การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ของหลักสูตร ฯ 51


   อาทิตย์นี้พึ่งจัดอบรมขยายผลเรื่องหลักสูตร ฯ 51 ให้แก่คณะครูโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนนำร่องหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  เสร็จสิ้นไปหมาด ๆ  สาระในการอบรมแบ่งเป็น 4  ส่วนใหญ่ ๆ  คือ  1. การทำความเข้าใจในส่วนที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากหลักสูตร ฯ 44  2. การทำความเข้าใจในเรื่องของหลักสูตรอิงมาตรฐานและรายละเอียดของหลักสูตร ฯ 51  3. การจัดทำหน่วยการเรียนรู้  และ 4 . การวัดและประเมินผล   ในฐานะที่รับผิดชอบในเรื่องของการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ได้ใช้เวลาเกือบ 2  วันในการทำความเข้าใจกับคุณครู  และพบว่าครูส่วนใหญ่ยังติดยึดกับความคิดเดิม ๆ ไม่ค่อยยอมเปลี่ยนแปลง แต่การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม  ไม่สลับซับซ้อนหรือมีขั้นตอนมากเช่นที่ผ่านมา ทำให้ครูมองเห็นหลักสูตรฯ 51 ไม่น่ากลัว(ว่าจะสร้างความลำบากให้ครู)อย่างที่คิด  สาระของการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ได้แบ่งออกเป็น 3  ตอน คือ  การวิเคราะห์มาตรฐานและตัวชี้วัด    การจัดทำคำอธิบายรายวิชา   การจัดทำโครงสร้างรายวิชา   และการออกแบบหน่วยการเรียนรู้  ใครอยากลองจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามหลักสูตร ฯ 51  ก็ลองทำตามดูนะคะ

   1. ก่อนอื่นคงต้องเริ่มวิเคราะห์มาตรฐานและตัวชี้วัดกันก่อน โดยครูควรเลือกวิเคราะห์มาตรฐานและตัวชี้วัดจากกลุ่มสาระการเรียนรู้ใดกลุ่มสาระการเรียนรู้หนึ่ง  ในชั้นที่ต้องการทำ  ขั้นตอนนี้เป็นการวิเคราะห์เนื้อหา (Content  analysis) จากมาตรฐานและตัวชี้วัด  ว่าข้อความที่ตัวชี้วัดกำหนดไว้ส่วนใดเป็นเนื้อหาสาระที่นักเรียนควรรู้  (k )  ส่วนใดเป็นทักษะหรือกระบวนการที่ควรทำได้ปฏิบัติได้ (  P )  และส่วนใดเป็นคุณลักษณะที่ควรเกิดขึ้นกับนักเรียน( A)  ซึ่งในหลักสูตร ฯ 44  จะมีกระบวนการที่วิเคราะห์เนื้อหาเช่นเดียวกันเพียงแต่เป็นการวิเคราะห์จากมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น  สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้ก็คือว่า ครูต้องวิเคราะห์เฉพาะเนื้อหาที่ปรากฏ  ไม่ต้องเพิ่มเติมส่วนอื่น ๆ  เข้าไป  ตัวอย่างเช่นตัวชี้วัดในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  สาระการเขียน   ตัวชี้วัดที่ 3  ชั้น ป.3 ระบุว่า "เขียนบันทึกประจำวัน" เมื่อวิเคระห์ตามเนื้อหาที่ปรากฏก็จะได้เป็นทักษะกระบวนการเพียงอย่างเดียว  ในการอบรมพบว่าครูเป็นห่วงว่าจะมี  K,A,P  ไม่ครบถ้วนถึงไปหารายละเอียดมาใส่เสียมากมาย  หรือตัวชี้วัดที่ 5  ที่ระบุว่า " เขียนเรื่องตามจินตนาการ "  ครูก็ไม่ต้องนำส่วนที่เป็นสาระแกนกลางมาใส่ เพราะในสาระแกนกลางที่กำหนดให้นั้น ครูต้องพิจารณาว่า เนื้อหาสาระใดที่นักเรียนทุกคนควรได้เรียน  และเนื้อหาสาระใดที่ระบุไว้แต่ให้ครูเลือกนำไปใช้เป็นเครื่องมือที่จะทำให้นักเรียนมีทักษะหรือกระบวนการที่ต้องการหรือเกิดคุณลักษณะที่ต้องการ  ครูไม่ต้องวิตกกังวลว่าตัวชี้วัดแต่ละตัวจะมี K, A, P   ไม่ครบ  เพราะตัวชี้วัดแต่ละตัวจะส่งผลไปยังมาตรฐานอยู่แล้ว  การเพิ่มเติมอะไรเข้าไปมากมาย เมื่อหยิบนำมาใช้ในขั้นต่อไปก็จะหยิบมาได้ไม่ครบ ทำให้บางส่วนหลุดไป ไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดและมาตรฐาน 

                  คราวนี้คุณครูคงต้องใช้ทักษะในการอ่านและการตีความกันเป็นอย่างมาก  อย่าลืมอ่านแล้วจับใจความให้ได้ว่าตัวชี้วัดต้องการวัดอะไร  อย่ามัวเพลินนำตัวขยายที่มีในตัวชี้วัดมาพิจารณาแยกส่วนจะทำให้การตีความตัวชี้วัดคลาดเคลื่อนไปได้   เมื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดครบทุกข้อแล้วอย่าลืมนำผลการเรียนรู้ (คือตัวชี้วัดเหมือนกันแต่ถ้าเป็นหลักสูตรระดับท้องถิ่นใช้คำว่า"ผลการเรียนรู้" แทน)จากหลักสูตรระดับท้องถิ่นมาวิเคราะห์เช่นเดียวกัน  เสร็จแล้วก็จะสามารถจัดทำคำอธิบายรายวิชาได้แล้ว   ลองวิเคราะห์ตัวชี้วัดให้เสร็จสิ้นแล้วพบกับการจัดทำคำอธิบายรายวิชาในคราวต่อไปค่ะ

หมายเลขบันทึก: 241841เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2009 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ ขอให้มีความสุขทุกวันเช่นเดียวกันค่ะ (จำได้ว่าหอยขาวที่ สุราษฏร์ธานีอร่อยมาก หากมีโอกาสแวะเวียนไป คงต้องขอคำแนะนำเมนูอื่น ๆ นะคะ )

ขอบคุณมากค่ะชัดเจนมากสอนให้ตรงกับตัวชี้วัดต้องการและวัดผลให้บรรลุตัวชี้วัดนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท