นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ : ปุ๋ยสั่งตัดผ่านมือถือ


ปุ๋ยสั่งตัดผ่านมือถือ

นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ : ปุ๋ยสั่งตัดผ่านมือถือ

                        ชาวนาไทยกำลังจะได้สั่งตัด "ปุ๋ย" ลงนาข้าวผ่าน "เอสเอ็มเอส"   โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พัฒนาโปรแกรม ให้ชาวนายุคใหม่ได้สั่งสูตรปุ๋ยผ่าน SMS  ทำให้ชาวนาไทยสามารถหาสูตรปุ๋ยธาตุอาหารพืชที่เหมาะสมกับที่นาตัวเองได้แบบทันใจ และใช้ปุ๋ยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในยุคข้าวราคาแพงด้วย   ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะการประมวลผลภาษาธรรมชาติและเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์    ได้พัฒนาโปรแกรม "1 2 3-ปุ๋ยสั่งตัด-ผ่านมือถือ" (Fertilizer Expert System) ขึ้น  เพื่อให้บริการสั่งตัดปุ๋ยที่เหมาะสมกับแปลงปลูกข้าวแต่ละแปลงของชาวนาไทย
       
                       โปรแกรมดังกล่าวเกิดจากการเชื่อมโยงฐานข้อมูลการเกษตรจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตลอดจนองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ไว้ด้วยกัน รวมถึงระบบคำนวณสูตรปุ๋ยจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และโปรแกรมเชื่อมต่อบริการส่งข้อความสั้นของโทรศัพท์มือถือ (เอสเอ็มเอส) ที่พัฒนาขึ้นใหม่เข้าด้วยกัน
       
                           ซึ่ง "ปุ๋ยสั่งตัด คือ ปุ๋ยที่มีสูตรที่เหมาะสมกับพืช ชนิดดิน และค่าไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมในดินจริงๆ เปรียบเหมือนกับเสื้อสั่งตัดที่พอดีตัว ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีกว่าและประหยัดกว่า ซึ่งดีกว่าสูตรปุ๋ยที่ขายกันตามท้องตลาดที่เปรียบเหมือนกับเสื้อโหล"

                            โดย โปรแกรม "1 2 3 -ปุ๋ยสั่งตัด-ผ่านมือถือ" มีขั้นตอนการทำงานโดยเกษตรกรต้องไปลงทะเบียนประวัติส่วนตัว เบอร์โทรศัพท์มือถือ และพื้นที่ที่ใช้ในการทำการเกษตรเพื่อลงบันทึกในฐานข้อมูลของระบบก่อน จากนั้นก่อนเริ่มปลูกข้าว เกษตรกรต้องส่งข้อความสั้นเพื่อแจ้งผลการสำรวจค่าไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม (N-P-K) ที่ได้จากการวิเคราะห์โดยชุดตรวจ (NPK test kit) หรือจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ให้ระบบรับทราบ
       
                           ถัดจากนั้น ระบบจะคำนวณสูตรปุ๋ยให้โดยอัตโนมัติและตอบกลับข้อความของเกษตรกรในทันที โดยรวมถึงคำแนะนำปริมาณการใส่ปุ๋ยแต่ละครั้ง และประมาณการณ์ผลผลิตต่อไร่ที่คาดว่าน่าจะได้รับด้วย จึงอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรที่ต้องเดินทางไปขอคำแนะนำจากศูนย์เรียนรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตรได้
                      สำหรับวิธีส่งข้อความสั่งตัดปุ๋ยทำได้โดยการส่งข้อความสั้นแสดงปริมาณค่าธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียมตามลำดับไปยังหมายเลขที่จะมีการเปิดให้บริการในอนาคต โดยใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษแสดงค่า 5 ระดับคือ vl หมายถึง "น้อยมาก" l หมายถึง "น้อย" m หมายถึง "ปานกลาง" h หมายถึง "สูง" และ vh หมายถึง "สูงมาก"
       
                         ตัวอย่างข้อความเช่น "vl m h" หมายถึง ดินมีไนโตรเจนต่ำมาก มีฟอสฟอรัสปานกลาง และมีโปแตสเซียมสูง โดยต่อไปยังจะได้หารือถึงการเปลี่ยนตัวย่อให้เป็นภาษาไทยเพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้งานอย่างสะดวกมากขึ้นด้วย
       
                        "ตัวโปรแกรมได้รับการพัฒนาเสร็จแล้ว จึงอยู่ที่การนำไปใช้โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจำเป็นต้องหาเจ้าภาพระดับท้องถิ่นให้ได้ว่าจะมีหน่วยงานใดรับไปขยายผลจริงกับเกษตรกร ระยะแรกต้องสร้างฐานข้อมูลดินขึ้นมาก่อน"
       
                      แต่หากได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกรมพัฒนาที่ดินด้วย ก็จะทำให้ได้แผนที่ดินที่ทำให้ทราบว่าแต่ละพื้นที่มีดินประเภทใดจากกว่า 200 ชุดดินทั่วประเทศ จึงลดขั้นตอนส่วนนี้ลงได้
       
                          ส่วนข้อดีของปุ๋ยสั่งตัดจะลดการใช้ปุ๋ยเกินจำเป็นได้ถึง 740 บาท/ไร่ และจะช่วยประหยัดได้ถึง 11,100 ล้านบาท/ปีในพื้นที่ปลูกข้าว 15 ล้านไร่ในเขตชลประทานของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการถนอมสุขภาพของชาวนาจากผลกระทบของสารเคมีการเกษตร โดยต่อไปยังสามารถขยายผลไปใช้กับพืชตัวอื่นๆ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และยางพาราได้ด้วย

                          นวัตกรรมชิ้นนี้คงได้ประโยชน์เต็ม ๆ  กับภาคเกษตรที่ไม่ค่อยเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ๆ อย่างนี้ ขอชื่นชมครับ .. ในฐานะครูเกษตร ที่นำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้และเผยแพร่ให้กับเกษตรกรที่สนใจ.. ท่านใดสนใจติดต่อที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช น่ะครับ  หรือวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทุกแห่งทั่วประเทศ....
       

 

อ้างอิงจาก

"ปุ๋ยสั่งตัดผ่านมือถือ ". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://tonklagroup.igetweb.com/index.php?mo=3&art=170870

หมายเลขบันทึก: 242653เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2009 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท