ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

โครงการขนาดยักษ์ บุกเมืองคอน รอหายนะ ๓ อำเภอชายฝั่งทะเล


เมืองคอน ส่อเค้าวุ่น เจอมรสุมแผนพัฒนาภาคใต้ เซาเทิร์นซีบอร์ด หรือ โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ปังธง ๓ อำเภอ คือ อ.ขนอม สิชล และ ท่าศาลา เนื่องจากพื้นที่เหมาะสมทั้งแหล่งน้ำดิบ และติดชายฝั่งทะเล ประกอบกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เกิดปัญหามลพิษ จนยากที่จะขยายตัวได้อีก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไม่หวั่นผลกระทบต้องสร้างให้ได้ ภายในปี ๒๕๖๐

โครงการขนาดยักษ์ บุกเมืองคอน

รอหายนะ ๓ อำเภอชายฝั่งทะเล

โดย  ทรงวุฒิ พัฒแก้ว, ชัยพงศ์ เมืองด้วง  

         กลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนครศรีธรรมราช
ตีพิมพ์ใน วารสารคลื่นทะเลใต้ สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้

จับตาโครงการขนาดใหญ่ในนครศรีธรรมราช

                เมืองคอน ส่อเค้าวุ่น เจอมรสุมแผนพัฒนาภาคใต้ เซาเทิร์นซีบอร์ด หรือ โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ปังธง ๓ อำเภอ คือ อ.ขนอม สิชล และ ท่าศาลา เนื่องจากพื้นที่เหมาะสมทั้งแหล่งน้ำดิบ และติดชายฝั่งทะเล ประกอบกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เกิดปัญหามลพิษ จนยากที่จะขยายตัวได้อีก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) ไม่หวั่นผลกระทบต้องสร้างให้ได้ ภายในปี ๒๕๖๐

                อันที่จริงโครงการนี้  มีการผลักดันมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ เรื่อยมา  แต่มีปัญหาบางประการทำให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง  ในที่สุดยุครัฐบาลที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร มีการรื้อฟื้นขนานใหญ่ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ทุกรัฐบาลต่างพุ่งเป้าให้โครงการนี้เป็นเมกะโปรเจ็ค ของการพัฒนาเป็นอันดับต้นๆ ของการพัฒนาประเทศและชายฝั่งทะเลภาคใต้

                ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมา  สศช.และ กนอ.  จับมือเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้  ผลการศึกษาสุดท้ายระบุชัด คัดเลือก ๓ พื้นที่ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช รองรับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ โดย ทางเลือกที่ ๑ ใน ต.สิชล ต.ทุ่งปรัง อำเภอสิชลพื้นที่ ๒๐,๐๐๐ ไร่ ทางเลือกที่ ๒ ต.กลาย ต.ตลิ่งชัน อ.ท่าศาลา พื้นที่ ๑๙,๐๐๐ ไร่  และพื้นที่   อ.นาบอน เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร สำหรับพื้นที่ อ.นาบอน  ได้รับการขานรับจากพื้นที่พอสมควรเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางการเกษตร

                จากการเข้ามาของโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนี่เอง ทำให้เกิดโครงการใหญ่ๆที่คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพื้นที่  ได้แก่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ท่าเรืออุตสาหกรรม  เขื่อน การสำรวจขุดเจาะ และตั้งแท่นปิโตรเลียมในอ่าวไทย ไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ หลุม และใกล้ฝั่งประมาณ ๒๐ กิโลเมตรเท่านั้น

รัฐบาลขานรับ ลุยนโยบายและงบประมาณ

                จากการที่ กนอ. ได้ลงมือปฏิบัติโดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินงานทั้งการศึกษาและการทำงานในระดับพื้นที่   ตามแผนงานดำเนินการไว้ คือ พ.ศ. 2551  จะศึกษาความเป็นไปได้โดยเลือกพื้นที่เหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น   พ.ศ. ๒๕๕๒- ๒๕๕๓  จะศึกษา อีไอเอ  ประชาพิจารณ์  พ.ศ. ๒๕๕๔            จะออกแบบรายละเอียด พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙  เริ่มก่อสร้าง เมื่อถึงปี ๒๕๖๐ จะแล้วเสร็จทั้งหมด และโครงการนี้จะเดินเครื่องเต็มพิกัด   จาก  พ.ศ.๒๕๖๐ -๒๕๙๐  เป็นต้นไป

โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้  แม้ผ่านมาหลายปียังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่คำแถลงนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๑ ได้บรรจุไว้ในนโยบายข้อ ๔.๒.๒.๖ ว่า รัฐบาลนี้จะ         ...จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้วยอุตสาหกรรมที่มีความสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้...

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๕๒ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาให้ข่าวอย่างชัดเจนผ่านสื่อหลายฉบับ ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันที่ ๑๗ มค. ๕๒ หน้า ๗  ระบุว่า   นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังมอบนโยบายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่า เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม.เศรษฐกิจพิจารณาโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ วงเงินลงทุนกว่า๑ แสนล้านบาท ในพื้นที่ อ. ท่าศาลา อ.สิชล และ อ. นาบอน จ.นครศรีธรรมราช แบ่งเป็นพัฒนาพื้นที่และท่าเรือ ๒-๓ หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นการสร้างถนน ไฟฟ้า รถไฟ ประปา และสาธารณูปโภคอื่น เนื่องจากมีความสำคัญต่อภาคการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน  ทั้งนี้ จะหารือกับนายกรัฐมนตรีในที่ประชุม  ครม.เศรษฐกิจ ภายใน ๒ สัปดาห์...

 

โครงการขนาดยักษ์ทุ่มเงินศึกษา รุกหนักในพื้นที่เมืองคอน

                จากการที่ กนอ. ทุ่มเงิน ๑๕ ล้านบาท ว่าจ้างทีมที่ปรึกษาให้มาดำเนินการในพื้นที่ โดยนายอเนก นาคะบุตร เปิดเผยในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ณ ศาลาประชาคมอำเภอสิชล เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ที่ผ่านมาว่า  กนอ.ได้แบ่งงบประมาณศึกษาความเป็นได้ ๒ ส่วน คือ ๒ ล้านบาท ให้ตนทำโครงการเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวก ในพื้นที่ ๑๓ ตำบล เพื่อรับฟังความเห็นเบื้องต้น และ ๑๓ ล้านบาทให้ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง  เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมแนจเมนต์ จำกัด ศึกษาทางด้านวิศวกรรม พื้นที่ และการลงทุน

                ผลของการศึกษานอกจากพื้นที่รองรับนิคมอุตสากกรรมปิโตเคมีแล้ว ยังระบุที่มาของแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็น สร้างอ่างเก็บน้ำคลองกลาย  เขื่อนคลองท่าทน นอกจากนี้การศึกษาของบริษัทที่ปรึกษายังได้กล่าวถึงแหล่งน้ำอื่น  เช่น อ่างเก็บน้ำคลองกระแดะ อ่างเก็บน้ำคลองลาไม อ่างเก็บน้ำห้วยปากหมาก  รวมทั้งการจัดทำระบบท่อส่งน้ำจากแม่น้ำ     พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกด้วย

 

สัญญาณอันตราย! ไฟฟ้านิวเคลียร์ ผุดรองรับนิคมอุตสาหกรรม

        ด้วยความจำเป็นด้านพลังงาน ทำให้กระทรวงพลังงานจึงได้มีแนวคิดให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด ๔,๐๐๐ เมกะวัตต์ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรอง รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเข้าระบบในปี ๒๕๖๓ สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดพบว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) ได้ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในหลายพื้นที่แล้ว

                ทั้งนี้จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีสภาพพื้นที่เหมาะที่จะตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากมีทำเลที่เหมาะสมอยู่ใกล้ทะเล และจะมีนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งการเตรียมงานขั้นตอนต่าง ๆ นั้นจะต้องใช้ระยะเวลา 6 ปี และทำการก่อสร้างอีก 7 ปี  ซึ่งเป็นได้สูงว่าสอดรับช่วงเวลาการแล้วเสร็จของการสร้างนิคมอุตสาหกรรมพอดี  มีการดำเนินการสำรวจขุดเจาะในพื้นที่ ๓ อำเภอ ชายฝั่งทะเล คือ ขนอม สิชล ท่าศาลา รวม ๕ จุด ซึ่งในแต่ละจุดจะขุดเจาะเป็นหลุมเท่ากับบ่อน้ำบาดาล ลึก ๕๐ มตร โดยใช้ระยะเวลาประมาณ ๗ ๑๐ วันต่อหลุม โดยมี พลอากาศเอก พิเนต ศุกรวรรณ เป็นหัวหน้าคณะทำงานสำรวจฯ และประชาสัมพันธ์ให้พื้นที่รับทราบ  แต่ทั้งนี้การรับทราบข่าวของพื้นที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรรม

เชฟรอน ทุนข้ามชาติมาลงที่เมืองคอน กุญแจสำคัญในการเปิดประตูเมืองอุตสาหกรรม

                เชฟรอนเป็นบริษัททางพลังงานที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ ๕ ของโลก  โดยมีสำนักงานใหญ่ที่เมือง ซาน รามอน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย อเมริกา มีการดำเนินงานในประเทศต่างกว่า ๑๘๐ ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมด้านพลังงานครบวงจร แต่แต่สำรวจและผลิต กลั่น การตลาด ขนส่ง เคมีภัณฑ์ รวมทั้งการผลิตไฟฟ้า เมื่อสิงหาคม ๒๕๔๘ ผนวกกิจการของยูโนแคลทำให้เชฟรอนผงาดเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานระดับโลกอย่างแท้จริง

ปัจจุบัน เชฟรอนเตรียมย้ายฐานปฏิบัติการ จากสงขลา และชลบุรี ปักหลักในเมืองคอน ๒ พื้นที่ คือ ฐานปฏิบัติการขนส่งทางทะเล บนเนื้อที่ ๓๐๐ ไร่ ของเอกชน ที่บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา  และ ฐานขนส่งทางอากาศ โดยเช่าพื้นที่ของสนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยมีเครื่องบิน ๓๐ เที่ยวต่อวัน หากนับขึ้น-ลง ๖๐ เที่ยว และจะบินปกติในช่วงกลางวัน เฉลี่ย ๑๐ นาทีต่อครั้ง

ถามว่าทำไมต้องมีทั้งท่าเรือ และเครื่องบิน เนื่องจากเชฟรอนเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันดับหนึ่งของไทย มีแท่นผลิตปิโตรเลียมกว่า ๑๘๐ แท่น (ข้อมูลเบื้องต้น)  และใช้ก๊าซผลิตกระแสไฟฟ้าถึง ๑ ใน ๓ ของความต้องการพลังงานทั้งหมดในประเทศ  ปัจจุบันเชฟรอนมีแปลงสัมปทานคลอบคลุมพื้นที่กว่า ๓๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ในอ่าวไทย และปริมาณการผลิตมาจากพื้นที่ปิโตรเลียม ๒๐ แห่ง เช่น เอราวัณ ปลาทอง โกมินทร์ มะลิวัลย์ ฯลฯ

ดังนั้นทุนข้ามชาติอย่างเชฟรอน จึงมองประเทศไทยเป็นแค่เมืองขึ้นทางด้านธุรกิจพลังงาน  ในเวลาอันใกล้นี้ เชฟรอนจะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการเปิดประตูเมืองอุตสาหกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช  เพราะ เชฟรอนทุ่มงบประมาณมหาศาลด้านประชาสัมพันธ์ และงบประมาณพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวก แต่ปิดบังเรื่องธุรกิจพลังงานไว้เบื้องหลัง รวมทั้ง การเกิดนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วย ดังนั้นทิศทางการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เรื่องนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องหัก กุญแจดอกสำคัญทิ้งเสีย และเร่งคืนประโยชน์ทรัพยากรทั้งหมดแก่ประเทศไทย

วงจรนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช

                หากนึกภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้นึกว่า เหมือนกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หรือใหญ่กว่าด้วยซ้ำ แล้วรวมกับ อุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ท่อก๊าซไทย-มาเลย์ จะนะ จังหวัดสงขลา เพราะนี่ คือ อุตสาหกรรมยักษ์กินเมืองอย่างแท้จริง และบางส่วนเกิดขึ้นแล้ว กำลังจะเกิดขึ้น แต่หากโครงการนี้เกิดขึ้นไปพร้อมๆกัน  จะเกิดอะไรขึ้นกับคนนครฯ.....?????

 

 

 กลุ่มรักษ์ทุ่งปรังและเครือข่าย ลั่นปิดตายโครงการนี้และพร้อมเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

                เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๒ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำโดยนายอเนก นาคบุตร จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี    ณ ศาลาประชาคมประจำอำเภอสิชล  โดยมีพี่น้องประชาชนเข้าร่วมล้นห้องประชุม และคาดว่าไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ คน

                จากการประชุมครั้งนี้ ทุกคนไม่ได้รับทราบและเชิญประชุมอย่างเป็นทางการจากการนิคมอุตสาหกรรมแต่ประการใด แต่รับทราบจากการเคลื่อนไหวของพี่น้องในนาม กลุ่มรักษ์ทุ่งปรัง ที่มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอานิคมอุตสาหกรรมทุกกรณี โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เมื่อรับทราบว่า จะมีเวทีที่จัดโดยการนิคมอุตสาหกรรม ต่างคนต่างช่วยกันบอก และต่างช่วยกันมาจนแน่นห้องประชุม นอกจากนี้ยังมีพี่น้องจากเครือข่ายต่างพื้นที่เข้ามาร่วมด้วยอย่างคับคั่ง

                บรรยากาศในห้องประชุมเป็นไปค่อนข้างตึงเครียด และทางการนิคมอุตสาหกรรมพยายามสรุปเป็นระยะๆ  แต่ไม่ได้รับความพอใจของชาวบ้านแต่อย่างใด เนื่องจากการสรุป ยังคงเป็น ข้อห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อม การย้านถิ่นฐาน ข้อห่วงใยว่าโครงการนี้ยังมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ยังไม่รับรู้ข้อมูลอย่างเต็มที่  สุดท้ายชาวบ้านขอให้สรุปมติใหม่ เพียงข้อเดียว คือ หยุดนิคมอุตสาหกรรม หยุดการศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และได้ยกมือสนับสนุนทั่วห้องประชุม ถือเป็นมติสุดท้ายอย่างเด็ดขาดของเวทีรับฟังความคิดเห็น

                เมื่อการนิคมอุตสาหกรรมหมดทางดิ้น และไม่สามารถต่อรองเงื่อนไขใดๆ กับชาวบ้านอีกต่อไปได้ อเนก นาคะบุตร ได้ประกาศลั่น กลางเวที

                ผมรับทราบมติของชาวบ้านแล้ว เพราะฉะนั้นผมยืนยันกับท่านว่า ผมจะหยุดภารกิจการเปิดเวทีทั้งหมดโดยสิ้นเชิง และจะรายงานกนอ. ให้รับทราบสถานการณ์ด้วยตัวเองต่อผู้บริหาร กนอ. ว่าวันนี้ไม่ใช่แต่พี่น้องตำบลทุ่งปรัง แต่พี่น้องตำบลอื่นก็มีความเห็นคล้ายกันที่ต้องการให้หยุดโครงการนี้  และกล่าวยืนยันอีกว่า จะคืนเงินส่วนที่เหลือเกือบล้านบาทที่ได้รับมาเพื่อจัดเวทีฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ๑๓ ตำบลให้แก่การนิคมอีกด้วย

                แม้เวทีรับฟังความคิดเห็นจะถูกปิดลง แต่ชาวบ้านก็คงยังห่วง เพราะหวั่นว่า เสียงนี้จะไม่สะท้อนถึงรัฐบาล เนื่องจาก กนอ.จะสรุปข้อมูลให้ รมว.อุตสาหกรรม เสนอ ครม. ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อขออนุมัติงบประมาณนับแสนล้านบาทเพื่อลุยโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดต่อ ในพื้นที่ อ.สิชล อ.ท่าศาลา และ อ.นาบอน แต่ทั้งนี้แกนนำกลุ่มรักษ์ทุ่งปรังและเครือข่าย ลั่น พร้อมสู้ต่อ ตายเป็นตาย เพื่อรักษาแผ่นดินเกิดสุดชีวิต

 

ติดต่อ-สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

กลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนครศรีธรรมราช และ

เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ นครศรีธรรมราช

๓๐/๑ หมู่บ้านราชพฤกษ์ ๒ ซอย ๒  ตำบลปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ๘๐๐๐๐

โทรศัพท์ ๐๗๕-๓๑๘๖๒๓   โทรสาร ๐๗๕-๓๑๘๖๒๔    อีเมล์  [email protected]

หมายเลขบันทึก: 246848เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2009 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ใครต้องการเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อเข้ามาได้ ตามที่อยู่ที่ให้ไว้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท