เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ : หนังสืออ่านเพิ่มเติม


เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ประเภทหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่อง การเมืองไทยในยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย

ของ นางสาวสายพิน  แก้วงามประเสริฐ    ครูชำนาญการพิเศษ

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ฯ  โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

จอมพล ป.  พิบูลสงคราม  กับวัฒนธรรมทางการเมือง

 

                นอกจากปราบปรามศัตรูทางการเมืองแล้ว  จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังหาแนวร่วมจากชนชั้นกลางในเมือง  ด้วยการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่  ปลุกจิตสำนึกของมวลชน  นำแนวคิดแบบชาตินิยม  และลัทธิทหารนิยมมาใช้ พยายามแสดงให้เห็นว่าสมัยของท่านเป็นสมัยของ สังคมใหม่  และ สมัยการสร้างชาติ  โดยออกมาตรการต่าง ๆ ให้ประชาชนต้องปฏิบัติตาม  ผ่านการประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี  และกรมโฆษณาการ

                วัฒนธรรมใหม่ทางการเมืองของจอมพล ป.  เริ่มต้นเมื่อครบรอบ  7  ปีของการเปลี่ยนแปลง   การปกครอง ในวันที่  24  มิถุนายน 2482    จอมพล ป.  ได้กำหนดให้วันที่  24  มิถุนายน  เป็นวันชาติแทนวันเฉลิมพระชนมพรรษา  เปลี่ยนชื่อ ประเทศสยาม  เป็น  ประเทศไทย   พร้อมทั้งวางศิลาฤกษ์เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กลางถนนราชดำเนิน โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีออกแบบสร้าง   ให้เป็นศิลปะแบบตะวันตก  ( ชาญวิทย์  เกษตรศิริ, 2549 :  195 )

 

 

ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากปกวารสารข่าวโฆษณาการ ของกรมโฆษณาการ

ภาพจาก  www.i155.photobucket.com

                รูปลักษณ์ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีปีกทั้ง  4  ด้านสูงจากแท่นพื้น  24  เมตร มีรัศมีจากจุดศูนย์กลางของป้อมที่ตั้งพานรัฐธรรมนูญถึงขอบของฐานยาว  24  เมตร  พานรัฐธรรมนูญตรงกลางสูง 3  เมตร  มีรูปพระขรรค์  6  อัน  ประดับโดยรอบป้อมกลางที่ตั้งพานรัฐธรรมนูญ ( หมายถึงหลัก 6 ประการ  ของคณะราษฎร ) ยังมีปืนใหญ่รอบอนุสาวรีย์จำนวน  75  กระบอก  นอกจากนี้ยังมีการวางหมุดที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า  โดยที่หมุดมีข้อความว่า  ณ วันที่ 24  มิถุนายน 2475  เวลาย่ำรุ่ง  คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ  ( ชาญวิทย์  เกษตรศิริ, 2549 :  195 – 196 )

 

 

ภาพหมุด  ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า  ที่ซึ่งพระยาพหลพลพบยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ยืนอ่านแถลงการณ์เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  ภาพจาก  www.komchadluek.net

 

 

ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  ถ่ายขณะน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2485 ภาพจาก www.koosangkoosom.com

                ตัวเลขและสัญลักษณ์ที่ปรากฏในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  ล้วนเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่  24  มิถุนายน  2475  เช่น  ปีกนกที่เป็นปีกทั้งสี่ของอนุสาวรีย์  หมายถึงเสรีภาพ  ความสูง  24  เมตร หมายถึง วันที่  24   พานรัฐธรรมนูญสูง  3  เมตร  หมายถึงเดือนมิถุนายน  ซึ่งถือว่าเป็นเดือนที่  3  เนื่องจากสมัยก่อนปีใหม่ไทยคือเดือนเมษายน  ดังนั้นเดือนมิถุนายน  จึงเป็นเดือนที่  3  ของปี  ส่วน ปืน  75  กระบอก  หมายถึง  พ.ศ. 2475 นั่นเอง  สำหรับพระขรรค์  6  อัน  หมายถึงหลัก  6  ประการของคณะราษฎร ที่ต้องใช้พระขรรค์เพราะเป็นอาวุธที่แหลมคม เพื่อต้องการสื่อให้เห็นถึงนโยบายในการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่สะท้อนว่าหลัก 6 ประการของคณะราษฎรว่ามีความแหลมคม  เฉียบขาดในด้านสติปัญญาเพียงใด

                ส่วนภาพดุนซึ่งติดตั้งแสดงประกอบบริเวณโดยรอบของส่วนล่างของปีกทั้ง 4  ด้าน  เป็นภาพเหตุการณ์ของคณะราษฎรขณะดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ตั้งแต่ดำเนินการนัดหมาย  และแยกย้ายทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ วันที่  24  มิถุนายน พ.ศ. 2475 (อนุสรณ์ในพิธีบรรจุอัฐิ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, 2507: 52 – 53)

 

 

ภาพดุน จำลองเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่  24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ของคณะราษฎร

ภาพจาก  www.i155.photobucket.com

 

                นอกจากสัญลักษณ์ที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้ว  ยังมีสัญลักษณ์ที่แฝงเร้นในรูปลักษณ์อนุสาวรีย์นี้ด้วย  ซึ่งศาสตราจารย์นิธิ  เอียวศรีวงศ์  ได้วิเคราะห์การที่รัฐธรรมนูญมีพานแว่นฟ้ารองรับไว้ว่า

                ... หากต้องการให้หมายความว่า  รัฐธรรมนูญเป็นของสูงอันพึงเคารพสักการะ  ก็น่าจะทำฐานเป็นบุษบกแทนป้อม  เพราะสื่อความน่าเคารพเลื่อมใสตามประเพณีไทยได้ดีกว่าพานแว่นฟ้า  หากรัฐธรรมนูญเป็นของพระราชทานจากพระมหากษัตริย์   ตัวแทนของประชาชนพึงรับเอารัฐธรรมนูญนั้นจากพระหัตถ์เพื่อน้อมใส่เกล้า... ไม่มีความจำเป็นจะต้องมีพานแว่นฟ้ารองรับอีกทอดหนึ่ง   ในทางตรงกันข้ามเป็นเพราะตัวแทนของประชาชนจะทูลเกล้าฯถวายรัฐธรรมนูญให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยต่างหาก   จึงต้องทอดรัฐธรรมนูญนั้นลงบนพานแว่นฟ้า   เพื่อจะได้นำทูลเกล้าฯถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธยด้วยความเคารพในองค์พระมหากษัตริย์ตามธรรมเนียมไทย

                เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่อยู่บนพานแว่นฟ้า  จึงหมายถึงรัฐธรรมนูญที่ส่งจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน  ไม่ใช่ส่งจากข้างบนลงมาข้างล่าง ( นิธิ  เอียวศรีวงศ์  อ้างใน สายพิน  แก้วงามประเสริฐ, 2538 : 49 )

                รูปลักษณ์ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ปรากฏ  จึงแสดงความพยายามที่จะต่อสู้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลาย ๆ   ด้วยการสื่อสารว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ได้มาจากการร้องขอของประชาชน  มิใช่การหยิบยื่นให้ของผู้มีอำนาจรัฐ  ไม่ว่ายุคใดสมัยใด  รวมทั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องและการแสดงปฏิกิริยาต่อต้านอำนาจรัฐในเวลาต่อมาด้วย

                 ลัทธิชาตินิยม   ทหารนิยมของจอมพล ป.  พิบูลสงคราม  ยังสะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนเนื้อร้องเพลงชาติใหม่  ให้เหมาะกับการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยาม  เป็นไทย  รัฐบาลจึงจัดประกวดแต่งเนื้อร้องเพลงชาติขึ้นใหม่โดยใช้ทำนองเดิม  เนื้อร้องที่หลวงสารานุประพันธ์ส่งเข้าประกวดในนามกองทัพบก  ได้รับการคัดเลือกให้ใช้เป็นเพลงชาติใหม่ใช้มาจนปัจจุบัน   มีคำขึ้นต้นว่า ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย   และมีคำที่สะท้อนลัทธิชาตินิยม เช่น  เป็นประชารัฐ  หรือ ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี  หรือ ไทยนี้รักสงบ  แต่ถึงรบไม่ขลาด  หรือ สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี  เป็นต้น              (ชาญวิทย์  เกษตรศิริ, 2549 :  196) 

จากเนื้อร้องเพลงชาติไทย  จะเห็นความเป็นรัฐที่มีขอบเขตประเทศชัดเจน  เนื่องจากสมัยจอมพล ป.  เน้นการเรียกร้องดินแดนที่ไทยเคยเสียให้กับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่  5 คืน อีกทั้งเนื้อร้องเพลงชาติไทยยังกล่าวถึงประชาชนการยอมสละเลือดเนื้อของประชาชน  โดยไม่มีเนื้อร้องส่วนใดในเพลงชาติที่กล่าวถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์เลย  ซึ่งทำให้เห็นความพยายามของจอมพล ป.  ที่จะลดบทบาทของสถาบันนี้  และสร้างความมั่นคงให้กับตนเองเป็นสำคัญ

                นอกจากนี้จอมพล ป. ยังได้ประกาศ รัฐนิยม  ถึง  12  ฉบับ ระหว่างพ.ศ. 2482 – 2485  ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในแนวนโยบายแบบลัทธิชาตินิยม ทหารนิยม  ได้แก่

                รัฐนิยมฉบับที่  1  ( 24  มิถุนายน 2482 )  เรื่องการใช้ชื่อประเทศ  ประชาชน  และสัญชาติ

                รัฐนิยมฉบับที่  2  ( 3 กรกฎาคม  2482 )  เรื่องการป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ

                รัฐนิยมฉบับที่  3  ( 2  สิงหาคม  2482 )  เรื่องการเรียกชื่อชาวไทย

                รัฐนิยมฉบับที่  4  ( 8  กันยายน  2482 )  เรื่องการเคารพธงชาติ  เพลงชาติ  และเพลงสรรเสริญพระบารมี

                รัฐนิยมฉบับที่  5  ( 1  พฤศจิกายน  2482 )  เรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่กำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

                รัฐนิยมฉบับที่  6  ( 10 ธันวาคม  2482 )  เรื่องทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

                รัฐนิยมฉบับที่  7  ( 21  มีนาคม  2482 )  เรื่องชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ

                รัฐนิยมฉบับที่  8  ( 1  เมษายน  2483 )  เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี

                รัฐนิยมฉบับที่  9  ( 24  มิถุนายน  2483 )  เรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี

                รัฐนิยมฉบับที่  10  ( 15  มกราคม  2484 )  เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย

                รัฐนิยมฉบับที่  11  ( 8  กันยายน  2485 )  เรื่องกิจประจำวันของคนไทย

                รัฐนิยมฉบับที่  12  ( 28  มกราคม  2485 )  เรื่องการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก  คนชรา  หรือคนทุพพลภาพ  ( ชาญวิทย์  เกษตรศิริ, 2549 :  199 – 200  )

 

 

 

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ประกาศรัฐนิยมฉบับที่  4 เรื่องการเคารพธงชาติ  เพลงชาติ  และเพลงสรรเสริญ

พระบารมี  ในภาพเป็นการเคารพธงชาติ เวลา 08.00 . ช่วงน้ำท่วมพระนคร  ครั้งใหญ่ปลายปี  2485  

ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2  ภาพจาก www.bloggang.com

 

 

รัฐนิยมฉบับที่ 6 เรื่องเพลงชาติไทย

                การดำเนินนโยบายของจอมพล ป.  พิบูลสงคราม  คำว่า ประชาชน  จะถูกนำมาใช้บ่อยและแทนคำว่า ราษฎร  ซึ่งให้ความหมายในแง่ของมวลชน  และเป็นมวลชนที่รัฐบาลจูงใจให้คล้อยตามนโยบายของจอมพล ป. (ชาญวิทย์  เกษตรศิริ, 2544 : 376)

 

              

 

รัฐนิยมฉบับที่ 7 เรื่องชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ

ในภาพแสดงแผนที่ประเทศไทยก่อนเสียดินแดน  ภาพจากwww.siamconllectible-design.com

                รัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับ ทำให้คนไทยรู้สึกว่าประเทศกำลังเข้าสู่สังคมสมัยใหม่จริง ๆ  โดยรัฐบาลได้ออกแนวปฏิบัติตนให้กับประชาชนปฏิบัติตามแนวสังคมสมัยใหม่  เช่น  คนไทยต้องป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นแก่ชาติ  ต้องยกย่องภาษาและหนังสือ  หน้าที่พลเมืองดี  ต้องเคารพเพลงชาติและยืนตรงเคารพธงชาติทุกเช้า เวลา 8.00 น.  คนไทยในสังคมที่เจริญแล้วต้องมีน้ำใจเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในวัยเยาว์ คนชรา หรือคนทุพพลภาพ

 

 

 

โปสเตอร์รณรงค์เรื่องการปฏิบัติตัวของคนไทยในช่วงสงคราม 

ภาพจาก www.nairobroo.com

 

                ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน จอมพล ป. ประกาศให้คนไทยใช้คำว่า สวัสดี  เป็นคำกล่าวทักทายเมื่อแรกพบกัน (ชาญวิทย์  แพงแก้ว, 2550 : 88)   รวมทั้งกำหนดให้เสร็จเรียบร้อยว่า  เวลาวันหนึ่งแบ่งเป็น 3  ส่วน คือ ปฏิบัติงานอาชีพส่วนหนึ่ง  ปฏิบัติกิจส่วนตัวส่วนหนึ่ง  และพักผ่อนนอนหลับอีกส่วนหนึ่ง  นอกจากนี้ยังระบุว่า  ควรกินอาหารวันละ  4  มื้อ  นอนวันละ 6 – 8  ชั่วโมง  รู้จักการออกกำลังกาย ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้  และฟังวิทยุจากกรมโฆษณาการ (แถมสุข  นุ่มนนท์, 2544 : 62 – 63)

 

 

สมุดนักเรียนในยุค 2480 ช่วงสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม บนหน้าปกของสมุดมีการแฝงโฆษณาและรณรงค์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนชาวไทยทำสวนครัวกันในบ้านและช่วยกันป้องกันชาติอีกด้วย                                          ซึ่งข้อความที่ปรากฏบนปกสมุดด้านหน้าก็คือ

"สุขสำราญงานใดไม่แม้นเหมือนได้ร่วมเพื่อนหญิงชายทั้งหลายทั่ว

เมื่อยามว่างควรพะวงลงสวนครัว อย่าปล่อยตัวเอาแต่เที่ยวให้ป่วยการ"

ภาพจาก www.exteen.com

                การกำหนดวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยยังครอบคลุมมาถึงเรื่องการให้เลิกนั่งพับเพียบกับพื้นตามประเพณีหรือตามความเคยชิน  หรือแม้แต่ในการร่วมพิธีกรรมทางศาสนา  ให้นั่งเก้าอี้แทนการนั่งพับเพียบ  เพราะพื้นที่นั่งมีฝุ่นละออง (ก้องสกล  กวินรวีกุล, 2545 : 68)  การนั่งเก้าอี้ได้รับการส่งเสริมให้ทั้งนั่งรับประทานอาหารด้วย  นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังแนะนำให้ประชาชนใช้ช้อนส้อมเป็นเครื่องมือในการรับประทานอาหารแทนมือ  รัฐพยายามอธิบายว่าการใช้ช้อนส้อมมีมานานแล้ว  แต่พบว่าชาวตะวันตกนำช้อนส้อมเข้ามาขายให้กับคนไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  และเริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 2413  เฉพาะในหมู่คนชั้นสูงเท่านั้น  ชาวบ้านธรรมดาคงจะยังใช้มือในการรับประทานอาหารเช่นเดิม  แต่ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. เห็นว่าการใช้มือรับประทานอาหารเป็นประเพณีการกินอาหารที่ไม่ทันสมัย  จึงรณรงค์ให้ใช้ช้อนส้อมแทนมือ  เพื่อแสดงถึงความมีอารยธรรมของคนไทย  (ก้องสกล  กวินรวีกุล, 2545 : 82 - 86)                                                                                                                                                   &

หมายเลขบันทึก: 247845เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2009 01:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

ผลงานดีเยี่ยมเลยค่ะ

ครูอ้อยยังไม่เสร็จเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะพี่อ้อยที่ให้กำลังใจ ขอให้เสร็จเร็ว ๆ นี้นะคะ เป็นกำลังใจให้เช่นกันนะคะ

กรรณิการ์ กวางคีรี

ขอแสดงความยินดีด้วยนะจ๊ะเล็ก...สำหรับวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ เก่งจังเลยเพื่อนเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท