การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 3/2549 (3.1) จบ


อยากจะให้แต่ละกลุ่มเรียนรู้เองว่ามันลำบากขนาดไหน แต่ถ้าลำบากแล้วประสบความสำเร็จก็ควรจะทำ
           ไชโย!  วันนี้ผู้วิจัยคงเล่าเรื่องการประชุมเครือข่ายฯสัญจร  ครั้งที่ 3/2549 ในวาระที่ 3  ในประเด็นเรื่องกองทุนกลางจบเสียที  หลังจากที่เล่ามาอย่างยาวนาน  เรื่องราวจะจบลงอย่างไรติดตามได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้ค่ะ
            วาระที่ 3  เรื่องสืบเนื่อง (ต่อ)
            เริ่มต้นในช่วงนี้ด้วยความสับสนพอสมควรค่ะ  มีการถกเถียงในเรื่องรายงานฐานะการเงินว่าแบบฟอร์มจริงๆมีอยู่ 1 หน้า หรือ 2 หน้า  ต่างกันต่างพูด  ยังหาข้อสรุปไม่ได้ค่ะว่าตกลงแบบฟอร์มในปัจจุบันเป็นแบบไหน  ประธานก็บอกอย่างหนึ่ง  คณะกรรมการก็บอกอีกอย่างหนึ่งค่ะ
            หลังจากถกเถียงกันสักพัก  พี่พิกุลก็เป็นผู้เริ่มต้นการเปลี่ยนประเด็น  โดยยกมือขออนุญาตที่ประชุมพร้อมทั้งตั้งคำถามขึ้นมาว่า  ในกรณีของกองทุนกลาง  สมมติว่ากลุ่มยังส่งเงินเข้ามาที่กองทุนนี้ไม่ครบ  ยังค้างเงินเครือข่ายฯอยู่ 30,000 บาท  แต่เครือข่ายฯต้องเฉลี่ยค่าศพคืนมาให้กลุ่ม 15,000 บาท  ถ้าอย่างนี้หักลบกลบหนี้กันไปเลยได้ไหม? 
            ไม่ต้องทายก็เดาถูกค่ะ  ประธาน  รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุม (บางคน) พร้อมใจกันตอบว่า  ได้  แต่ต้องมานั่งเคลียร์กัน  ต้องทำรายงานฐานะการเงินให้เรียบร้อย  หลังจากนั้นประธาน  กล่าวต่อว่า  ถ้าไม่เกิดเรื่องนี้ขึ้นจะไม่มีกระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นเลย  ขอยกตัวอย่างกลุ่มเกาะคา  เมื่อตะกี้นี้ผมชม  แต่ตอนนี้ขอตำหนิ  ตำหนิตรงที่ว่าเวลากลุ่มนาก่วมใต้มาช่วย  อุตส่าห์ขึ้นรถมา  แต่ทางกลุ่มกลับให้คนที่มาช่วยขนกลับไปทำที่บ้าน  ทำอย่างกับเขาเป็นลูกจ้าง  ถ้าเป็นอย่างนี้กลุ่มก็จะไม่รู้ว่าเขาทำบัญชีกันอย่างไร  ทำรายงานกันอย่างไร  แทนที่กลุ่มจะมาเรียนรู้กับคนที่ทำเป็น  วันนี้คนที่ทำเป็นก็นอนเจ็บตาอยู่ที่บ้าน  ผมด่าให้อีกต่างหาก  (ประธาน  หมายถึง  ภรรยาของประธานเองค่ะ)  สอนกันแค่วันสองวันก็ทำเป็น  จากนั้นก็ต่างคนต่างแยกกันไปทำ  ถ้ามันผิดก็เอามาแก้ไข  แต่ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างนั้น  ฝ่ายนั้น (ภรรยาประธาน) ก็ใจดี  อยากให้เสร็จเร็วๆก็ยกมาทำเอง  ผมด่าจนตาปูด  ตาบวม (บรรยากาศตอนนี้ไม่เคร่งเครียดเลยค่ะ  ผู้วิจัยก็อยากจะผสมโรงเปิดทอร์คโชว์สักรอบ แต่ด้วยความเกรงใจ  ก็ต้องยั้งเอาไว้ก่อน)
            พี่นก  ยุพิน  ยกมือขอแสดงความคิดเห็นว่า  นกขอชมกลุ่มนาก่วมด้วยความจริงใจเลย  นกเคยไปสอนการปิดบัญชีแค่ครั้งเดียว  ปรากฎว่าทำได้เลย  ดังนั้น  กลุ่มอื่นๆที่ทีปัญหาในเรื่องการทำบัญชี  การปิดบัญชี  ไม่ต้องไปเรียนที่เถินก็ได้ (ไกล) ให้ไปเรียนที่นาก่วมใต้ได้เลย  เรามีพื้นที่ต้นแบบในเรื่องนี้อยู่แล้ว   กลุ่มนาก่วมทำระบบบัญชีได้  โปรแกรมต่างๆก็อยู่ที่กลุ่มนี้  เพราะฉะนั้นเรื่องโปรแกรม  ถ้าหากกลุ่มไหนท้อ  ขอให้อย่าท้อ  ให้ไปศึกษาเลย   อย่างพี่ภัตร (ภรรยาประธาน) เขาไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย  เขายังพยายาม  แล้วเขาก็ทำได้  พี่ภัตรเป็นคนที่มีอดทนสูง  มีความขยัน  ยกให้เป็นฮีโร่ได้เลย  ทำของกลุ่มตัวเองจนเสร็จ  แล้วยังไปช่วยทำของกลุ่มอื่นอีก  กลุ่มที่ยังไม่ได้ทำ  ยังไม่พยายาม  ขอให้ดูกลุ่มอื่นๆเป็นตัวอย่าง  นกไม่อยากจะสอนต่อ  หลังจากที่อบรมที่ ม.ธรรมศาสตร์แล้ว  นกไม่อยากไปจี้อีก  อยากจะให้แต่ละกลุ่มเรียนรู้เองว่ามันลำบากขนาดไหน  แต่ถ้าลำบากแล้วประสบความสำเร็จก็ควรจะทำ
            พี่พิกุล  กล่าวต่อจากประธานว่า  น้องอยากขอว่าทุกคนที่เป็นกรรมการของเครือข่ายฯ  ขอให้ช่วยงานกันบ้าง  บางทีมันขาดตรงโน้น  ตรงนี้  ก็ขอให้ช่วยกันบ้าง  ทุกวันนี้รู้สึกว่าภาระต่างๆจะโยนไปอยู่ที่กลุ่มนาก่วมเพียงกลุ่มเดียว  อะไรก็นาก่วม  อะไรก็นาก่วม  อยากจะขอตรงนี้นะคะ
            ประธาน  กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า  ในเมื่อเราจัดโครงสร้างการทำงานออกมาแล้ว  ผมอยากจะขอเลย  ตู้เอกสารก็อยู่ที่บ้านผม  ถ้าไม่พอใจก็ย้ายออกมาก็ได้  หมายความว่า  เอกสารทุกอย่างน่าจะอยู่ที่ที่ทำการ  เพราะ  ถ้าเราไม่มา  คนอื่นก็จะได้ทำได้  ตอนนี้มี Key อยู่ 5 คน  รองประธาน 1 คนจะมีทีมงานอีก 4 จะต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรในเรื่องเอกสาร  ข้อมูล  ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างทำ  ไม่ช่วยคนอื่น  ถ้าอย่างนี้เป็นการทำงานเป็นปัจเจกฯ  ไม่ใช่ทำงานเป็นทีม  เราต้องทำงานเป็นทีม  ลองไปเช็คดูนะครับว่าทีมของท่านยังอยู่หรือเปล่า  หรือว่าตายไปแล้ว  หมายความว่าตายจากความทรงจำนะครับ  เพราะ  ไม่เข้ามาช่วยงานเลย 
            จากนั้น  ประธานได้สรุปว่า  ในวาระที่ 3 นี้เราพูดกันถึงเรื่องกองทุนกลาง  ปัญหาอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นจากการทำงาน  นี่เป็นความรู้ของเราอย่างหนึ่งว่าแต่ละคนคิดอย่างไร  และจะทำอะไรต่อไป  เราได้อภิปรายกันเยอะแยะ  มีทางออกบ้าง  ไม่มีทางออกบ้าง  บางอย่างก็ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน  ถ้าอย่างนั้นผมอยากจะให้ทบทวนเพื่อขอมติว่ากองทุนกลาง 20% ที่ทุกกลุ่มส่งเงินเข้ามาแล้วไม่สามารถเอาเงินออกไปได้  ทางคณะกรรมการบริหารได้เสนอเป็นแนวทางว่าจะใช้วิธีการคืนเงินกองทุน 20% ให้กับแต่ละกลุ่ม  โดยการที่จะจ่ายในส่วนที่เกิน 12 บาท คืนไปให้กับกลุ่ม  เพราะ  ถือว่าทุกกลุ่มส่งเงินค่าเฉลี่ยความเสี่ยงมาล่วงหน้าแล้ว  ถ้าเราจ่ายครบเรียบร้อยแล้วก็เดินหน้าต่อไปเลย  เดือนต่อๆไปจะเก็บตามจริงแต่ไม่เกิน 12 บาท  ถ้าเกินจะเอาเงินกองทุนกลางมาส่งแทนให้  อยากทราบว่าในข้อนี้ที่ประชุมมีความเห็นว่าอย่างไรครับ?  ขอมติด้วยครับ
            ปรากฏว่าที่ประชุมเงียบไปสักพักหนึ่ง  จนกระทั่งมีผู้เข้าร่วมประชุมถามขึ้นมาว่าจะเอายังไง?
            คุณปิยชัย  ได้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า  เรื่องนี้คิดดีหรือยัง  คิดถึงข้อดี  ข้อเสียแล้วหรือยัง?
            ประธาน  บอกว่าเดี๋ยวเรามาทบทวนกันใหม่  วันนี้ต้องหามติให้ได้ว่าจะเอาหรือไม่เอา  ถ้าไม่เอาก็ทำเหมือนเดิม  สมมติว่าเราได้เงินมา 100% ในแต่ละเดือน  เราเอามาแบ่งเป็น 3 ส่วน  เหมือนอย่างที่กลุ่มเถินเคยนำเสนอไว้ที่แม่พริก  50% ประมาณ 15 บาท , 30% ประมาณ 9 บาท , 20% ประมาณ 6 บาท  ทีนี้ปรากฏว่าเงิน 50% ถูกกันไปไว้ในกองทุนเพื่อการศึกษา 5% , กองทุนเพื่อการชราภาพ 5% เป็นเงินรวมกันประมาณ 3 บาท  ดังนั้นจะเหลือเงินประมาณ 12 บาท  เงินจำนวนนี้ต้องเอามาเป็นเงินจ่ายค่าสวัสดิการ  ทีนี้ต้องส่งเงินค่าเฉลี่ยความเสี่ยงซึ่งเกิน 12 บาท  มันอยู่ไม่ได้  เพราะฉะนั้น  เครือข่ายฯก็จะเอาเงิน 20% ที่แต่ละกลุ่มเฉลี่ยเข้ามาคืนให้กลุ่มไปในส่วนที่เกิน 12 บาท  ทีนี้คำถามที่ตามมา  คือ  แล้วจะเอาเงินตรงไหนมาจ่ายสวัสดิการเยี่ยมไข้  ตรงนี้อยากให้ทุกกลุ่มนึกย้อนกลับไปว่าแต่ละกลุ่มยังมีเงินในหน้าตักในส่วนที่สมาชิกต้องออมมาแล้ว 180 วันขึ้นไปถึงจะจ่ายสวัสดิการ  ตรงนี้สามารถเอาเงินส่วนนั้นมาจ่ายเป็นเงินค่าเยี่ยมไข้ได้  หรือ  ถ้าหากยังไม่พออีก  ก็ให้แต่ละกลุ่มไปเอาเงินตรงกองทุนธุรกิจชุมชนมาใช้จ่ายในส่วนนี้ได้  ถ้าเอาเงินธุรกิจชุมชนไปลงทุนแล้ว  การลงทุนก็จะก่อให้เกิดกำไร  เอากำไรนั้นแหละมาจ่ายสวัสดิการ  แต่ถ้ากลุ่มไหนยังไม่ได้เอาเงินไปลงทุนก็สามารถเอาเงินตรงนั้นมาจ่ายสวัสดิการได้  เพราะ  ถือว่าเป็นเงินของสมาชิก  แต่ถ้ากรณีเอาเงินไปลงทุนแล้วยังไม่ก่อดอกออกผล  ก็สามารถที่จะยืมเงินในกองทุนกลางมาจ่ายก่อนก็ได้ตามกติกาที่เครือข่ายฯกำหนดไว้   เมื่อเกิดกำไรแล้วค่อยเอาเงินมาคืน  นี่คือ  วงจรของแผนที่ภาคสวรรค์  ต้องทำความเข้าใจตรงนี้นะครับ  ถ้าอย่างนี้คิดว่าพอจะไปได้ไหมครับ? อย่างเพิ่งคิดว่าเงินไม่พอนะครับ  เราต้องดูข้อมูลก่อน  ถ้าเงินไม่พอจริงๆ  เราก็เปลี่ยนอีก  อาจเป็นการออมวันละ 2 บาท , วันละ 3 บาทก็ได้ อ้อ! ถ้าใครเป็นสมาชิกครบ 180 วันก็ต้องจ่ายเงินเข้ามาที่กองทุนร่วม 30 บาท/คนเหมือนเดิมนะครับ  ถ้าไม่อย่างนั้นถ้าเกิดตายขึ้นมา  เครือข่ายฯจะไม่รับผิดชอบ  เพราะ  ถือว่าสมาชิกคนนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนร่วม  ถ้ากลุ่มไหนเสียดายเงิน  ไม่ยอมเอาสมาชิกที่ครบ 180 วันเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนร่วม  ถ้ามีปัญหาอะไรกลุ่มก็ต้องรับผิดชอบเอง  ฟังแล้วเข้าใจไหมครับ? เห็นด้วยไหมครับที่ทางเครือข่ายฯจะจ่ายคืนให้กับกลุ่มในส่วนของเงินที่เกิน 12 บาท?
            ปรากฏว่าที่ประชุมตอบว่า  เห็นด้วย  ประธานจึงสรุปว่า  ถ้าอย่างนั้นถือว่าผ่าน  คณะกรรมการก็จะไปดำเนินการในเรื่องของการตรวจสอบ  เพราะฉะนั้น  การที่จะทำอย่างนี้ได้  ทุกกลุ่มจะต้องส่งรายงานฐานะทางการเงินให้ครบและพร้อมเพรียงกันให้เสร็จภายในเดือนเมษายน  ไม่อย่างนั้นจะทำอะไรไม่ได้  แล้วถ้ากลุ่มไหนไม่เสร็จล่ะครับ  มติที่ประชุมจะว่าอย่างไร?
            ที่ประชุม  สรุปว่า  กลุ่มนั้นก็จะไม่ได้ใช้สิทธิในเงินกองทุน 20%
            ประธานถามต่อว่า  อย่างที่คุณพิกุลได้ตั้งคำถามไว้ว่า  ถ้ากลุ่มกับเครือข่ายฯยังมีหนี้สินกันอยู่  จะหักลบกลบหนี้กันได้ไหม  ที่ประชุมเห็นว่าอย่างไรครับ?
            ที่ประชุม  ตอบว่า ได้  แต่ต้องจัดการเรื่องบัญชีให้เรียบร้อย
            เป็นอันจบวาระที่ 3  ในเรื่องกองทุนกลางแต่เพียงแค่นี้ค่ะ  แม้การพูดคุยจะจบลง  แต่เรื่องนี้กลับยังไม่จบ  และเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น (อีกครั้ง) ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงระเบียบกติกา  คงต้องติดตามดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24555เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2006 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท