พฤติกรรมการบริหารการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารมืออาชีพ


การบริหารการเปลี่ยนแปลง

            การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  เราทุกคนคงยอมรับว่าไม่มียุคสมัยใดที่การเปลี่ยนแปลงจะรวดเร็วและมีผลกระทบรุนแรงเท่าในปัจจุบัน   การเปลี่ยนแปลงได้สร้างหายนะให้กับองค์กรหลายแห่ง  ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์กรที่เคยประสบความสำเร็จมาในอดีต  ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงก็ได้สร้างโอกาสใหม่ ๆ  ให้กับหลายองค์กรเช่นกัน  ประเด็นเรื่อง การอยู่รอด และ การเปลี่ยนแปลง เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยตรง  ดังคำกล่าวของ ชาร์ล  ดาร์วิน ที่ว่า "ผู้ที่อยู่รอด มิใช่เป็นสายพันธ์ (Species) ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด  หากแต่ว่าเป็นผู้ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก"

            ดังนั้นเราจะต้องปรับเปลี่ยนองค์กรให้ได้มาซึ่ง โครงสร้าง องค์กรที่แบนราบ (Flat)  ไม่สลับซับซ้อนไม่มีลำดับชั้นมากมาย  เป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น (Flexible) เป็นการบริหารงานโดยผ่านกระบวนการ (Process)  อาศัยการทำงานแบบร่วมกันเป็นทีม  แทนการบริหารงานแบบดั้งเดิมที่เน้นการดำเนินงานตามสายงาน (Function) เป็นหลัก  ทำอย่างไรผู้บริหารถึงจะเข้าใจว่า ระบบ ขององค์กรโดยแท้จริงแล้วเป็นระบบที่มีชีวิต  เป็นระบบที่เปิด (Open System) ที่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เป็นระบบที่จริงๆแล้วไม่อาจเขียนแทนได้ด้วยผังการไหลของงาน (Flowchart)  หรือถ่ายทอดทุกอย่างผ่านคู่มือการดำเนินงาน (Procedure)  หากแต่ว่าเป็นระบบที่ประกอบด้วยชีวิต  จิตวิญญาณ  ความรู้สึก  ความสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่มิอาจถ่ายทอดออกเป็นตัวหนังสือ  หรือเขียนออกมาอยู่ในรูปแบบของเอกสารได้ทั้งหมด

             การสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวคงจะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย  หากเรายังใช้แต่หลักทางด้าน การจัดการ (Management) อยู่  เพราะการจัดการนั้นจริงๆแล้วใช้ได้ผลดีเฉพาะกับสิ่งที่เป็นสิ่งของ (Things) เท่านั้น  แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคน ตัวอย่างเช่น เวลาเราพูดถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร  ก็เป็นเรื่องของคน  การปรับเปลี่ยนระบบก็เกี่ยวกับคน  การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็เกี่ยวกับคนเช่นกัน  ซึ่งเรื่องของคนนั้นหากจะให้ได้ผลแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า ภาวะผู้นำ (Leadership) มากกว่าที่จะใช้การจัดการ  ภาวะผู้นำหรือความสามารถในการนำนี้  ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงสำเร็จ  หลายคนบอกว่าการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น  ควรจะต้องเริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดและจูงใจก่อนเป็นอันดับแรก  เพราะนั่นคือการกำหนดทิศทาง เป็นการวางเป้าหมายสำหรับอนาคต  แต่สำหรับผมแล้วผมกลับเห็นว่า การสร้างศรัทธาต่างหากที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การนำนี้สำเร็จ  เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา  ผมพบว่าแม้วิสัยทัศน์ที่สร้างขึ้นมานั้นจะดึงดูดและชวนให้ตื่นตาตื่นใจสักเพียงใดก็ตาม  แต่หากคนทั่วไปไม่ยอมรับนับถือหรือศรัทธาในตัวผู้นำแล้ว  วิสัยทัศน์ที่วางไว้นั้นก็มักจะไร้ความหมาย ไม่มีน้ำหนัก ปราศจาก Momentum   แต่ในทางตรงกันข้าม  ถึงแม้วิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้อาจจะดูไม่ดึงดูดใจเท่าที่ควร  แต่ถ้าหากคนมีความชอบ ความเชื่อ หรือศรัทธาในตัวผู้นำแล้ว   การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ก็มีโอกาสที่จะสำเร็จได้มากทีเดียว

                ผู้บริหารสถานศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการบริหารการเปลี่ยนแปลง   การเปลี่ยนแปลงมักจะมีการต่อต้าน ดังนั้นความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาจึงขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำ ทักษะและวิธีการที่ผู้บริหารใช้ในการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารจึงจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์         หากดูพฤติกรรมการบริหารการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารออกเป็น 3  แบบ คือ ผู้ตอบสนอง(responder)   ผู้จัดการ(manage) และผู้ริเริ่ม(initiator)   พบว่า  สถานศึกษาที่ผู้บริหารมีพฤติกรรมการบริหารการเปลี่ยนแปลงแบบผู้ริเริ่มมีผลต่อประสิทธิผลของสถานศึกษามากกว่าผู้บริหารที่มีพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงอีก 2 แบบ  โดยผู้บริหารแบบริเริ่มมีพฤติกรรมการบริหารการเปลี่ยนแปลง ดังนี้     

                   1)พยายามปรับสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความคาดหวังของชุมชน พยายามประสานประโยชน์ให้เกิดแก่โรงเรียน

                   2)รวมรวมข้อมูลต่าง ๆ จากครูและชุมชนเพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง

                  3)ส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องมีความรู้เกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหา

                  4)มีขั้นตอนและกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน

                  5)ติดตามผลที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด

                 6)ให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อเปรียบเทียบแผนงานที่วางไว้และพฤติกรรมที่คาดหวัง  กับสิ่งที่เกิดหลังจากการเปลี่ยนแปลง

                 ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษา ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นในองค์กรท่านจะต้องมีพฤติกรรมการบริหารการเปลี่ยนแปลงแบบริเริ่ม น่ะครับ..

                   

เอกสารอ้างอิง

"ผู้นำกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง".[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://202.143.134.120/super1/km/ change1.doc

"ภาวะผู้นำและการเปลี่ยนแปลง" .[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.aircadetwing.com/ index.php?lay=show&ac=article&Id=538658960&Ntype=4

หมายเลขบันทึก: 245515เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2009 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท