กรณีศึกษาที่ ๑ : การตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ตั้งแต่เกิด


ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้นายแมยัง มู่เลกู่ ได้ตกหล่นจากการทะเบียนราษฎรนับแต่ที่ตนเองเกิด ประการนี้จึงทำให้นาย แมยัง มู่เลกู่ เป็นบุคคลตกหล่นทางทะเบียนราษฎร โดยที่ไม่มีชื่อของนายแมยัง มู่เลกู่ อยู่ในระบบการทะเบียนราษฎรของประเทศไทยเลยนับแต่เกิด

นายแมยัง มู่เลกู่

เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ อายุ ๔๐ ปี

สถานที่เกิด : บ้านเจียงจาใส หมู่ ๑๑ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย  ที่สวนชาของนายประกอบ ชีวินสว่างแสง

แต่ในเอกสารแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ระบุว่านายแมยัง มู่เลกู่ เกิดที่ประเทศพม่าและได้ระบุว่านายแมยัง มู่เลกู่ เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทางด้าน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐

และในปี พ.ศ.๒๕๓๔ นายแมยัง มู่เลกู่ ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง จัดทำโดยสำนักงานทะเบียนอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยมีเลขบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง : (เอกสารแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง)

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับการบันทึกลงในใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ออกโดยสถานีตำรวจภูธร อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และได้ถือใบสำคัญถิ่นที่อยู่    

ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ : บ้านเลขที่ ๑๖๙ หมู่ ๕ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

ข้อเท็จจริงของบิดา

บิดาชื่อ นายอาแม มู่เลกู่ อายุ ???

เกิดเมื่อ ปีพ.ศ. ??? (ทั้งนี้เพราะบิดาได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่นายแมยังยังเด็ก และนายแมยังก็จำไม่ได้ว่าบิดาเกิดเมื่อปี พ.ศ. อะไร และอายุของบิดานั้นอายุเท่าไหร่)

สถานที่เกิด : เกิดพม่า  

 บิดาของนายแมยัง มู่เลกู่ได้เสียชีวิตลงที่ สวนชาของนายประจวบ ชีวินสว่างแสง ไม่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านป่าคาสุขใจ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติต่างๆ

 

ข้อเท็จจริงของมารดา

มารดาชื่อ นาง หมี่เชอร์ มู่เลกู่ อายุ

เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗

สถานที่เกิด : เกิดที่ จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย (ตามเอกสาร ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน มจ.๓๘)

มีบิดาชื่อ นาย อาเท่

มีมารดาชื่อ (นางหมี่เชอร์จำไม่ได้ว่ามารดาตนเองชื่ออะไร)

          โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทั้งบิดาและมารดาของนางหมี่เชอร์ เกิดที่ต่างประเทศและเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย

         

 

สถานะบุคคลของนางหมี่เชอร์(มารดา นายแมยัง มู่เลกู่)

                   ในขณะที่นางหมี่เชอร์เกิดนั้น ต้องพิจารณา มาตรา ๓ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่กำหนดถึงการได้สัญชาติโดยการเกิด การนี้ด้วยเหตุที่เพราะว่าบิดาของนางหมี่เชอร์เกิดที่ต่างประเทศและเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย นางหมี่เชอร์จึงไม่ได้สัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมาตรา ๓(๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ และนางหมี่เชอร์ก็ไม่อาจที่จะถือสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาได้ด้วยเหตุเพราะว่า มารดาของนางหมี่เชอร์มิใช่คนสัญชาติไทยในขณะที่นางหมี่เชอร์เกิดพร้อมกันนี้ยังปรากฏบิดา จึงเป็นเหตุให้นางหมี่เชอร์ไม่ได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ตามมาตรา ๓(๒) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖   

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่านางหมี่เชอร์จะมีสัญชาติไทยตามหลักดินแดน มาตรา ๓(๓) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ หรือไม่ สืบเนื่องจากนางหมี่เชอร์ นั้นเกิดในราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ ได้กำหนดไว้ถึงการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน ด้วยเหตุนี้นางหมี่เชอร์จึงมีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน มาตรา ๓(๓) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖

แต่ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ นางหมี่เชอร์ถูกถอนสัญชาติไทยตามข้อ ๑ แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ที่วางหลักไว้ว่า “...ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะเกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(๑) ผู้ที่ได้รับผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวหรือ

(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายคนเข้าเมือง...”

ด้วยเหตุนี้จึงพบว่านางหมี่เชอร์เข้าตามองค์ประกอบของ ข้อ ๑ แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ เพราะในขณะเกิดนางหมี่เชอร์มีมารดาเป็นคนต่างด้าวและไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้นางหมี่เชอร์ถูกถอนสัญชาติตาม ข้อ ๑ แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗

แม้ต่อมาจะได้มีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ก็ตาม นางหมี่เชอร์ ก็หาได้สัญชาติไทยกับคือไม่รวมทั้งยังถูกข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่าเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพราะสาเหตุที่ว่า เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ นั้นได้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕ 

 

ซึ่งมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑  แห่งแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่วางหลักไว้ว่า “...ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้สัญชาติไทย ถ้าในขณะเกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(๑) ผู้ที่ได้รับผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวหรือ

(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายคนเข้าเมือง...”

          และในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่กำหนดให้ย้อนมาตรา ๗ ทวิ ให้มีผลกับบุคคลที่เกิดก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย ดังนี้นางหมี่เชอร์เลยตกตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่าไม่มีสัญชาติไทยตามหลักดินแดน พร้อมกันนี้ยังถูกข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่าเป็น “ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายคนเข้าเมือง” ตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓

          แต่เนื่องด้วยปัจจุบัน ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๑ ที่บัญญัติข้อกฎหมายลบล้างผลของ ประกาศคณะฉบับที่ ๓๓๗ ในมาตรา ๒๓[1] ซึ่งส่งผลให้นางหมี่เชอร์ ได้รับสัญชาติไทยกลับคืน เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑  

 

ปัจจุบัน : ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบถิ่นที่อยู่ (แต่ไม่ได้ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว)

 

 

 

ข้อเท็จจริง : ในกรณีศึกษา มีข้อเท็จจริงที่พอรับฟังได้ว่านายแมยัง มู่เลกู่ ได้เกิดที่สวนไร่ชาของนายประจวบชีวินสว่างแสง ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ประเทศไทยจริง แต่ในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงระบุว่าเกิดที่ประเทศพม่า และในขณะนี้นาย แมยัง มู่เลกู่ ได้ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งกรณีดังกล่าวจึงเป็นการที่เป็นราษฎรไทยแต่ถูกบันทึกว่าเป็นคนต่างด้าว

 

สถานะบุคคลทางกฎหมายของกรณีศึกษา : ในกรณีศึกษา นายแมยัง มู่เลกู่ ได้เกิดในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งในการ มีสถานะบุคคลเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่นั้นจำเป็น ต้องพิจารณา พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่มีผลใช้บังคับขณะที่ตัวนายแมยัง มู่เลกู่เกิด ซึ่งได้แก่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ที่เป็นกฎหมายสัญชาติที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น ซึ่งโดยหลักกฎหมายสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ เรื่องการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ โดยในข้อเท็จจริงนั้นนายแมยัง มู่เลกู่ไม่อาจถือสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาได้ เพราะไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา ๗(๑) และนายแมยัง มู่เลกู่ ก็ไม่อาจถือสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากมารดาได้ เพราะว่านายแมยัง มู่เลกู่ ไม่ได้เกิดนอกราชอาณาจักรแม้มารดาของนายแมยัง มู่เลกู่ จะได้เกิดในประเทศไทยตามมาตรา ๗(๒) และมาตรา ๗(๓) วางหลักกฎหมายไว้ว่า “บุคคลดังต่อไปนี้ ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด...(๓) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย...” เมื่อพิจารณาจะพบได้ว่า นายแมยัง มู่เลกู่ เกิดในราชอาณาจักรไทยและไม่มีข้อเท็จจริงที่เข้าตามองค์ประกอบของมาตรา ๘ ที่เป็นข้อยกเว้นการได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนของกลุ่มบุตรที่มีบิดามารดาเป็น หัวหน้าคณะทูตหรือหัวหน้ากงสุล ด้วยเหตุนี้ในขณะเกิด นายแมยัง มู่เลกู่ จึงมีสัญชาติไทย ตามมาตรา ๗(๓) พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘  แต่เนื่องด้วยในขณะที่นายแมยัง มู่เลกู่ เกิดนั้น ได้เกิดที่บ้านในสวนชาของนาย ประจวบ ชีวินสว่างแสง และระบบการทะเบียนราษฎรของประเทศไทยในส่วนภูมิภาคนั้น ยังไม่มีการเข้าดำเนินการด้านการทะเบียนราษฎรกับชาวบ้านที่เกิดและอาศัยอยู่ห่างไกล

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้นายแมยัง มู่เลกู่ ได้ตกหล่นจากการทะเบียนราษฎรนับแต่ที่ตนเองเกิด ประการนี้จึงทำให้นาย แมยัง มู่เลกู่ เป็นบุคคลตกหล่นทางทะเบียนราษฎร โดยที่ไม่มีชื่อของนายแมยัง มู่เลกู่ อยู่ในระบบการทะเบียนราษฎรของประเทศไทยเลยนับแต่เกิด

เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ นั้นนายแมยัง มู่เลกู่ก็มิได้ถูกถอนสัญชาติ ตาม ข้อ ๑ แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ด้วยเหตุที่ว่าไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว และมารดาก็มิใช่คนต่างด้าวแม้จะไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมารดาของนายแมยัง มู่เลกู่ นั้นเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทยและมีสัญชาติไทย ตามมาตรา ๓(๓) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ แม้ว่า ข้อเท็จจริงของนายแมยัง มู่เลกู่ จึงไม่เข้าเงื่อนไขการถูกถอนสัญชาติไทย ตามข้อ ๑ แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ แม้ว่าในขณะเดียวกันนั้นมารดาของนาย แมยัง มู่เลกู่ จะถูกถอนสัญชาติ ตามข้อ ๑ แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗  

เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ นายแมยัง มู่เลกู่ ก็ไม่ตกตามมาตรา ๗ ทวิ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับแก้ไขครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕ เพราะแม้จะมีข้อเท็จจริงที่ว่าบิดาของนายแมยัง มู่เลกู่ นั้นจะเป็นคนต่างด้าวก็ตาม และในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๗ ทวิจะมีผลย้อนบังคับกับนางหมี่เชอร์ผู้เป็นมารดาของนายแมยัง มู่เลกู่ ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕ ก็ตาม ก็หาได้มีผลทำให้นายแมยัง มู่เลกู่ นั้นเสียสัญชาติไทยตามมาตรา ๑๑แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕  ที่ให้มาตรา ๗ ทวิ มีผลย้อนบังคับกับบุคคลที่เกิดก่อนแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕ นี้ใช้บังคับ เพราะนายแมยัง มู่เลกู่นั้นในขณะเกิดมีมารดาเป็นคนมีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนตามมาตรา ๓(๓) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งไม่เข้าหลักเกณฑ์ของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑  แห่งแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่วางหลักไว้ว่า “...ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้สัญชาติไทย ถ้าในขณะเกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(๑) ผู้ที่ได้รับผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวหรือ

(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายคนเข้าเมือง...”

หากพิจารณาตามตัวบทกฎหมายแล้วนั้นจะเห็นได้ว่านายแมยัง มู่เลกู่ ไม่มีองค์ประกอบที่เข้าตามเงื่อนไขการเสียสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ ประกอบมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕ เพราะในขณะนายแมยัง มู่เลกู่ เกิดไม่มีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว

ด้วยเหตุนี้ปัจจุบัน นายแมยัง มู่เลกู่ จึงมีสัญชาติไทย ตามมาตรา ๗(๓) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

แต่ทั้งนี้นายแมยัง มู่เลกู่ นั้นก็ไม่อาจจะกล่าวอ้างกับทางอำเภอได้ว่าตนเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยได้ เนื่องจากตัวนายแมยังมู่เลกู่นั้นได้ตกหล่นทางทะเบียนราษฎรตั้งแต่เกิดนั่นหมายถึงว่าตั้งแต่เกิดมานายแมยัง มู่เลกู่นั้นไม่มีชื่ออยู่ในระบบการทะเบียนราษฎรของรัฐไทย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือประเทศไทยไม่ทราบว่ามีนายแมยัง มู่เลกู่ เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทย นายแมยัง มู่เลกู่ เพิ่งได้รับการสำรวจและได้มีชื่ออยู่ในระบบการทะเบียนราษฎร เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ โดยเป็นการรับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ตามมติคณะรัฐมนตรีให้ทำการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๓

แต่ทั้งนี้ แบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงของนายแมยัง มู่เลกู่ ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำโดยสำนักทะเบียนอำเภอแม่จัน กลับระบุในช่องสถานที่เกิดว่า นายแมยัง มู่เลกู่ นั้นเกิดที่ประเทศพม่าและเข้ามาในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔  

 

แต่กระนั้นเมื่อได้พิจารณาตามพยานเอกสาร ทะเบียนสำรวจและจัดทำบัญชีบุคคลในบ้าน ทร.ชข. ๑ ที่นายแมยัง มู่เลกู่ ได้รับการสำรวจเมื่อ วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๙ ซึ่งเป็นการสำรวจชาวเขาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๗ โดยมีส่วนราชการหลายหน่วยร่วมกันสำรวจแต่ทางกรมประชาสงเคราะห์เป็นหน่วยงานหลัก ได้ระบุว่านายแมยัง มูเลกู่ โดยระบุว่าตัวนาย แมยัง มู่เลกู่นั้นเกิดใน จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย

จะเห็นได้ว่าตัวพยานเอกสารที่จะยืนยันว่านายแมยัง มู่เลกู่ เกิดที่ประเทศไทยและปัจจุบันมีสัญชาติไทย แต่ในสายตาของระบบการทะเบียนราษฎร ยังถือว่านายแมยังเป็นคนต่างด้าวเข้าเมือง แต่ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ามีความขัดแย้งทางเอกสาร เพราะจากทะเบียนสำรวจและจัดทำบัญชีบุคคลในบ้าน (ทร.ชข.๑)ระบุว่านายแมยัง นั้นเกิดในประเทศไทย แต่ในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงกลับไประบุว่านายแมยัง เกิดที่ประเทศพม่า   

ด้วยเหตุที่กล่าวอ้างมาในข้างต้น ปัจจุบันนาย แมยัง มู่เลกู่ จึงจำเป็นที่จะต้องถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เลขที่ ๕๔๘/๒๕๔๖ ออกโดยสถานีตำรวจภูธร อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และได้ถือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ เลขที่ ยว. ๕๔๔/๔๖ และยังถูกบันทึกทางการทะเบียนราษฎรว่าเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมาย และมีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรในประเทศไทย แม้ว่าข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจะได้ระบุไว้ชัดว่านาย แมยัง มู่เลกู่ นั้นเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนก็ตาม

 



[1] มาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับแก้ไขครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๑ หลักกฎหมายวางไว้ว่า “บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๑ และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตาม ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๒ รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ถ้าบุคลนั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์แก่สังคมหรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย ให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ...”

หมายเลขบันทึก: 246190เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2009 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรื่องความชัดเจนในระบบเอกสารประกอบการพิจารณาให้ได้มาซึ่งการมีสถานะเป็นสัญชาติไทยนั้น ยังมีบุคคลอีกหลายคนที่เข้าข่ายเช่นนายแมยัง มู่เลกุ ทั้งนี้เพราะ ระบบการสำรวจบุคคลเพื่อบรรจุตามทะเบียนราษฎร์ในอดีตนั้น มีเงื่อนไขหลายประการที่ทำให้เกิดการตกหล่นจากการสำรวจ เช่น การคมนาคมที่ยากแก่การเข้าถึง รวมถึงการสื่อสารที่ไม่มีความชัดเจนในอดีต ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในสำนวนการยืนยันปากคำว่าตนเองเกิดในประเทศไทยจริง อาทิ คำว่า "ผะหม่ามะ" (แปลว่า ยืนยันว่าจริงในความหมายของชาวอาข่า) ซึ่งเกิดการเพี้ยนความหมายเป็น คำว่า "พม่า" การกรอกข้อมูลในการสำรวจทะเบียนราษฎร์จากหน่วยงานที่เข้าใจสำนวนกับหน่วยงานที่ยังไม่มีความชัดเจนในสำนวนภาษาท้องถิ่น จึงเกิดการระบุปากคำและบันทึกเอกสารที่ขัดกันในเอกสารของหน่วยงานบางหน่วยงาน

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความเข้าใจในหลักสำนวนท้องถิ่น หลักฐานประกอบการพิจารณา และต้องพิจารณาหลักความเสมอภาค ความโปร่งใส เพื่อประกอบการพิจารณาสำนวนในการให้ได้มาซึ่งความเป็น "คนไทยที่สมบูรณ์"

ขอบคุณครับ

พี่อาเกอะ ที่ช่วยแนะนำ

ในปัญหาจุดนี้ก็เข้าใจว่าเป็นปัญหาที่เป็นมานานแล้ว

ซึ่งก็คงจะต้องพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้เพื่อ ไม่ให้เกิดการตกหล่นจากทะเบียนราษฎรต่อไปนะครับ

ก๊อด

ขอบคุณครับ

พี่อาเกอะ ที่ช่วยแนะนำ

ในปัญหาจุดนี้ก็เข้าใจว่าเป็นปัญหาที่เป็นมานานแล้ว

ซึ่งก็คงจะต้องพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้เพื่อ ไม่ให้เกิดการตกหล่นจากทะเบียนราษฎรต่อไปนะครับ

ก๊อด

ดีเเล้วล่ะก็อด

เขียนสะสมไว้มาก ๆ แต่ต้องคอยอัพเดทสถานการณ์ใหม่ ๆ ด้วยนะจ๊ะ

สู้ ๆ แล้วอย่าลืมคอยแนะนำชาวบ้านด้วยนะ

ขอบคุณครับ พี่มิว

แล้วจะพยายามเขียนกรณีศึกษาอื่นขึ้นด้วยครับ

ข้อนี้รับรองว่าไม่ลืมชาวบ้านแน่นอนครับ

ก๊อด

เก็บข้อมูลได้หนึ่งกรณีละ

สู้ๆ

วันนี้ได้เจอคนไข้ที่ตกหล่นมารับการตรวจรักษารู้สึกสงสารมากและอยากเข้าใจระบบการแก้ไขว่าเค้าจะสามารถขอขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ เข้ามาอ่านจึงได้รู้ว่ายังมีคนอีกไม่น้อยที่ยังมีปัญหาเดียวกัน น่าสงสารเค้าจริงๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท