องค์ประกอบระบบสุขภาพอันกลมกลืน เครือข่ายสุขภาพพุทธชินราช


เมื่อใดก็ตามที่องค์ประกอบระบบสุขภาพทั้งสาม มารวมตัวกันอย่างได้สัดส่วนเหมาะสม กระบวนการดูแลสุขภาพของประชาชนก็จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน

                            เมื่อพูดถึงระบบสุขภาพคนส่วนใหญ่จะนึกถึงการดูแลรักษาในโรงพยาบาล โดยแพทย์ พยาบาล (hospital care)เป็นอันดับแรก  แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีองค์ประกอบอื่นๆของระบบสุขภาพ ที่เกื้อหนุนดูแลมนุษย์ในทุกมิติทั้งกายใจ สิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อนำไปสู่สุขภาวะแห่งชีวิต  เริ่มตั้งแต่ องค์ประกอบเบื้องต้นคือการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง  ของบุคคล ครอบครัวและชุมชน (self care family care and community care ) อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพลังอำนาจของชุมชนในการดูแลสุขภาพตนเอง เน้นหนักไปในทางสร้างเสริมสุขภาพเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายของตน  ผ่านรูปแบบหรือวัฒนธรรมที่ชี้นำไปสู่พฤติกรรมชีวิตที่ดีเช่นพฤติกรรมการกินอาหารที่เหมาะสม  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ    การสร้างทัศนคติเชิงบวก ฯลฯ      ในองค์ประกอบนี้ประชาชนและชุมชน ยังร่วมมีบทบาทหน้าที่ในการคัดกรอง ป้องกันโรคที่สามารถป้องกันได้เพื่อค้นพบโรคร้ายเหล่านั้นได้ในระยะเริ่มต้น การรักษาก็จะได้ผลดีรอดพ้นจากโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง  

                            องค์ประกอบระบบสุขภาพที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ ระบบบริการปฐมภูมิ (primary care) หรือสถานีอนามัย  เป็นหน่วยบริการของระบบสุขภาพที่ใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชนมากที่สุด  ภารกิจสำคัญขององค์ประกอบนี้คือ การเข้าถึงชุมชน กระตุ้นเหนี่ยวนำให้เกิดกระบวนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เจ้าหน้าที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิสามารถรักษาโรคที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและให้คำแนะนำส่งต่อเมื่อความเจ็บป่วยนั้นเกินความสามารถที่หน่วยบริการปฐมภูมิจะดูแลได้ องค์ประกอบนี้เปรียบเสมือนสะพานอันแข็งแกร่งเชื่อมต่อระบบโรงพยาบาลสู่ชุมชนและจากชุมชนเข้าสู่โรงพยาบาล   ดังนั้นจึงพอจะกล่าวได้ว่าองค์ประกอบระบบสุขภาพที่สำคัญประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ

  • ·         ระบบโรงพยาบาล (hospital care)
  • ·         ระบบบริการปฐมภูมิ (primary care)
  • ·         ระบบการดูแลรักษาตนเองในชุมชน (self care and community care)


                       พ่อครัวฝีมือเอกจะรู้ดีว่าอาหารจานนี้ควรจะประกอบด้วยอะไรบ้างด้วยสัดส่วนเท่าใด  นำส่วนประกอบของอาหารเหล่านั้นมาปรุงคลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างกลมกลืนจึงได้เป็นอาหารรสเลิศ  ระบบการดูแลสุขภาพก็เช่นเดียวกันองค์ประกอบของระบบสุขภาพทั้ง 3 จะต้องผสมผสานกันอย่างกลมกลืนจึงจะส่งผลดีให้กับสุขภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง

                        เครือข่ายสุขภาพ พุทธชินราช พิษณุโลกบูรณาการระบบสุขภาพโดยผสานองค์ประกอบหลักทั้งสามให้ทำงานได้อย่างกลมกลืน ทั้งในเรื่องของทัศนคติการทำงานร่วมกันของบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล หน่วยบริการปฐมภูมิ และประชาชนในชุมชน)  แผนการสนับสนุนด้านวัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ต่างๆ แผนงานโครงการสำหรับกิจกรรมในชุมชน     การจัดระบบข้อมูลในการส่งต่อ-ส่งกลับผู้ป่วยเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลและหน่วยบริการปฐมภูมิ ฯลฯ     ทางด้านวิชาการมีการถ่ายทอดความรู้สองด้านคือความรู้ทางการแพทย์เพื่อให้เกิดกระบวนการดูแลรักษาที่ปลอดภัยมีคุณภาพและความรู้เรื่องการเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน เข้าถึง เข้าใจชุมชนเพื่อเหนี่ยวนำโน้มน้าวให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพดีอย่างยั่งยืน  เครือข่ายพุทธชินราชนำรูปแบบองค์ประกอบสุขภาพอันกลมกลืนใช้ในการดูแลสุขภาพประชาชนในทุกช่วงของวงจรชีวิต ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งวาระสุดท้าย  กิจกรรมจะประสานองค์ประกอบต่างๆทั้งในชุมชน หน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลจนเป็นเนื้อเดียวกัน

 

                                   นวงจรชีวิตตั้งแต่ก่อนเกิด หญิงตั้งครรภ์ในตำบลจะมีอาสาสมัครชมรมสายใยรักแห่งครอบครัวคอยดูแลเอาใจใส่ให้มีการฝากครรภ์อย่างครบถ้วน มีศูนย์การเรียนรู้สายใยรักแห่งครอบครัวในตำบลเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ให้คุณพ่อ คุณแม่รู้จักการดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์ สนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดบุตร และแนะนำวิธีการเลี้ยงดูเด็กให้มีการเจริญเติบโตสมวัยและได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่ป้องกันได้ตามเกณฑ์กำหนด   เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเป็นที่ปรึกษาของชมรมสายใยรักแห่งครอบครัวในชุมชน และยังดูแลหญิงตั้งครรภ์ให้ได้รับการตรวจครรภ์อย่างต่อเนื่อง  เมื่อพบภาวะตั้งครรภ์เสี่ยง ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อพบแพทย์โรงพยาบาลพุทธชินราชเพื่อการตรวจยืนยันและให้การรักษาตามความเหมาะสม 

             เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น เด็กในวัยนี้สุ่มเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ยาเสพติด รวมถึงการฉีดสารแปลกปลอมเข้าอวัยวะเพศในเด็กผู้ชาย  เครือข่ายพุทธชินราชรับมือกับปัญหานี้ผ่านโครงการป้องปรามโรคติดเชื้อทางเพศและสิ่งเสพติดในเด็กวัยรุ่น  โครงการนี้ประกอบด้วยบุคลากรจากหลายส่วนเช่น แพทย์ พยาบาล จาก โรงพยาบาลพุทธชินราช เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย  และกลุ่มเพื่อนใจวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนจากสถานศึกษาต่างๆในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก อาสามารวมตัวกันเพื่อสื่อสารกับเพื่อนวัยรุ่นให้เข้าใจและรู้จักระวังป้องกันปัญหาเหล่านี้  แนะนำและประสานงานกับโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการเยียวยารักษาอย่างถูกต้องเมื่อรู้ว่าผู้ใดต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว

               ช่วงชีวิตในวัยทำงาน ช่วงนี้เป็นช่วงชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆมากขึ้น ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ติดเหล้า บุหรี่ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่โรคเหล่านี้เป็นผลพวงของการดำเนินพฤติกรรมชีวิตที่ไม่เหมาะสมมาเป็นเวลานาน  อาสาสมัครในชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยทำการค้นหาคัดกรองโรคต่างๆเหล่านี้ในชุมชนของตน เมื่อพบผู้ป่วยแล้วจัดระบบส่งต่อเข้าโรงพยาบาลพุทธชินราชเพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม  โรคเรื้อรังเหล่านี้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาแต่เพียงลำพัง  ปัจจัยสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการเริ่มพฤติกรรมชีวิตใหม่ให้สอดคล้องกับโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่  มีกิจกรรมหลายอย่างที่เกิดจากความร่วมมือของ ชุมชน สถานีอนามัยและโรงพยาบาลยกตัวอย่างเช่น การค้นหาผู้ป่วยที่เป็นคนต้นแบบหรือ good model ในตำบลโดยเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยทำหน้าที่เป็นแมวมองค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีพฤติกรรมสุขภาพดีเป็นแบบอย่างได้ แล้วเชิญคนต้นแบบเหล่านั้นเข้าร่วมกิจกรรมในค่าย  เจ้าหน้าที่รพ พุทธชินราช จากหลายสาขาวิชาชีพร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเป็นผู้บริหารจัดการค่าย   วัตถุประสงค์ของค่ายคนต้นแบบเพื่อเสริมพลังความรู้ ความเข้าใจในโรค รวมถึงวิธีการถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเองผนวกกับความรู้ทางวิชาการที่ได้รับจากค่ายให้กับกลุ่มผู้ป่วยคนอื่นๆและกลุ่มเสี่ยงในชุมชน  ลักษณะเช่นนี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการสร้างพฤติกรรมชีวิตใหม่ได้อย่างแท้จริง  พบว่าในผู้ป่วยเบาหวานการควบคุมน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือด (HA1c) ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราการเกิดผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ลดลง คนต้นแบบโน้มน้าวให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชนลดหรือเลิกเหล้า บุหรี่ เห็นผลได้อย่างชัดเจน

                           องค์ประกอบระบบสุขภาพอันกลมกลืน อีกระบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ ระบบบูรณาการดูแลรักษามะเร็งเต้านม  เป็นการผสานงานในชุมชน หน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลเข้ามาเป็นระบบเดียวกันตั้งแต่การคัดกรอง ส่งเข้าตรวจวินิจฉัยรักษาในโรงพยาบาลจนถึงการติดตามเยี่ยมบ้านหลังจากผู้ป่วยได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้  ชมรมรวมใจต้านภัยมะเร็งเป็นตัวแทนของคนในชุมชนที่อาสามาทำหน้าที่กระตุ้นให้สตรีในชุมชนรู้จักการตรวจเต้านมตัวเองอย่างสม่ำเสมอ สมาชิกในชมรมได้รับการเสริมความรู้และทักษะในเรื่องการตรวจเต้านมอย่างถูกต้องโดยเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาล การตรวจคัดกรองโดยชุมชนเป็นผู้นำทำให้เราค้นพบผู้ป่วยที่มีก้อนผิดปกติที่เต้านมเป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อได้รับการตรวจยืนยันโดยเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยแล้ว ผู้ป่วยเหล่านั้นจะถูกนัดเข้าระบบโรงพยาบาลเพื่อ ตรวจวินิจฉัยโดย mammography และพบแพทย์ศัลยกรรม ได้ในคราวเดียวกัน เมื่อพบแพทย์ได้รับการวินิจฉัยแล้วผู้ป่วยจะถูกรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไป ระบบนี้นอกจากจะดูแลด้านร่างกายและโรคที่เป็นอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพแล้ว ยังมีการดูแลด้านจิตใจควบคู่กันไปด้วยโดยการดูแลของสมาชิกชมรมมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อนโรงพยาบาลพุทธชินราช  สมาชิกชมรมนี้ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยมะเร็งรุ่นพี่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือคนที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน มีประสบการณ์ได้รับการรักษาทั้งผ่าตัด เคมีบำบัด หรือฉายแสงมาแล้ว อาสาเข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทางด้านความรู้สึกและจิตใจ โดยเข้าไปพูดคุยประคับประคอง สร้างความมั่นใจ ให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ซึ่งกำลังเศร้าโศก ว้าวุ่น สับสน พร้อมทั้งแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวทั้งก่อนและหลังผ่าตัด และการเตรียมตัวรับเคมีบำบัดหรือฉายแสง ให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดและสามารถผ่านไปได้ด้วยกำลังใจของตนเองและมิตรภาพของเพื่อนๆพี่ๆที่อยู่รอบข้าง   ทุกวันนี้มะเร็งเต้านมที่คัดกรองพบมักเป็นระยะแรกๆ แพทย์ดูแลรักษาได้โดยง่าย คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยสามารถฟื้นคืนได้โดยเร็วทั้งร่างกายและจิตใจ

                      ผู้สูงวัย และผู้พิการทุพลภาพในชุมชนเป็นกลุ่มบุคคลที่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่จากสังคม  ชมรมจิตอาสาในชุมชนรวมตัวกันขึ้นจากคนหลากหลายสถานะและอาชีพ แต่ตรงกันในความรู้สึกเอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยและผู้พิการในชุมชน โรงพยาบาลพุทธชินราชและสถานีอนามัยเครือข่ายสนับสนุนชมรมจิตอาสาในชุมชนโดยจัดโครงการฝึกอบรมสมาชิกจิตอาสาให้เข้าใจโรคและภาวะต่างๆในผู้สูงอายุ และผู้พิการทุพลภาพ  ฝึกทักษะในการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโดยเฉพาะเรื่องการทรงตัวและการเคลื่อนไหว  เรียนรู้และเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยและผู้ดูแล   ฝึกปฏิบัติดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยจริงในชุมชนโดยมีพยาบาลและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเป็นพี่เลี้ยง   สมาชิกจิตอาสาในแต่ละตำบลมีกิจกรรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการที่หลากหลายแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่เน้นเรื่อง การเยี่ยมเยียนให้กำลังใจที่บ้าน  ฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยเท่าที่จะเป็นไปได้  ปรับปรุงสภาพบ้านเรือนสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งสนับสนุนเรื่องอาชีพเพื่อมีรายได้จุนเจือผู้ป่วยและผู้สูงวัย  หลังจากมีสมาชิกจิตอาสาเยี่ยมเยียนดูแลเอาใจใส่  พบว่าคุณภาพชีวิตของทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้ดูแลสูงขึ้นและสูงขึ้นมากอย่างชัดเจนในคุณภาพชีวิตด้านจิตใจ อัตราการกลับมานอนซ้ำในโรงพยาบาลก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด  กล่าวได้ว่าชมรมจิตอาสาสร้างกระแสน้ำใจให้เกิดขึ้นและไหลเวียนในชุมชนเพื่อดูแลคนในชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลเป็นฝ่ายสนับสนุน ทั้งสามฝ่ายทำงานร่วมมือกันได้อย่างกลมกลืน ผลลัพธ์คือความสุขทั้งกายและใจของผู้สูงอายุและผู้พิการทุพลภาพในชุมชน

 

                        เมื่อใดก็ตามที่องค์ประกอบระบบสุขภาพทั้งสาม มารวมตัวกันอย่างได้สัดส่วนเหมาะสม กระบวนการดูแลสุขภาพของประชาชนก็จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน ไม่ขัดแย้ง ชะงัก ตีบตันเนื่องจากระบบไม่เอื้ออำนวย วันนี้เครือข่ายสุขภาพพุทธชินราช เริ่มก้าวเดินไปพร้อมๆกันทั้ง ประชาชน หน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาล ถึงแม้จะเป็นแต่เพียงก้าวแรกๆ แต่ก็เชื่อมั่นว่าจะก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งมุ่งสู่จุดหมาย คือสุขภาพดีของประชาชนทั้งกายและใจ

หมายเลขบันทึก: 243962เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2009 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ ลุงปุ๊ โต้งเห็นด้วยเลยนะคะ ระบบสุขภาพคงเป็นเช่นเดียวกันกับการปรุงอาหารที่มีการคลุกเคล้าผสมผสานกันอย่างกลมกลืนถึงจะอร่อย....แยกน้ำแยกเนื้อคงไร้รสชาด...มาถึงวันนี้โต้งว่าเราได้พยายามผสมผสานสามองค์ประกอบหลักตั้งแต่ รพ. พีซียู และชุมชนในการร่วมดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างสอดคล้องแล้วละนะ...แม้จะเพียงครึ่งทาง....ก็จะขอก้าวต่อไปเพื่อการมีสุขภาพดีของประชาชนค่ะ...

บันทึกแห่งความดีในงาน สา.สุข ประทับใจ ค่ะ

บทความยาวมั่กๆ แฟนคลับอ่านแทบตาลาย ยังไงก็ตามขอให้ก้าวไปสู่จุดหมายได้เร็วพลันจ้า

ช่วยหาให้หน่อย ว่า องค์ประกอบของพฤติกรรมสุขภาพแบบไหน

* ขอเป็นแฟนคลับด้วยคนนะคะ...เคยมาเข้ารับการรักษามะเร็งที่ปากมดลูก..ระยะแรก เมื่อเดือนเมษา ปี 50 ค่ะ แต่ตอนนี้กลับไปสอนเด็กเด็กได้ดีอยู่จังหวัดตากค่ะ..ไม่เคยลืมพระคุณคณะแพทย์และพยาบาลที่น่ารัก..ดูแลเอาใจใส่ดีมากๆๆๆ..ทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตเราดี..(ตอนนั้นเป็นคนไข้ของคุณหมอพัลลภ...จ้า)

* ชอบอ่าน..มีสาระดีมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท