วัดเชียงมั่น


วัดเชียงมั่น

วัดเชียงมั่น


     วัดเชียงมั่น เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดแรกในเขตกำแพงเมือง ตั้งอยู่ที่ บ้านเชียงมั่น ถนนราชภาคินัย ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย


     ประวัติความเป็นมาของวัดเชียงมั่นที่ปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และพงศาวดารโยนก คือ หลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังราย ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่สำเร็จในปี พ.ศ.๑๘๓๙ แล้ว ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นตรงที่หอนอนบ้านเชียงมั่นซึ่งพญามังรายทรงสร้างเป็นที่ประทับชั่วคราว ในระหว่างที่ควบคุมการสร้างเมืองใหม่โดยให้ชื่อที่ประทับแห่งนั้นว่า "เวียงเล็ก" หรือ "เวียงเหล็ก" หมายถึง "ความมั่นคงแข็งแรง" ต่อมาเมื่อพญามังรายเสด็จแปรพระราชทานไปยังพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานแห่งใหม่ซึ่งเรียกว่า "เวียงแก้ว" ซึ่งปัจจุบันคือเรือนจำกลางเชียงใหม่  ทรงอุทิศตำหนักคุ้มหลวงเวียงเหล็ก ถวายแด่พระศาสนา โดยตั้งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกและพระราชทานนามอันเป็นมงคลว่า "วัด เชียงมั่น" อันหมายถึงบ้านเมืองที่มีความมั่นคง ทั้งนี้ ศิลาจารึกวัดเชียงมั่นพุทธศักราช ๑๘๓๙ ได้จารึกไว้ว่า

     (เสียงก้อง)  "ศักราช ๖๕๘ ปีรวายสัน เดือนวิสาขาออก ๘ ค่ำ ขึ้น ๕ ไทยเมืองเปล้า ยามแตรรุ่งแล้ว สองลูก นาฑี ปลายสองบาทน้ำ ลัคคนาเสวยนวางค์ประหัส ในมีนยะราศี พญามังรายเจ้า พญางำเมือง พญาร่วง ทั้งสามพระองค์ ตั้งหอนอนในที่ไชยภูมิ ราชมณเฑียร ขุดคือก่อตรีบูรทั้งสี่ด้านและก่อเจติยะทัดที่นอนบ้านเชียงมั่น ในขณะยาม เดียวนั้น ที่นั้นลวดสร้างเป็นวัด หื้อทานแก่แก้วทั้งสามใส่ชื่อว่าวัดเชียงหมั้น ต่อบัดนี้ ..."

      จึงนับได้ว่า วัดเชียงมั่น เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ คือสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙ จาก นั้นคาดว่าเจดีย์นี้ได้พังลงมาในสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ราชวงค์มังราย ลำดับที่ ๑๐ ครองราชย์ ในปี พ.ศ.๑๙๘๕ - ๒๐๓๑พระองค์จึงโปรดให้สร้างขึ้นใหม่ด้วยศิลาแลงในปี พ.ศ.๒๐๑๔

     ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๙๔ เชียงใหม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดเชียงมั่นจึงถูกทอดทิ้งให้ เป็นวัดร้าง ครั้นถึง พ.ศ.๒๑๐๑ เจ้าฟ้ามังทรา หรือสมเด็จพระมหาธัมมิกะราชาธิราช แห่งพม่า ทรงมีพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา โปรดให้พระยาแสนหลวงสร้างเจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอไตร ธัมมเสนาสนะกำแพง และประตูโขงขึ้น
                            

      ที่วัดเชียงมั่น โดยมีพระมหาหินทาทิจจวังสะ เป็นเจ้าอาวาส เมื่อถึงสมัยพระยา กาวิละครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.๒๓๒๔ – ๒๓๕๘ ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเชียงมั่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่วัดนี้ได้ตกอยู่ในสภาพวัดร้างในสมัยที่ทำสงครามกอบกู้เอกราช คืนมาจากพม่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๑๙ ต่อมาในสมัยของเจ้าอินทวโรรส  พ.ศ.๒๔๔๐ - พ.ศ.๒๔๕๒ พระพุทธศาสนาแบบธรรมยุกนิกายได้เข้ามาเผยแผ่ในอาณาจักรล้านนา เจ้าอินทวโรสจึงได้นิมนต์พระธรรมยุตมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเชียงหมั้นเป็นครั้งแรก และภายหลังได้ย้ายไปอยู่วัดหอธรรมและวัดเจดีย์หลวงตามลำดับ


      นอกจากวัดเชียงมั่นจะมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ ในฐานะที่เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองแล้ว เมื่อถึงเทศกาลสลากภัตร หรือ ทานก๋วยสลาก จะมีการทานข้าวสลากที่วัดนี้ก่อนแล้วจึงจะทำที่วัดอื่น ๆ ต่อไป ในสมัยพญามังราย วัดเชียงหมั้นยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกด้วย นอกจากนี้ วัดเชียงมั่นเป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุ จำนวนมาก ซึ่งอาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุของวัดเชียงมั่นประกอบไปด้วย


     1.อุโบสถทรงล้านนา ถือว่าเป็นพระอุโบสถที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาอีกแห่งหนึ่ง ที่สำคัญคือ ปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งของศิลาจารึกวัดเชียงมั่นซึ่งมีข้อความกล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่โดย พญามังราย

     2. ศาลาการเปรียญ

     3. กุฏิสงฆ์จำนวน ๕ หลัง

     4.วิหาร

     5.ศาลาบำเพ็ญกุศล

     6.หอไตร

     7.เจดีย์สร้างสมัยพญามังราย เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ทรงปราสาท เจดีย์องค์นี้ถือเป็นเจดีย์แบบแรก ๆ ของล้านนาและมีเค้า แบบเหมือนเจดีย์บางองค์ในพุกาม

     8.พระพุทธเสตังคมณีหรือพระแก้วขาวซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากผลึกหินสี ขาวขุ่น ศิลปทวาราวดี สร้างโดยชนชาติมอญ ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๐๐ - ๑๖๐๐ ในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมได้ระบุว่าในพิธีสืบชะตาเมือง ได้มีการอัญเชิญพระแก้วขาวแห่งวัดเชียงมั่นเข้าร่วมด้วย

    9.พระพุทธรูปศิลาปางปราบช้างนาฬาคีรี หรือพระศิลาซึ่งเป็นพระพุทธรูปแกะสลัก ฝีมือช่างปาละของอินเดีย เชื่อว่าพระ เถระชาวสิงหล ๔ รูป ได้นำพระศิลาพร้อมด้วยพระบรมสารีธาตุริกธาตุของพระพุทธเจ้า มามอบให้พญา มังรายที่เวียงกุมกามเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๓

    10.พระพุทธรูปทองเหลืองปางอุ้มบาตร

    11.ศิลาจารึกซึ่งเป็นแผ่นหินทราย จารึกเป็นภาษา กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงใหม่และการสร้างวัดเชียงมั่น

   12 คือ ห้องสมุดซึ่งตั้งอยู่ในเขตวัดนั่นเอง
                                    

    วัดเชียงมั่น พุทธศาสนสถานอีกหนึ่งแห่ง ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญสำหรับชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง วัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่และถือเป็นวัดแห่งแรกในเขตกำแพงเมือง


ขอบคุณความรู้ ดีดี จาก http://www.fm100cmu.com/blog/Lanna/content.php?id=304
หมายเลขบันทึก: 245727เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2009 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท