สัมผัสจิตวิญญาณผ่านการร่ายรำปัญจลีลา (๔)


ลีลาพริ้วไหว (Lyrical) เป็นลีลาการร่ายรำสำหรับแสดงออกถึงความสุข สนุกสนาน สดชื่น ความบริสุทธิ์ รวมทั้งความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ ที่วิ่งเล่นไปทั่วอย่างเพลิดเพลิน การฝึกลีลานี้จึงใช้เท้าทั้งวิ่ง ทั้งเต้น ทั้งกระโดด ไหล่ ศอก มือ กระทั่งนิ้ว ร่ายรำไปพร้อมกัน มือมักชูขึ้นสูงเหนือศีรษะขณะกระโดดโลดเต้น

ลูซี่บอกว่า ดนตรีคลาสสิก(ของตะวันตก)ส่วนใหญ่มีลักษณะพริ้วไหวอยู่แล้ว มีท่วงทำนองนำอารมณ์ขึ้นสู่ที่สูง up...up (ผมจินตนาการถึงนักบัลเล่ย์กำลังเต้นรำอย่างสนุกสนานบนปลายเท้า ขณะที่ชูมือทั้งสองขึ้นสูง)

หลังจากฝึกกันพอสมควรแล้วลูซี่ให้พวกเราทุกคนไปยืนชิดผนัง แล้ววิ่งออกมาแสดงท่านี้ทีละคน โดยขอให้เด็กน้อยอายุ ๑๐ ขวบคนหนึ่งที่เข้าร่วมอบรมด้วยในครั้งนี้แสดงก่อนเป็นคนแรก ซึ่งเธอก็วิ่งออกไปอย่างเป็นธรรมชาติมากจริงๆ "ทำโดยไม่ต้องผ่านการใช้หัวคิด" เคลื่อนไหวพริ้มไปตามแต่เท้าและมือจะพาไป ซึ่งการทำอะไรโดยไม่ต้องใช้หัวคิดก่อนนี้เป็นปัญหาสำหรับผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมามาก ดูเหมือนว่าคนเรายิ่งฝึกใช้สมองมากขึ้นเท่าใด "ปัญญากาย" ของเรายิ่งถูกละเลยมากขึ้นเท่านั้น กระทั่งบางคนไม่สามารถได้ยินเสียงใดๆ ที่ร่างกายของเราพยายามสื่อสารกับเราอีก

พวกเราออกไปร่ายรำอยู่กลางฟลอร์ทีละคนๆ ละนาที (ถ้าจำไม่ผิด) โดยลูซี่เป็นคนจับเวลาและเคาะระฆัง แต่ละคนก็มีท่าพริ้วไหวของตัวเอง มีคนหนึ่งตีลังกาแบบล้อเกวียนด้วย ส่วนผมก่อนออกไปมีรุ่นน้องที่เคยอบรมนพลักษณ์ด้วยกันบอกว่า "พี่ลักษณ์เจ็ดสบายเลยสิ" ผมก็ตอบไปว่า "เออ...คงจะใช่ สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักโตอย่างพี่" (เฒ่าทารก) แล้วผมก็วิ่งออกไปแล้วปิดสมองตัวเอง ไม่คิดอะไร ทำสมองให้ว่างเปล่า แล้วแต่ว่าเท้า เข่า สะโพก ท้อง ไหล่ ศอก มือ คอ และหัวจะพาเราไปไหน สบายๆ กระทั่งจบแล้วก็จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าที่ร่ายรำไปเป็นอย่างไรบ้าง พอลูซี่ตีระฆังหมดเวลา กลับเข้ามาที่นั่งแล้ว คุณแม่ของน้อง ๑๐ ขวบ บอกว่า "พี่เต้นเป็นธรรมชาติดีนะ ไม่ต้อง build" ซึ่งผมฟังแล้วก็รู้สึกดีใจ (ที่สามารถปลดปล่อยตัวเองได้) 

สุดท้ายคือลีลาสงบนิ่ง (Stillness) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังพักกลางวัน เป็นลีลาช้าๆ ในบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ ดนตรีคล้ายบทสวดมนต์ แต่ละคนมีสมาธิอยู่กับตัวเอง เชื่อมโยงกับคุณค่าสูงสุดที่เราเคารพนับถือ ผมสังเกตลูซี่ร่ายรำท่านี้บางครั้งก็คุกเข่าลงกับพื้น ยกมือทั้งสองหงายฝ่ามือขึ้นเหมือนจะขอพรจากฟ้า บางทีก็พนมมือ เป็นการร่ายรำที่ตัดกับลีลาพริ้วไหวอย่างสิ้นเชิง ความจริงลีลาสงบนิ่งนี้เราได้ใช้มาตลอดเมื่อสิ้นสุดการเต้นของแต่ละวัน

จากนั้นทุกคนร่ายรำท่านี้กันอย่างสงบนิ่งตามสไตล์ของแต่ละคน โดยการสงบนิ่งอยู่กับตัวเอง ลีลานี้ไม่เคลื่อนไหวเลยก็ยังได้ จะนั่งลงหรือแม้แต่จะนอนก็ยังได้ เป็นการร่ายรำแบบสงบนิ่งอยู่กับตนเอง เชื่อมโยงกับส่วนที่ลึกที่สุดของตน 

ลูซี่จัดผนังฟากหนึ่งด้วยแจกันดอกไม้ ฟากนั้นมีโต๊ะที่มีเทียนจุดอยู่ในถ้วยหลายถ้วย แล้วให้พวกเราเข้าแถวตอน ๖ แถวอีกฟากหนึ่ง แล้วให้แต่ละคนค่อยๆ ร่ายรำในท่าสงบนิ่งของตนมุ่งไปยังแจกันดอกไม้ที่ตรงกับแต่ละแถว เมื่อไปถึงก็ให้ใช้มือจับแจกันนั้น

หลังจากนั้นลูซี่ก็ให้พวกเรากลับเข้ากลุ่ม ๓ คนเดิม (ที่จับกันตั้งแต่ช่วงฝึกลีลาเคออส) แล้วก็แจกปากกาและกระดาษให้กลุ่มละ ๖ แผ่น กระดาษแผ่นแรกสำหรับเขียนความรู้สึกอะไรก็ได้จากกิจกรรมที่จะทำต่อไป อีกแผ่นหนึ่งเก็บไว้ก่อน

กิจกรรมก็คือแต่ละกลุ่มจะมี "สถานที่ศักดิ์สิทธิ" ของกลุ่ม โดยลูซี่ใช้แจกันดอกไม้วางเรียงรายไปตามผนังห้องทุกด้านที่แต่ละกลุ่มนั่ง กลุ่มละอัน (เท่ากับว่าแต่ละกลุ่มมี "สถานี" ของตนเอง) กติกาก็คือ จะต้องมีอย่างน้อยคนหนึ่งนั่งเฝ้าสถานที่นี้ไว้ในขณะที่สมาชิกกลุ่มคนหนึ่งหรือสองคนลุกขึ้นร่ายรำ จะร่ายรำอยู่ใกล้ๆ สถานที่ของตนเอง หรือจะท่องไปตรงไหนของห้องก็ได้ แต่เมื่ออยากจะหยุดจะต้องกลับมานั่งตรงสถานที่ของกลุ่มตน คนที่นั่งอยู่ก็ต้องลุกขึ้นไปร่ายรำ เมื่อนั่งลงแล้วก็บันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้น แต่หากไม่ต้องการบันทึกอะไรก็ไม่ต้องบันทึก กิจกรรมนี้ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเต็ม ไม่มีคุยกัน มีแต่เสียงดนตรีและการร่ายรำ การทำ self-reflection ลงบนกระดาษ

เมื่อเสียงดนตรีเพลงแล้วเพลงเล่าจบลง ลูซี่ขอให้แต่ละคนสงบนิ่งอยู่กับตัวเอง แล้วให้เขียนบทกวีไฮคุ (Hiku) บทกวีแบบนี้มีที่มาจากญี่ปุ่น โดยเกอิชาคนหนึ่งเป็นผู้คิดค้นขึ้น เป็นการเขียนสะท้อนความรู้สึกต่อธรรมชาติ ความว่างเปล่า ความสงบหรือปั่นป่วน ฯลฯ ด้วยฉันทลักษณ์ง่ายๆ คือ 5-7-5 นั่นคือ บทหนึ่งมี ๓ วรรค วรรคแรกและวรรคสุดท้ายมี ๕ พยางค์ วรรคกลาง ๗ พยางค์ ให้แต่ละคนเขียนเพียงหนึ่งบท เสร็จแล้วให้ผู้เข้าอบรมทั้งหมดมานั่งล้อมเป็นวงใหญ่ เพื่ออ่านบทกวีนี้ให้ทุกคนฟัง ซึ่งก็คือเป็นการแสดงความรู้สึกของแต่ละคนที่มาเข้าร่วมครั้งนี้นั่นเอง

ลูซี่บอกว่าให้อ่านไปเลย ไม่ต้องแปล เพราะเธอสามารถฟังเข้าใจจากภาษาท่าทางและน้ำเสียง หลายคนก็เขียนได้คล้ายโครงกลอนมีสัมผัสนอกสัมผัสใน เนื้อหาก็จับใจ อย่างน้อยก็ทำให้เข้าใจว่าข้างในรู้สึกอย่างไร บทกวีของผมที่เขียนตามฉันทลักษณ์ไฮคุเป็นกลอนเปล่าไม่มีสัมผัส ดังนี้

" รักตนเองมากไป
ใส่ใจคนอื่นน้อยเกินไป
เสียใจ...เพื่อกลับตัว"

จากนั้นลูซี่ก็เปิดโอกาสให้ใครอยากพูดอยากถามอะไรก็ได้ ก่อนที่จะปิดการอบรม และรับประทานอาหารว่างร่วมกัน

(ยังมีต่อ - บทวิเคราะห์เกี่ยวกับวิธีวิทยาที่ลูซี่ใช้ในการฝึกอบรมครั้งนี้)

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๕ มี.ค.๕๒

หมายเลขบันทึก: 248566เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2009 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความสุขที่แท้จริงมาจากภายใน "ความทุกข์ ทุกอย่างเป็นแค่ภาพลวงตา ให้ใช้ความรู้สึกตัดสิน อย่าตัดสินด้วยการมองเห็น แล้วท่านจะมีความสุขทุกที่ ทุกเวลา"


 

ลูซี่พูดว่า

มีท่วงทำนองนำอารมณ์ขึ้นสู่ที่สูง up...up !

:)

อ่านบันทึกถึงตรงนี้ อยากย้อนกลับไปอ่านทั้งหมดใหม่อีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท