Podcast


Podcast

เมื่ออุปกรณ์ดิจิตอลสมัยใหม่อย่าง ไอพอด มิวสิกโฟน พีดีเอโฟน หรือพ็อกเกตพีซี ได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น คำถามที่น่าสนใจก็คือ สื่อต่างๆ ที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นสาระ และความบันเทิง ยังคงต้องอยู่บนอุปกรณ์แบบเดิมๆ ต่อไปอีกหรือไม่ ? ซึ่งมันคงดีไม่น้อย หากเราสามารถเปิดรับสื่อได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการบนอุปกรณ์ดิจิตอลสมัยใหม่ที่สะดวกพกพาแถมยังทรงประสิทธิภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ในช่วงปลายปี 2004 ได้เกิดศัพท์คำใหม่ขึ้นในวงการอินเทอร์เน็ตที่เหล่าบรรดาเว็บไซต์สื่อต่างๆ ให้ความสนใจกันอย่างมาก และเพียงแค่ปีเดียวที่ทั่วโลกได้รู้จักคำๆ นี้ ความแรงของมันทำให้พจนานุกรมอย่าง New Oxford American Dictionary ถึงกับยกให้เป็น “คำศัพท์ที่น่าสนใจแห่งปี 2005” พร้อมทั้งใส่ความหมายของมันเข้าไปในพจนนานุกรมฉบับที่จะตีพิมพ์ในปี 2006 อีกด้วย

 
 



ศัพท์คำที่ว่านี้ก็คือ Podcast ออกเสียงว่า “พอดแคสต์” ซึ่งความหมายในดิกชันนารีเล่มใหม่ของออกซ์ฟอร์ดแปลว่า “การบันทึกโปรแกรมรายการวิทยุ หรือใกล้เคียงกันในรูปแบบดิจิตอล โดยทำให้มันสามารถเข้าไปอยู่ในอินเทอร์เน็ต เพื่อดาวน์โหลดไปยังเครื่องเล่นออดิโอส่วนบุคคลได้” ฟังดูก็ง่ายดี แต่จริงๆ แล้ว “พอดแคสต์” มีความหมายและรายละเอียดที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งในซีรีส์บทความประจำฉบับนี้ กองบรรณาธิการนิตยสารคอมพิวเตอร์.ทูเดย์จะพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปล้วงลึกกับคำถามต่างๆ ที่ว่า “พอดแคสต์” คืออะไร ? มันมีการทำงานอย่างไร ? และน่าตื่นเต้นสำหรับพวกเราหรือไม่ ?

“พอดแคสติ้ง” คืออะไร ?

พูดง่ายๆ พอดแคสติ้ง (Podcasting) ก็คือ การให้บริการบนเวิลด์ไวด์เว็บในรูปแบบของการเผยแพร่กระจายเสียง (ไฟล์ออดิโอ) โดยเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่มีคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์เครื่องเล่นมีเดียดิจิติอล (Digital Media Player) สามารถดาวน์โหลดและรับฟังข่าวสารจากเครื่องเล่นได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ ส่วนคำว่า พอดแคสต์ (Podcast) จะหมายถึง “คอนเทนต์ออดิโอ” (เนื้อหาที่อยู่ในรูปของข้อมูลที่เป็นเสียง) ที่จัดทำขึ้นไว้บนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ดาวน์โหลดอัตโนมัติไปยังคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเอ็มพีสามนั่นเอง

นอกจากความหมายข้างต้นแล้ว หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า Podcasting นั้นมาจากคำ 2 คำที่เชื่อมกันนั่นคือ iPod และ broadcasting ทำให้ความหมายของคำๆ นี้ที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมอีกอันหนึ่งก็คือ การจัดรายการวิทยุที่ไม่ได้เผยแพร่ผ่านเครื่องรับวิทยุ แต่แพร่กระจายข่าวสารผ่านบริการเวิลด์ไวด์เว็บในรูปของไฟล์ออดิโอ (ไฟล์ข้อมูลเสียง) ซึ่งผู้สนใจบริการดังกล่าวสามารถรับความเพลิดเพลินจากการฟังคอนเทนต์ด้วยโปรแกรมมีเดียเพลยเยอร์ (Windows Media Player) หรืออัพโหลดเข้าไปโดยตรงที่เครื่องเล่นมีเดียดิจิตอล (อย่างเช่น iPod) ได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ

Radio VS. Podcast

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เครื่องเล่นเอ็มพีสามโดยเฉพาะ iPod ของ Apple ถูกจำหน่ายออกไปทั่วโลกกว่าสี่สิบล้านเครื่องแล้ว (ส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้ประมาณ 70 %) ประกอบกับโทรศัพท์มือถือและพีดีเอที่ได้รับความนิยมใช้งานกันมากขึ้นไปด้วย ทั้งนี้เกิดจากการที่อุปกรณ์ต่างๆ พยายามหาวิธีที่จะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของผู้บริโภคให้ได้นั่นเอง และผลจากการที่มีผู้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้มากขึ้น จึงทำให้สื่อต้องมีการเคลื่อนย้ายตัวเองจากวิธีกระจายข่าวสารบนอุปกรณ์พื้นฐานที่ใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไปสู่อุปกรณ์สมัยใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อดูจากหลักการทำงานข้างต้น คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้ว Podcasting กับ Internet Radio แตกต่างกันอย่างไร ? ประเด็นที่แตกต่างกันของสองบริการนี้ก็คือ ถ้าเป็น Podcast ผู้ใช้ไม่ต้องเข้าไปยังเว็บไซต์ที่กำลังออนไลน์คอนเทนต์ของรายการวิทยุที่กำลังออนแอร์ในขณะนั้น ดังเช่น Internet Radio แต่จะเป็นการสมัคร (subscribe) ใช้บริการพอดแคสต์ เพื่อให้ไฟล์ออดิโอของโปรแกรมรายการวิทยุ (หรือสื่อออดิโออื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน) ถูกดาวน์โหลดเข้ามายังคอมพิวเตอร์ผ่านกลไกรวบรวมคอนเทนต์อย่างง่ายๆ (RSS) ตราบเท่าที่ผู้ใช้ต้องการ (ตามอำเภอใจ)

ไม่มีใครฟันธงได้เหมือนกันว่าในที่สุดแล้ว วิทยุอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการฟังตามเวลาที่มันเผยแพร่รายการต่างๆ ที่สนใจอีกต่อไป หรือแม้กระทั่งเครื่องเล่นมีเดียดิจิตอลก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีฟังก์ชันวิทยุมาพร้อมกันอีกด้วย ถ้าหากวันหนึ่งทุกคนสามารถรับฟังข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการด้วย “พอดแคสต์” หรือนี่เป็นแค่สัญญาณเล็กๆ อันหนึ่งที่จะบอกกับพวกเราว่า On Air กำลังจะแพ้ Online ?

Podcast ทำเองก็ได้

 
 

ด้วยแนวคิดง่ายๆ ของ Podcast ที่ว่า ผู้ใช้สามารถรับฟังข้อมูลข่าวสารที่ต้องการได้ทุกที่ทุกเวลา ประกอบกับการที่มนุษย์เราทุกวันนี้มีภาระหน้าที่มากมายที่ต้องทำในแต่ละวัน การที่สามารถรับฟังข่าวสารได้ตามต้องการกำลังกลายเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อมีความต้องการมากขนาดนี้ ปัจจุบันจึงมีผู้คนเริ่มงานใหม่เป็น Podcaster (ผู้จัดทำคอนเทนต์ Podcast) เนื่องจาก ผู้ที่สนใจก็สามารถจัดทำข่าวสารเพื่อเผยแพร่บริการในรูปของพอดแคสต์ได้อย่างง่ายดาย โดยมีอุปกรณ์เพิ่มเติมนอกจากคอมพิวเตอร์เพียงสองสามชิ้นเท่านั้น ซึ่งได้แก่ ไมโครโฟน และซอฟต์แวร์แจกฟรี เพียงแค่นี้คุณก็สามารถจัดรายการในหัวเรื่องใดก็ได้ที่คุณสนใจ เพื่อให้บริการพอดแคสต์กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยมีรายได้ในรูปของโฆษณา หรือสปอนเซอร์เช่นเดียวกับรายวิทยุออนแอร์

Podcast ทำงานอย่างไร ?

สำหรับบริการ “พอดแคสติ้ง” จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหนึ่งที่ถือว่าเป็นกลไกสำคัญนั่นก็คือ RSS 2.0 (Really Simple Syndication) เนื่องจาก เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยทำให้ข่าวสารที่อยู่ในรูปของบริการพอดแคสต์บนเว็บไซต์ต่างๆ ถูกรวบรวมและส่งให้กับผู้สนใจได้อย่างง่ายดาย โดยผู้ใช้เพียงแค่คลิ้กลิงก์รายการที่สนใจ ซอฟต์แวร์ก็จะดาวน์โหลดไฟล์ออดิโอเข้ามาในคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ กล่าวโดยสรุปก็คือ RSS จะเข้ามาช่วยให้คอนเทนต์ของบริการพอดแคสต์ที่เราจัดทำขึ้นสามารถถูกพบโดยผู้สนใจได้ทั่วโลกนั่นเอง

ในส่วนของขั้นตอนการเผยแพร่พอดแคสต์จะใช้วิธีสมัครเป็นสมาชิก เพื่อเปิดรับพอดแคสต์ผ่าน RSS คอนเทนต์ของพอดแคสต์ที่สมัครไว้จะถูกดาวน์โหลดไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ ก่อนที่จะอัพโหลดเข้าไปยังเครื่องเล่นมีเดียดิจิตอลอีกทีหนึ่ง เมื่อคุณเชื่อมต่อเครื่องเล่นเข้ากับคอมพิวเตอร์ของคุณ

กล่าวโดยสรุป พอดแคสติ้งก็คือ กลไกการเผยแพร่ออดิโอผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยผู้ใช้จะต้องสมัคร เพื่อรับไฟล์ใหม่ (ส่วนใหญ่เป็นไฟล์ MP3) ด้วยการดาวน์โหลดเข้าไปในเครื่องเล่นเอ็มพีสามแบบพกพา หรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ถึงตรงนี้คุณผู้อ่านอาจจะเริ่มงงเล็กน้อยกับขั้นตอนที่ฟังดูซับซ้อน แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ยากเลย เนื่องจาก ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์จัดการความยุ่งยากข้างต้นทั้งหมดให้กับคุณ โดยคุณสมบัติการทำงานพื้นฐานของซอฟต์แวร์เหล่านี้ก็คือ พวกมันสามารถรวบรวมคอนเทนต์พอดแคสต์จากเว็บไซต์ต่างๆ ที่คุณได้สมัครไว้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างซอฟต์แวร์พอดแคสต์ที่ได้รับความนิยมในการใช้งานก็เช่น iTunes ของ Apple หรือ iPodder เป็นต้น

หากว่ากันในภาษาเทคนิค พอดแคสต์ก็คือ รูปแบบของสื่อดิจิตอลใดๆ ก็ตามที่ถูกนำไปเล่นบนอุปกรณ์อย่างเช่น iPod หรือเครื่องเล่น MP3 นั่นเอง ซึ่งจะว่าไปในปัจจุบันนิตยสารรายสัปดาห์ รายการวิทยุ หรือแม้แต่รายการโทรทัศน์ ต่างก็มีการจัดทำในรูปแบบของไฟล์ MP3 ให้ดาวน์โหลด เพื่อใช้ฟังบนอุปกรณ์เครื่องเล่นมีเดียดิจิตอล หรือคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว

http://www.arip.co.th 

คำสำคัญ (Tags): #podcast
หมายเลขบันทึก: 243497เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2009 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท