น้ำปลาลดโซเดียม


น้ำปลาลดโซเดียม

สืบเนื่องจากบันทึกครั้งที่แล้ว ขอขอบคุณ คุณ ขจิต ฝอยทอง ที่ได้กรุณาแจ้งให้ทราบว่าไม่สามารถอ่านบันทึกได้ค่ะ วันนี้เลยปรับปรุงบันทึกใหม่ค่ะ และขออภัยทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

หลายๆท่านคงเคยได้ยินชื่อของน้ำปลาลดโซเดียมกันมาบ้างแล้วนะคะ  น้ำปลาชนิดนี้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่าใช้สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง วันนี้เรามาดูกันว่า น้ำปลาลดโซเดียมที่เค้าว่ากันว่าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ บวกกับราคาที่ค่อนข้างจะแพงกว่าน้ำปลาปกติทั่วไป จะช่วยถนอมสุขภาพของเราได้จริงหรือเปล่า

เริ่มจากน้ำปลาปกติโดยทั่วไปก่อนเลยค่ะ

-   น้ำปลาปกติ 1 ช้อนชา จะมีปริมาณโซเดียม 1,000 – 1,200 มิลลิกรัม (ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำปลาค่ะ)

-   ในคนปกติต้องการโซเดียม 2-2.5 กรัม/วัน (2000-2500 มิลลิกรัม)

ถ้าเราปรุงอาหาร เช่นว่า เราทำต้มจืด แล้วใส่น้ำปลาลงไป 1 ช้อนชา (5 ml.) แล้วเราทานต้มจืดนั้นคนเดียวหมดเลย ซดไม่ให้เหลือน้ำเลย ย้ำนะคะ ว่าทานคนเดียว ไม่ได้แบ่งให้ใคร แปลว่าอาหารมื้อนี้ เราอาจจะได้รับโซเดียมมากถึง 1,200 มิลลิกรัม  แต่ก็อย่าลืมว่าใน 1 วัน เราไม่ได้รับประทานแค่มื้อนี้มือเดียวเท่านั้น รวมถึงปริมาณโซเดียมที่ได้รับนั้น ไม่ได้มาจากน้ำปลาหรือเกลือเพียงเท่านั้น

-         ในไข่ 1 ฟองมีโซเดียมประมาณ 60 มิลลิกรัม

-         นมสด 1 แก้ว ประกอบมีโซเดียมอยู่ประมาณ 120 มิลลิกรัม

          โดยสรุปแล้วส่วนใหญ่เรามีปัญหาเรื่องการรับประทานโซเดียมมากเกินไปค่ะ

และจากครั้งที่แล้วที่เคยเขียนเรื่องเกลือ(โซเดียมคลอไรด์) ไว้ เราจะทราบได้ว่าการได้รับโซเดียมมากเกินไปมีผลทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย เช่นโรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น

จากปัญหาดังกล่าวทำให้มีการผลิตน้ำปลาลดโซเดียมขึ้นมา โดยลดปริมาณโซเดียมคลอไรด์ที่ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำปลาลงไป แล้วใช้โพแทสเซียมคลอร์ไรด์ (เป็นเกลือเหมือนกันค่ะ เค็มเหมือนกันเลย แตกต่างกันที่โครงสร้างทางเคมีค่ะ) ใส่ไปชดเชยปริมาณโซเดียมที่ถูกลดลงไป ทำให้เราได้น้ำปลาที่ยังคงความเค็มเหมือนเดิม แต่ปริมาณโซเดียมน้อยลง (จากข้อมูลอ้างอิง: น้ำปลาสูตรลดโซเดียม 1 ช้อนชา จะมีปริมาณโซเดียมเพียง 200 มิลลิกรัม) สรุปว่าเป็นเรื่องจริงค่ะที่น้ำปลานี้ช่วยเราได้มากในเรื่องของความดันโลหิตสูง   แต่....?? !!!

แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว หลาย ๆ ท่าน ได้เกิดความเข้าใจผิดว่า เมื่อเรามีน้ำปลาลดโซเดียมใช้แล้ว เราจะบริโครเค็มเท่าไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการจำกัดความเค็มในอาหารอีกต่อไป (เช่นเดียวกับกรณีของการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งไม่ส่งผลต่อความอ้วน หรือการก่อให้เกิดฟันผุ) ...ถ้าหากเราสังเกตุที่ฉลากของน้ำปลาลดโซเดียมแล้ว เราจะเห็นว่า มีตัวอักษรสีแดง แสดงข้อความเตือนว่า ใช้เกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต (ตามกฎหมายฉลากอาหาร) นั่นแปลว่า ไม่ว่าจะยังไง ไตก็ยังคงต้องทำหน้าที่ในการกำจัดสารเหล่านี้ออกจากร่างกาย หากเราบริโภคมากเกินไป

และสำหรับผู้ป่วยบางท่าน(บางกรณี) ที่เป็นความดันโลหิตสูง ซึ่งใช้น้ำปลาลดโซเดียม ขอให้ท่านตรวจเช็คสาเหตุของโรคด้วยค่ะ เพราะว่าบางท่านที่เป็นความดันโลหิตสูงนั้น อาจเนื่องมาจากว่าการทำงานของไตบกพร่อง ไตไม่สามารถขับโซเดียมออกมาได้ ทำให้เกิดการสะสมของโซเดียมในร่างกายมากเกินไปจึงทำให้ความดันโลหิตสูง และถ้าหากท่านใช้น้ำปลาลดโซเดียม โดยที่ไม่ได้จำกัดความเค็มของอาหารแล้ว โพแทสเซียมที่มากเกินไปก็ยิ่งทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น เพราะว่าร่างกายไม่สามารถจะขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกได้ทางอื่นเลย นอกจากไตจะกรองออกเท่านั้น

ในกรณีที่ไตไม่สามารถกำจัดโพแทสเซียมส่วนเกินออกได้ทัน จะทำให้เกิดการคั่งของโพแทสเซียมในร่างกาย จากนั้นเราก็จะเริ่มจากเราจะมีอาการชาค่ะ ชาบริเวณแขนขา ต่อมาก็จะซึม จิตสับสน มีอาการเป็นอัมพาต  ซีดและตัวเย็น ความดันเลือดลดลงเป็นอย่างมาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจหยุดเต้นและเสียชีวิต (เพราะว่าโพแทสเซียมทำหน้าที่ช่วยในการควบคุมสมดุลกรด-ด่าง, การ ทำงานของกล้ามเนื้อและเซลล์ประสาท ภายในร่างกายร่วมกับโซเดียม  ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จึงได้รับคำแนะนำให้ทานอาหารที่มีโพแทสเซียม เช่น กล้วย กะหล่ำปลี มะเขือเทศ) 

หมายเหต: การควบคุมระดับโพแทสเซียมภายในเซลล์ของร่างกายยังขึ้นอยู่ปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น ฮอร์โมนอินซูลิน, aldosterone, epinephrine

“We are what we eat”

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง และสนุกกับการฉลาดเลือกบริโภคค่ะ

reference

- www.amed.go.th/rta_med/profess/AMED-Journal-Website/PDF/60-3-4/8.pdf

- http://www.elib-online.com/doctors/med_kidney4.html

- http://72.14.235.132/search?q=cache:-gmNB712ZJkJ:en.wikipedia.org/wiki/Potassium+Potassium&hl=th&ct=clnk&cd=1&gl=th

 -http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_food/a_fd_1_00t.asp?info_id=251

- http://seawning.spaces.live.com/default.aspx?sa=90289209

- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 203) พ.ศ. 2543  เรื่อง น้ำปลา

- สรีรวิทยา2, ศิริราช

- Medical Physiology, Guyton & Hall

- Harper's Illustrated Biochemistry

หมายเลขบันทึก: 242052เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2009 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ตามมาอ่านต่อค่ะ เป็นข้อมูลที่ควรรู้จริงๆค่ะ ขอบคุณมาค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณ @..สายธาร..@

ขอบคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยม

happy valentine's day เช่นกันค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณ Lin Hui

ขอบคุณเช่นกันค่ะ ที่แวะมา

ขอบคุณสำหรับดอกไม้ค่ะ สวยมากๆค่ะ

ไม่เคยเห็นดอกกุหลาบแบบนี้มาก่อนเลยค่ะ

เจริญพร antbug

เข้ามาอ่าน ได้ควา่มรู้ดี

สวัสดีค่ะ

  • เราควรรู้และเข้าใจก่อนที่เราจะทานเข้าไป
  • เป็นเรื่องสำคัยและน่ารู้
  • ขอขอบคุณค่ะ..ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

“We are what we eat”

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง และสนุกกับการฉลาดเลือกบริโภคค่ะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

นานมากแล้วค่ะที่ไม่ได้เจอพระ

ดีใจค่ะที่พระคุณเจ้าแวะมา

สวัสดีค่ะ คุณครูคิม

ขอบคุณมากๆ ค่ะ สำหรับกำลังใจ

ได้กำลังใจแล้วหน้าชื่นตาบานค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูล

ขออนุญาต นำไปปรับใช้นะค่ะ

โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่เจอบ่อย

พอดีผมกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้พอดีครับ

ข้อมูลมีประโยชน์มาก ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติ่ม

รบกวนส่งให้ด้วยนะครับ [email protected]

ขอบคุณมากๆครับ

สารเคมีทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษ จะคุณหรือโทษอยู่ที่ปริมาณและความเข้มข้นครับ

อะไรที่ว่าดีมีประโยชน์ถ้ามากเกินก็ย่อมเป็นพิษ สารพิษบางชนิดเมื่อใช้ในปริมาณน้อยลงจนเหมาะสมก็ย่อมเป็นประโยชน์ได้ เช่น น้ำไม่น่าเป็นพิษแต่ถ้าเราดื่มน้ำสัก10ลิตร/วันก็คงตาย   พิษจากพืช สัตว์ รา แบคทีเรียหรือแร่ธาตุบางชนิดเมื่อนำมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสมกลับกลายเป็นยาได้ ไม่ว่าจะพาราเซตตามอล แอสไพริน คลอร์เฟนิรามีนล้วนเป็นพิษทั้งหมด เมื่อนำมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็กลับเป็นยาได้

potassium chlorided ก็ใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อประหารชีวิตนักโทษได้ด้วยนี่ครับ

ใช่เลยค่ะ คุณ boat2231 ถูกต้องทุกประการค่ะ

Potassium chloride ถ้าเข้าใจไม่ผิดน่าจะใช้ฉีดเพื่อให้หัวใจหยุดเต้นค่ะ

ขอถามค่ะ อากงเป็นโรคไต ความดันสูง เบาหวานและอัมพฤตด้วย สามารถทานน้ำปลาลดโซเดียมได้หรือไม่คะ ปัจจุบันใช้เครื่องปรุงปกติในปริมาณที่น้อยอยู่แล้ว หากใช้ในปริมาณเท่าเดิมแต่เปลี่ยนเป็นสูตรลดโซเดียมจะมีผล ดีหรือผลเสียยังไงคะ?

คือในรายที่เป็นความดันเลือดสูงสูตรลดโซเดี่ยมช่วยได้ถูกมั้ยครับแต่คนเดียวกันเลยเป็นโรคไตด้วยและลดเค็มไม่ค่อยได้ กรณีพ่อตาผมเอง แล้วดันมีเบาหวานด้วย หัวใจอีกอจะมีวิธีการดูแลเรื่องรสชาติยังไงครับเผื่อท่านอื่นเป็นเหมือนเคสพ่อตาผมขอบคุณครับ ไม่มีรสชาติเลยก็กินไม่ลง เอาอะไรให้กินก็ต้องใส่ Equre ตลอด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท