เมื่อเป็นครูที่ปรึกษาชั้น ม.3/7


การได้ดูแลช่วยเหลือนักเรียนห้องที่ใครๆมองว่าเป็นเด็กมีปัญหา เป็นบทเรียนที่มีคุณค่ายิ่งในชีวิตความเป็นครู
         หลังจากได้รับมอบหมายให้เป็นครูที่ปรึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/7 ซึ่งเป็นห้องที่รวมนักเรียนยอดเกเร 45 คน 45 แบบไว้ด้วยกัน
         วันแรกที่ก้าวเข้าไปในห้องก็โดนเจ้าหล่อนทั้งหลายลองของ ต้องควบคุมสติระงับอารมณ์โกรธจนแทบจะระเบิด หลายวันเข้าก็เริ่มชิน สามารถตอบโต้ควบคุมเกมของนักเรียนแต่ละคนที่เข้ามาลองดีจนทุกคนยอมจำนน
        เมื่อรู้ข้อมูลประวัติชีวิตครอบครัวของนักเรียนแต่ละคน แล้วนำมาเทียบเคียงกับพฤติกรรมที่พวกเขาแสดงออกมา ที่มีทั้งก้าวร้าว เกเร หยาบกระด้าง ขี้เกียจ โกหก ขี้ขโมย ฯลฯ ทำให้เริ่มเข้าใจพวกเขามากขึ้น และเชื่อว่า “พฤติกรรมของคนย่อมมีสาเหตุ” เมื่อรู้สาเหตุก็จึงพยายามแก้ไข ช่วยเหลือเขาตามอาการของโรคเป็นรายคน

       การดูช่วยเหลือนักเรียนแต่ละคน ได้ใช้ความรัก ความเมตตา ความจริงจัง ความจริงใจและความเข้าใจกันเป็นตัวตั้ง พยายามหยั่งถึงโลกในใจของพวกเขาแต่ละคน ถ้าเป็นเรื่องการเรียน เมื่อรู้ว่าเขาอ่อนวิชาใดก็จะประสานกับเพื่อนครูที่สอนวิชานั้นให้ช่วยเหลือกวดขันให้เป็นพิเศษ โดยคอยติดตามอยู่ไม่ห่าง ถ้าเป็นวิชาคณิตศาสตร์ก็จะสอนพิเศษให้ในช่วงเช้า กลางวัน เย็น ตามเงื่อนไขที่สะดวก ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว ครอบครัว เรื่องเศรษฐกิจ ก็จะช่วยเหลือเขาตามความเหมาะสม บนพื้นฐานของการส่งเสริมให้เขามีทักษะในการดำรงชีวิตที่ดี มีพลังใจ มุ่งมั่น เข้มแข็ง สู้ชีวิตอย่างมีความหวัง

       มีนักเรียนในห้องจำนวนไม่น้อยที่ครอบครัวแตกแยก ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ทั้งเงินทองและความรัก บางคนก็ถูกเลี้ยงดูให้เป็นคุณหนู เอาแต่ใจตนเอง พ่อแม่บางคนก็เอาแต่ทำมาหากินไม่สนใจรับรู้ว่าลูกจะมีปัญหาอะไร…ช่างไม่มีอะไรที่พอดีลงตัวเลย

       แต่ละวันลูก ๆ ในห้องต่างสร้างปัญหาให้เราต้องแก้ไม่ซ้ำเรื่องกัน ก็ถือเป็นรสชาติของชีวิต เมื่อสามารถช่วยเขาให้รอดพ้นจากปัญหาได้ก็รู้สึกมีความสุขและอยากเข้าใกล้ชิดผูกพันกับเขามากขึ้น เขาเองก็คงรู้สึกรับรู้ถึงความรัก ความปรารถนาดีที่เรามีต่อเขา ที่สามารถสัมผัสได้จากท่าทีที่เขาอ่อนโยนลง รู้จักเข้ามาดูแลเอาใจใส่เรา มีความในใจก็ไว้ใจ มาเล่าให้เราฟัง

       ดูแลพวกเขาแต่ละคนเหมือนลูก ๆ ยังไม่พอ ต้องดูแลช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขาด้วย ดึกดื่นเที่ยงคืนมีปัญหาทะเลาะกับลูก ลูกไม่กลับบ้าน ก็โทร.มาให้ครูช่วยไกล่เกลี่ย ช่วยตามให้ ทำให้เรารู้สึกว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราที่ต้องดูแลผูกพันกัน

        หนึ่งปีผ่านไป… ภายใต้บรรยากาศที่มีทั้งทุกข์ สุข โกรธกัน ดุกัน ร้องไห้สารภาพผิดกัน ปลอบโยนกัน ชื่นชมกันเมื่อทำอะไรให้เราชื่นใจ ฯลฯ …รู้สึก ดีใจ…ปลื้มใจ…ที่เห็นพวกเขาแต่ละคนอยู่รอดปลอดภัย ประสบผลสำเร็จในการเรียนตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละคน ต่างมีความหวังในชีวิต และเป็นผู้ใหญ่กันมากขึ้น
        รู้สึกใจหายเหมือนกันเมื่อเห็นแต่ละคนเข้ามากอด อำลา ขอบคุณเราในวันที่พวกเขาจบการศึกษาและแยกย้ายจากเราไป…

       ในวันอำลาอาลัย แต่ละคนได้เขียนความในใจไว้ให้เรากันทุกคน ซึ่งถือเป็นของขวัญอันล้ำค่าในชีวิตความเป็นครูของเรา ทำให้เราได้กลับมาทบทวนการปฎิบัติงาน ปฎิบัติตนอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นสิ่งชะโลมใจให้เราเกิดพลังในการใช้ชีวิตความเป็นครูในช่วงเวลาที่เหลืออย่างมีความหมาย

       จึงอยากนำบันทึกของลูกๆแต่ละคนมาให้เพื่อนร่วมวิชาชีพครูได้อ่านเพื่อแลกเปลี่ยนกันในบล็อกนี้… หากท่านมีวิธีการที่ดีในการดูแลผู้เรียนในบริบทของท่านก็อยากให้เล่าสู่กันฟังบ้าง...

หมายเลขบันทึก: 24517เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2006 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ณัฐทิชา แสงสถิตธรรม

สวัสดีค่ะ!อาจารย์ หนูเองนะ รีน ศิษย์(รัก)ของอาจารย์เองไง หนูชอบเรื่องราวของอาจารย์จังเลยค่ะ อ่านแล้วซึ้งดี เอาไว้จะแวะเข้ามาอ่านอีกนะคะ

รายงานตัวค่ะ พี่จิ๋ม หากพบข้อความนี้ ได้โปรดตอบกลับด้วยนะคะ [email protected] โทร. 081-459-7935

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท