทางเลือกอื่น   สมาชิกตกลงกันว่า  ออมครั้งเดียวตลอดชีพ 300 บาท สำหรับทั้งครอบครัว

 

เรากลับรู้สึกว่า พระอาจารย์พูดทำความเข้าใจเรื่องการออมและสวัสดิการน้อยมาก.... พระอาจารย์บอกว่า คุยแล้วเมื่อครั้งก่อน   จากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน  คำว่า สวัสดิการ นี่ชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจหรอก... 

 

เมื่อคืนเดินทางมากับรถทัวร์หลับๆตื่นๆ  เราจึงฝืนไม่ไหว..หลับแบบไม่เกรงใจใครอยู่ที่มุมหนึ่งในศาลาวัดนั่นเอง  แต่ก็หลับไม่นาน  พอให้มีแรง ..แฮะ...

 

ออมเงิน

 

ได้คน  ได้กติกา แล้ว  จึงเริ่มกระบวนการสมัครสมาชิกและออมเงิน   พระอาจารย์เตรียมทีมงาน  เตรียมสมุดบัญชีทุกรูปแบบ  เตรียมเครื่องคิดเลขมาพร้อม    ทีมงานทำหน้าที่แนะนำเป็นพี่เลี้ยงให้กรรมการชุดใหม่ช่วยกันรับสมาชิก  เงินออมและลงบัญชี

 

เสร็จแล้วก็มานั่งลงบัญชีสรุปกัน     มีกรรมการ 3-4 คนลงบัญชีแบบเดียวกันเพื่อตรวจทานซึ่งกันและกัน  พระอาจารย์บอกว่า  ต้องสอนให้กรรมการทุกคนลงบัญชีเป็น

 

ตรงนี้ใช้เวลาอีกเป็นสองชั่วโมง   ได้สมาชิกมา  26  ครัวเรือน  หรือ  94 คน

 

เมื่อลงบัญชีเสร็จ  พระอาจารย์ก็ให้กรรมการอ่านบัญชี  อธิบายเป็นภาษาพูดว่า  วันเปิดทำการ มีเงินออม 12,900 บาท  เงินอยู่ทีไหนบ้าง... เป็นเงินสดในมือกี่บาท  ฝากธนาคารไว้กี่บาท  ...  มีผู้ขอกู้รอบแรกกี่ราย  เป็นเงินเท่าไร...  พระอาจารย์เปิดให้กู้ตั้งแต่รอบแรกครัวเรือนละ 1000 บาท (รู้สึกว่าจะให้กู้ 11 ครัวเรือน)   บอกว่า  เป็นการฝึก  ให้เข้าใจกติกาและทดสอบความน่าเชื่อถือของสมาชิก  และกรรมการได้ฝึกการลงบัญชีให้ครบทุกเรื่อง

 

ผลข้างเคียงทันตาเห็น

 

แว่วว่า ผู้ว่าจะมาแต่ก็ไม่มา... แต่ทุกคนก็ทำงานกันตามปกติ..เพราะเป็นของจริงไม่ใช่โรยหน้า..

 

งานเสร็จเอาตอนเกือบหกโมงเย็น    พระอาจารย์จะมาเยี่ยมกลุ่มอีกครั้งในวันที่ 15 เดือนถัดไปซึ่งเป็นวันทำการกลุ่ม   ทราบมาว่า  พระอาจารย์ต้องเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่ม 22 กลุ่ม  กลุ่มใหม่ๆจะมีวันทำการไม่ตรงกัน (เพราะไม่เช่นนั้นพระอาจารย์จะลงมาเยี่ยมไม่ได้)   พระอาจารย์ยังมีสีหน้ายิ้มแย้ม ดูท่านไม่เหน็ดเหนื่อย ทั้งที่น่าจะเหนื่อยมาก.. 

 

ที่น่าสนใจคือ   หลังฝึกลงบัญชีแล้วกรรมการกลุ่มสัจจะฯ ซึ่งเป็นกรรมการกลุ่มน้ำประปา ด้วย  (กลุ่มใหม่ที่ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่สร้างขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านช่วยเหลือกันและเพื่อรื้อฟื้นการรวมกลุ่มขึ้นมาอีกครั้ง)  คุยกันเองว่า  จะเอาวิธีลงบัญชีของกลุ่มสัจจะฯ ไปปรับวิธีลงบัญชีของกลุ่มน้ำประปาเสียใหม่.....

 

ผลของการเรียนรู้นี้เกิดขึ้นทันตาจริงๆ...

 

เรานั่งรถกลับที่พักอย่างอิ่มเอมใจ... ไม่หิวมากนัก เพราะแอบไปกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นกับน้ำแข็งใส ..เอาเปรียบพระอาจารย์กับทีมงานอีกแล้ว..

หมายเลขบันทึก: 249219เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2009 07:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เราลองคิดดูนะ ถ้ามีพระอาจารย์ ที่มีความคิด อย่างนี้ หลายองค์ หน่อยน่าจะดีนะ

รวดเร็วทันใจจังค่ะอ.ปัท นู๋แหม่มยังไม่ได้เขียนเล่าให้ฟังเลย..^_^...

มีภาพหลับในมุมหนึ่งของศาลาวัดมาฝากด้วย (อิอิ)

ในส่วนของข้อมูลสมาชิก 91 คน 26 ครัวเรือน ค่ะ..วันทำการกลุ่มนี่ทุกวันที่ 14 ของเดือนค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ปัทมากคะ อุตสาห์ช่วยบันทึกเรื่องราวประวัติศาสต์การเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านรัชไว้อย่างละเอียด มีประโยชน์ที่สุดคะ จะนำบันทึกกระบวนการตั้งกลุ่มนี้ไปให้ที่วัดป่ายางใช้ประโยชน์ในการขยายกลุ่มอื่น ต่อไปคะ

อันที่จริงตัวเองรู้สึกผิดอยู่เหมือนกันว่า ทำงานลัดขั้นตอนไปมากจนอาจยากในการเข้าถึงความเข้าใจของทุกคน เพราะอย่างที่อาจารย์ทราบคือว่าหมู่บ้านนี้มีปัญหาขาดความโปร่งใส ความไม่เป็นธรรม แบ่งฝักแบ่งฝ่าย การตั้งกลุ่มนี้มีเจตนาดีเพื่อหลอมรวมคน สร้างทุนสังคมขึ้นมาใหม่ก็จริง แต่ขาดกระบวนการเริ่มต้นที่ให้ทุกคนในหมู่บ้านมานั่งหันหน้าคุยกันและยอมรับด้วยกันว่านี่คือปัญหา หรืออาจจะไม่ใช่ เป็นสิ่งที่พวกเราคิดเอาเอง แล้วนำเสนอว่าจะตั้งกลุ่มแบบนี้เพื่อร้อยใจคนเข้าด้วยกัน ทุกคนในหมู่บ้านคิดอย่างไร แต่ด้วยความใจร้อน บวกกับมั่นใจในความคิดตัวเองและ มั่นใจใน "คนดี คนพร้อม" ที่มานั่งล้อมวงคุยกันถึงเรื่องนี้ด้วยกันมาประมาณเกือบหนึ่งปี ทำให้คิดเข้าข้างตัวเองไปว่านี่คือ ข้อสรุปของทุกคนในหมู่บ้าน... แต่ถึงอย่างไรก็มีความมั่นใจว่า "คนดี คนพร้อม" + ผลงาน + เวลา จะสามารถหลวมรวม "ชาวบ้าน" ให้เป็นหมู่"บ้าน"ได้ในที่สุด

แต่แม้จะรู้สึกผิด แต่ก็ยังคิดต่อว่ากิจกรรมต่อมาที่คิดว่าควรจะทำต่อคือ การฟื้นโรงรมยางพาราของหมู่บ้าน(เข้าข้างตัวเองอีกแล้วว่าจะต้องสำเร็จ)เพราะเรามีวัตถุดิบในการผลิตพร้อมในหมู่บ้าน ขาดเพียง คนดี คนพร้อม มาเริ่มต้นทำอย่างจริงจัง แต่เท่าที่ตัวเองได้ลองคุยประเด็นนี้กับคนในหมู่บ้านก็พอจะมองเห็นคนที่พร้อมและเห็นด้วยที่จะเริ่มใหม่อยู่จำนวนหนึ่ง หากฟื้นโรงรมได้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน

ประเด็นโรงรมนี้ เมื่อวานหัวหน้าภีมคุยให้ฟังว่าได้หารือกับ พระสุวรรณและพระชื่น ที่วัดป่ายางว่ามีความเป็นไปได้ว่า จะจัดการแบบธุรกิจปุ๋ยชีวภาพของเครือข่ายกลุ่มสัจจะฯ คือ ระดมเงินหุ้นจากเครือข่ายร่วมด้วย

อันที่จริงทั้งเรื่องกลุ่มสัจจะ และ โรงรม ก็ควรเป็น "หลักสูตรท้องถิ่น" ให้นักเรียนในโรงเรียนของหมู่บ้านนี้ได้เรียนรู้ด้วย เพื่อเกิดความภูมิใจและเกิดความต้องการสานต่อเรื่องนี้ต่อไป คิดว่าอย่างนั้น...

ขอบคุณน้องแหม่ม ที่ช่วยประสานงานและเป็นผู้ช่วยวิจัยที่แข็งขัน น้องแหม่มก็ทำงานเร็วทันใจค่ะ (ส่งรายงานแบบสอบถามตั้งแต่เมื่อวาน) ..สรุปว่า ตัวเองยังหลับอยู่ เพราะคิดว่า แอบหลับในวัดแล้วตื่นขึ้นมาเป็นวันที่ 14 และวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันที่ 15.. จะขึ้นไปแก้ใน blog นะคะ

น้องรัช เอย.. บางทีการเชิญมานั่งหันหน้าคุยกันเฉยๆก็ไม่ง่ายนัก หากิจกรรมทำร่วมกันก็น่าจะโอเคนะคะ แต่คนที่เป็นกรรมการต้องเข้าใจเป้าหมายการรวมกลุ่มที่ซ่อนอยู่ข้างหลังด้วย

"คนดี" ย่อมอยากเห็นผู้คนในหมู่บ้านอยู่กันด้วยความรักและเสียสละต่อกัน...ระวังอย่าให้กรรมการ "กีดกัน" คนที่คิดต่างเป็นใช้ได้ค่ะ

โรงรมยางนั้น บริหารจัดการยากกว่ากลุ่มออมทรัพย์มากค่ะ

ที่จริงเมื่อสองเดือนที่แล้วก็ไปเก็บข้อมูลเชิงสถาบันที่หาดใหญ่มาได้หลายโรงพอสมควร (ไปกับเพื่อนฝรั่ง) กำลังคิดอยู่ว่าจะลงไปคุยกับน้าประยงค์ที่นครฯด้วย

ประการแรก ต้องเข้าใจพฤติกรรมการตัดยาง การขายน้ำยางของชาวบ้านค่ะ ประการที่สอง ต้องเข้าใจตลาด

ชาวบ้านที่หาดใหญ่นิยมขายน้ำยาง แต่ทราบมาจากตลาดกลางหาดใหญ่ว่า ชาวบ้านนครฯชอบขายยางแผ่น   ตอนน้ำยางน้อย ชาวบ้านจะขายน้ำยาง แต่ถ้ามีน้ำยางมาก ชาวบ้านอาจทำยางแผ่นเอง ปริมาณน้ำยางที่เข้าโรงรมก็จะน้อยลง เป็นต้น

ราคาขึ้นลง ก็มีผลต่อการตัดสินใจของชาวบ้านว่าจะขายน้ำยางเป็นวัตถุดิบให้เราหรือเขาทำเองแล้วขายยางแผ่น

พฤติกรรมการผสมแป้ง ผสมน้ำในน้ำยางก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ถ้ายิ่งใช้แรงงานรับจ้างกรีดยาง ลูกจ้างเหล่านี้จะชอบผสมน้ำหรือแป้ง เพราะจะได้ส่วนแบ่งตามน้ำหนัก   แต่ถ้าเจ้าของสวนทำเอง ดูเหมือนปัญหาจะน้อยกว่า....

เวลาเข้าโรงรม ที่หาดใหญ่ไม่มีแรงงานต้องจ้างคนอีสาน หรือ คนลาว ที่เทพราชมีแรงงานหรือไม่ ดูแล้ว งานรมยางเป็นงานที่ต้องใช้แรงงาน และใช้น้ำมากอยู่ค่ะ รวมถึงเชื้อเพลิง

ทักษะในการใส่เชื้อเพลิงเพื่อคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินไปจนน้ำในน้ำยางเดือด ทำให้ยางแผ่นเต็มไปด้วยฟองอากาศปุปะ ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องคุม ประธานโรงรมเทพราชคนเก่าบอกว่า ผลผลิตเขาเสียหายหมดก็เพราะ เร่งไฟรมควันแรงเกินไปนี่แหละคะ

เรื่องตลาดก็เหมือนกัน ทำแล้วจะส่งตลาดกลางที่นครฯ หรือต้องส่งโรงงานรับซื้อยางแผ่น (ที่ไหน?)... ต้นทุนตรงนี้จะเป็นอย่างไร

ที่สำคัญ .. ต้องสรุปบทเรียนความล้มเหลวของพื้นที่ในอดีตค่ะ

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท