ธนาคารคนเก่ง


ชื่อเรื่อง           การแก้ปัญหานักเรียนขาดความกระตือรือร้นในการตอบคำถาม โดยใช้เทคนิค

ธนาคารคนเก่ง ในรายวิชาการบัญชีชั้นกลาง 1 ของนักเรียนสาขาวิชาการบัญชี

ผู้วิจัย                นางอารีย์  นพสุวรรณ์

ปีการศึกษา        2551

 

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) แก้ปัญหาการขาดความกระตือรือร้นในการตอบคำถามของนักเรียน โดยใช้เทคนิค ธนาคารคนเก่ง (2) ศึกษาระดับความคิดเห็นของนักเรียนต่อการใช้เทคนิค ธนาคารคนเก่ง (3) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน จากการใช้เทคนิค ธนาคารคนเก่ง  ประชากรเป้าหมาย ที่ผู้วิจัยใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นปวส.1/3-1/5 สาขาวิชาการบัญชี โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์บริหารธุรกิจที่เรียนในรายวิชาการบัญชีชั้นกลาง 1 ภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา 2551 จำนวน 99 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบบันทึกผลการสอนรายคาบ จากแผนการสอนในรายวิชาการบัญชีชั้นกลาง 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 เทคนิคธนาคารคนเก่ง โดยมีสมุดบัญชีธนาคารคนเก่ง เพื่อใช้ในการจดบันทึกคะแนนการตอบคำถามของนักเรียน แบบสอบถามระดับความคิดเห็นของผู้เรียนและแบบทดสอบประเมินผลรายวิชา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ยของระดับความคิดเห็นจากการใช้เทคนิคธนาคารคนเก่งตามเกณฑ์การวัด 5 ระดับค่าร้อยละของนักเรียนที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินผลรายวิชาบัญชีชั้นกลาง 1 โดยเกณฑ์การผ่าน นักเรียนจะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 50 ผลการวิจัยมีดังต่อไปนี้

1. แบบบันทึกผลการสอนรายคาบในแผนการสอนรายวิชาการบัญชีชั้นกลาง 1 นักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะทำความเข้าใจเนื้อหา และทำแบบฝึกหัด เพื่อสามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง

2. แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อเทคนิคธนาคารคนเก่ง พบว่า นักเรียนมีความเห็นในเรื่องของความกระตือรือร้นต่อการเรียนรู้เนื้อหา เพื่อร่วมกิจกรรมธนาคารคนเก่ง มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 4.61 และในเรื่องความเหมาะสมของระยะเวลาในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ 4.23 สรุปว่านักเรียนมีความพึงพอใจในภาพรวมในระดับมาก

3. คะแนนรวม 100 คะแนนของรายวิชาการบัญชีชั้นกลาง 1 นักเรียนมีคะแนนผ่านเกณฑ์ทุกคน โดยแต่ละคนมีคะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50

          4. ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้

              4.1 การใช้เทคนิคธนาคารคนเก่ง จะต้องเตรียมคำถามสำหรับรายวิชาให้พร้อมและมากพอ

              4.2 ในการถามคำถามสำหรับกิจกรรมธนาคารคนเก่งต้องมีความยุติธรรม คือพยายามให้นักเรียนมีส่วนร่วมทุกคน เนื่องจากนักเรียนบางคนอยากตอบคำถามแต่ไม่ทันเพื่อน

          5. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

              5.1 ในการวิจัยครั้งต่อไปหากทดลองเพิ่มแรงจูงใจให้มากขึ้น จากคะแนน 5 คะแนนเป็น 10 คะแนน อาจทำให้นักเรียนที่เรียนอ่อนมีความสนใจและพยายามมากขึ้น

    5.2 แยกกลุ่มนักเรียนเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เรียนดี และส่วนที่ 2 เรียนอ่อน โดยให้นักเรียนที่เรียนอ่อนมีสิทธิในการร่วมกิจกรรมธนาคารคนเก่ง ส่วนนักเรียนที่เรียนดีให้คอยช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนอ่อนโดยไม่สามารถตอบคำถามกับธนาคารคนเก่ง เพื่อกระตุ้นนักเรียนที่เรียนอ่อนให้มีผลการเรียนดีขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #kmanw#kmanw3
หมายเลขบันทึก: 246514เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2009 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท