เขาว่า ชุมพร จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน


โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นอย่างไร? จึงนำมาบอกต่อ....

โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน  เป็นอย่างไร ดีจริงหรือ ?

     พอดีได้ข้อมูลจากกัลยาณมิตร และสอดคล้องกับ  จังหวัดชุมพรมีแนวโน้มจะมีกับเขาด้วยจึงอยากได้เรียนรู้......

เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหิน : แหล่งมลพิษประจักษ์ชัดแล้วในระดับโลก

ในกระบวนการของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถ่านหินจะถูกบดและเผาในเตาเผาด้วยอุณหภูมิที่สูงมาก เตาดังกล่าวจะต้มน้ำจนเดือดเพื่อก่อให้เกิดไอน้ำที่มีแรงดันสูงซึ่งจะทำการหมุนกังหันผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาลในกระบวนการดังกล่าว

ก๊าซพิษหลากหลายชนิดและมวลอนุภาคจะถูกปล่อยจากเตาเผาไปสู่ปล่องควันขนาดใหญ่ เครื่องมือดักจับมลพิษจะทำการดักจับสารพิษก่อนที่จะถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ การใช้และการปล่อยกากพิษที่ตกค้างอยู่ในเตาเผา และการปล่อยก๊าซพิษและมวลสารจากปล่องควันจะสร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศทั้งภาคพื้นดินและในทะเล ตลอดจนมีผลต่อสุขภาพของประชาชน

 

) มลพิษทางอากาศ-ฝนกรด

หลังจากเหตุการณ์หมอกพิษลอนดอน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อคุณภาพอากาศอย่างรุนแรง  อุตสาหกรรมถ่านหินได้ตอบสนองต่อกระแสที่เกิดขึ้นด้วยการติดตั้งปล่องปล่อยควันพิษที่สูงขึ้น แต่ปริมาณสารพิษที่ปล่อยสู่อากาศยังคงเท่าเดิมแต่แพร่กระจายในวงที่กว้างขึ้น  ทางออกที่ง่ายและคับแคบดังกล่าวในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้นำไปสู่ปัญหาอื่นๆอีก ไนโตรเจนออกไซด์ (Nox) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และก๊าซปราศจากสีซึ่งมีกลิ่นอันไม่พึงปรารถนา ได้ถูกปล่อยจากปล่องควันที่สูง และเข้าไปสู่ชั้นบรรยากาศที่ซึ่งสารพิษเหล่านี้ได้ทำปฏิกิริยากับความชื้น ก่อให้เกิดกรดไนตริก และซัลฟุริก ซึ่งได้กลับคืนสู่โลกในรูปของฝน หิมะ และหมอก หรือที่รู้จักกันโดยรวมว่า "ฝนกรด"

ฝนกรดจะจำกัดการเติบโตของพืช ชะล้างธาตุอาหารจากดิน ทำลายแม่น้ำและทะเลสาบ กัดกร่อนตึกรามบ้านช่องและอนุสาวรีย์ต่างๆ ฝนกรดจำนวนมหาศาล -หรือการสะสมของตะกอนฝนกรด สามารถทำลายพืชผล ทำลายล้างป่า และปลาในแม่น้ำและทะเลสาบ ในกระบวนการที่รู้จักกันในนามของ "dieback" (เป็นอาการของความเจ็บป่วยในสิ่งมีชีวิตที่ได้รับพิษจากฝนกรด ซึ่งจะค่อยๆตายลงอย่างข้าๆ) ตะกอนของไนโตรเจนยังก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของราในร่องน้ำ ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของพืชดังกล่าวจะแย่งเอาออกซิเจนจากพืชชนิดอื่นไปจนหมด อันเป็นกระบวนที่รู้จักกันในนามของ ยูโทรฟิเคชั่น[1]

มนุษย์และสัตว์ต่างก็ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการสูดดมเอาก๊าซซัลเฟอร์ (ชื่อเรียกทั่วไปที่รวมเอาสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไทรออกไซด์ และหมอกอันมีสภาพกรดซัลเฟอร์) ที่กัดกร่อนอวัยวะภายใน และทำให้เยื่อบุผิวหนัง เยื่อบุภายในปาก จมูก ตา ลำคอ และปอดอันเปราะบางบวมพอง ผลที่ตามมาคือ อาการระคายเคืองอย่างรุนแรง เจ็บปวด และหายใจอย่างยากลำบาก เซื่องซึม อ่อนเพลียเรื้อรัง และอัตราการตายที่สูง เมื่อสารซัลเฟอร์เข้าสู่ระบบเลือด จะสามารถทำลายเส้นโลหิต เยื่อบุกล้ามเนื้อ และอวัยวะภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตับและไต[2]

ชั้นบรรยากาศ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ ตลอดจนมวลสารที่มีน้ำหนักมาก จะเพิ่มภาวะการต่อต้านในปอดและทำให้ผนังพังผืดในผิวหนังมีอาการระคายเคือง ในหลายแห่ง ได้เกิดมลพิษตามฤดูกาลขึ้น กล่าวคือหมอกปกคลุมโอโซน (จากไนโตรเจน ออกไซด์)ในช่วงฤดูร้อน และหมอกควันจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในฤดูหนาว[3] ประชาชนที่ทุกข์ทรมานจากโรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับถุงลมในปอด จะได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศนี้มากที่สุด องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของขนาดของมวลสารซัลเฟตเพียง 10 ไมครอน (หนึ่งในล้านของหนึ่งเมตร) ต่อ  1 ลูกบาศก์เมตร จะเพิ่มภาวะพิการและอัตราการตายได้[4] ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นที่รู้จักกันดีว่ามีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดภาวะ บรอนโคคอนสตริกชั่น (การบีบรัดช่องในปอด) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด ในระดับความหนาแน่นของสาร 0.4 หน่วยต่อล้าน[5] ระดับดังกล่าวนั้นต่ำกว่ามาตรฐานของการปล่อยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของไทยและธนาคารโลก

 

) มลพิษทางอากาศ - มวลอนุภาค (Particulates)

มวลอนุภาค ประกอบไปด้วย ฝุ่นผง เขม่า และสารพิษทางอากาศอื่นๆ ซึ่งถูกปล่อยออกมาจากเตาเผาถ่านหิน และถูกส่งไปยังปล่องควันของโรงไฟฟ้า ระบบการกรองควันพิษเพื่อดักจับมวลอนุภาค ซึ่งหลังจากดักจับแล้วจะนำไปถมทิ้งในพื้นที่รองรับ ก่อให้เกิดภาวะปนเปื้อนพิษในดินและแม่น้ำ และมวลอนุภาคที่ไม่ได้ถูกดักจับจะถูกปล่อยออกมาจากปล่องควัน

มวลอนุภาคชนิดละเอียด (Fine Particulates) จะสามารถอยู่ในอากาศได้เป็นเวลาหลายอาทิตย์ และสามารถถูกลมพัดพาไปได้ในระยะทางไกลหลายร้อยกิโลเมตรก่อนที่จะตกลงมา การเผาถ่านหิน ปิโตรเลียม ดีเซล และไม้ ก่อให้เกิดสารพิษเช่น ซัลเฟต ไนเตรด แอมโมเนียม ละอองของไฮโดรเจน องค์ประกอบของมวลสารอินทรีย์ โพลีนิวเคลียร์ อะโรแมติกส์ และโลหะซึ่งรวมถึง ตะกั่ว แคดเมี่ยม วานาเดียม ทองแดง ซิงค์ และนิกเกิ้ล[6]

เมื่อมีการสูดเอาสารมวลอนุภาคเหล่านี้เข้าไป สารขนาดเล็กนี้จะแทรกซึมเข้าไปในปอด และสามารถดำรงอยู่ในนั้นได้ตลอดชั่วชีวิต การสูดสารดังกล่าวเป็นเวลาติดต่อกันนานๆ (และการรับสารดังกล่าวทางอาหาร) จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และเส้นโลหิตในหัวใจ เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคมะเร็งปอด และโรคหัวใจ และยังมีผลต่ออัตราการแท้งบุตรที่สูงขึ้นอีกด้วย[7]

                  

) มลพิษทางอากาศ-ฟลูออไรด์

โรงไฟฟ้าได้ปล่อยสารฟลูออไรด์ในพื้นที่ขนาดใหญ่จากปล่องปล่อยควันพิษขนาดสูง สารฟลูออไรด์แม้ในระดับการกระจุกตัวที่ค่อนข้างต่ำก็ "สามารถทำให้ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีเหลือง และลดภาวะการเติบโตของพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชชนิดทีมีความอ่อนไหวสูง" ทั้งนี้ตามรายงานของกรมป้องกันสิ่งแวดล้อม (EPA) ของนิวเซาท์เวลส์ [8]

 

) มลพิษทางอากาศ-สารกัมมันตภาพรังสี

ถ่านหินโดยธรรมชาติแล้วจะประกอบไปด้วยสารกัมมันตภาพรังสีจำพวกยูเรเนียม และธอเรียม ซึ่งจะถูกปล่อยออกมากับขี้เถ้าที่ฟุ้งกระจายจากปล่องควัน  โรงไฟฟ้าถ่านหินจะปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีออกมามากกว่า 2 เท่าของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในภาวะการเดินเครื่องปกติ[9] แม้ว่าระดับของสารกัมมันตภาพรังสีจะมีปริมาณที่ต่ำกว่าที่เราได้รับโดยธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ หิน ดิน และอากาศ และแม้ว่ารัฐบาลหลายประเทศและนักวิจัยของอุตสาหกรรมจะอ้างว่าเป็นระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวไม่มีน้ำหนักพอที่จะพยากรณ์ผลกระทบเชิงสะสมที่มีต่อสุขภาพของคนในระยะยาวได้

ผลของสารกัมมันตภาพรังสีที่ตกค้างจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศนับแต่ปี 2498 ถึง 2506 คือ อัตราการเพิ่มขึ้นของมะเร็งที่เราประสบอยู่ในทุกวันนี้[10] ชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งกัมมันตภาพรังสี อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และถ่านหิน เป็นผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงมากที่สุด การสูดเอาสารกัมมันตภาพรังสีในอากาศ การบริโภคปลา กุ้ง หอย ปู และสัตว์น้ำประเภทอื่นที่ปนเปื้อนสารพิษ เป็นการเพิ่มปริมาณสารพิษ สารกัมมันตภาพรังสีที่ตกตะกอนอยู่ในมหาสมุทรอาจถูกคลื่นซัด ทำให้สารปนเปื้อนขนาดละเอียดถูกพัดกระจายให้แขวนลอยอยู่ในอากาศได้[11]

เมื่อมวลสารกัมมันตภาพรังสี ขนาดจิ๋วได้เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ มันจะเกาะตัวเองเข้ากับผนังเซลของร่างกาย และแผ่รังสีไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียง  ฝ่ายรัฐบาลและอุตสาหกรรมประเมินผลกระทบจากรังสี โดยใช้ค่าเฉลี่ยของร่างกายหรืออวัยวะทั้งชิ้น โดยละเลยต่อผลเสียหายอันรุนแรงที่เกิดขึ้นเฉพาะส่วน การรับสารเคมี(เช่นสารพิษหลายประเภทจากฝุ่นขี้เถ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน)เป็นการเพิ่มภาวะเสี่ยงของมะเร็งให้สูงขึ้น[12]

ชุมชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีจำนวนผู้เป็นโรคมะเร็งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ  ระดับที่ "ปลอดภัย" ของการรับสารกัมมันตภาพรังสีสำหรับคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารดังกล่าว ซึ่งตั้งโดยคณะกรรมการการป้องกันกัมมันตภาพรังสีสากลนั้นในปัจจุบันมีค่าต่ำเป็น 36 เท่าของค่าที่ตั้งในปี 2474 และระดับที่ตั้งขึ้นสำหรับสาธารณะทั่วไปได้ถูกลดค่าลง 80 เปอร์เซ็นต์นับแต่ปี 2520 เป็นต้นมา ในปี 2538 คณะกรรมการป้องกันสารกัมมันตภาพรังสีระดับชาติของประเทศอังกฤษได้ออกมายอมรับว่า "เราไม่สามารถหาเกณฑ์ต่ำสุดของการรับรังสีได้เลย  ชนิดที่ถ้าไม่เกินนี้ โอกาสการเกิดมะเร็งเท่ากับศูนย์"[13]

) มลพิษทางอากาศ -ชั้นโอโซน

 

การเผาไหม้ถ่านหินได้ปล่อยสารไนโตรเจนออกไซด์ออกมาซึ่งทำปฏิกิริยากับแสงอาทิตย์ และก่อตัวเป็นโอโซนระดับพื้นดิน โอโซนระดับพื้นดินนี้เป็นพิษ ทำลายป่าและพืชผล ขัดขวางการเจริญเติบโตของพืช ทั้งยังสร้างปัญหาต่อระบบหายใจของมนุษย์ เมืองกว่า 100 แห่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปต้องเผชิญกับโอโซนในระดับที่เป็นอันตราย[14] และWorld Watch รายงานว่า ในแต่ละปีโอโซนระดับพื้นดินนี้ได้ทำลายพืชผลในสหรัฐอเมริกาคิดเป็นจำนวนเงิน 5-10 พันล้านเหรียญสหรัฐ และลดผลผลิตข้าวสาลีในบางพื้นที่ของจีนถึง 10 เปอร์เซ็นต์

                  

) อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น

 

อุตสาหกรรมเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" ปริมาณมหาศาล ซึ่งก็คือ คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเธน ซึ่งทำหน้าที่เสมือนผ้าห่มปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลก กักรังสีความร้อนเอาไว้  ปัจจุบันนี้คาร์บอนไดออกไซด์มีปริมาณที่มากกว่าที่เคยมีในอดีต และโลกกำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดในรอบ 1,200 ปี[15]

ผลจากภาวะโลกที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ได้ปรากฏขึ้นแล้ว อย่างเช่น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่เร็วขึ้น การแตกตัวของก้อนน้ำแข็ง การลดลงของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวต่ออุณหภูมิ (โดยเฉพาะแนวปะการังและระบบนิเวศป่าธรรมชาติ)  ความแปรปรวนของฤดูกาล และความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศเลวร้ายที่ก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วม และฝนแล้ง เป็นที่คาดการณ์ว่าการที่โลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องจะมีผลต่อการแพร่กระจายของโรคติดต่อ เช่น มาเลเรีย  จะเกิดภาวะน้ำท่วมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตามแนวชายฝั่งทะเล และประชาชนอีกหลายสิบล้านคนจะตกอยู่ในภาวะที่หิวโหย และเครียด อันเกิดจากการเผชิญกับความร้อนอันรุนแรง และการขาดแคลนน้ำบริโภค[16] แม้ดูเหมือนว่า อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่อัตราที่เกิดขึ้นนั้นเร็วเกินกว่าระบบนิเวศจำนวนมากและสิ่งมีชีวิตจะปรับตัวทันได้

ทั่วโลก เหมืองถ่านหินได้ปล่อยสารมีเธนโดยประมาณ 25 ล้านตันต่อปี ศักยภาพในการทำให้โลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้นจากปริมาณดังกล่าวมีค่าเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่เกิดจากประเทศอังกฤษ[17] หลังจากถูกขุดขึ้นมาแล้ว ถ่านหินจะถูกขนส่งลงเรือไปยังโรงไฟฟ้าที่อยู่ไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร ซึ่งต้องมีการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล(น้ำมัน)อีกเพื่อการขนส่ง และเท่ากับเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นไปอีก

การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจก และถ่านหินก็เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีคาร์บอนเข้มข้นมากที่สุด -การเผาผลาญถ่านหินจะปล่อยคาร์บอนออกมากกว่าน้ำมัน 29 เปอร์เซ็นต์ต่อหน่วยพลังงาน และมากกว่าก๊าซธรรมชาติ 80 เปอร์เซ็นต์[18] ในปัจจุบัน การเผาผลาญถ่านหินผลิตพลังงานเป็นสัดส่วน 23 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานในโลก แต่ได้ปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีเป็นปริมาณ 43 เปอร์เซ็นต์ -โดยที่การปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกนั้นมีปริมาณราว 2.7 พันล้านตันต่อปี[19]

 

) มลพิษต่อที่ดินและน้ำ

การดึงเอาถ่านหินมาใช้นั้นได้ก่อให้เกิดมลพิษต่อดินและทางน้ำ และยังผลให้เกิดการพังทลายของดินและดินทรุด การทำเหมืองแบบเปิดจะต้องมีการขุดหลุมขนาดใหญ่เพื่อเข้าถึงถ่านหินใต้ดินและต้องใช้ที่ดินจำนวนมากสำหรับทิ้งกากของสารพิษ ชนพื้นเมืองและชาวบ้านในท้องถิ่นมักจะถูกบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่เพื่อการนี้ ฝุ่นและเสียงจากการทำเหมืองแร่และจากถนนที่มีการขนถ่ายถ่านหินโดยรถบรรทุกได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเช่นกัน

เหมือง พีดี อดาโรในประเทศอินโดนีเซีย อันอาจเป็นแหล่งถ่านหินของโครงการกัลฟ์พาวเวอร์ที่ต.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ[20] ได้เผชิญกับการคัดค้านอย่างรุนแรงของชาวบ้านในพื้นที่อันเนื่องมาจากมลพิษ และการไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้านสำหรับที่ดินที่ถูกยึดไปโดยอดาโร[21] ส่วนนิวโฮปออสเตรเลียมีผลประโยชน์อยู่ 50 เปอร์เซ็นต์ในเหมืองแร่ผ่านบริษัทลูก อินโดนีเซียโคล  ทางบริษัทขายถ่านหินในตลาดภายใต้ยี่ห้อ "ถ่านหินเพื่อสิ่งแวดล้อม" เนื่องจากองค์ประกอบของซัลเฟอร์และขี้เถ้าที่ค่อนข้างต่ำ ชาวบ้านต้องเผชิญกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเหมืองถ่านหินจนต้องแสวงหาความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อช่วยยืนยันสิทธิของตน[22]

ถ่านหินประกอบไปด้วยสารจำนวนมากที่จะเหลือเป็นกากเมื่อคาร์บอนในถ่านหินได้ถูกเผาผลาญเพื่อสร้างความร้อนในการผลิตกระแสไฟฟ้า กากบางอย่างถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจากปล่องควัน และก่อผลกระทบต่อดินและแหล่งน้ำได้ กากอื่นๆจะสะสมในอุปกรณ์ในโรงไฟฟ้าและถูกนำไปทิ้งในแหล่งทิ้งกาก

ฟลายแอช(Fly ash)คือฝุ่นขี้เถ้าที่ถูกปล่อยออกมาทางปล่องควัน ขี้เถ้าที่ฟุ้งกระจายนี้ประกอบไปด้วยมวลอนุภาคที่มีขนาดโดยเฉลี่ยหนึ่งในร้อยของหนึ่งมิลลิเมตร ขี้เถ้าที่ฟุ้งกระจายนี้มีลักษณะเหมือนแป้งฝุ่น และลอยฟุ้งไปในอากาศ โรงไฟฟ้าถ่านหินได้พยายามที่จะดักจับฝุ่นขี้เถ้านี้ด้วยเครื่องมือควบคุม(ยกตัวอย่างเช่น โดยเครื่องดักจับไฟฟ้าสถิตย์ หรือเครื่องกรอง) แล้วก็จะนำไปทิ้งในที่ทิ้งกาก  ฝุ่นขี้เถ้าที่ไม่ได้ถูกดักจับในปล่องควันพิษก็จะถูกปล่อยออกมาในอากาศ

ฝุ่นขี้เถ้านอนก้น เป็นกากตกค้างจากการเผาไหม้ที่เหลืออยู่ในหม้อต้มน้ำ สารดังกล่าวประกอบไปด้วยทั้งสสารที่ละเอียดและหยาบ และมักจะเป็นองค์ประกอบที่ผสมระหว่างขี้เถ้าและขี้โลหะ อันเป็นสสารที่มีลักษณะคล้ายแก้ว ฝุ่นขี้เถ้านอนก้นจะถูกเก็บและรวบรวม นำไปทิ้งในที่ทิ้งกาก

กากจากการดักจับสารซัลเฟอร์และกากที่นอนก้นในเครื่องต้มน้ำ อันเป็นผลจากการเติมหินปูนและ/หรือ หินแมกนีเซียม ทั้งก่อน (ในกรณีกากในหม้อต้ม) และหลัง (ในกรณีการดักจับซัลเฟอร์) การเผาไหม้ อันเป็นผลมาจากการพยายามแยกสารพิษออกมา  กากเหล่านี้มีส่วนผสมของขี้เถ้า และ แคดเมี่ยม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์ และจะถูกนำไปทิ้งในที่ทิ้งกาก

ขี้เถ้าจากการเปลี่ยนถ่านหินให้เป็นก๊าซสังเคราะห์ และเชื้อเพลิงเหลว กากชนิดนี้จะมีลักษณะคล้ายฟลายแอช แต่จะมีสัดส่วนของอนุภาคขนาดหยาบมากกว่า  ขี้เถ้าเหล่านี้จะถูกทิ้งในที่ทิ้งกากเช่นกัน

สารพิษเช่น สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม เซลีเนียม สารปรอท และฟลูออรีน ในกากและขี้เถ้าที่ทิ้งในพื้นที่ทิ้งกาก จะซึมลงสู่ดินและน้ำใต้ดิน มีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของพืช การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของพืช สารพิษเหล่านี้จะถูกส่งผ่านไปตามห่วงโซ่อาหารและทวีความเข้มข้นมากขึ้นตามลำดับชั้นในห่วงโซอาหาร [23] การรับสารพิษเหล่านี้ในมนุษย์จะก่อให้เกิดแผล กระดูกผุ และขัดขวางการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์[24]

น้ำทิ้งที่มีอุณหภูมิสูง อันเป็นผลจากการใช้น้ำจำนวนมากในกระบวนการสร้างไอน้ำและการหล่อเย็น น้ำทิ้งอุณหภูมิสูงนี้จะถูกปล่อยทิ้งในทะเลสาบหรือทะเลซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศทางทะเล

ในช่วง 18,000 ปีที่ผ่านมา น้ำในเขตร้อนได้รักษาระดับอุณหภูมิอย่างมีเสถียรภาพมาโดยตลอด ขึ้นลงไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสของอุณหภูมิของทะเลในเขตร้อนปัจจุบัน[25] ในช่วงฤดูร้อน ระบบนิเวศแนวปะการังจะอยู่รอดในอุณหภูมิที่ใกล้ขีดจำกัดที่มันจะทนได้ การเพิ่มอุณหภูมิใดๆในทะเลจะสร้างความเครียดให้กับสิ่งมีชีวิตที่ประกอบขึ้นเป็นแนวปะการัง เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น ปะการังจะฟอกขาว อันเป็นกระบวนการที่ทำร้ายและฆ่าสิ่งมีชีวิตต่างๆที่ประกอบขึ้นเป็นปะการัง ตลอดจนสร้างผลกระทบต่อดอกไม้ทะเล หอยกาบยักษ์ และฟองน้ำทะเลบางประเภท การศึกษาระบบแนวปะการังในออสเตรเลียได้ชี้ให้เห็นถึงภาวะการฟอกขาวของปะการังที่เกี่ยวพันกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเพียง 1 ถึง 2 องศาเซลเซียส รวมกับการได้รับแสงมากขึ้นหรือความเค็มที่ลดลงลงของทะเล[26]

 

"ถ่านหินสะอาด" และเทคโนโลยี "ถ่านหินสะอาด"  ไม่ก่อมลพิษจริงหรือ

งานวิจัยที่เป็นผลมาจาก "หมอกพิษลอนดอน"ในต้นทศวรรษที่ 2490 ได้เน้นในเรื่องจะทำอย่างไรที่จะทำให้อุตสาหกรรมถ่านหินสะอาดขึ้น ทางอุตสาหกรรมก็ได้ตอบสนองต่อปัญหาคุณภาพอากาศในท้องถิ่นโดยการสร้างปล่องปล่อยควันพิษที่มีขนาดสูงขึ้น ซึ่งทำให้มีการแพร่กระจายของมลพิษกว้างขึ้นในรูปแบบฝนกรด และจากความกังวลของประชาชนที่มีต่อฝนกรดได้ทำให้อุตสาหกรรมการที่ใช้ถ่านหิน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์การพัฒนาข้ามชาติ ได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีประเภทที่เรียกว่า  "ถ่านหินสะอาด"

คำว่า "ถ่านหินสะอาด" นั้นถูกใช้ในวงการอุตสาหกรรมเพื่อเรียกเทคโนโลยีและประเภทเชื้อเพลิงที่มีวัตถุประสงค์ในการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมลง  "ถ่านหินสะอาด" หมายถึงการล้างถ่านหินเพื่อแยกเอาซัลเฟอร์และขี้เถ้าออกมา และยังหมายถึงการปรับปรุงเทคนิคการทำเหมืองถ่านหินเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเธน  ในระหว่างการเผาไหม้ เทคโนโลยี "ถ่านหินสะอาด"จะพยายามเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยก๊าซพิษออกมา ส่วนหลังการเผาไหม้ เทคโนโลยี "ถ่านหินสะอาด" จะพยายามลดการปล่อยก๊าซพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยระบบการดักจับสารซัลเฟอร์ และลดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์  ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังทำการทดสอบเทคโนโลยีในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยจากปล่องควัน ขั้นตอนสุดท้ายของเทคโนโลยี "ถ่านหินสะอาด" คือการบำบัดและทิ้งกาก[27]

ไม่ว่าอุตสาหกรรมถ่านหินจะอ้างอย่างไรก็ตาม สารพิษก็ยังคงถูกเกิดขึ้นจากการเผาไหม้อยู่ดี  นั่นคือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ มวลอนุภาค ฝุ่น และขี้เถ้า มีการบันทึกระดับอันที่ตรายของมลพิษทางอากาศและน้ำในบริเวณที่มีการเผาไหม้ "ถ่านหินสะอาด" และการศึกษาในออสเตรเลียได้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยี"ถ่านหินสะอาด"ที่ดีที่สุดก็ยังมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ[28]

การล้างถ่านหินจะลดสารซัลเฟอร์และขี้เถ้าลง การลดขี้เถ้าจะเพิ่มประสิทธิภาพความร้อนในการเผาไหม้ ซึ่งในทางกลับกันจะมีผลต่อการลดการปล่อยก๊าซพิษ อย่างไรก็ตาม ความชื้นตกค้างในถ่านหินที่ผ่านการล้างแล้วจะลดประสิทธิภาพลง การศึกษาของรัฐบาลออสเตรเลียในเรื่องการใช้ถ่านหินที่ล้างแล้วในโรงไฟฟ้าอินเดียแห่งหนึ่งพบว่า ประสิทธิภาพโดยรวมได้ลดลง พรอ้มๆกับการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซพิษ[29] การศึกษาโรงไฟฟ้าในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกามีผลออกมาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์[30] สิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยี "ถ่านหินสะอาด" ที่ต้องล้างถ่านหินนี้จำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาลและก่อให้เกิดขยะโคลนและขยะแข็งในจำนวนที่มากขึ้น

ส่วนประกอบ 7 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของถ่านหินเป็นสสารที่ไม่อาจเผาไหม้ได้ ซึ่งต้องมีการกำจัด  เทคโนโลยี "ถ่านหินสะอาด"พยายามทำการดักจับกากเหล่านี้กอ่นที่จะก๊าซจะถูกปล่อยออกจากปล่องควัน กากเหล่านี้เมื่อถูกดักจับแล้วจะถูกนำมาใช้ใหม่ (ทั้งๆที่มีองค์ประกอบที่เป็นพิษจำนวนมาก)[31]  หรือไม่ก็ถูกนำไปทิ้งในพื้นที่ทิ้งกาก องค์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) แห่งออสเตรเลีย ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ถ่านหินที่มีสารซัลเฟอร์ต่ำและเครื่องดักจับซัลเฟอร์ แม้จะมีผลต่อการลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ กลับทำให้เครื่องมือในการดักจับขี้เถ้าทำงานได้ยากลำบากมากขึ้น[32]  ความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศในระยะยาวกลับสูงมากขึ้น  ความก้าวหน้าในการจัดเก็บขี้เถ้าและกากแข็งอื่นๆในสถานที่เก็บก็ล้มเหลวในการป้องกันการซึมของสารเคมีพิษลงสู่แหล่งน้ำใกล้เคียง

การใช้ถ่านหินที่มีคุณภาพที่สูงขึ้น-มีขี้เถ้าและซัลเฟอร์ในระดับต่ำ น่าที่จะลดการปล่อยก๊าซพิษและเพิ่มประสิทธิภาพ (สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้นในปริมาณถ่านหินที่เผาไหม้เดิม) อย่างไรก็ตาม จากรายงานของ AIDWATCH และกรีนพีซ ออสเตรเลีย ประสิทธิภาพความร้อนได้เพิ่มขึ้นเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น[33] องค์กรเหล่านี้ได้เตือนว่า ถ้า "ถ่านหินสะอาด" ถูกใช้เพื่อตอบสนองต่อการพยากรณ์การเพิ่มขึ้นของความต้องการกระแสไฟฟ้าของรัฐบาล แทนที่จะหันมาใช้พลังงานทางเลือกอื่นที่สะอาดกว่า ก็เท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเท่านั้นเอง

เทคโนโลยีการเผาไหม้ที่ดีกว่ากำลังได้รับการออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซพิษลง เทคโนโลยีที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดป่นหรือบด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมากในปัจจุบัน กำลังได้รับการปรับปรุงเพื่อให้ถ่านเผาไหม้ในอุณหภูมิที่สูงขึ้น มาตรฐานของโลกสำหรับประสิทธิภาพในโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีจากเชื้อเพลิงบดอยู่ในระดับ 37.5 เปอร์เซ็นต์ เทคโนโลยีเชื้อเพลิงบดที่ก้าวหน้าได้เพิ่มประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยขี้นเพียง 41 ถึง 44 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการพยากรณ์ที่จะปรับปรุงให้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในอีกร้อยปีข้างหน้า เทคโนโลยีการเผาไหม้ "ถ่านหินสะอาด"อื่นๆยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาซึ่งมีแนวโน้มที่ไม่อาจจะปรับปรุงไปได้ไกลเกินกว่า 43 เปอร์เซ็นต์[34]

อุตสาหกรรมถ่านหินได้อ้างว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่เรื่องนี้ก็ยังคงไม่อาจพิสูจน์ได้และคงต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษจึงจะเห็นผล ในช่วงต้นของเทคโนโลยีนี้ต้องใช้พลังงานอย่างมากในการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากไนโตรเจน ซึ่งจะกลับจะมีผลในการเพิ่มจำนวนถ่านหินที่ต้องใช้เพื่อการเผาไหม้และสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้น (ให้ดักจับเพิ่มอีก)ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง[35] และจะทำให้ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินเพิ่มขึ้นอีก

ตามรายงานจากงานวิจัยของ AIDWATCH และกรีนพีซ ออสเตรเลียนั้น เทคโนโลยี "ถ่านหินสะอาด"จะมี "ผลเพียงน้อยนิดต่ออัตราการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าที่เป็นอยู่"[36] รายงานได้พยากรณ์ว่าในระหว่างปี 2532 ถึง ปี 2543 การลดลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สัมพันธ์กับการปรับปรุงการทำเหมืองถ่านหินและเทคนิคการเผาไหม้ถ่านหินนั้นจะมีค่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ 2.1 ถึง 3.6 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราที่เพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซตามการพยากรณ์จะมีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

ในการแก้ปัญหาผลกระทบจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าขนาด 500 เมกะวัตต์ นั้น รายงานของ AIDWATCH และ กรีนพีซ ออสเตรเลีย ได้คำนวณว่าจำเป็นต้องมีการใช้พื้นที่ปลูกป่ากว่า 2,000 ตารางกิโลเมตรตลอดช่วงอายุขัยของโรงไฟฟ้า[37]

ในขณะเดียวกันกับที่มีความพยายามในการหาแนวทางปฏิบัติต่อปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย และในขณะที่ประเทศ "พัฒนาแล้ว" ทั้งหลายยกเว้นออสเตรเลียได้ตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศกลับโหมประชาสัมพันธ์ส่งเสริมเทคโนโลยี "ถ่านหินสะอาด" และ"ถ่านหินสะอาด" อย่างหนักในฐานะแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการพัฒนาข้ามชาติเช่นธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซียซึ่งให้ความช่วยเหลือในรูปของเงินช่วยเหลือ อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ใช้ข้ออ้างที่ว่า "ถ่านหินสะอาด" และ "เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด"สามารถช่วยให้การเผาไหม้ถ่านหินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และดังนั้นลดจำนวนเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยรวมลง สิ่งที่ถูกละเลยจากการพิจารณาคือ การเผาไหม้ถ่านหินเพิ่มขึ้น แม้ว่าด้วยเทคโนโลยี "ถ่านหินสะอาด"ที่ดีที่สุด ก็จะยังคงเพิ่มจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา เทคโนโลยี "ถ่านหินสะอาด"ได้ล้มเหลวในโลกตะวันตกในแง่ธุรกิจเมื่อเทียบกับการใช้ก๊าซธรรมชาติที่สะอาดกว่า และในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ต่างก็หันมาหาก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับส่งเสริมให้ประเทศที่อยากเป็นอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัยอย่างการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน[38]

อำนาจของอุตสาหกรรมถ่านหินทั่วโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่ผลิตและส่งออกถ่านหินรายใหญ่ ได้ทำการเบียดขับการพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีที่สะอาดกว่า และไม่สิ้นเปลือง รวมถึงมาตรการการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์ โดยที่ได้รับการปกป้องจากนโยบายและการอุดหนุนของรัฐในเรื่องต้นทุนทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมถ่านหินในขณะนี้ได้ใช้มายาภาพเรื่อง "ถ่านหินสะอาด"ในการให้ได้มาซึ่งสัญญาของโครงการการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ใหม่ๆในประเทศโลกกำลังพัฒนา

ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินกำลังถูกจัดการด้วยวิธีการแบบ "แก้ปัญหาเฉพาะหน้า" ขณะเดียวกันต้นทุนของการใช้ถ่านหินกลับต้องแบกรับโดยชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินและสิ่งแวดล้อม

 

 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

บทความนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ โดย คุณ มาร์กี้ ลอว์ อาสาสมัครชาวออกเตรเลียของโครงการTERRA  เมื่อปี 2543



[1] Watershed ปีที่ 2 ฉบับที่ 2

คำสำคัญ (Tags): #social chumphon
หมายเลขบันทึก: 247014เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2009 01:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ผู้ที่สนใจบทความนี้

อยากทราบรายละเอียด ของที่มาค่ะ ไม่ทราบว่าจะไปศึกษาหาของมูลของคุณ มาร์กี้ ลอว์ จากแหล่งข้อมูลไหนได้บ้างค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูง

เพื่อให้ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจ จะเอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้า ซึ้งมีอยู่หลายตอน มีเนื้อหาดีมากๆ ตามเว็ปข้างล่างนี้

http://www.youtube.com/watch?v=TKEzpPw9EgU&NR=1

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท