อากาศ


ความรู้คู่คนไทย

อากาศคือ ส่วนผสมของก๊าซต่าง ๆ และไอน้ำซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ก๊าซไนโตรเจน และก๊าซออกซิเจน นอกนั้นเป็นก๊าซอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนน้อย อากาศมีอยู่รอบ ๆ ตัวเราทุกหนทุกแห่ง ทั้งบนยอดสูงสุดของภูเขาและในที่จอดรถใต้ดิน อากาศมีอยู่ในบ้าน มีอยู่ในโรงเรียนและในรถยนต์ อากาศไม่มีสี ไม่มีรสชาติ และไม่มีกลิ่น

บรรยากาศคืออะไร
           บรรยากาศคือ ชั้นของอากาศที่ล้อมรอบโลกและด้วยแรงดึงดูดของโลกทำให้บรรยากาศคงสภาพอยู่ได้ บรรยากาศมีความหนา 310 ไมล์ และมีถึง 4 ชั้น นักวิทยาศาสตร์แบ่งบรรยากาศออกเป็น 4 ชั้น ตามอุณหภูมิ ชั้นแรกมีชื่อเรียกว่า โทรโพสเฟียร์ (Troposhere) ชั้นสูงถัดจากโทรโพสเฟียร์ คือ ชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratoshere) เมโสสเฟียร์ (Mesosphere) และชั้นบนสุดคือ เทอร์โมสเฟียร์ (Thermoshere) อากาศในบรรยากาศแต่ละชั้นจะแตกต่างกัน แต่ในทุก ๆ ชั้นล้วนเป็นส่วนสำคัญของสิ่งแวดล้อมของโลก

บรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์
           เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด มีความหนาประมาณ 12 กิโลเมตร เมฆ พายุ ลม และลักษณะอากาศต่าง ๆ เกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นนี้ อุณหภูมิของบรรยากาศชั้นนี้จะเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งและรวดเร็วกว่าบรรยากาศชั้นอื่น ๆ

บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์
           บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ อยู่เหนือขึ้นไปจากบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ มีความสูงของชั้นบรรยากาศประมาณ 50 กิโลเมตร บรรยากาศชั้นนี้มีก๊าซโอโซนเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย และก๊าซโอโซนนี้เองที่ทำหน้าที่ดูดซับรังสีอุลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นรังสีอันตรายต่อผิวหนังของมนุษย์และพืช ไม่ให้ส่องลงมากระทบถึงพื้นโลก

บรรยากาศชั้นเมโสสเฟียร์
           เมโสสเฟียร์อยู่เหนือบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ และอยู่สูงขึ้นไปไม่เกิน 85 กิโลเมตร บรรยากาศชั้นเมโสสเฟียร์เป็นชั้นที่มีอุณหภูมิต่ำสุด สะเก็ดดาวเป็นทางยาวจะปรากฎให้เห็นในระดับบน ๆ ของบรรยากาศชั้นเมโสสเฟียร์นี้

บรรยากาศชั้นเทอร์โมสเฟียร์
           ชั้นบรรยากาศเทอร์โมสเฟียร์เริ่มในระดับ 85 กิโลเมตร เหนือพื้นโลกและสูงขึ้นไป ๆ จนจางหายไปในอากาศ อากาศกว่า 99% ของเราอยู่ใต้บรรยากาศชั้นเทอร์โมสเฟียร์ อากาศในชั้นนี้บางมาก และเพราะอากาศบางนี้เองที่ทำให้ได้รับผลกระทบจากแสงอาทิตย์แรงมาก จนมีผลทำให้อุณหภูมิของบรรยากาศชั้นนี้สูงมาก

            เครื่องบินที่บินอยู่ในบรรยากาศจะบินอยู่ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ เพื่อจะได้อยู่เหนือหิมะ พายุฝน และลมแรง อากาศเป็นตัวนำคลื่นเสียง ถ้าไม่มีอากาศเราจะไม่ได้ยินเสียงดนตรี เสียงสุนัขเห่า หรือเสียงคนพูดคุยกัน อากาศยังใช้เคลื่อนย้ายสิ่งต่าง ๆ อากาศทำให้เรือใบแล่นข้ามทะเลสาบ ทำให้ใบกังหันของกังหันลมในท้องนาหมุน เราใช้อากาศในการเล่นว่าว เป่าลูกโป่ง และสูบลมลูกบอล เราทุกคนต่างใช้อากาศทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมายในแต่ละวัน
มนุษย์หายใจเอาอากาศเข้าไปเพื่อมีชีวิตอยู่รอด เราทุกคนสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้เพียง 2-3 นาที เท่านั้นหากขาดอากาศหายใจ อากาศช่วยค้ำจุนชีวิตของพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโลก

            อากาศในชั้นบรรยากาศยังช่วยปกป้องพืชบนโลกจากรังสีที่เป็นอันตรายของดวงอาทิตย์และจากความร้อนที่รุนแรง ก๊าซแต่ละชนิดในอากาศล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้นโดยแต่ละชนิดจะช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิต ก๊าซทุกชนิดในอากาศจำต้องมีความสมดุล ตัวอย่างเช่นหากระดับของออกซิเจนในอากาศลดลงในทันที เราจะหายใจด้วยความยากลำบาก หากก๊าซต่าง ๆ ในอากาศขาดความสมดุล รังสีที่เต็มไปด้วยความอันตรายจากดวงอาทิตย์สามารถเข้าสู่บรรยากาศของเราได้

อากาศภายในบ้าน
           ทราบหรือไม่ว่าอากาศภายในบ้านบางแห่งปรากฎว่า มีระดับมลพิษทางอากาศสูงกว่าอากาศภายนอก ซึ่งบางครั้งมีระดับมลพิษสูงเป็น 10 เท่าของมลพิษข้างนอก แม้แต่อากาศที่ท่านหายใจเข้าไปก็มีมลพิษแต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้ท่านรำคาญหรือเจ็บป่วย อาคารทุกแห่งที่ไม่ได้มีการระบายลมที่ดี ซึ่งหมายความว่าอากาศไม่สามารถเคลื่อนตัวได้โดยรอบในอาคารสำนักงานใหม่ ๆ ไม่มีการเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศบริสุทธิ์พัดผ่านเข้ามา นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพลาสติก ยังพ่นละอองไอที่เป็นอันตราย หากสะสมในอากาศเป็นจำนวนมากจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย

ประโยชน์ของอากาศ

      อากาศและบรรยากาศมีความสำคัญ ดังนี้

1. มีก๊าซที่จำเป็นต่อการมีชีวิต ของมนุษย์ สัตว์และพืช

2. มีอิทธิพลต่อการเกิด ปริมาณ และคุณภาพของทรัพยากรอื่น เช่น ป่าไม้และแร่ธาตุ

3. ช่วยปรับอุณหภูมิของโลก โดยเฉพาะไอน้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อนจากพื้นดิน ทำให้ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันกับกลางคืน และฤดูร้อนกับฤดูหนาวไม่แตกต่างกันมากนัก รวมทั้งทำให้บริเวณผิวโลกมีความอบอุ่นขึ้น

4. ทำให้เกิดลมและฝน

5. มีผลต่อการดำรงชีวิต สภาพจิตใจ และร่างกายของมนุษย์ ถ้าสภาพอากาศไม่เหมาะสม เช่น แห้งแล้ง หรือหนาวเย็นเกินไป ซึ่งจะทำให้คนอยู่อาศัยด้วยความยากลำบาก

6. ช่วยป้องกันอันตรายจากรังสีของดวงอาทิตย์ โดยก๊าซโอโซนในบรรยากาศจะกรองหรือดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งทำให้ผิวไหม้เกรียม เป็นโรคมะเร็งผิวหนัง และโรคต้อกระจก

7. ช่วยเผาไหม้วัตถุที่ตกมาจากฟ้าหรืออุกกาบาตให้กลายเป็นอนุภาคเล็กๆจนไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และทรัพย์สิน

8. ทำให้ท้องฟ้ามีสีสวยงาม โดยอนุภาคของสิ่งอื่นที่ปนอยู่กับก๊าซในบรรยากาศจะทำให้แสงหักเห เราจึงมองเห็นท้องฟ้ามีแสงสีที่งดงามแทนที่จะเห็นเป็นสีดำมืด นอกจากนี้ ก๊าซโอโซนซึ่งมีสีน้ำเงินยังช่วยให้มองเห็นท้องฟ้าเป็นสีครามหรือสีฟ้าสดใสอีกด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 247379เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2009 02:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท