ผู้นำการเปลี่ยนแปลง


การบริหารจัดการของผู้นำการเปลี่ยนแปลง

      นักบริหาร (Administrator) กับผู้นำ (Leader) ถ้าวิเคราะห์แล้ว  จะมีความแตกต่าง กันอยู่บ้าง กล่าวคือ นักบริหารมักจะเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งขึ้นมาให้เป็น ถ้านักบริหารที่ได้รับการคัดเลือก แต่งตั้ง หรือเลือกตั้งอย่างมีเกณฑ์ และอยู่ในระบบคุณธรรมแล้ว ก็จะมีคุณสมบัติของ ผู้นำมาเป็นเกณฑ์วัดอยู่ด้วยเสมอ แต่ในสภาพปัจจุบันของประเทศเรา ที่ยังมี ระบบเส้นสาย ครอบครัว และพรรคพวก ซึ่งมีอิทธิพลในการเลือกตั้งหรือคัดเลือก แฝงอยู่ เราจึงได้นักบริหารที่เป็นเสมือนหนึ่ง  หัวหน้างาน” (Headship) ไม่ใช่ผู้นำ (Leadership) ในการบริหารงานปะปนอยู่บ้าง ส่วน ผู้นำจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพล เหมือนคนอื่น ๆ ในการปฏิบัติงานในทางที่ดี โดยมีกลุ่มช่วยกันกำหนดวัตถุประสงค์ ของหน่วยงานขึ้นผู้นำอาจเป็นบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งบริหารหรือไม่มี ตำแหน่ง ก็ได้ แต่เป็นคนที่สามารถจูงใจให้คนร่วมมือปฏิบัติงาน มีศรัทธาและเชื่อถือใน ความสามารถ ดังนั้น นักบริหารและผู้นำอาจจะเป็นคนคนเดียวกันก็ได้ หรือจะเป็นคนละคนก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม นักบริหารที่ดีมักจะมีคุณสมบัติ และลักษณะของผู้นำอยู่ด้วยเสมอ
                   ถ้าหากกุญแจรถ  คือ  ยุทธศาสตร์ในการนำพาสถานศึกษาไปสู่เป้าหมาย  เรื่องกุญแจของนายท่านอยู่ไหนโดยเฉพาะพฤติกรรมที่ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งสองคนก้มหน้าก้มตามองหากุญแจรถที่ตนเองทำหาย  ซึ่งหายอีกที่หนึ่งแต่ไปหาอีกที่หนึ่งอย่างสะเปะสะปะนั้น  แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารสถานศึกษาทั้งสองท่านขาดการคิดวิเคราะห์ ข้อมูล และการนำข้อมาใช้ในการแก้ปัญหา  ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด  หรือจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าไม่ได้มีการวางกลยุทธ์อันฉลาดในการปฏิบัติงาน    วิสัยทัศน์    พันธกิจในการบริหาร สถานศึกษา  เป็นผู้บริหารที่ปฏิบัติหน้าที่แบบส่ง ๆ คิดวันนี้  ทำวันนี้   ไม่ได้มีการใคร่ครวญ  และวางแผน  รวมทั้งไม่ได้ใช้ข้อมูล  สารสนเทศ    การวิเคราะห์ข้อมูล  การประมวลผลข้อมูล  เพื่อช่วยในการตัดสินใจและการวางแผนอย่างชาญฉลาดให้เหมาะสมกับงานหรือภารกิจที่ต้องกระทำเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย   เป็นการทำงานตามกระแส  ช่วงไหนมีกระแสเรื่องใดก็จะทำตัวให้เข้ากับกระแส   เสมือนว่าตนเองเป็นคนเอาการเอางาน  มีความมุ่งมั่นตั้งใจ  แต่ความจริงแล้วเป็นการทำงานแบบไร้กระบวนการ  ไร้เป้าหมาย  ไร้ทีมงาน  เป็นการทำงานที่สูญเปล่า  ซึ่งไม่มีโอกาสจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างความสำเร็จให้แก่สถานศึกษา/โรงเรียนได้เลย 

ในความคิดของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าคิดว่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการสถานศึกษา/โรงเรียน   ต้องมีความกล้า  มีบุคลิกที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง   มีความสามารถในการจัดการด้านเทคนิค  สามารถริเริ่มชี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าเดิม    กล้าทำสิ่งที่ใหม่  กล้าเผชิญปัญหา  กล้าตัดสินใจ  มีความคิดสร้างสรรค์  ซึ่งคุณลักษณะของผู้นำการเปลี่ยนแปลงมีพฤติกรรมดังนี้
  1.รอบรู้กว้างไกล

1.1  บริหารการเปลี่ยนแปลง  โดยการนำการเปลี่ยนแปลงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส อาศัยการวางแผนเป็นการเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและปรับสภาพการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับบริบทของหน่วยงาน และเป็นเชื้อเพลิงในการผลักดันให้หน่วยงานมุ่งสู่สภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

1.2 วางแผนกลยุทธ์ ( Strategic Planning ) โดยวางยุทธ์ศาสตร์ในการปฏิบัติงานอันชาญฉลาด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุดของผลงาน

1.3 มองทุกอย่างรอบด้าน ( Balanced Scorecard ) ด้วยการนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ โดย

อาศัยการวัดผลงานอย่างสมดุลรอบด้าน ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานเกิดความสอดคล้องเป็นเอกภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน

1.4  เทียบงาน เทียบคน ( Benchmarking ) โดยการเทียบเคียงหรือเปรียบเทียบการดำเนินงานของหน่วยงานตนเองกับหน่วยงานอื่นที่พัฒนาก้าวหน้าแล้ว เพื่อนำสิ่งที่ดีมาปรับใช้และพัฒนาหน่วยงานตนเองให้ดียิ่งขึ้น

1.5  มีจิตใจมุ่งบริการ โดยใช้ระบบการให้บริการที่ดีและมีมโนทัศน์การบริหารที่เป็นเลิศ( Service Concept ) เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้รับบริการ

 

 

  2. เปิดใจกว้าง

            2.1 กล้าตัดสินใจ  โดยพิจารณาทางเลือกที่เห็นว่าดีที่สุดเหมาะที่สุด จากทางเลือกหลายๆทาง เพื่อนำมาดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเสียหายน้อยที่สุด

 2.2 คิดใช้กลยุทธ์ ในสภาวการณ์ที่โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หากต้องการประสบความสำเร็จจำเป็นต้องรู้กลเม็ด การคิดเชิงกลยุทธ์  โดยผู้บริหารต้องมีความสามารถในการกำหนดวิธีการทำงานที่ดีที่สุด ภายใต้สภาวะต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

2.3 นำคน นำงาน ผู้นำยุคการเปลี่ยนแปลงจะยึดหลักการ มีวิสัยทัศน์ เป็นนักปฏิบัติ และสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการทำงาน ผู้นำยุคใหม่ จะปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง  สร้างและผลักดัน     วิสัยทัศน์ให้บรรลุผล มอบหมายงาน กำกับทิศทางของงานให้ผู้อื่นทำงานที่ถูกต้อง มีการโน้มน้าวชักจูง เป็นที่พึ่งให้คำปรึกษาแนะนำ และนำองค์กรสู่ความท้าทายใหม่ๆเช่น สังคมพื้นฐานความรู้ องค์กรแห่งการเรียนรู้ การบริหารแบบองค์รวม เป็นต้น 

2.4 CEO ( Chief  Euecutive  Officer)  โดยมีความเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการ มีภาวะผู้นำ เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง มีการทำงานแบบเชิงรุก มีการคิดนอกกรอบ รู้ปัญหาและสามารถระดมสรรพกำลังมาร่วมทำงานให้บรรลุเป้าหมาย

2.5 ICT ( Information and Communication Technology)  การบริหารในยุคปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงมาก  การบริหารการจัดการและการตัดสินใจที่ดีจึงต้องมีระบบข้อมูลที่ดีจึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร

  3. สร้างความร่วมมือ

3.1 ปรับตัวและยืดหยุ่น (Adaptation and Flexibility) ผู้บริหารซึ่งต้องดูแลและควบคุมการบริหารเพื่อแก้ปัญหา ป้องกันปัญหา พัฒนาองค์กรให้เหมาะสมสอดคล้องกับสังคม เหตุการณ์สถานการณ์และบุคคล จึงต้องมีความสามารถในการปรับตัวและมีความยืดหยุ่นในการบริหาร

3.2 มุ่งการสื่อสาร การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้ศาสตร์ศิลป์และการฝึกฝนจนเกิดทักษะ ในการเตรียมตัวสื่อสารต้องถามตัวเองก่อนว่า จะส่งสารให้ใคร อยากให้เขาเข้าใจว่าอย่างไร มีอะไรที่จะจงใจให้เกิดการตอบสนอง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าสารที่ส่งและรับจะตรงกัน  แล้วเตรียมสารและส่งสารอย่างมีประสิทธิภาพ

3.3 ประสานสัมพันธ์ การบริหารจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันดำเนินการให้บรรลุผลตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ การประสานสัมพันธ์ที่ดีต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเป็นไปในทางที่ดี สร้างสรรค์และเกิดความสบายใจ พอใจกันทุกฝ่าย

3.4 ร่วมมือกันทุกฝ่าย  ในการบริหารแบบมีส่วนร่วมนั้นต้องตระหนักเสมอว่า มากคน มากวัตถุประสงค์  มากวิธีการ  มากข้อมูล  มากผลที่ต้องการ”  ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนจากหลายฝ่าย หลายคน หลายภูมิหลัง หลายค่านิยม หลายจุดมุ่งหมายของชีวิต  หลายวิธีคิด  มาผูกสัมพันธ์กับผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องจนเป็นพลังสู่ความสำเร็จ

     4. ยึดถือผลสำเร็จ

 4.1 รับผิดชอบที่ตรวจสอบได้  (Accountability)  การสร้างและนำความสำเร็จให้กับองค์กรหรือหน่วยงานในความรับผิดชอบให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามนโยบาย  แผนงาน และโครงการหรือกิจกรรมที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องยึดหลักสำคัญของการมีจิตสำนึกในหน้าที่ และ ความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

4.2 มุ่งผลสัมฤทธิ์    การบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result -Based  Management : RBM) ไม่ใช่เพียงให้เกิดผลผลิต (Out puts)  เท่านั้น  แต่เป็นการทำงานที่มุ่งให้เกิดทั้งผลผลิตและผลลัพธ์ (Out comes) ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดด้วย

4.3 Coaching   ผู้บริหาร คือ โค้ช ภาระที่สำคัญคือการส่งทอดความรู้ประสบการณ์ ภูมิปัญญาให้แก่ผู้นำรุ่นต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของบุคลากรให้บรรลุผลสำเร็จ โดยการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

4.4 จัดการทรัพยากร (Managing Resources) ทรัพยากรเป็นปัจจัยนำเข้าสู่กระบวนการบริหาร และเปลี่ยนแปลงมาสู่ผลผลิตเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร ทรัพยากรทุกประเภทมีลักษณะพื้นฐานที่สำคัญร่วมกัน ผู้บริหารจึงต้องจัดการใช้ทรัพยากรให้ถูกประเภทโดยใช้อย่างประหยัด คุ้มค่า และ เกิดประโยชน์สูงสุด

ถ้าจะถามว่า ทำไมผู้บริหารจึงต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วย ”  ก็จะได้รับคำตอบว่าเพราะผู้บริหารคือ ผู้นำสูงสุดขององค์กร ซึ่งมีอำนาจในการที่จะตัดสินใจนำพาองค์การไปสู่เป้าหมาย ดังที่พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ได้เคยกล่าวไว้ว่า

                       “ … วิธีคิดต้องเปลี่ยน  วิธีทำงานต้องเปลี่ยน 

                             เพราะโลกมันเปลี่ยน และเปลี่ยนเร็วด้วย...

 

หมายเลขบันทึก: 245064เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2009 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นำไปใช้ในองค์กรได้เลยนะครับนี่ ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท