จากหมู่บ้านสู่ตำบล และ คนค้ำประกัน


ก่อนที่จะถึงจุดอับจนเรื่องการหมุนหนี้ภายในหมู่บ้าน ตอนนี้ตัวระบบปรับไปสู่การสร้างสถาบันการเงินชุมชนระดับตำบล...

 ตอนที่ดร.ยูนุส (ผู้ริเริ่มธนาคารคนจน Grameen Bank) ไปเจรจากับธนาคารพาณิชย์เพื่อขอให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ให้คนจนโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน  นายธนาคารเสนอให้ใช้คนค้ำประกันกันเอง  ถ้ามีผู้ค้ำประกันที่ไว้ใจได้  ธนาคารก็จะพิจารณาปล่อยสินเชื่อโดยชาวบ้านไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน[1]

 

... เรานึกถึงรูปแบบของกองทุนหมู่บ้านหรือกลุ่มออมทรัพย์ชาวบ้านไทยที่ใช้คนค้ำประกันแทนหลักทรัพย์...  คิดว่า  คำตอบยูนุสตอนนั้นคงจะเป็น ‘ตกลง’  แต่ยูนุสกลับ ‘ไม่ตกลง’    เราสงสัยขึ้นมาทันทีว่า  ยูนุสคิดอะไรอยู่

 

“อะไรจะหยุดผู้ค้ำประกันไม่ให้ฉวยโอกาสเอาเปรียบลูกหนี้ที่เขาไปค้ำประกันให้  เขาอาจกลายเป็นเผด็จการ  อาจจะจะใช้งานลูกหนี้เยี่ยงทาส”  นี่คือคำตอบของยูนุส   คำตอบของนักวิชาการที่คุ้นเคยอยู่ในบริบทของชาวบ้านบังคลาเทศ   ...  เป็นคำตอบที่เราคาดไม่ถึง   และไม่เคยตั้งข้อสงสัยกังวลต่อกรณีการใช้คนค้ำประกันในระบบการเงินฐานรากของไทย

 

ตามประสานักวิชาการขี้สงสัย   เราเคยพยายามถามชาวบ้านไทยเหมือนกันว่า   เขามีวิธีเลือกคนค้ำประกันอย่างไร  และถามประธานกองทุนหมู่บ้านว่า  คนค้ำประกันมีความสำคัญแค่ไหนต่อการพิจารณาให้หรือไม่ให้สินเชื่อ

 

เราแน่ใจว่า คำถามของเราเช่นนี้  ทำให้บางคนหงุดหงิดและคิดว่า  ...นักวิชาการไร้เดียงสาพวกนี้คิดเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก  ทำเรื่องละเอียดอ่อนให้เป็นกลไก   เอากรอบคิดแข็งตัวมาไต่สวนพฤติกรรมชาวบ้าน...

 

สิ่งที่เรามองเห็นขณะนี้คือ    ในกลุ่มระดับหมู่บ้าน “ความสัมพันธ์” เป็นหัวใจของความเป็นกลุ่มชุมชน  แต่เมื่อมองว่า  องค์กรการเงินฐานรากกำลังขยับตัวจากระดับหมู่บ้าน ไปสู่ระดับตำบล   ในระยะห่างที่มากขึ้น   ความสัมพันธ์ใกล้ชิดจะหย่อนลง   “กติกา” จะมีบทบาทสำคัญมากกว่าความสัมพันธ์แบบ bonding แล้ว 

 

และที่สำคัญอีกประการ คือ “เป้าหมาย” หรือ “อุดมการณ์” ของการเป็นองค์กรการเงินชุมชนระดับหมู่บ้านกับระดับตำบลนั้น จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร.. ทำไมจะต้องพัฒนาเป็นองค์กรการเงินระดับตำบล   เราเชื่อว่าเหตุผลที่แท้จริง (ไม่ใช่วาทกรรม) ของแต่ละกลุ่มคงต่างกัน  ในจำนวนนี้ หลายกลุ่มอาจทำเพราะคนอื่นเขาทำกัน  ทำเพราะหน่วยงานสนับสนุนให้ทำ 

 

ตำบลจะทำงานกับหมู่บ้านอย่างไร   แล้วตำบลจะเปลี่ยนหมู่บ้านไปอย่างไร เปลี่ยนชีวิตผู้คนให้ได้ดีกว่าหมู่บ้านอย่างไร

 

จุดทดสอบเมื่อทำงานระดับหมู่บ้าน  กับเมื่อทำงานระดับตำบลน่าจะต่างกัน... นี่คือ ข้อเสนอของเรา

 

รูปแบบการจัดการที่  “ตำบลรับฝาก หมู่บ้านปล่อยกู้”     กับรูปแบบที่ “หมู่บ้านรับฝาก  ตำบลปล่อยกู้” ก็มีความหมายต่างกัน  รูปแบบแรกดูน่าจะเสี่ยงน้อยกว่า

 

คำตอบเรื่องคนค้ำประกันยังไม่ชัดเจน   ชาวบ้านมีวิธีเลือกคนค้ำประกันอย่างไร  เรายังไม่มีโอกาสได้ซักถามต่อ  แต่ก็ได้ถามกรรมการกลุ่มเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องนี้

 

“เวลาปล่อยสินเชื่อ  เราก็ดูนิสัยคนกู้    ดูวงเงิน  ดูคนค้ำประกัน”

“เราไม่ให้เครือญาติค้ำประกันกันเอง”  ประธานกลุ่มหนึ่งตอบ “เหมือนกันเกินไปก็หายกันไปทั้งสามคน”  นี่คือประสบการณ์

“เราจะให้ข้าราชการซี 3 ขึ้นไปค้ำประกัน”  เป็นคำตอบจากกลุ่มในชุมชนเมือง

 

แต่ระบบที่หลายๆกลุ่มใช้เหมือนๆกันคือ  “ถ้าบางคนไม่ยอมคืนเงินกู้   เราก็จะไม่คนอื่นในกลุ่มกู้ยืมอีกต่อไป   สมาชิกทั้งหมู่บ้านก็ต้องมากดดันหรือช่วยเหลือกันเอง”   นั่นคือแผนสองที่ใช้ได้ผล   แต่ทางออกจริงๆอยู่ที่แผนสาม คือ ต้องหาเงินมาให้ได้

 

แผนสาม คือ  กรรมการขยายเวลาให้คืนเงินล่าช้าแล้วช่วยหาทางออกให้  เช่น  กรรมการช่วยจ่ายเงินเสียเอง  หรือ กรรมการช่วยหาทางให้เขาไปกู้ที่อื่นมาคืน   หรือ แม้แต่ใช้ระบบตั๋วเงินชุมชน

 

หนี้เสียจึงน้อย และไม่ใช่ประเด็นน่าเป็นห่วง   แต่ปัญหาการหมุนหนี้ต่างหากที่เป็นโจทย์ยาก

 

ปัจจุบัน ระบบใช้คนค้ำประกันดูจะไม่มีปัญหาในระดับหมู่บ้าน   ส่วนความกลัวแบบยูนุส  คือ  ทำให้ผู้กู้อาจกลายเป็นทาสผู้ค้ำประกันนั้น  ยังไม่เคยได้ยิน

  

แต่เราคิดต่อว่า  หากสมาชิกแต่ละคนหมุนหนี้และหนี้สะสมเรื่อยๆ (แม้หนี้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยังเท่าเดิม) การหาคนค้ำประกันคงยากขึ้นเรื่อยๆ 

....  แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับระบบ.....

 

ก่อนที่จะถึงจุดอับจนเรื่องการหมุนหนี้ภายในหมู่บ้าน ตอนนี้ตัวระบบปรับไปสู่การสร้างสถาบันการเงินชุมชนระดับตำบล...

 

หรือนักวิชาการคิดฟุ้งซ่านเกินไป.. เพราะหลายๆคนคงบอกว่า...คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน.. ชาวบ้านเก่งกว่านักวิชาการอยู่แล้ว

 

 



[1] จากหนังสือ  Mohammad Yunus นายธนาคารเพื่อคนจน  แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล.  กรงเทพฯ: มติชน 2551

หมายเลขบันทึก: 242275เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2009 06:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เพื่อตอกย้ำประเด็นของนักวิจัย

คิดว่าจุดทดสอบสำคัญของกองทุนระดับหมู่บ้านคือ

ปัญหาหนี้สิน

และ

การเข้าถึงคนจน

เครื่องมือจัดการสำคัญอิงอยู่กับ ความสัมพันธ์ที่ใช้ในการสร้างกติกา และ รักษากติกา

หนี้สินเป็นปัญหา ก็อย่ามีหนี้สินเสียก็หมดเรื่อง

สำหรับผม การเป็นหนี้เป็นบาป ไม่มีไม่ใช้ ไม่มีกินไม่กิน มีเท่าไรใช้เท่านั้น

ทำงานก็ได้เงิน ได้ของ เหลือก็ให้ ขาย ได้เงินก็ใช้หรือเก็บ

อยากได้บ้านได้รถ ก็เก็บเงินซื้อ เก็บเงินสร้าง

ชีวิตอิสระไม่ขึ้นกับใคร

ชีวิตง่ายง่ายแค่นั้น

สิ่งที่ต้องทำอย่างมากคือเรื่องการยกระดับจิตใจผู้คนให้ มีปัญญา

รู้ว่าอะไรคือปัญหาแท้จริง

ความรู้ทางพุทธศาสนาที่แท้นั้นช่วยได้

ความสุขที่แท้จริงคืออะไร ควรทำตัวอย่างไรให้ถึงความสุขนั้น

เราน่ามาทำเรื่องเหล่านี้ไม่ดีกว่าหรือ อย่างน้อย คนรุ่นใหม่ของเราจะได้ไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาหนี้สินอีก

ทำอย่างไรหนอ ความอยากจะน้อยลง..... :-)

คุณชินคะ

ในวิถีการผลิตแบบเกษตรเชิงเดี่ยว เน้นการขาย ยากที่จะไม่เป็นหนี้ค่ะ

เช่น ชาวนาที่ชัยนาทลงทุนปลูกข้าวฤดูหนึ่ง 75,000 - 90,000 บาท (30 ไร่) หากจะลงทุนปลูกต้นฤดู ถ้าไม่มีเงินของตัวเองก็ต้องกู้ก่อน รอไปอีก 3 เดือนจึงจะเก็บเกี่ยวได้ผลผลิต ช่วง 3 เดือนที่รอผลผลิต หนี้ก็เพิ่มด้วยดอกเบี้ยแล้ว

เดือนที่ผลผลิตออก ถ้าน้ำไม่ท่วม นาไม่แล้งเสียก่อน จึงจะได้เก็บเกี่ยวมีรายได้

ถ้าข้าวราคาดี ใครที่มีที่ดินตัวเองใช้แรงงานตัวเองก็ยังพอได้ผลตอบแทนกลับเป็นค่าตอบแทนที่ดินและแรงงานของตัวเองก็จะดูเหมือนมีเงินเหลือหน่อย (แต่เงินที่เหลือยังไม่ใช่ "ส่วนเกิน" ที่เป็นกำไรจริงๆ เพียงแต่เขายังไม่คิดค่าแรงค่าที่ตัวเอง)

ใครที่เป็นผู้เช่าที่ดิน ก็ต้องหักค่าเช่าก่อนไร่ละ 1000-2000 บาท

แต่ถ้าช่วงที่ราคาปานกลาง ก็เสมอตัว

ถ้าราคาต่ำ ก็อาจขาดทุน

หากจะลดเงินกู้ก็ต้องลดต้นทุน หลายคนพูดเรื่องเกษตรอินทรีย์ แต่เกษตรอินทรีย์ก็ทำคนเดียวไม่ได้ เพราะจะปลอดสารอยู่แปลงเดียวไม่ได้ ต้องชวนกันทำเป็นกลุ่ม คิดไม่ตรงกันก็รวมกลุ่มไม่ได้อีก...

เปรียบเทียบกับคนเย็บเสื้อโหลขาย ยังพอมีรายได้ทะยอยเข้ามาเรื่อยๆ หากขยัน ไม่ต้องอั้นสามเดือนเหมือนชาวนา (หรือนานกว่านั้นถ้าเป็นข้าวนาปีที่ไวต่อแสง)

หากขายเสื้อไม่ออก ก็ยังเก็บเสื้อไว้ได้

แต่หากเป็นข้าว ไม่ขาย ก็ต้องหายุ้งฉางมาจัดเก็บ มดมอดหนูมากิน ถึงราคาต่ำก็ขาย

วิธีหนึ่งที่จะกระจายความเสี่ยงคือ เล่นหวย ...เพราะเสี่ยงที่จะได้-เสีย ไม่ต่างจากปลูกข้าวทำนา แถมไม่เหนื่อยเท่าไหร่ ไม่ต้องลงทุนทีละ 7-8 หมื่นก็ได้

อีกวิธีคือ เกษตรกรปลูกพืชทำเกษตรหลายอย่าง จึงพอจะกระจายความเสี่ยงและมีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ แต่หากทำเชิงเดี่ยว ก็จะมีความเสียงสูงและรายได้เป็นช่วงๆ ช่วงที่รายได้ไม่เข้ามา ก็กู้ยืมอย่างเดียว..

ขอบคุณครับอาจารย์

ผมยังเห็นว่าการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงคือ เกษตรกรเองต้องเจียมตัว ไม่เป็นหนี้ ทำงานให้มาก จ้างให้น้อย อยากให้น้อยหน่อย

ถ้าไม่แก้ที่ใจของเขา ก็ไม่มีทางช่วยอะไรทีถาวรได้

อาจารย์ครับ ไม่ทราบว่า เกษตรกรในฝันควรเป็นอย่างไรหรือครับ

แล้วประเทศเรามีคนเหล่านี้บ้างไหม

และมีใครพยายามสร้างฝันให้เป็นจริงบ้างไหมครับ

ผมอึดอัดใจกับปัญหาที่ม่มีทางออก หรือมีแต่ไม่มีใครแก้ไขจริงจัง

เป็นอย่างที่คุณชินว่า คือ ปัจจุบัน เกษตรกรมักจ้างแรงงาน เป็น "เกษตรกรชี้นิ้ว" ทำให้มีรายจ่ายที่เป็นตัวเงินสูง

บางกรณี ถ้าจ้างแรงงาน แล้วตัวเองไปทำอย่างอื่นที่ได้ประโยชน์มากกว่าก็ดีไป แต่บางกรณีก็ไม่ใช่เช่นนั้น

ปัญหาของการใช้แรงงานจ้างอีกอย่างหนึ่งคือ เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพของผลผลิตและผลิตภาพ เช่น ลูกจ้างผสมน้ำในน้ำยาง หรือใช้สารเร่งฮอร์โมนมากเกินจำเป็น เพราะคิดว่าจะทำให้ได้ผลผลิตมาก น้ำหนักมาก ตัวเองจะได้ส่วนแบ่งมาก เป็นต้น

ส่วนเงินค่าปุ๋ย ค่ายา บางครั้งก็เป็นปัญหากับผู้ให้กู้ เช่น ในบางพื้นที่ เกษตรกรบอกว่า ถ้ากู้เงินจาก ธกส. เขาจะถูกบังคับให้ซื้อปุ๋ยกับยาด้วย ทั้งๆบางที่ก็ไม่ต้องการ กรณีเช่นนี้ก็อาจเกิดกับการกู้เงินจากพ่อค้าเช่นกัน (ธกส.ทำตัวเป็นแบบพ่อค้า)

ความพอเพียง เป็นวิธีคิดที่ตระหนักรู้และรอบคอบตั้งแต่ต้น คิดถูก ก็จะมีส่วนช่วยให้ทำถูกค่ะ

ที่พิษณุโลก เกษตรกรทำนา บอกว่า เขาจนกว่าคนที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เพราะคนที่รับจ้าง ถ้าขยันก็จะมีรายได้ ไม่ต้องลงทุนแต่ลงแรงก็ไม่ต้องเป็นหนี้ (เพราะทุนเป็นของคนอื่น แรงเป็นของเราเอง..ปัทมาวดีว่าเอง) เกษตรกรทำนายากจนเพราะลงทุน แต่ไม่ได้ผลบ้าง ถูกโกงบ้าง เกษตรกรเล่าว่า หมู่บ้านของเธอถูกโกงทั้งหมู่บ้าน คือ ตอนแรกก็เข้ามารับซื้อข้าวดีๆ (อ้างว่าเป็นทหารเข้ามาช่วย) ตอนหลังๆ เอาข้าวชาวบ้านไปแล้วหายไปเลย ยังตามตัวไม่ได้และไม่รู้จะตามยังไง..

จนแล้วยังถูกเอาเปรียบอีก ...ทำนาบนหลังคนจริงๆ และคนที่ทำนาบนหลังคนก็มาจากสารพัดทิศ บางครั้งก็รวมหน่วยงานภาครัฐด้วย

สวัสดีคะอาจารย์

วันนี้การแก้ปัญหาหนี้เสียทั้งในระดับ หมู่บ้าน และ ตำบล(จากตัวอย่างที่นครศรีฯ) พบว่าการแก้ปัญหายังเลือกที่จะรักษา "ความสัมพันธ์" มากกว่า "กติกา"

กลุ่มกองทุนหมู่บ้านสระแก้ว มีกิจกรรมในกลุ่มเหมือนสถาบันการเงินทุกประการคือมี การฝากสัจจะ ฝากพิเศษ ฝากหุ้น กู้เงินธกส. รวมเงินหมุนเวียน 3 ล้านบาท แต่ยังไม่ยกระดับเป็นสถาบันการเงิน ประธานบอกว่าหากเปิดเป็นสถาบันฯ กลัวนายทุนเข้ามาเอาเปรียบคนจน ในขณะที่ สถาบันการเงินโมคลานกับบ่อนนท์ ให้ความเห็นว่า นายทุนย่อมเข้ามาเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ การที่นายทุนนำเงินมาฝากสถาบันนับว่าสถาบันประสบความสำเร็จที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นายทุนได้ แต่มีความเสี่ยงหากเกิดการถอนจำนวนมาก การป้องกันความเสี่ยงตรงนี้คือพยายามสร้างเครือข่ายสถาบันการเงิน ต้องมีการยืมเงินระหว่างกันได้ในกรณีฉุกเฉิน(คือมีการถอนเงินมาก สถาบันมีไม่พอจ่าย)

วกกลับมาที่เรื่องการแก้ปัญหาหนี้เสีย ที่กองทุนหมู่บ้านสระแก้ว และสถาบันการเงินควนกรด(ระดับตำบล) บอกว่าการแก้ปัญหาหนี้วันนี้คำนึงถึงความสัมพันธ์ การฟ้องร้องต่อลูกหนี้ ทั้ง 2 กลุ่มเลือกที่จะไม่ทำ เนื่องจากเกรงเรื่องความแตกแยกในหมู่บ้าน ตำบล และจะโยงมาสู่ความเชื่อถือของสมาชิกที่มีต่อสถาบันลดลงด้วย บอกว่าได้ไม่คุ้มเสีย

(ขออนุญาตแลกเปลี่ยนคะ) 

สวัสดีค่ะน้องรัช

ความสัมพันธ์.. ทำให้การแก้ปัญหากลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน..

บางคนบอกว่า นี่คือจุดอ่อนของทุนทางสังคม คือ หากเกิดเป็นความเกรงใจทำให้ตัดสินใจยาก ไม่ตรงไปตรงมา และมีโอกาสหลุดกติกาและเสียความเป็นธรรมได้เหมือนกัน

การยึดกติกาเป็นตัวตั้ง "ฟันธงไปตามกฎ" บางทีก็โหดสำหรับบุคคล แต่อาจจำเป็นต้องยึดส่วนรวมเอาไว้..

การยึดกติกาที่ตกลงกันไว้แล้วเกิดเป็นความแตกแยก ...จะแปลว่าอย่างไรดี คนไม่ดีหรือกติกาไม่เหมาะ ??

(ดีใจที่ได้แลกเปลี่ยนค่ะ)

ขอขยายความที่อาจารย์เขียนเล็กน้อยนะคะ จริงๆ แล้ว ระบบที่ยูนุสไม่เห็นด้วย คือระบบที่ใช้ "ผู้มีฐานะดี" เป็นคนค้ำประกันเิงินกู้ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของธนาคารกระแสหลัก เวลาลูกหนี้เองไม่มีหลักทรัพย์พอที่จะใช้เป็นหลักประกัน

ระบบที่ยูนุสคิดขึ้นมาใหม่คือ ให้ "ชาวบ้าน" ด้วยกันเอง (ลูกหนี้) ซึ่งไม่มีใครมีฐานะเลย ค้ำประกันหนี้ซึ่งกันและกัน อาศัยทุนทางสังคมและความไว้เนื้อเชื่อใจ แทนที่หลักทรัพย์

ตรงนี้คงต้องขออภัยว่าอาจเป็นความอ่อนหัดของคนแปล ทำให้ความหมายออกมาไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท