การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ของหลักสูตรฯ 51 (ต่อ)


         คงจัดทำคำอธิบายรายวิชากันเรียบร้อยแล้วนะคะ  อ้อ ! อย่าลืมเขียนรหัสตัวชี้วัดที่นำมาใช้เขียนคำอธิบายรายวิชาต่อท้ายคำอธิบายรายวิชาที่เขียนเสร็จแล้วด้วยนะคะ  รหัสตัวชี้วัดนั้นในหลักสูตร 51  ใช้เขียนแตกต่างจากที่ครูเคยเขียนรหัสของมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น  ซึ่งนิยมใช้เป็นจุดทศนิยม หรือใส่วงเล็บ   เช่น กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย   จะเขียน   ท  1.1.1  หรือ  ท  1.1. (1)    สำหรับหลักสูตร 51  จะเขียนโดยใช้  /    เช่น สาระที่ 1  การอ่าน   จะมีมาตรฐานกำกับอยู่ คือ  ท 1.1  (ตรงนี้เหมือนหลักสูตร  44 )  แต่ตัวชี้วัดที่กำหนดเป็นชั้นปีนั้น  ก็ให้เขียนเป็นชั้น ๆ  ไป   เช่น  สาระที่ 1  ตัวชี้วัดที่ 1 และ 2   ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1   ก็เขียนรหัสตัวชี้วัดได้ดังนี้  ท 1.1  ป.1/1 , ป.1/2

          เมื่อได้คำอธิบายรายวิชาเรียบร้อยแล้วครูผู้สอนต้องนำคำอธิบายรายวิชามาจัดทำโครงสร้างรายวิชา โดยพิจารณาดูงานจากขอบเขตที่กำหนดไว้ในคำอธิบายรายวิชาว่าจะกำหนดได้กี่หน่วยการเรียนรู้  แต่ละหน่วยการเรียนรู้จะต้องใช้เวลาเรียนเท่าใด  แต่ละหน่วยจะต้องสอนให้บรรลุตัวชี้วัดใดบ้าง   แต่เมื่อรวมทุกหน่วยการเรียนรู้แล้วต้องไม่เกินเวลาที่หลักสูตรกำหนด  ขั้นตอนนี้  ครูที่สอนในระดับชั้นเดียวกัน  ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยการเรียนรู้เหมือนกันหรือเท่ากัน   โครงสร้างรายวิชาเป็นการกำหนดหน่วยการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนแต่ละคนเป็นผู้กำหนดเอง  ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเพราะครูแต่ละคนมองความเชื่อมโยงของเนื้อหาสาระในรายวิชาที่ตนสอนต่างกัน  การกำหนดหน่วยการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องของความสามารถของครูแต่ละคน  ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่าแต่ละหน่วยการเรียนรู้ไม่ควรมีตัวชี้วัดมากเกินไป เพราะจะทำให้หน่วยการเรียนรู้นั้นใหญ่เกินไป  ใช้เวลาสอนนานเกินไป  ควรมี  2-3  ตัวชี้วัดก็พอแล้ว   และต้องสรุปสาระสำคัญของแต่ละหน่วยการเรียนรู้ด้วย  ซึ่งสาระสำคัญนี้ก็จะเกิดจากการหลอมรวมตัวชี้วัดและเนื้อหาสาระของหน่วยนั้น ๆ  มาสรุปเป็นสาระสำคัญ ซึ่งเป็นความคิดรวบยอด   ไม่ใช่สาระการเรียนรู้ที่เป็นเนื้อหา  เมื่อกำหนดหน่วยการเรียนรู้  ตัวชี้วัด  สาระสำคัญ  และเวลาเรียนเรียบร้อยแล้ว  ครูต้องกำหนดน้ำหนักคะแนนให้แต่ละหน่วยการเรียนรู้ด้วยว่า  หน่วยใหนควรมีค่าน้ำหนักคะแนนเท่าไร  (ค่าน้ำหนักคะแนนเต็ม 100 )  ทั้งนี้ให้พิจารณาจาก เนื้อหา  สาระสำคัญและเวลาเรียนว่าหน่วยการเรียนรู้ใดจะมีความสำคัญมากน้อย เพียงใด  น้ำหนักคะแนนจะมีประโยชน์ต่อการวัดและประเมินผลของครูผู้สอนเป็นอย่างมาก    ลองจัดทำโครงสร้างรายวิชาดูนะคะ  แล้วค่อยออกแบบหน่วยการเรียนรู้กันต่อค่ะ

หมายเลขบันทึก: 244537เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอตัวอย่างหลักสูตรสถานศึกษา2551ค่ะจะนำมาปรับใช้ในปี52นี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท