ที่มาของ KPIs และ Criteria ระดับคณะวิชา


At NU, the internal quality assessment is divided into two parts. The first part emphasizes on working process (process approach) and the second part emphasizes on the results (output, outcome approach).

         ที่ ม.นเรศวร เราประเมินภายใน (IQA) ในระดับคณะวิชา (Teaching Unit) กันทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2544 (ข้อมูลปีการศึกษา 2543) ช่วงเวลาของการประเมินคือ ภายใน 2 เดือนหลังทุกสิ้นปีการศึกษา (ช่วงมิถุนายน – กรกฎาคม ของทุกปี) ปี 2548 นี้ นับเป็นรอบการประเมินที่ 5 เพิ่งประเมินกันเสร็จทุกคณะ 

         เนื่องจากคณาจารย์และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมีน้อยและอยู่ในช่วงของการต้องไปเรียนต่อกันมาก มีอาจารย์ที่เพิ่งจบกลับมาและมีอาจารย์กำลังจะไปเรียนต่อจำนวนมาก หมุนเวียนกันเช่นนี้ในอัตราที่สูงมาก การพัฒนาและวางระบบอะไรจะต้องคำนึงถึงธรรมชาติข้อนี้ให้มาก มิฉะนั้นการดำเนินงานจะขาดตอน ต้องมีมาตรการต่างๆ เข้ามารองรับให้ดี ผลกระทบนี้ไม่มีการยกเว้นแม้กับการพัฒนาและวางระบบบริหารงานวิจัย – QA – KM 

         แม้ประเมินกันรอบที่ 5 แล้ว ระหว่างตระเวณเยี่ยมการประเมินภายในตามคณะต่างๆ ผมก็ยังต้องทำการชี้แจงถึงแนวความคิดพื้นฐานและที่มาของการทำการประกันคุณภาพการศึกษา และแทบจะทุกครั้งเช่นกัน (ทั้ง 5 ปีที่ผ่านมา) ผมต้องพยายามขี้แจงถึงที่มาของ KPIs และ Criteria ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และทุกโอกาสที่สามารถทำได้ วันนี้จึงขอเอาของเก่ามาเล่าใหม่อีกครั้ง เกี่ยวกับเรื่อง ต่างๆ เหล่านี้ โดยขอเอาต้นฉบับเดิม (โดยมิได้แก้ไขเพิ่มเติมใดๆ) ที่ผมส่งไปตีพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 ประจำเดือน มกราคม – เมษายน 2547 หน้า 79 – 93 มาลงใน blog ของผมในวันนี้ แต่จะไม่ลงทั้งหมดจะเน้นเฉพาะที่มาที่ไป จะได้เข้าใจในหลักการตรงกัน เป็นดังนี้ครับ

         ตัวชี้วัดผลการจัดการศึกษา และเกณฑ์การตัดสิน ระดับคณะวิชา
         วิบูลย์ วัฒนาธร 

         Key Performance Indicators and Assessment Criteria at Faculty Level 
         Wiboon Wattanatorn 

         หน่วยประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก 65000 
         Quality Assurance Unit, Naresuan University, Phitsanulok, 65000 
         Corresponding author. E-mail address: [email protected] (W. Wattanatorn)

บทสรุป 
         บทความนี้เกี่ยวข้องกับระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งผู้เขียนได้จัดเตรียมตัวชี้วัดผลการจัดการศึกษา และเกณฑ์การตัดสิน ระดับคณะวิชาหรือกลุ่มวิชา ไว้สำหรับเสนอให้มหาวิทยาลัยนเรศวรได้นำไปปรับใช้สำหรับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในประจำปี ในรอบปีที่ 4 เมื่อสิ้นปีการศึกษา 2546 มหาวิทยาลัยนเรศวรแบ่งการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับคณะวิชาเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกเน้นด้านกระบวนการการทำงาน ส่วนที่ 2 เน้นด้านผลลัพธ์ที่ได้ ในส่วนแรกแยกพิจารณาเป็น 9 องค์ประกอบคุณภาพ (28 ดัชนีประเมิน) ในส่วนที่ 2 แยกพิจารณาเป็น 8 มาตรฐาน (32 ตัวบ่งชี้) ทั้ง 28 ดัชนีและ 32 ตัวบ่งชี้นี้นับเป็น “ตัวชี้วัดผลการจัดการศึกษา (key performance indicators, KPIs) กลาง” ที่ใช้ร่วมกันทั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำให้สามารถเทียบเคียงผลการประเมินระหว่างคณะวิชาได้ นอกจากนี้ ยังมี “KPIs เฉพาะ” ซึ่งแต่ละคณะวิชาจัดทำเพิ่มเติมตามความเหมาะสมของตนเอง แต่มิได้นำเสนอในบทความนี้ แต่ละ KPIs จะมีเกณฑ์การตัดสินเพื่อให้คะแนน 0-5 โดยที่คะแนนระดับ 3 นับเป็นมาตรฐานกลางของมหาวิทยาลัย และที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ ในแต่ละ KPIs ต้องมีผู้ตั้งเป้าหมายและรับผิดชอบผลการดำเนินงานอย่างชัดเจน เนื่องจากหลักการต่างๆ ที่นำเสนอในบทความนี้สอดคล้องกับแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษาในระดับประเทศ ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ จึงสามารถนำแนวความคิดในบทความนี้ไปประยุกต์ใช้สำหรับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในประจำปีในสถาบันของตนเองได้เช่นกัน

Summary
         This article is related to Naresuan University Quality Assurance (NUQA) system. It presents the key performance indicators (KPIs) and the assessment criteria for the educational quality assessment at faculty or discipline level. This is prepared for applying to the 4th cycle of annual internal quality assessment within Naresuan University (NU) at the end of the 2003 academic year. At NU, the internal quality assessment is divided into two parts. The first part emphasizes on working process (process approach) and the second part emphasizes on the results (output, outcome approach). In the first part, there are nine aspects of quality factors (28 indicators) for the consideration. In the second part, there are eight educational standards (32 indicators) for the consideration. Both 28 indicators in the first part and 32 indicators in the second part are considered to be “the core KPIs”. They will be applied to every faculty or every discipline in NU so that the assessment results could be compared. In addition, there will be “the specific KPIs ” that each faculty or discipline will add it up to meet their own special need. However it is not presented in this article. For each KPIs, the assessment criteria are scored, ranging from 0 to 5. The score 3 is considered to be the minimum requirement or university benchmarking of NU. It is highly recommended that there must be the key person who has responsibility and accountability for the target as well as assessment result of each KPIs. Since the basic concept of the NUQA presented in this article is in accordance with the regulations and guidelines of quality assurance at the national level, so it could be applied to other higher education institutions as well. 

บทนำ
         ความสนใจในเรื่องประกันคุณภาพ (quality assurance) ของมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาตินั้นมีอยู่สูงและมีอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานมากว่าสิบปีแล้ว (McKinnon et al., 1999) ของประเทศไทยเราเองนั้น แม้มีความสนใจแต่ก็เพิ่งเริ่มคิดและทำกันอย่างจริงจังหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 

         การประเมิน (assessment) นั้นถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของการประกันคุณภาพ เพราะถ้าไม่มีการประเมินแล้วก็ยากที่จะรู้ได้ว่าคุณภาพของแต่ละองค์กรอยู่ ณ ที่ใด (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2546) พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 ก็เขียนให้แนวทางไว้ชัดเจนว่าให้ทำการประกันคุณภาพทั้งภายใน (internal quality assurance, IQA) และภายนอก (external quality assurance, EQA) โดยอาศัยการประเมินและตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาเพื่อนำผลการประเมินมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น 

         ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (key performance indicators, KPIs) นั้น เป็นเครื่องมือหรือดัชนีหรือตัวบ่งชี้ที่ใช้ในการวัดหรือประเมินผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ขององค์กร (พสุ เดชะรินทร์, 2544) แม้กฎกระทรวงศึกษาธิการที่ว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ประกาศใช้เมื่อ 28 กรกฎาคม 2546 จะกำหนดให้คณะวิชาและสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องจัดทำรายงานผลการประเมินโดยให้แบ่งองค์ประกอบคุณภาพเป็น 9 ด้าน เพื่อรายงานต้นสังกัดและเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ได้รับทราบเป็นประจำทุกปีก็ตาม แต่ก็มิได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำ KPIs และเกณฑ์การตัดสิน (criteria) ต่างๆ คงให้อิสระกับแต่ละคณะวิชาและสถาบันให้ไปจัดทำกันเอง 

         เกี่ยวกับการจัดทำ KPIs และเกณฑ์การตัดสินสำหรับการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษานี้ เคยมีผลงานการวิจัยของ ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน (2544) ซึ่งได้ให้แนวทางไว้ และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ (รวมทั้งที่มหาวิทยาลัยนเรศวร) ก็นำแนวความคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กันอย่างกว้างขวาง แนวทางนี้เป็นการประเมินที่เน้นด้านกระบวนการ (process approach) ที่แบ่งองค์ประกอบคุณภาพเป็น 9 ด้านเหมือนกันกับที่ประกาศในกฎกระทรวงที่กล่าวข้างต้น 

         อีกด้านหนึ่ง สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้ให้กรอบแนวทางในการประเมินสถาบันอุดมศึกษา (2545) โดยเน้นไปที่ผลลัพธ์ (output, outcome approach) และมีการแยกพิจารณาเป็น 8 มาตรฐานและ 28 ตัวบ่งชี้ แต่ก็มิได้กำหนดเกณฑ์การประเมินในแต่ละมาตรฐานและตัวบ่งชี้ ยังคงให้อิสระกับแต่ละสถาบันไปจัดทำกันตามความเหมาะสมของตนเองเช่นกัน 

         ในบทความนี้ ผู้เขียนได้นำเสนอแนวคิดอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องเกี่ยวกับ KPIs และ criteria ทั้งในส่วนที่เน้น process และในส่วนที่เน้น output, outcome เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลการจัดการศึกษาในระดับคณะวิชา โดยเน้นที่ความสอดคล้องกับกรอบแนวทางในระดับประเทศเป็นหลัก และใช้ระบบประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร (Naresuan University Quality Assurance, NUQA) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (วิบูลย์ วัฒนาธร, 2546) เป็นแบบ (model) ประกอบการนำเสนอ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สนใจได้เห็นภาพรวมทั้งหมดของระบบการประเมินเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ภายในองค์กรของตนเองได้ในโอกาสต่อไป 

         เนื้อหาส่วนใหญ่ในบทความนี้จะเกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมตัวชี้วัดผลการจัดการศึกษา และเกณฑ์การตัดสิน ระดับคณะวิชา ซึ่งผู้เขียนได้จัดเตรียมไว้สำหรับเสนอให้คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยนเรศวรได้นำไปปรับใช้สำหรับการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (self assessment report, SAR) รายงานจากคณะกรรมการประเมินตรวจสอบ (check assessment report, CAR) และรายงานการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในประจำปี (yearly assessment report, YAR) ในรอบปีที่ 4 เมื่อสิ้นปีการศึกษา 2546 

         อนึ่ง ในบทความนี้ ผู้เขียนขออนุญาตใช้คำว่า “ตัวชี้วัด” “ดัชนีประเมิน หรือ ดัชนี” “ตัวบ่งชี้” และ “indicator” ในความหมายเดียวกัน โดยขอใช้คำว่า “ตัวชี้วัด” ในความหมายรวม และใช้คำว่า “ดัชนี” ในส่วนของการประเมินที่เน้นด้านกระบวนการ (ซึ่งมี 9 องค์ประกอบ) และใช้คำว่า “ตัวบ่งชี้” ในส่วนของการประเมินที่เน้นด้านผลลัพธ์ (ซึ่งมี 8 มาตรฐาน) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านได้สังเกตได้โดยง่ายว่ากำลังสนใจการประเมินในด้านใดอยู่ ซึ่งในเรื่องนี้ ถ้าใช้คำว่า “ตัวบ่งชี้” ให้เหมือนกันทั้งหมดจะถูกต้องที่สุด

เนื้อเรื่อง 
         ก.จุดประสงค์หลักของการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร คือ การทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมั่นใจว่า เมื่อเวลาผ่านไป การบริหารจัดการและผลผลิตของมหาวิทยาลัยจะมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มหาวิทยาลัยมีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นที่พึ่งทางปัญญาของสังคมต่อไปได้เป็นอย่างดี 

         ข.มหาวิทยาลัยนเรศวรดำเนินการประกันคุณภาพโดยอาศัยการประเมินและการติดตามตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ แล้วนำผลการประเมินมาพิจารณาหาแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ดูรูปที่ 1) ส่วนกลไกหลักในการดำเนินงานจะอยู่ในรูปของคณะกรรมการชุดต่างๆ โดยมีอธิการบดีเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการและรับผิดชอบโดยตรง มีผู้ช่วยอธิการบดีด้านประกันคุณภาพเป็นผู้ช่วยงาน และมีหน่วยประกันคุณภาพการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นเลขานุการและผู้ประสานงาน 

 

         ค.ผลการประเมินในแต่ละดัชนี/ตัวบ่งชี้ (คะแนน 0-5) มีแนวทางการตัดสิน ดังนี้ 



         ง.องค์ประกอบคุณภาพ ดัชนีประเมิน และเกณฑ์การตัดสิน (กลาง) ที่เน้นด้านกระบวนการทำงาน (process approach) ประกอบด้วย 9 องค์ประกอบคุณภาพ แบ่งเป็น 28 ดัชนีประเมิน ดังนี้ 

http://www.nu.ac.th/office/quality/Download/SAR-CAR-YAR%20Form%202.doc

         จ.มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การตัดสิน (กลาง) ที่เน้นด้านผลลัพธ์ (output, outcome approach) ประกอบด้วย 8 มาตรฐาน แบ่งเป็น 32 ตัวบ่งชี้ ดังนี้

http://www.nu.ac.th/office/quality/Download/SAR-CAR-YAR%20Form%202.doc

สรุปและข้อคิดเห็นเพิ่มเติม 
         โดยสรุปแล้วตัวชี้วัดผลการจัดการศึกษาระดับคณะวิชาที่นำเสนอในบทความนี้มีรวมด้วยกันทั้งหมด 60 ตัวชี้วัด ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ กล่าวคือ 28 ดัชนีแรกเกิดจากแนวความคิดเกี่ยวกับองค์ประกอบคุณภาพ 9 ด้านของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) (ทบวงมหาวิทยาลัยเดิม) ที่เน้นด้านการบริหารจัดการที่ดี ส่วนที่เหลืออีก 32 ตัวบ่งชี้หลังเกิดจากแนวความคิดเกี่ยวกับ 8 มาตรฐานของ สมศ. ที่เน้นด้านผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งความจริงในส่วนหลังนี้ของ สมศ. จะมีเพียง 28 ตัวบ่งชี้ แต่ที่มีเพิ่มมาอีก 4 ตัวบ่งชี้เนื่องจากผู้เขียนได้เพิ่มไปอีก 3 ตัวบ่งชี้ (ในบทความนี้คือ ตัวบ่งชี้ที่ 1.5, 2.5 และ 3.6 ซึ่งจะเน้นความสำคัญของความพึงพอใจจากพ่อ/แม่/ผู้ปกครอง/นิสิต เพิ่มเติมจากของ สมศ.) ส่วนอีก 1 ตัวบ่งชี้ที่เพิ่มขึ้นมานั้นเกิดจากการที่ผู้เขียนได้แยกตัวบ่งชี้ที่ 7.2 เดิมของ สมศ. ออกเป็น 2 ตัวบ่งชี้ในบทความนี้ (คือ 7.2 เดิมของ สมศ. จะกลายเป็น 7.2 และ 7.3 ในบทความนี้) 

         ทั้ง 60 ตัวชี้วัดนี้นับเป็น “KPIs กลาง” ที่ใช้ร่วมกันทุกคณะในมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้สามารถเทียบเคียงผลการประเมินระหว่างคณะได้ โดยที่ 28 ดัชนีแรก (process approach) เน้นการเทียบเคียงผลการประเมินระหว่างคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนที่เหลือ 32 ตัวบ่งชี้หลัง (output, outcome approach) เน้นการเทียบเคียงผลการประเมินระหว่างคณะที่เปิดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยนเรศวรกับคณะเดียวกันกับที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ส่วน “KPIs เฉพาะ” ที่แต่ละคณะจัดทำเพิ่มเติมตามปรัชญา ปณิธาน วัตถุประสงค์ และเอกลักษณ์ของตนเองนั้นมิได้นำเสนอในบทความนี้ 

         ในบทความนี้ ผู้เขียนได้นำเสนอว่าแต่ละ KPIs ควรจะมีเกณฑ์การตัดสินเพื่อให้คะแนน 0-5 โดยที่คะแนนระดับ 3 นับเป็นมาตรฐานกลางของมหาวิทยาลัย (university benchmarking) และที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนใคร่จะแสดงความคิดเห็นในที่นี้ คือ ในแต่ละ KPIs ควรที่จะต้องมีผู้ที่รับผิดชอบหลักในการที่จะตั้งเป้าหมายและกรอบเวลาของการพัฒนาการดำเนินงานในด้านนั้นๆ ที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ (responsibility) และการรับผิดรับชอบ (accountability) ในทุกๆ เรื่อง 

         และสุดท้าย เนื่องจากหลักการต่างๆ ที่นำเสนอในบทความนี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2542) สอดคล้องกับกฎกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ, 2546) และสอดคล้องกับกรอบแนวทางการประเมินสถาบันอุดมศึกษาของ สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา, 2545) ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ จึงสามารถนำแนวความคิดในบทความนี้ไปประยุกต์ใช้สำหรับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในประจำปีในสถาบันของตนเองได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. 2546. กฎกระทรวง ว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2546.

พสุ เดชะรินทร์. 2544. เส้นทางจากกลยุทธ์สู่การปฏิบัติด้วย Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไพฑูรย์ สินลารัตน์. 2546. อุดมศึกษาโลกาภิวัฒน์: รายงานการดูงานและการประชุมวิชาการทางการอุดมศึกษา. กรุงเทพฯ: ศูนย์ตำราและเอกสารทางวิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิบูลย์ วัฒนาธร. 2546. NUQA: คิด ทำ ผล และก้าวต่อไป. ในจุลสารศุภสาระของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. ฉบับที่ 7 ประจำเดือน ก.ค.-ก.ย. หน้า 4-5.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. 2542 (พิมพ์เพิ่มเติม 2545). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545.

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน). 2545. กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา.

อุทุมพร จามรมาน. 2544. รายงานวิจัยของโครงการวิจัยและพัฒนาเรื่อง ดัชนี เกณฑ์ และวิธีการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอกสำหรับสถาบันอุดมศึกษาไทย.

McKinnon, K. R., S. H. Walker, and D. Davis. 1999. Benchmarking: A manual for Australian Universities. Department of Education, Training and Youth Affairs. Commonwealth of Australia. 


         วิบูลย์ วัฒนาธร

 

คำสำคัญ (Tags): #nuqa#kpis#teaching#unit
หมายเลขบันทึก: 2483เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2005 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท