การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ด้วยระบบการศึกษาแนวใหม่แบบคู่ขนาน (New parallel track)


หลักสูตรการศึกษาในประเทศไทยยังมีเป้าหมายเพื่อเตรียมให้คนเข้ามหาวิทยาลัยได้

 

ข้อเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ด้วยระบบการศึกษาแนวใหม่แบบคู่ขนาน (New parallel track)

                                                        .... กมล แสงทองศรีกมล

                                                        กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

วัตถุประสงค์

1. เพื่อการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ของกระทรวงศึกษาธิการ

2. นำเสนอแนวคิดและหลักการระบบการศึกษาแนวใหม่แบบคู่ขนาน

 

 หลักการและเหตุผล

        ตลอดระยะเวลาเกือบ10 ปี มานี้ได้มีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาไทยมาโดยตลอด เริ่มต้นจาก พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..2542 ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการรวมไปถึงระดับอุดมศึกษาด้วย

และความพยายามที่จะให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ในปีพ..2545แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันมีปัญหาที่สืบเนื่องจากการศึกษามากมาย เช่นเด็กเครียดจากการเรียน ซึ่งการสอบแข่งขันยังเป็นปัญหาในระบบการศึกษาไทยมาตลอด เด็กถูกฝึกให้ท่องจำมากที่สุด ฝึกทำข้อสอบ คิดคำนวณให้เร็วที่สุด ถูกต้องที่สุด เพื่อที่จะได้มีโอกาสสูงสุดในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การจะสอบแข่งขันให้ชนะเพื่อแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัยและคณะที่ดีให้ได้ ก็ต้องไล่ลงมาเป็นการแข่งขันกันเพื่อให้ได้โรงเรียนมัธยมปลายที่ดีที่สุด และเพื่อจะให้ได้เข้าโรงเรียนมัธยมปลายที่ดีที่สุด ก็ต้องแย่งกันเข้าโรงเรียนมัธยมต้นดี ๆ  ไล่ลงมาถึงจะให้ได้เข้าโรงเรียนมัธยมต้นที่ดีที่สุด ก็ต้องแย่งกันเข้าโรงเรียนประถมดี ๆ ให้ได้ก่อน จนกระทั่งระดับล่างสุดคือเร่งเรียนในวัยอนุบาล เด็กอนุบาล 2-3 บางคนถูกเร่งให้เรียนอ่านเขียน ต้องผสมคำภาษาไทย ภาษาอังกฤษได้ ต้องบวกลบเลขสองหลักให้ได้ มีการกวดวิชาเด็กอนุบาลสามเพื่อจะได้สอบเข้าโรงเรียนประถมดี  เกิดลูกโซ่แห่งการเร่งเรียนเป็นระบบ ทั้งๆที่ความสามารถในการสอบแข่งขันอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวของความสำเร็จทางการศึกษา แต่มีปัจจัยเรื่องของสมอง การเรียนรู้อย่างมีความสุข และศักยภาพด้านต่าง ๆ ของคนเรามาเกี่ยวข้องมากมาย

        การสอบแข่งขันโอลิมปิกนานาชาติก็มีข้อดีคือ กระตุ้นให้เด็กเก่ง ๆ ได้แสดงความสามารถ แต่หากผู้บริหารการศึกษาส่งเสริมด้วยวิธีเน้นวิชาการและปรับหลักสูตรให้เร่งเรียนเกินวัย จะทำให้ระบบการศึกษาไทยเกิดปัญหา ปัจจุบันหลาย ๆ โรงเรียนเริ่มมีการคัดเด็กเก่ง ๆ เข้าโครงการโอลิมปิก แล้วเอามาฝึกสอนเป็นพิเศษ คือต้องมาเรียนเพิ่ม ฝึกทำข้อสอบเวลาเช้าก่อนเข้าห้องเรียนและพักเที่ยง แทนที่จะได้วิ่งเล่น เล่นกีฬาเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป ดังเช่นโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง เดิมก็เน้นวิชาการอยู่แล้ว เมื่อส่งเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่หกไปสอบแข่งวิชาการโอลิมปิกแล้วได้เหรียญทองแดงกลับมา ทั้งโรงเรียน ครูและนักเรียนต่างก็ภูมิใจมาก ทำให้โรงเรียนยิ่งปรับหลักสูตรเป็นเร่งเรียนตลอดทุกชั้นปี โดยให้นักเรียนเรียนหลักสูตรที่เกินวัย และเกินระดับชั้น ตัวอย่างเช่น เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่สอง ก็ให้เรียนเศษส่วน ทศนิยมแล้ว ขณะที่คณิตศาสตร์ประถมศึกษาปีที่สองของอีกโรงเรียนหนึ่งซึ่งเป็นโรงเรียนทั่ว ๆ ไป เรียนโจทย์ บวก ลบ ง่าย ๆ และเพิ่งเริ่มเรียนหลักการคูณหารง่าย ๆ เท่านั้น ในหลักสูตรปกติจะเรียนเศษส่วนตอนประมาณชั้นประถมศึกษาปีที่สี่ แสดงว่าเด็กถูกเร่งเรียนคณิตศาสตร์ไปถึงสองชั้นปี พอโรงเรียนยิ่งเร่งเรียน เกิดบรรยากาศที่เด็กนักเรียนจับกลุ่มติวกันเวลาพัก ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยิ่งชอบ ยิ่งบอกต่อ พ่อแม่ยิ่งพาลูกมาสมัครเข้าโรงเรียนเพิ่มขึ้น

        นอกจากนี้ยังมีปัญหาในระดับสูงขึ้นคือการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือระบบแอดมิชชั่น โอเน็ต เอเน็ต (Onet Anet) ที่ทำให้นักเรียนมัธยมปลายในประเทศไทยจำนวนมากแย่งกันกวดวิชาตามสถาบันกวดวิชาต่าง ๆ บางที่ต้องมารอเข้าคิวสมัครเรียนตั้งแต่ตีสี่ตีห้า เด็กหลายคนที่พอมีเงินไปกวดวิชาเพื่อหาเทคนิคพิเศษให้จดจำได้ง่ายขึ้น ทำข้อสอบได้เร็วขึ้น เพื่อให้ตนเองมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่าผู้อื่น เด็กไม่ค่อยสนใจการเรียนในห้องเรียนจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือกนักเรียนเพื่อศึกษาต่ออุดมศึกษา เพื่อลดการกวดวิชา และเพื่อให้เด็กสนใจการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในห้องเรียนมากขึ้น โดยเพิ่มสัดส่วนของผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้ค่าน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  แต่ก็ดูจะไม่ได้ผล เพราะแม้จะลดสัดส่วนคะแนนสอบคัดเลือกลง แต่เนื่องจากต้องแข่งขันกันสูงมาก ทุกคะแนนก็ยังมีความหมายอยู่ดี นอกจากนี้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่กำหนดให้เรียนแปดหมวดสาระ 21 วิชาย่อย ทำให้สร้างภาระมากขึ้น เช่น ไม่อยากเรียน ไม่ถนัดวิชานั้น ๆ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะที่จะอยากเรียน ก็ต้องจำใจเรียน เมื่อเนื้อหาสาระการเรียนการสอนมีมาก วิชาที่ต้องสอบก็มากขึ้นตาม ทั้งหมดนี้กลับยิ่งทำให้การกวดวิชามากขึ้น สถาบันกวดวิชาในประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ที่จุนักเรียนมัธยมปลายจำนวนมากเพื่อกวดวิชา ธุรกิจกวดวิชาทั่วประเทศกำลังเพิ่มมูลค่าจากพันล้านบาทเป็นหมื่นล้านบาท นอกจากนี้แนวทางที่กระทรวงศึกษาได้พัฒนาระบบการเรียนการสอนยังไม่ทั่วถึงทั้งประเทศ การปรับเปลี่ยนเป็นได้เฉพาะบางโรงเรียนเท่านั้น และมีจำนวนน้อย มาตรฐานและคุณภาพของโรงเรียนส่วนใหญ่ยังแตกต่างกันมาก ทำให้ของเด็กนักเรียนที่จบมัธยมปลายออกมาแตกต่างกันมาก การกำหนดค่าจีพีเอสูง ๆ ทำให้โรงเรียนที่เกรดเฟ้อ ได้สัดส่วนคะแนนเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากกว่า เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในการสอบคัดเลือก การสอบตรงก็เริ่มมีปัญหาของระบบอุปถัมภ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

        หากทิศทางการศึกษาไทยกำลังเป็นเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะสวนทางกับหลักการพัฒนาระบบการศึกษาที่ประเทศอื่นเขาทำกัน จากการประเมินผลระบบการศึกษานานาชาติ และจากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา คงต้องยอมรับว่าอันดับของการศึกษาไทยไม่สู้ดีนัก ระบบการศึกษาของเรายังตามหลังหลายๆประเทศ การเร่งเรียนกันตั้งแต่วัยอนุบาลจนจบมัธยมปลาย เน้นการท่องจำตามด้วยกวดวิชาอย่างหนัก แข่งขันกันไปจนกระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัย ทำให้เด็กไทย ไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์ ประเทศเราแทบไม่มีนวัตกรรมเลย งานวิจัยและการจดสิทธิบัตร รวมไปถึงการคิดค้นเทคโนโลยีชั้นสูงใหม่ๆของเราก็น้อยมาก

        นอกจากนี้หลักสูตรการศึกษาในประเทศไทยยังมีเป้าหมายเพื่อเตรียมให้คนเข้ามหาวิทยาลัยได้ สิ่งที่กำหนดให้เรียนโดยกระทรวงศึกษาก็ดี หรือมหาวิทยาลัยก็ดี อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และความต้องการที่แท้จริงของสังคมและชุมชน

 

 

หมายเลขบันทึก: 242830เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2009 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ร่วมปฎิวัติการศึกษาเพื่อความเป็นไท

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/320506

เห็นด้วยกับการปฏิรูปรอบสอง หรือรอบต่อๆไป ปลาเปลี่ยนนำหรือหินกลิ้ง ย่อมดีเสมอ คนคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการบริหารจัดการทุกองค์การ ความต้องการ 5 ลำดับของมาสโลว์ก็ยังใช้ได้ผลอยู่เสมอ และที่สำคัญ ฝ่ายบริหารทุกระดับต้องกำกับ นิเทศ ติดตามอย่างจริง ต่อเนื่อง ไม่ใช่นโยบายไม้หลักปักขี้เลน เคยป้อนคำถามให้กับฝ่ายบริหารระดับสูงขึ้นไป ก็ได้รับคำตอบว่า คนมีน้อย งบไม่เพียงพอ (ศึกษานิเทศก์กับงบประมาณ) ขอโทษเถอะรองผอ.เขต มีเขตละกี่นาย? นาง? นางสาว?แบ่งสรรปันส่วนกันออกมาเยี่ยมเยียนคุณครูที่โรงเรียนกันบ่อย มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ แนะนำ แนะแนวหรือมาสอนนักเรียนบ้างก็ยังดี ปัญหาในโรงเรียนมาดูเชิงประจักษ์บ้าง มิใช่รอเก็บข้อมูลกันอย่างเดียว คุณครูทุกวันนี้มีหน้าที่ นานับประการ งานหลักคืองานอบรมสั่งสอน แต่งานรองมีเยอะเหลือเกินแล้วจะเอาคุณภาพมาจากไหน (ผลสัมฤทธิ์) เช่น งานครูอนามัย งานครูตำรวจจำลอง งานครูปกครอง งานครูทนายความ งานครูทำอาหาร งานครูธุรการ งานครูพัสดุ - การเงิน งานครูอาคารสถานที่ งานครูสัมพันธ์ชุมชน ฯลฯ นี่แค่ตัวอย่างนะ ที่จริงมีอีกเยอะ เจ้านายช่วยดูแลเรื่องต่างๆให้ดีๆ คอยแต่เก็บข้อมูล ด่วน ด่วนมาก ด่วนที่สุด บอกวันนี้จะเอาพรุ่งนี้ คนปฏิบัติจะตายเสียก่อน หนึ่งสัปดาห์นักเรียนได้เรียน จริงๆแค่ 2 วันที่เหลือไปประชุม อบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน ฯลฯ แล้วจะเอาคุณภาพมาจากไหน ปฏิรูปสักกี่ครั้งหากพฤติกรรมครูไทยยังเป็นเช่นนี้ เชื่อเถอะเหนื่อยเปล่า โครงการคืนครูให้นักเรียน เด็กธุรการ 1 คน ทำงาน 3 - 4 โรงเรียนใน 1 เดือน มีประโยชน์อะไร???????? ปฏิรูปไทย ทำได้แค่นี้หรือแค่ตัวอย่างนะมีอีกหลายเรื่อง กำกับ ติดตามหน่อยน่าแล้วจะรู้ความจริงวันนี้คืออะไร อย่างนั่งคิดอยู่แต่ในห้องแอร์เลย ทำแบบสอบถามก็ได้ เชิงประจักษ์ยิ่งดี กะเหรี่ยงบอก "เมื่อไหร่จะส่งครูที่จบจริงๆมาให้เสียที มีแต่อบรม อบรม หนึ่งอาทิตย์ลูกผมไปโรงเรียน 2 วัง (วัน) มันจะเก่งได้ยังไงครับคุณครู... (ไทย)..ฮิฮิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท