ปัจฉิมโอวาทศิษย์รุ่นที่ 24


อันที่จริง ทักษะ “วิชาคน” ก็คือ การมี “สามัญสำนึก” หรือ “common sense” นั่นเอง มันคือสำนึกพื้นฐานของมนุษย์ ที่เราอยากให้ผู้อื่นทำกับเรา หากเราต้องการให้ใครทำกับเราอย่างไร เราก็ควรทำกับเขาอย่างนั้น เช่น เราไม่อยากให้ใครพูดจาเสียดสี ดูหมิ่นเรา เราก็ต้องไม่พูดจาเสียดสี ดูหมิ่นผู้อื่น หรือเราไม่อยากให้ใครเอาเปรียบ เราก็ต้องไม่เอาเปรียบคนอื่น เป็นต้น

ปัจฉิมโอวาทแด่ศิษย์รุ่นที่ 24

       

     ในฐานะของอาจารย์คนหนึ่ง  ขอแสดงความยินดีกับว่าที่บัณฑิตทันตแพทย์รุ่นที่ 24 มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ทุกคน ที่กำลังจะเป็นตัวแทนของสถาบันแห่งนี้  ออกไปปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคม 

     ศิษย์รุ่นนี้  เป็นรุ่นที่อาจารย์ได้มีโอกาสพาไปทำกิจกรรมเลี้ยงน้องที่สถานสงเคราะห์บ้านเด็กแคนทองบ่อยที่สุด  การไปทำกิจกรรมที่บ้านแคนทอง  เป็นการฝึกให้ศิษย์เกิดใจที่มีความเมตตา และกรุณา และยังสอนให้ศิษย์เห็นว่า ความสุข ยังเกิดจากการ “ให้” ได้ด้วย  ความสุขเช่นนี้เป็นความสุขที่เกิดเป็นทวีคูณ คือ เกิดกับทั้งผู้ให้ และผู้รับ 

     ในการไปบ้านแคนทอง  อาจารย์ยังหวังว่าศิษย์จะได้เห็นอีกด้านหนึ่งของ "ความเป็นมนุษย์"  เป็นบทบาทอีกบทบาทหนึ่งที่ทันตแพทย์ทุกคนทำได้  ทุกคนสามารถแสดงบทบาทนี้ได้เท่าเทียมกัน  ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง หรือฝีมือดีที่สุดในชั้น

     รศ. ทพ. อินทรพล  หอวิจิตร คณบดีของเรากล่าวอยู่เสมอๆ ว่า “ทันตแพทย์ก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน  วิชาชีพทันตแพทย์เป็นเพียงบทบาทหนึ่งเท่านั้น”  สถานภาพของการเป็น “ทันตแพทย์” นี้  จึงเป็นบทบาทพิเศษที่สังคมมอบความไว้วางใจให้เราเป็นคนทำ  เพราะเขาเชื่อมั่นว่าเรามีพร้อมทั้งความรู้และจรรยาบรรณที่จะทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าคนอื่น  แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า  นอกเหนือจากบทบาทนี้แล้วทันตแพทย์ทุกคนย่อมมีหน้าที่เหมือนกับคนอื่นๆ เช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นบทบาทต่อครอบครัว  ต่อเพื่อนฝูง และต่อสังคม

     ากการเล่าเรียนมา 6 ปี  อาจารย์เชื่อว่าศิษย์มี “วิชาการ” พื้นฐานที่เพียงพอกับการประกอบวิชาชีพของตนได้อย่างไม่ลำบาก  เพียงแต่ขอให้ศิษย์รู้จักเลือก หยิบเอาความรู้มาใช้ให้เหมาะสม ถูกกาลเวลา ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย

      นับจากนี้ไป  ศิษย์จะต้องเรียน “วิชาคน” ให้มากขึ้น  ควรหมั่นศึกษา พัฒนาทักษะ ในด้านนี้ให้แก่ตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ปฏิบัติตนต่อครอบครัว  เพื่อนฝูง และต่อสังคมได้อย่างเหมาะสม 

      อันที่จริง ทักษะ “วิชาคน” ก็คือ การมี “สามัญสำนึก” หรือ “common sense” นั่นเอง  มันคือสำนึกพื้นฐานของมนุษย์  ที่เราอยากให้ผู้อื่นทำกับเรา  หากเราต้องการให้ใครทำกับเราอย่างไร  เราก็ควรทำกับเขาอย่างนั้น  เช่น เราไม่อยากให้ใครพูดจาเสียดสี ดูหมิ่นเรา  เราก็ต้องไม่พูดจาเสียดสี ดูหมิ่นผู้อื่น  หรือเราไม่อยากให้ใครเอาเปรียบ  เราก็ต้องไม่เอาเปรียบคนอื่น เป็นต้น

     “วิชาคน” นี้อาจค่อยๆ เรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของศิษย์เอง  แต่ศิษย์ต้องรู้จักสังเกต และฉลาดพอที่จะเลือกว่าอะไรนำมาเป็นบทเรียนสอนเราได้บ้าง  เพื่อที่จะไม่ทำผิดพลาด หรือเพื่อทำให้ถูกต้องยิ่งขึ้นในอนาคต  บางคนเรียนรู้ “วิชาคน” จากวิกฤติในชีวิตของตนเอง 

      อย่างไรก็ดี  เราสามารถเร่งเรียนรู้วิชาคนให้เร็วขึ้นได้จาก “ครู” ที่ช่วยชี้แนะแนวทางให้  “ครู” ที่ว่านี้ อาจหมายถึงคน หรือหมายถึงคำสอนจากหนังสือก็ได้  แต่ต้องเป็นคำสอนที่ยึดแนวทางของสัมมาทิฏฐิ (การดำริชอบ)  ไม่ทำให้เราหลงงมงายจมสู่ปัญหามากขึ้นไปอีก 

      ในบางครั้งเราอาจลืมตัว ขาด “สามัญสำนึก” ได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ หนึ่ง. เราไม่รู้ตัวว่าเรากำลังทำสิ่งที่ผู้อื่นไม่ชอบ  หรือสอง. เป็นเพราะ ในขณะนั้นเรามีความเห็นแก่ตัวมากเกินไป  แน่นอนว่า ความบกพร่องทั้งสองนี้ต้องค่อยๆ ใช้เวลาในการปรับปรุง  โดยอาศัยการมี “สติ” รู้อยู่เสมอว่าเรากำลังทำอะไร  และอาศัย “ครู” ช่วยชี้แนะแนวทาง

     สุดท้ายนี้  อาจารย์ขออวยพรให้ศิษย์ทุกคนประสบความสำเร็จในการใช้ “วิชาการ” ในการประกอบอาชีพ ด้วยความเมตตา กรุณา  และประสบความสำเร็จในการใช้ “วิชาคน” ในการปฏิบัติตัวต่อผู้อื่น  ด้วยการหมั่นสร้าง “สามัญสำนึก” ให้เกิดกับตนเองอย่างต่อเนื่อง.

 

คำสำคัญ (Tags): #ความเป็นคน
หมายเลขบันทึก: 244637เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
นักศีกษาทันตแพทย์รุ่นที่ 24

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะที่ให้ความรู้ คำปรึกษา และดูแลพวกหนูมาตลอด 6 ปี

พวกหนูจะนำข้อคิดและคำแนะนำจากอาจารย์ไปปรับใช้ในการทำงานค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆค่ะ หนูเป็นคนหนึ่งที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมนี้กับอาจารย์ หฯจะนำข้อคิดต่างๆไปใช้ในการดำรงชีวิตค่ะ

ขอบคุณสำหรับการสั่งสอน หล่อหลอมพวกเรามาให้เป็นทันตแพทย์ทที่ดี

ขอบคุณอ.มากนะคะที่นำพาหนูไปในบ้านแคนทอง ทำให้หนูรู้สึกว่าการให้ที่เราใช้แค่สองมือ กะหนึ่งรอยยิ้มมันมีค่ามากแค่ไหน หนุประทับใจมากและหาโอกาสไปบ่อยๆ เป็นการให้ที่มีความสุขมากค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆค่ะ สำหรับข้อคิดเตือนใจ

และสำหรับประสบการณ์ดีๆ ในการไปบ้านแคนทอง ทำให้รู้ว่าการให้นั้นมีความสุขขนาดไหน

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

หนูจะระลึกคำสอนนี้เสมอ และจะกลับมาอ่านซ้ำบ่อยๆ ถ้าวันไหนลืมไป...

ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองให้อาจารย์สุขภาพดี มีความสุขยิ่งๆขึ้น นะคะ

มาขออ่านด้วยคนครับ

ขอยึดเอาคำสอนของอาจารย์มาปฏิบัติครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท