มาบตาพุดกับมลพิษ


มลพิษ

วันนี้ระหว่างที่กำลังจัดการกับเว็บ http://pocketpcthai.com ในช่วงเช้าตามปกติก่อนจะเดินทางไปทำงาน ก็ได้ฟังข่าวชิ้นหนึ่ง คือ ศาลปกครองระยองพิพากษาให้ประกาศพื้นที่บางส่วนของระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษ

ความรู้สึกหลายๆอย่างระคนกันเกิดขึ้นจนผมต้องปิดงานเว็บ Pocket PC Thai ลงไปก่อนแล้วใช้เวลาที่เหลือก่อนจะไปทำงาน มาบันทึกไว้ที่นี่
ความรู้สึกแรกก็คือ ยินดีกับชาวระยองและชาวบ้านทั่วไปที่สามารถต่อสู้มาได้จนถึงจุดนี้ และคงถึงเวลาที่ผมจะเริ่มบทบาทสนับสนุนการต่อสู้นี้ผ่านทางหน้าเว็บและสายสัมพันธ์อื่นๆที่ผมมีด้วย

ผมเริ่มชีวิตการทำงานในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบระบบป้องกันอัคคีภัยเมื่อช่วงปีใหม่ของปี 1991 (พ.ศ. 2534) หรือเกือบยี่สิบปีมาแล้ว โดยไซต์งานสำคัญส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
แน่นอนว่าด้วยวิชาชีพ ทำให้ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงอันตรายและการระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย โดยเน้นไปที่อัคคีภัย แต่แน่นอนว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องที่มีขอบเขตกว้างขวาง ผมจึงใส่ใจกับเรื่องความปลอดภัยรวมถึงสภาพแวดล้อมด้วย

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นเขตอุตสาหกรรมที่เน้นไปที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่มากในสมัยนั้น (รวมทั้งวิศวกรรมระบบป้องกันอัคคีภัยด้วย) มีอันตรายใหม่ๆที่เรายังไม่คุ้นเคย ผมจำได้ว่าโรงงานต่างๆในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในสมัยนั้น ออกแบบ สร้าง และดูแลอย่างเข้มงวด แม้จะไม่ได้มีขั้นตอนการทำงานที่ดูเข้มขลังอย่างสมัยนี้แต่การดูแลใกล้ชิดจากผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจทำให้ดำเนินงานได้รัดกุม

สมัยนั้นหากเรายืนหน้าโรงงานสักแห่งหนึ่งเราจะแทบไม่รู้เลยว่าเขาทำอะไรกัน เพราะจะไม่มีเสียงอะไรดังออกมากกว่าพื้นที่ปกติทั่วไป ไม่ต้องพูดถึงกลิ่นหรือฝุ่นหรือความสั่นสะเทือน ไม่มีเลย
แน่นอนว่าอันตรายยังมีอยู่ โรงงานหนึ่งในสมัยนั้นคือโรงงานแทนทาลัมซึ่งเคยถูกชาวภูเก็ตไล่ออกมา
แต่อันตรายเหล่านั้นจะต้องถูกควบคุมอย่างใกล้ชิด

หลายปีผ่านไปเริ่มมีการขยายตัว แม้จะดูเหมือนปกติแต่การขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่เร็วมาก เร็วจนเริ่มเห็นคนหน้าใหม่ๆเข้ามาพร้อมกับวิธีการควบคุมใหม่ๆ
ผมจะเขียนเกี่ยวกับการจัดการโครงการพวกนี้อีกครั้งเมื่อพร้อมกว่านี้ครับ ตอนนี้ขอสรุปรวบไปก่อนว่า ผลที่ออกมาคือ การควบคุมการดำเนินการต่างๆตั้งแต่การออกแบบ การสร้างและการดำเนินการ มีความเสี่ยงต่อความล้มเหลวมากขึ้น
และในที่สุดเมื่อปี 2540 ก็เกิดกรณีแรกขึ้นคือโรงเรียนแห่งหนึ่งต้องย้ายออกไปจากมาบตาพุด เนื่องจากทนกลิ่นเหม็นจากโรงงานไม่ไหว และการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรมของชาวมาบตาพุดก็เริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้น
ความล้มเหลวต่างๆของระบบในนิคมแห่งนี้ก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว

ความล้มเหลวเหล่านี้หลายอย่างยังคงดำเนินไปจนเหมือนเป็นสิ่งปกตินะครับ หากเราขับรถไปตามถนนในนิคมฯ โดยเฉพาะช่วงที่สร้างขึ้นมาใหม่ไม่เกินสิบปี เราจะได้กลิ่นอะไรบางอย่าง
แน่นอนว่า เมื่อมีกลิ่น ก็ต้องมีการรั่วไหล
ยังไม่นับการรั่วไหลของสารอันตรายที่ไม่มีกลิ่น
เครื่องจักรบางชิ้นที่เมื่อเดินเครื่อง จะมีเสียงดังจนได้ยินไปทั่วทั้งตำบล

การเข้าไปแก้ไขปัญหาพวกนี้ อาจหมายถึงการลงทุนเพิ่มเติมมหาศาล ตั้งแต่การตรวจทราบชนิดของสารที่รั่วไหล หาแหล่งที่มา การหยุดเครื่อง ไปจนถึงการปรับปรุง หรือแม้แต่ทำใหม่ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในสารพัดคำอธิบายที่จะบอกว่า แก้ได้ยาก (แล้วให้รับสภาพ?)
ทั้งๆที่สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากการดำเนินการไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดำเนินการไปโดยคำนึงถึงเพียงความสำเร็จของการลงทุนเท่านั้น ดำเนินการไปทั้งๆที่ยังไม่พร้อมด้านบุคลากร

ทุกวันนี้หากเราเข้าไปดูโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเอง หรือในพื้นที่ใหม่ที่เปิดขึ้นระหว่างถนนสาย 3191 และถนนเนินพยอม เราจะพบเห็นวิศวกรรุ่นเยาว์จำนวนมากดูแลโครงการขนาดใหญ่ระดับโลกที่เร่งรัดให้เสร็จตามแผนการลงทุน
อาจจะมีนักบริหารหลายท่านออกมาปกป้องความเห็นของนักบริหารด้วยกันว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก วิศวกรรุ่นเยาว์เหล่านั้นทำงานภายไต้คำแนะนำของวิศวกรอาวุโส
แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากแม้แต่วิศวกรอาวุโสเหล่านั้น ก็ไม่พร้อมในด้านเทคนิคที่กำลังทำอยู่ และไม่มีที่ปรึกษาที่มีความรู้คอยช่วยเหลือ

สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วครับ ไม่ว่าท่านผู้บริหารจะพยายามอธิบายเช่นไร มันก็เกิดขึ้นแล้ว

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเดินให้ช้าลง ก่อนจะสะดุดขาตัวเองแล้วเสียเวลาอีกเนิ่นนาน หรือแม้แต่เดินต่อไปได้แต่กระโผลกกระเผลกอย่างน่าเวทนา
เราเป็นหนี้ลูกหลานของเราอยู่นะครับ อย่าลืม ผู้ใหญ่ทั้งหลาย

หมายเลขบันทึก: 246174เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2009 08:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท