สังคมสงเคราะห์กับสังคม


สังคมสงเคราะห์กับสังคม

ปัจจุบันงานสังคมสงเคราะห์มีอยู่ในบริบทที่หลากหลาย  ทั้งภาครัฐ เอกชน  และองค์กรสาธารณะประโยชน์ภาคประชาชน  จึงมีนักสังคมสงเคราะห์ปฎิบัติงานอยู่ในสถานที่ต่างๆเช่นในโรงพยาบาล  โรงเรียน เรือนจำ   ฯลฯ

Smale   และคณะ (2000 )  ได้ให้ความหมายของงานสังคมสงเคราะห์ว่าหมายถึง  กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเข้าแทรกแซง ช่วยเหลือเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางสังคม  ซึ่งประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือสนับสนุน  หรือประชาชนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต้องการความช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเหมาะสม  การที่ให้นิยามเช่นนี้จึงมักจะถูกตั้งคำถามว่า นักสังคมสงเคราะห์สามรถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางสังคมได้หรือ ใครเป็นผู้ตัดสินใจให้การเข้าแทรกแซง การเข้าแทรกแซงช่วยเหลือจะทำได้อย่างไร ความเหมาะสมมีบริบทอย่างไร ฯลฯ

ตั้งแต่ก่อกำเนิดการสังคมสงเคราะห์จะเห็นได้ว่าสังคมสงเคราะห์ไม่สามารถแยกออกจากสังคมได้ เราไม่สามารถเข้าใจสังคมสงเคราะห์ได้ หากไม่พิจารณาความเกี่ยวพันกับบริบททางสังคมในแต่ละยุคสมัย

สังคมคืออะไร

พจนานุกรม Oxford (1999) ให้ความหมายว่าสังคมคือแหล่งที่อยู่รวมกันของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในชุมชน ในขณะที่นักสังคมวิทยาซึ่งอาจเรียกได้ว่าผู้ตรวจสอบวิเคราะห์สังคมโดยการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์  จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์สังคม  นักสังคมวิทยาในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาได้มีการค้นคว้าศึกษาลักษณะสังคมแล้วบอกว่าพวกเรากำลังอยู่ในสังคมทันสมัย   เพราะอุตสาหกรรมและความเป็นเมืองทำให้เรามีวิถีชีวิตใหม่  ซึ่งเปลี่ยนจากวิถีชีวิตแบบศักดินา  เกษตรกรรม ความเรียบง่าย  สู่วิถีชีวิต  ทุนนิยม อุตสาหกรรม  และความซับซ้อนในสังคมมีมากขึ้น  นักสังคมวิทยามองปรากฏการณ์  “ทันสมัย”( Modern) เป็นสิ่งที่ดี เป็นความก้าวหน้า เป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ เป็นยุคแห่งความรู้   แม้ว่าจะมีจุดอ่อนในเรื่องของความเสื่อมถอยและสูญหายของค่านิยมประเพณี  และเครือข่ายทางสังคม เมื่อเร็วๆนี้แนวคิดเกี่ยวกับสังคมที่สังคมว่ามีเอกลักษณ์มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ถูกวิพากษ์อย่างหนัก เพราะมีการนำเสนอแนวคิดพหุลักษณ์ในสังคมซึ่งต่อมาเรียกว่า “ยุคหลังสมัยใหม่  (Postmodern) ซึ่งเน้นความหลากหลายของสิ่งที่มีอยู่ในสังคม  ความซับซ้อนและลักษณะที่ไม่คาดคิด (คาดหวังไม่ได้) ของสังคมทุนนิยมในยุคปลาย  คนจะมีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย มีการเคลื่อนย้ายสูง มีความขัดแย้ง มีภาวะเสี่ยงของโลกทั้งใบที่นอกเหนือการควบคุม

 

สังคมสงเคราะห์กับสังคมยุคก่อนอุตสาหกรรม

สังคมสงเคราะห์มีอยู่ก่อนตั้งแต่ดั้งเดิมแต่อาจจะเรียกว่าอย่างอื่นมิได้เรียกว่านักสังคมสงเคราะห์เหมือนในยุคปัจจุบัน  ยุคก่อนอุตสาหกรรม  คนที่ทำบทบาทคล้ายนักสังคมสงเคราะห์มักจะเป็น พระที่ช่วยเหลือรักษาเยียวยาสภาวะทางจิตใจ  ครอบครัว  ญาติ  ผู้นำชุมชน  ซึ่งคนเหล่านี้มักจะดูแลช่วยเหลือคนที่ไร้บ้าน  สูญเสียคนที่รัก  ครอบครัวในภาวะที่ยากลำบาก  ผู้ป่วยทั้งด้านจิตและกาย ในประเทศอังกฤษองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน  เช่น  โบสถ์  และวัดมักจะจัดบริการให้พักกับผู้สูงอายุ  ดูแลผู้ป่วย  เจ้าของที่ดินก็ดูแลผู้เช่าที่ดินหากป่วยหรือผลผลิตจากที่ดินเก็บเกี่ยวได้ไม่ดี

ความอ่อนแอของวัดในช่วงกลางของทศวรรษ.1530 และกระบวนการเปลี่ยนที่ดินที่อุดมสมบูรณ์เหหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์   ทำให้การช่วยเหลือกันระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้เช่าลดน้อยลง   อีกทั้งประชาชนประชาชนในชนบทมีจำนวนลดลงเพราะการเคลื่อนย้ายแรงงานสู่เมืองอุตสาหกรรม   ความกลัวในเรื่องสังคมไร้ระเบียบในช่วงนั้นทำให้เกิดกฎหมาย  Elizabethan  Poor  Law ในปี  1601 กฎหมายฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่ารัฐเข้ามาแทรกแซงช่วยเหลือชีวิตของประชาชน  เนื่องจากการช่วยเหลือตามธรรมชาติของคนที่มีจิตใจบุญกุศลกับองค์กรสาธารณะประโยชน์ไม่เพียงพอแล้ว   กฎหมายฉบับนี้ได้จัดกลุ่มคนจน  ผู้ที่ยากลำบากที่ไม่มีครอบครัวช่วยเหลือ สมควรได้รับความช่วยเหลือจากกฎหมาย  ดังนี้

  •    คนจนหรือคนที่ยากลำบากเพราะสูงอายุ  เจ็บป่วยเรื้อรัง   พิการที่ต้องการดูแลในสถานสงเคราะห์  จะส่งไปช่วยเหลือให้อยู่ในโรงทานหรือสถานสงเคราะห์

  •   คนจนที่ร่างกายสมบูรณ์ดีแต่ถูกมองว่ามองว่าจนเพราะความขี้เกียจจะถูกส่งไปทำงานที่โรงงาน

  •   คนจนที่ร่างกายสมบูรณ์แต่หลบหนีหรือปฏิเสธการทำงานจะถูกส่งไปลงโทษที่  House  of  corrections

กฎหมายฉบับนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐ  มีความรับผิดชอบในการควบคุมลงโทษคนจนที่เลว  ส่วนคนจนที่ดีปล่อยให้องค์กรสาธารณะประโยชน์ช่วยเหลือดูแล   การเกิดขึ้นของนโยบายส่งผลดีกับสังคมระยะแรก เรียกได้ว่ากฎหมาย Poor Law นี้จากเป็นต้นแบบในการพัฒนาปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม

สังคมสงเคราะห์กับสังคมยุคความทันสมัย

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือประสบกับวิกฤตสังคมที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทอย่างรุนแรงนั้นคือผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม  ซึ่งอุตสาหกรรมเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้วิถีชีวิตของคนมุ่งเข้าสู่เมืองเพื่อแสวงหาความเป็นอยู่ที่ดีจากการจ้างงานของอุตสาหกรรม  จึงเกิดปัญหาความยากจน  ความแออัด  ไม่มีที่อยู่อาศัยเจ็บป่วยและโรคระบาด  การติดเหล้าและยาเสพติด  โสเภณี  เด็กถูกทอดทิ้ง  การเข้ามาอยู่ในเมืองอย่างอิสระของชนชั้นกรรมกร  ทำให้คนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองตั้งแต่ดั้งเดิมเรียกร้องหามาตรการบางอย่างที่ต้องควบคุมการเติบโตของชนชั้นกรรมกรที่ถือว่าเป็นอันตราย  มาตรการบางอย่างก็คือระบบสวัสดิการสังคมรวมทั้งการจัดตั้งองค์การสังคมสงเคราะห์วิชาชีพซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์นวตกรรมสังคมขึ้นใหม่และได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐ  ภาคประชาชน  และองค์กรสาธารณะประโยชน์

นวัตกรรมสังคมภาคบังคับจากรัฐ (สวัสดิการสังคม) ในศตวรรษที่ 19 เกิดขึ้นในหลายมิติของชีวิตมนุษย์เริ่มตั้งแต่ สุขภาพอนามัยของสาธารณชน การศึกษา ระบบการคุมขังและการแก้ไขพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเยาวชน การเลี้ยงดูเด็ก การดูแลผู้ป่วยทางจิต  และยังมีการจัดเก็บบันทึกการเปลี่ยนแปลงประชากร ระบบสวัสดิการสังคมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดที่ต่อเนื่องมาของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ดังจะเห็นได้จากการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย  Poor  Law  1834  ที่แบ่งความจนออกเป็น  2  กลุ่ม คือ

1.     คนที่ สมควรจน ได้แก่  ผู้สูงอายุ  คนป่วยเรื้อรัง  คนพิการ  เด็กกำพร้าและแม่หม้าย ซึ่งสมควรได้รับการช่วยเหลือทั้งด้านการบริการและด้านการเงินจากองค์กรสาธารณะประโยชน์

2.     คนที่ไม่สมควรจน  ได้แก่   คนที่ร่างการครบสมบูรณ์แต่ไม่มีงานทำ  แม่เดี่ยว  โสเภณี  ถูกบังคับให้หันเข้าหารัฐ  เข้าสู่แหล่งทำงานที่รัฐจัดให้   เพราะไม่มีการบริการการช่วยเหลือคนจนกลุ่มนี้จากสถาบันอื่นอีก

การที่รัฐแบ่งแยกคนออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจนเป็นคนสมควรจนกับคนไม่สมควรจนนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐต้องมีหน้าที่จัดการและแก้ไขคนชั้นต่ำหรือคนที่สมควรจซึ่งจะต้องเอาออกไปจากสังคม   ไม่มีที่ยืนอยู่ในสังคมใหม่และทันสมัยแบบเมืองอุตสาหกรรม   อย่างเช่น   คนป่วยทางจิต   คนพิการ   และอาชญากรระบบสวัสดิการที่ถือว่าเป็นนวตกรรมสังคมใหม่ในศตวรรษที่ 19 แสดงให้เห็นความคิดใหม่ของรัฐ เป็นครั้งแรก

รัฐแสดงความช่วยเหลือคนทุกคน มิใช่การจัดการกับคนที่ละเมิดอำนาจรัฐเหมือนแต่ก่อน  เช่น  การให้การศึกษาฟรีสำหรับเด็กทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 11 ปี ระบบสาธารณะสุขที่มีผลต่อคนทุกชนชั้น กฎหมายการจ้างงานที่ควบคุมเศรษฐกิจและการปฏิบัติของเจ้าของโรงงานในการจ้างงานและมีกฎหมายที่รัฐสามารถเข้าไปแทรกแซงหัวใจของชีวิตประชาชน นั่นก็คือ “ครอบครัว” ด้วยการออกกฎหมายป้องกันการกระทำการกระทำความรุนแรงต่อเด็กปี 1889 ที่อนุญาติให้เจ้าหน้าที่รัฐเอาเด็กที่ถูกทารุณกรรมออกจากครอบครัวไปสู่ที่ปลอดภัยกว่าได

สังคมสงเคราะห์กับสังคมยุคหลังสมัยใหม่

คงจะเป็นไปไม่ได้หากจะกล่าวว่า “สังคมหลังสมัยใหม่เริ่มต้นเมื่อสังคมสมัยใหม่สิ้นสุดลง” เพราะยุคทันสมัยยังคงอยู่แต่ในขณะเดียวกันโลกยุค ศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว   จะเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างสังคมสงเคราะห์กับสังคมมีการเลี่ยนแปลง   ด้วยกระบวนการทางประวัติศาสตร์   สังคม    เศรษฐกิจ   และการเมืองปัจจัยที่นอกเหนือจากสภาพภูมิศาสตร์ที่แบ่งขั้นความเป็นประเทศมีความหมายมากกว่าความเป็นประเทศ  เช่น  ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่จำกัดที่ประเทศใดปะเทศหนึ่งแต่กลับส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังประเทศต่างๆอย่างไร้พรมแดน  จนไม่มีประเทศใดที่อยู่โดเดี่ยวตามลำพังได้ในกระแสโลกาภิวัฒน์    ความสัมพันธ์ทางสังคมไม่สามารถจำกัดอยู่ในขอบเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งได้แล้ว   ถึงอย่างไรก็ตามโลกาถิวัฒน์ก็ทำให้เห็นชุมชนชายขอบที่มีกระจายอยู่ทั่วโลกซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมที่ท้าทายแนวคิดความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกของชาวตะวันตกโลกาภิวัฒน์เริ่มมีอิทธิพลต่องานสังคมศาสตร์ในประเทศไทย  กรณีแรงงานต่างด้าวอพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทย  เมื่อเจ็บป่วย   หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน  นักสังคมศาสตร์ในโรงพยาบาล   หรือเจ้าพนักงานคุ้มครองเด็กต้องเข้าช่วยเหลือ (กรณีต่างด้าวที่เป็นเด็ก ถูกคุ้มครองด้วยอนุสัญญาสิทธิเด็กและพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก)  ต่างด้าวที่เพิ่มมากขึ้น

นักสังคมสงเคราะห์ต้องมีวิธีการทำงานที่เหมาะสมกับจำนวนผู้ใช้บริการ  และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน รวมทั้งอุปสรรคด้านภาษาการสื่อสารลักษณะสำคัญของยุคโลกาภิวัฒน์ คือ ความสำคัญของข้อมูลข่าวสาร  ข้อมูลข่าวสาร  ผลิตและทำให้สังคมไร้พรมแดนด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทำให้มีการส่งข้อมูล   ความรู้ ต่างๆถึงกันได้ทันที  มีเครือข่ายสังคมมากขึ้นทั่วโลก  ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่องานสังคมสงเคราะห์ในแง่แหล่งทรัพยากรมิได้จำกัดภายในประเทศ  หรือองค์กรแต่สามารถเสาะแสวงหาทรัพยากรได้ทั่วโลกเช่นกัน   แต่ผู้ที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ก็ต้องเป็นผู้ที่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์   จึงยังมีเฉพาะบางกลุ่มหรือชนชั้นกลางขึ้นไปแต่คนยากจนไกลความเจริญก็ยังไม่ได้รับประโยชน์  สังคมหลังสมัยใหม่เป็นสังคมแห่งความเสี่ยง Risk society” ชีวิตของเราเผชิญอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงของโลกที่เราควบคุมไม่ได้    การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคง อ่อนแอ นักสังคมศาสตร์จะต้องหาวิธีการทำงานหรือกลไกลใหม่ในการทำงานท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

หมายเลขบันทึก: 242790เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2009 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ช่วยบอก เกี่ยวกับ

สังคมหลังอุตสาหกรรม ในทุกๆด้านอก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท