Action Model และปฏิทินการขับเคลื่อนหลักสูตร 2551


หากหวังให้ประสบความสำเร็จในการใช้หลักสูตรใหม่(ฉบับ พ.ศ.2551)

ในปี 2552 จะมีการทดลองนำร่องใช้หลักสูตรใหม่(หลักสูตร2551) กำหนดเป้าหมาย อย่างน้อย เขตพื้นที่การศึกษาละ 3 โรงเรียน ซึ่งขณะนี้คาดหวังว่า เขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ คงจะจัดทำ กรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น ของเขตพื้นที่การศึกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้วรวมทั้งโรงเรียนส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มทดลองนำร่องก็น่าจะจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา เรียบร้อยแล้ว เช่นกัน(หรือกำลังจะเรียบร้อย)

เพื่อให้การทดลองนำร่องการใช้หลักสูตร 2551 เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ผมคิดว่าในขั้นของการนำหลักสูตรไปใช้(Curriculum Implementation)ในระดับสถานศึกษา  เราจะต้องขับเคลื่อนหลักสูตรอย่างมีหลักวิชา  ทุกสถานศึกษาควรกำหนดโมเดลการทำงาน(Action Model)ที่เป็นรูปธรรม โดยโมเดลการทำงานควรจะสอดคล้องกับหลักทฤษฎีในการบริหารจัดการที่สำคัญ ๆ เช่น หลักการมีส่วนร่วม  หลักการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการในการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน หลักการตัดสินใจโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ฯลฯ  โดยในการบริหารจัดการหลักสูตรจะต้องยึดหลักเหล่านี้อย่างจริงจัง(แต่ละโรงเรียนอาจมีจุดเน้นในหลักวิชา หรือ Action Modelที่แตกต่างกัน) อีกทั้ง จะต้องมีปฏิทินการปฏิบัติงานตลอด 12 เดือนและเป็นที่รับทราบตรงกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ(Stakeholder)  ผมขอยกตัวอย่างปฏิทินการขับเคลื่อนหลักสูตรในปี 2552 ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ดังนี้

1) จัดให้ผู้เกี่ยวข้องคือ ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษา แกนนำชุมชน แกนนำเครือข่ายผู้ปกครอง และแกนนำนักเรียน ประชาพิจารณ์ วิพากษ์ หรือวิเคราะห์หลักสูตร

...(วันที่ 3 มีนาคม 2552)             

(1) วิพากษ์หลักสูตรแกนกลางประเทศ ว่ามีหลักการ แนวปฏิบัติอย่างไร มีจุดเด่น จุดด้อย อย่างไรบ้าง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลาง 2551

(2) วิพากษ์กรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น ที่พัฒนาโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด

(3) วิพากษ์ ร่างหลักสูตรสถานศึกษา ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด

2) ทดสอบความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรใหม่ของครูและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ทุกคน เข้าใจหลักสูตร ตรงกัน ในการนี้ ผู้บริหารและครู ควรผ่านการทดสอบความรู้โดยได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของคะแนนเต็ม  ในขณะที่ เครือข่ายผู้ปกครอง หรือแกนนำชุมชน กำหนดเกณฑ์การผ่านร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม

...(ระหว่าง วันที่ 6-8 เมษายน 2552)  

3) หลังจากครูผู้สอนแต่ละรายวิชา จัดทำแผนจัดการเรียนรู้เรียบร้อยแล้ว ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปี 2552 จัดให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูผู้สอนในกลุ่มสาระเดียวกันก่อน โดยเชิญเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในเขตพื้นที่ ให้เข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

...(วันที่ 8 พฤษภาคม 2552)

4) จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูกลุ่มสาระเดียวกัน อย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อเดือน

...(ปฏิทินภายในของแต่ละกลุ่มสาระ รวม 3 ครั้ง)

5) ส่งเสริมให้ครูผู้สอน ระดับรายวิชา มีการทดลอง วิจัยและพัฒนารูปแบบการสอน รูปแบบการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน อย่างหลากหลาย  อย่างเป็นระบบ

...( สัมมนาเสนอผลการวิจัย วันที่  2 ตุลาคม 2552)

6) ในการประชุมประจำเดือนระดับสถานศึกษา ในปี 2552 กำหนดวาระพิเศษ รายงานความก้าวหน้าในการใช้หลักสูตรของกลุ่มสาระต่าง ๆ จัดทำเป็นเอกสาร รายงานแบบสั้น ๆ ต่อที่ประชุม  โดยเฉพาะในประเด็นที่เห็นว่า เป็น Best Practice ของแต่ละกลุ่มสาระ

...(พุธที่ 2 เดือน มิ.ย.  ก.ค. และ ส.ค.52 )

7) สิ้นภาคเรียนที่ 1 ปี 2552 จัดสัมมนาประเมินผลการใช้หลักสูตร ภาคเรียนที่ 1 โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากหลายแหล่ง หลายลักษณะ ใช้ประกอบการสัมมนา(ผู้เข้าสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหาร ครูกรรมการสถานศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครอง และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น )

                ...(วันที่  25 กันยายน 2552)

8) จัดประชุมเตรียมความพร้อมในการทดลองใช้หลักสูตรภาคเรียนที่ 2/2552 ก่อนเปิดภาคเรียน

...(วันที่  5 พฤศจิกายน 2552)

9) ทุกกลุ่มสาระ รายงานความก้าวหน้าในการใช้หลักสูตรต่อที่ประชุมประจำเดือน

...(วันพุธที่ 2 ของเดือน ธ.ค.52  ม.ค. และ ก.พ.53)

10) สิ้นปีการศึกษา 2552  จัดสัมมนาประเมินผลการทดลองนำร่องการใช้หลักสูตร (โดยทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลการใช้หลักสูตรระดับกลุ่มสาระ นำเสนอต่อที่ประชุม  เชิญกรรมการสถานศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครอง ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมด้วย และสถานศึกษา จัดทำรายงานการประเมินความก้าวหน้าในการใช้หลักสูตร ระยะ 1 ปี ในภาพรวมของสถานศึกษา)

.....(วันที่ 23 มีนาคม 2553)

11) รายงานผลการทดลองนำร่องการใช้หลักสูตรแก่เขตพื้นที่การศึกษา และ สพฐ.

.....(ภายใน  8 เมษายน 2553)

 ผมคิดว่า หากกระบวนการใช้หลักสูตร ได้กำหนด Action Model ที่ชัดเจน และ มีปฏิทินปฏิบัติการ ที่เป็นรูปธรรม ดังตัวอย่างข้างต้น การใช้หลักสูตรครั้งนี้ คงจะประสบความสำเร็จ อย่างน่าภาคภูมิใจ แน่นอน”

หมายเลขบันทึก: 243989เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2009 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 12:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะอาจารย์

โรงเรียนของดิฉัน ไม่ได้อยู่นำร่อง แต่เราเริ่มศึกษากันมาพร้อม ๆกับการประกาศ 555 โรงเรียนแล้วนะคะ  แบบนี้จะมีวิธีการใดที่ครูสัก 3 คนจะเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้บ้างคะ  จะเสียค่าใช้จ่ายเองค่ะ

ขอขอบพระคุณค่ะ

  • ประสานงานกับ ศน.เขต ของท่านนะครับ ขอเข้าร่วมประชุม หรือรับทราบเป็นระยะ ๆ
  • ผมเองกำลังรอว่าโรงเรียนใดจะทำปฏิทินที่เป็นรูปธรรมบ้าง
  • สำหรับในระดับเขตพื้นที่ ผมจะลองสนับสนุนให้เขตจัดทำปฏิทินการบริหารหลักสูตรที่เป็นรูปธรรม ทั้งเขต 2 กทม.และ เขต 2 นนทบุรี ครับ เพื่อเราจะได้เรียนรู้ร่วมกัน

กำลังติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดค่ะอาจารย์...ซึ่งโรงเรียนกำลังดำเนินการประชุมให้ความรู้ครูและบุคลากร และจัดทำหลักสูตรในลำดับต่อไปค่ะ

  • คุณรุจิดา สบายดีนะครับ
  • ลองเสนอให้จัดทำปฏิทินปฏิบัติการตลอด 12 เดือน พร้อมทั้งออกแบบการนำหลักสูตรไปใช้อย่างเป็นระบบนะครับ
  • ในการปฏิบัติแต่ละขั้นตอน อาศัยแนวคิด ทฤษฎี หรือหลักการใด ถ้าสามารถอธิบายได้ จะดีมาก  ตอนเขียนรายงานการประเมินผลจะได้ทราบว่า สำเร็จ-ไม่สำเร็จน่าจะเป็นเพราะตัวแปรใด

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ..อาจารย์

ขอบพระคุณมากค่ะสำหรับตัวอย่าง/แนวทางการขับเคลื่อนฯ

เชียงใหม่ เขต 1 กำลังจะเริ่มวันพรุ่งนี้ค่ะ  ในการจัดทำหลักสูตรระดับท้องถิ่น

 

คุณ วลี, ศน.อ้วน

  • ขอบคุณครับที่แวะชม/ร่วมแสดงความคิดเห็น
  • สำหรับ ชม.เขต 1 เป็นเขตที่เป็นความหวังของประเทศเขตหนึ่งนะครับ หวังว่าจะได้เรียนรู้สิ่งดี ๆ จากเขตนี้ แล้วจะคอยติดตามครับ

สวัสดีครับ....ท่านดร.สุพักตร์ ที่เคารพอย่างสูง

จากที่ท่านยกตัวอย่าง ปฎิทินการขับเคลื่อนหลักสูตรปี 52 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งทั้ง

11 ขั้นตอนนั้นเป็นหลักการที่ดีเยี่ยม แต่เวลาปฎิบัติจริงๆอะไรจะเกิดขึ้น ฝากถามท่าน

คุณครูผู้ที่จะนำหลักการดังกล่าวไปปฎิบัติด้วยนะครับ

แต่ถึงอย่างไรผมในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆท่านเผื่อความ

ฝันจะไดเป็นจริง

ด้วยความเคารพอย่างสูง

นพรัตน์สิงขร

ข้อคิด " สัจธรรมของมนุษย์ "

" เรามักกลืนความหลอกลวงทีเยินยอเราลงไปอย่างละโมบ

ทว่าจิบดื่มความจริงที่เราพบว่าดีกว่าเข้าไปที่เล็กละน้อย "

เรียน คุณ นพรัตน์สิงขร

  • ผมเคยดูรายการ ที วี "ฝันให้ไกล  ไปให้ถึง" (จำไม่ได้ว่า ช่องไหน) คนทุกคนควรจะวาดฝัน หรือ วาดอนาคต...แล้วไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นไปไม่ได้...แต่จะต้องพยายามไปให้ถึง
  • ตอนผมจบปริญญาตรีและเริ่มทำงานที่โรงเรียนบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น(เกรดปริญญาตรี ไม่อยากบอก...อายครับ ต่ำมาก) เคยตั้งใจว่าจะเป็นครู 3 ปี แล้วจะไปเรียนต่อปริญญาโท หลังจากนั้นจะกลับไปอยู่บ้านไผ่ 3 ปี แล้วจะสอบเรียนต่อปริญญาเอกให้ได้(ด้วยการลาศึกษาต่อนะครับ เพราะผมคงจะไม่มีทุนเรียน ถ้าไม่มีเงินเดือน..."ยากจน ครับ")...นี่ คือ การวาดฝัน แล้วพยายามอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ....ในที่สุด ทำได้ครับ..ตามฝัน...ตามวันเลาที่วาดไว้
  • ผมคิดว่า ในการพัฒนางาน  ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันสร้าง "ภาพแห่งความสำเร็จ ที่ต้องการ"...แล้วต้องช่วยกันทำ ไปเรื่อย ๆ...น่าจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด

 

เห็นด้วยค่ะกับอาจารย์ในการวางแผนเพื่อทดลอง  ตรวจสอบ  ประเมินการใช้หลักสูตรใหม่

แต่จะมีสักกี่โรงเรียนที่ลงมือทำ  ต้องได้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ และขยันค่ะ  ปัจจุบันการศึกษาไทยที่ไปไม่ถึงดวงดาว  ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร  50 เปอร์เซ็นต์   ผู้บริหารรวมถึงรองฝ่ายต่าง ๆ  ด้วยนะคะ   การศึกษาไทยโดยเฉพาะในโรงเรียนต่างจังหวัด ปัญหาเยอะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท