สรุปข่าวในพระราชสำนัก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดสตูล วันที่ 4 มีนาคม 2552


ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย บุญที่สุดในชีวิตและดีใจที่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท

หลายวันที่ผ่านมา ได้พยายามเก็บเรื่อง "เกาะ" และคนชาวเกาะ มาเล่า  ให้ชาว Gotoknow ฟัง เนื่องจากต้องขึ้น-ลง เกาะ(7 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.52)  จึงไม่ได้เขียนเกริ่นนำมากนัก  วันนี้ขึ้นจากเกาะแล้ว (6 มี.ค.) 17.30 น. จึงเก็บสิ่งดีๆ  ภาพประทับใจทั้งที่พบเห็นและตราตรึงอยู่ในความทรงจำ มาฝากและขอเรียนทุกท่านว่า  ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย เป็นบุญที่สุดในชีวิตและดีใจที่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท  ณ โรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา  ต.ปูยู อ.เมือง จ.สตูล  เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552  และในฐานะที่เป็นนักประชาสัมพันธ์  จึงได้นำสรุปข่าวในพระราชสำนัก ในวันที่ 4 มีนาคม 2552   มาให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ

สรุปข่าวในพระราชสำนัก 

 วันที่ 4 มีนาคม 2552  

            เวลา 09.20 น. วันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานีอนามัยบ้านเกาะปูยู ตำบลปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ทอดพระเนตรการดำเนินงานด้านสาธารณสุขชุมชน ที่มีพระราชดำริให้กรมชลประทานดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมห้องรักษาพยาบาลและห้องฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการตรวจรักษาพยาบาลในเขตพื้นที่บ้านตันหยงกาโบย และบ้านปูยู ที่ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร และโรคในช่องปาก ซึ่งทางสถานีอนามัยฯ ได้ดำเนินการตรวจรักษาและให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ประชาชน ในการป้องกันรักษาโรคเบื้องต้น นอกจากนี้ ยังให้การส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็กให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอด

 

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนบ้านเกาะยาว โดยมีข้าราชการและราษฎรเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ตลอดเส้นทางจากท่าเทียบเรือบ้านเกาะยาวไปยังโรงเรียนฯ ซึ่งอยู่บริเวณแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2482 โดยอาศัยบ้านราษฎรเป็นที่เรียนชั่วคราว ต่อมาปิดทำการสอนเนื่องจากนักเรียนย้ายตามผู้ปกครองไปประกอบอาชีพอื่น และได้เปิดทำการสอนอีกครั้งพร้อมกับสร้างอาคารเรียนใหม่ โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานเงินที่มีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิแก่มูลนิธิชัยพัฒนาและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้นำไปใช้ปรับปรุงและก่อสร้างอาคารที่มีสภาพทรุดโทรม โดยให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์ ระบบระบายน้ำ และปรับปรุงภูมิทัศน์ โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เรื่องการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด หลังจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้จัดทำโครงการเชื่อมโยงกระแสไฟฟ้าด้วยสายเคเบิ้ลใต้น้ำไปยังเกาะปูยูและเกาะยาว ในการนี้ มีพระราชดำริให้ส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริม หลังจากมีไฟฟ้าใช้อย่างสมบูรณ์แล้ว เพื่อให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยังสนับสนุนคอมพิวเตอร์ โต๊ะและเก้าอี้นักเรียนด้วย แล้วทอดพระเนตรการเรียนการสอนของโรงเรียนที่เปิดสอนชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 81 คน ซึ่งจัดให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 3, และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง 6 เรียนร่วมกันเนื่องจากครูไม่เพียงพอ โดยจัดหลักสูตรในแต่ละวิชาให้มีความใกล้เคียงกัน และให้พี่ช่วยสอนน้อง นอกจากนี้ยังเรียนรู้จากครูตู้ ได้แก่ การรับสัญญาณการเรียนการสอนทางไกลจากโรงเรียนวังไกลกังวล

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรสถานีอนามัยบ้านเกาะยาว ที่ได้พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ ของมูลนิธิชัยพัฒนาในการซ่อมแซมและปรับปรุง เพื่อให้บริการแก่ประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ จากนั้น ทรงเยี่ยมราษฎรบ้านเกาะยาวที่มีประชากร 690 คน 152 ครัวเรือน นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษามลายูเป็นหลัก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง เลี้ยงปลาในกระชัง รับจ้างและค้าขาย มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 2 หมื่นบาทต่อปี จากนั้นประทับเรือเร็วพระที่นั่งจากท่าเทียบเรือบ้านเกาะยาวไปยังท่าเทียบเรือบ้านเกาะปูยู
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงได้ประทับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างพระที่นั่งไปทรงเปิด และทอดพระเนตรการส่งเสริมการศึกษาของโรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดสอนชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ ให้กรมชลประทานใช้ในการก่อสร้าง ซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารต่าง ๆ ที่ทรุดโทรม รวมถึงจัดสร้างระบบท่อส่ง และระบายน้ำ เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และใช้ในการอุปโภคบริโภค
ทั้งยังจัดทำโครงการระบบส่งน้ำฝายน้ำตกเขาเขต จัดสร้างถังกรองน้ำและเก็บน้ำตามแหล่งชุมชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ให้ราษฎรมีน้ำสะอาดไว้ใช้ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเรือไปบรรทุกน้ำจืดบริเวณทางขึ้นฝายฯ ซึ่งอยู่ห่างไป 3 กิโลเมตร

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณ  ได้ติดตั้งระบบห้องสมุดอัตโนมัติตามมาตรฐานสากล ซึ่งในอนาคตจะได้พัฒนาเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับระบบห้องสมุดอื่น ๆ อันจะช่วยเพิ่มแหล่งสืบค้นข้อมูล แหล่งเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพการศึกษา และการเรียนการสอนในวิชาต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น ในการนี้ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มาทำการตรวจรักษาพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ราษฎรที่เจ็บป่วยด้วย
จากนั้น ได้ทอดพระเนตรพื้นที่ป่าชายเลนด้านหลังโรงเรียนฯ ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำขึ้นตามพระราชดำริ ที่นอกจากจะเป็นการช่วยรักษาระบบนิเวศน์ป่าชายเลนแล้ว ยังเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่นักเรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนชายฝั่งได้ศึกษาเรียนรู้ รวมถึงใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อันเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างยั่งยืน

เวลา 14.09 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตาม โครงการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทะเลไทย บ้านตะโล๊ะน้ำ ตำบลเกาะสาหร่าย ในการนี้ ทอดพระเนตรอู่ซ่อมสร้างเรือชุมชน ของกลุ่มประมงพื้นบ้าน ที่มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยสึนามิ มีการจัดสร้างอู่พร้อมเครื่องมือช่าง และไม้สำหรับใช้ซ่อมเรือ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ราษฎรสามารถซ่อมแซมเรือประมงขนาดเล็กได้เอง นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังร่วมกับกรมประมง ดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทะเลไทย เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ปลูกจิตสำนึกของชุมชน และส่งเสริมพัฒนาอาชีพ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์หอยคาหยำอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นที่นิยมบริโภค แต่ปัจจุบันมีจำนวนลดลง, การจัดสร้างปะการังเทียมโดยชุมชน,ธนาคารปูไข่, บ่ออนุบาลและพักฟื้นเต่าทะเล เนื่องจากมีปริมาณลดลงอย่างมาก กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจึงจัดทำโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลขึ้น มีการจัดสร้างโรงเรือนอนุบาลและพักฟื้นเต่าทะเล เพื่อช่วยเหลือเต่าทะเลที่ได้รับบาดเจ็บจากการติดเครื่องมือประมงมาทำการรักษาและอนุบาลก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันได้ช่วยเหลือและปล่อยเต่าไปแล้ว 53 ตัว ทำให้ปริมาณเต่าทะเลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพบบางชนิดที่เกือบสูญพันธุ์ เช่น เต่าหัวค้อน เต่าหญ้า ในการนี้ ทรงปล่อยเต่าตนุ 5 ตัว ซึ่งตัวใหญ่ที่สุดมีน้ำหนัก 120 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมการซ่อมบำรุงเรือประมงไม้โดยใช้วัสดุไฟเบอร์กลาส แทนการใช้หมัน ชัน และน้ำมันยาง เพื่อยืดอายุของเรือไม้ให้ใช้งานได้นานขึ้น แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการการรักษาเต่า ทั้งวิธีภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการใช้น้ำที่ต้มปลิงทะเลมาทาแผลสด ทำให้แผลแห้งและหายสนิท และการรักษาด้วยยา แล้วทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จฯ

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา ทรงเปิดอาคารอเนกประสงค์ ซึ่งได้พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ฯ มาใช้ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน สร้างและซ่อมบ้านพักครู และสร้างถนนภายในโรงเรียน ปัจจุบันเปิดสอนชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียน 373 คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
ในการนี้ ทรงเปิด "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมัสยิดบ้านเกาะสาหร่าย" ซึ่งได้รับงบประมาณก่อสร้างจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ฯ เนื่องจากอาคารเดิมมี 4 ห้องเรียน แต่มีขนาดคับแคบ สภาพห้องเก่า และใช้งานได้เพียง 2 ห้อง ไม่เพียงพอสำหรับเด็กเล็ก จำนวน 60 คน ปัจจุบันรับเด็กอายุ 3 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมด้านพัฒนาพื้นฐานเพื่อศึกษาในชั้นประถม และยังช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่

จากนั้น ทอดพระเนตรการสาธิตการเรียนการสอนหลักสูตรแปรรูปอาหารทะเล อาทิ การแปรรูปปลากระเบนเล็กเป็นปลาเค็มรับประทานกับแกงส้ม ซึ่งเป็นอาหารพื้นฐานของชาวเกาะ, การนำน้ำต้มปู แปรรูปเป็นมันปูรับประทานกับผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวแทนน้ำปลาหวาน ช่วยเสริมสร้างคุณค่าทางโภชนาการ และป้องกันโรคคอพอกนอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรการซ่อมเครื่องยนต์เล็ก ที่มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพในอนาคต รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสและเป็นพื้นฐานที่ดีแก่นักเรียนที่มีความประสงค์ที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังอาคารศูนย์คอมพิวเตอร์และห้องวิทยุเพื่อการศึกษา ทอดพระเนตรโครงการนำร่องการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ซึ่งได้พระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนาในการก่อสร้างอาคารฯ จัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศพื้นฐานของโรงเรียนบ้านเกาะสาหร่าย เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้ด้านข้อมูลสารสนเทศแก่นักเรียน ครู และขยายไปสู่ชุมชนโดยรอบ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้สนับสนุนการติดตั้งวิทยุเพื่อการศึกษาและพัฒนาอาชีพ คลื่นความถี่เพื่อการทำมาหากินให้แก่โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา เพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษา และการสื่อสารที่จำเป็นสำหรับโรงเรียนและชุมชนที่อยู่ห่างไกล ทั้งยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาอาชีพให้แก่ชุมชนต่อไป

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการธนาคารปูไข่ ทรงปล่อยปูไข่ลงในกระชัง ซึ่งมีหลักการคือ การรับบริจาคแม่ปูที่มีไข่นอกกระดอง จากชาวประมงมาขังไว้ในกระชังเพื่อให้แม่ปูได้ปล่อยไข่เป็นลูกคืนสู่ธรรมชาติ และเจริญเติบโตเพื่อให้ชาวประมงได้มีปูไว้จับขาย ซึ่งทางกลุ่มจะนำแม่ที่ปล่อยไข่แล้วไปขายเพื่อเป็นรายได้สำหรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม เช่น ซ่อมแซมกระชัง และสนับสนุนการช่วยเหลือกิจกรรมทางสังคม ส่วนลูกปูที่แม่ปูปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และเจริญเติบโตจำนวนมากนั้น เป็นการคืนทรัพยากรธรรมชาติสู่ทะเล เพื่อให้ชาวประมงสามารถจับปูไปขายเพื่อยังชีพผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจก่อนดำเนินโครงการในพื้นที่ชายฝั่งของเกาะในพื้นที่ 300 ตารางเมตร พบลูกปูจำนวน 25 ตัว หลังดำเนินโครงการไปแล้วพบลูกปู 123 ตัว เป็นการเพิ่มปริมาณพันธุ์ปูไข่นอกกระดองเกือบ 5 เท่า และหลังจากดำเนินโครงการไปแล้ว ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น 4 เท่า นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการขยายเครือข่ายในการดำเนินการโครงการธนาคารปูไข่ขึ้นในหมู่บ้านชุมชนชายฝั่งของจังหวัดสตูล รวมทั้งได้ขยายไปยังเกาะปูยู ทำให้ชาวประมงมีรายได้เสริม และเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรปูไข่นอกกระดองด้วย

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย ซึ่งเป็นเกาะที่คู่กับเกาะยะระโตดใหญ่ มีประชากร 62 ครัวเรือน 310 คน ประกอบอาชีพประมง ทำอวนปูและปลา ทำสวนยาง และสวนมะพร้าว ส่วนใหญ่ยังทำนาปักดำในฤดูนาปีโดยอาศัยน้ำฝน ปลูกข้าวพันธุ์ราชินี และพันธุ์ข้าวขาว หรือ อัลฮำ ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมือง มีผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 320 กิโลกรัมเพียงพอบริโภค ในการนี้ ทอดพระเนตรโรงสีข้าวชุมชน ที่ได้พระราชทานเงินจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ฯ ของมูลนิธิชัยพัฒนาและกรมวิชาการเกษตรสนับสนุนเครื่องสีข้าว ให้ราษฎรบริหารจัดการกันเอง ในการนี้ ทอดพระเนตรการสีข้าวแบบดั้งเดิม และทรงเยี่ยมราษฎร ก่อนทรงพระดำเนินไปยังมัสยิดที่โครงการชลประทานสตูล ได้รับงบประมาณในการปรับปรุงเพื่อให้มีความสวยงามมั่นคง เหมาะแก่การประกอบศาสนกิจ พร้อมกันนี้ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล และคณะ ได้สวดถวายพระพรด้วย

จากนั้น ทรงเยี่ยมโรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย ซึ่งเปิดสอนชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 35 คน ครู 4 คน ซึ่งไม่เพียงพอจึงต้องจัดให้นักเรียนเรียนร่วมกัน ในระดับประถมศึกษาตอนต้น และประถมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนได้รับพระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ และบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล แอชชัวแรนส์ จำกัด ปรับปรุงห้องสมุด และมูลนิธิชัยพัฒนา สนับสนุนโครงการปลูกพืชไร้ดิน เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด เพื่อนำมาประกอบอาหารให้นักเรียนได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังท่าเทียบเรือเกาะยะระโตดนุ้ย ที่ได้พระราชทานงบประมาณก่อสร้าง เพื่อให้ราษฎรสามารถสัญจรทางเรือได้สะดวกยิ่งขึ้น

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนบ้านตันหยงอุมาชัยพัฒนา ตำบลเกาะสาหร่าย ที่นอกจากจะให้ความรู้ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนวิชาชีพต่าง ๆ ในการนี้ ทรงเปิดป้ายโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติภัยสึนามิ ทำให้อาคารเรียน 2 หลัง ไม่สามารถใช้งานได้ โดยได้พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ มูลนิธิชัยพัฒนา มาก่อสร้างและซ่อมแซม นอกจากนี้ ยังจัดทำหลักสูตรด้านวิชาชีพที่เน้นการสอนตามความต้องการของนักเรียน และสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น ซึ่งทางโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรการแปรรูปอาหารทะเล และการเลี้ยงปูม้าในคอกในทะเล เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ และสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต ด้านการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาได้ขยายชั้นเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักเรียนที่จบจากโรงเรียนบ้านตันหยงอุมาชัยพัฒนา และโรงเรียนบ้านตันหยงกลิง โดยได้จัดทำห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องสมุด รวมทั้งจัดจ้างครูที่ตรงตามสาขาวิชามาสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ให้สอดคล้องกับการขยายชั้นเรียน และสนับสนุนให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับนักเรียนที่ศึกษาบนแผ่นดินใหญ่

 


<p class="MsoNormal" style="margin: 0cm 0cm 0pt;"></p>

คำสำคัญ (Tags): #onblog#online#pr#sar#tsu
หมายเลขบันทึก: 246790เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2009 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีใจครับที่นำข่าวดีๆมานำเสนอแก่ทุกคนให้ได้รู้เรื่องราวของ "ลูกเทาฟ้า" และดีใจที่ ม.ทักษิณ มีการพัฒนาในบางมิติครับ

ทามมายม่ายสาหรุป

กากมากเลย5555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555544444444444444444444444444444444444444444444444444444444333333333333333333333333333333333333333333333333333333332222222222222222222222222222222222222222222222222222222211111111111111111111111111111111111111111111111111111111

น่าจะสรุปให้ด้วยนะคะ

น่าจะย่อให้ด้วยนะคะ เราจะทำการบ้านอ่ะค่ะ

สรุปย่อๆก็ดีค่ะ

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท