ใบความรู้เรื่องดรรชนี


หนังสืออ้างอิง

ดรรชนี (Index)

 

 

          ดรรชนี (Index)  เป็นหนังสืออ้างอิงที่ชี้แหล่งข้อมูล  เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทที่บอกให้ทราบว่าจะหาสารสนเทศจากแหล่งใด  และจะไม่มีสารสนเทศที่ต้องการทันที  แต่จะบอกแหล่งที่ให้บริการว่าสามารถสืบค้นสารสนเทศได้จากที่ใด

          ดรรชนี (Index)  คือ  หนังสือที่รวบรวมรายการ  หัวข้อเรื่องหรือบทความในวารสาร  ในหนังสือพิมพ์ในหนังสือและวัสดุสิ่งพิมพ์ต่างๆ  ที่ได้รับการเรียบเรียงอย่างมีระเบียบ  เพื่อช่วยในการค้นคว้าและสืบหาข้อความสำคัญ  หัวข้อเรื่อง  หรือบทความที่ต้องการว่าอยู่ในวารสาร  หนังสือพิมพ์  หรือหนังสือชื่อใด  ใครเป็นผู้แต่ง  แต่งไว้ตั้งแต่เมื่อไร  และปรากฏอยู่หน้าใดของสิ่งพิมพ์ดังกล่าว

          ดรรชนี  หมายถึง  สิ่งที่บ่งชี้ไปยังแหล่งข้อมูล  ซึ่งดรรชนีนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง ของหนังสือหรือหนังสือที่ให้รายการอันมีรายละเอียดเกี่ยวกับ  ชื่อ  หัวข้อ  คำศัพท์  หัวเรื่อง  ชื่อเรื่อง  ชื่อผู้แต่ง  ชื่อคน  ชื่อสถานที่  หรือรายการอื่น ๆ  ที่มีความสำคัญว่าอยู่หน้าในหนังสือเล่มเดียวกัน  หรืออยู่ในหนังสือเล่มใด  หน้าใดในหนังสือวารสาร  หรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ  เป็นต้น

ประโยชน์ของดรรชนี

                      1)  ช่วยให้ผู้ใช้สารนิเทศค้นเรื่องเฉพาะเจาะจง  ซึ่งมักเป็นเรื่องทันสมัย

                      2)  นอกจากค้นหาเรื่องที่ต้องการแล้ว  ยังสามารถใช้สำรวจเรื่องอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้อง

                      3)  ช่วยประหวัดเวลาและแรงงานในการศึกษาวิจัยเพราะช่วยให้ผู้ใช้ค้นเรื่องได้           ตรงประเด็นและรวดเร็ว

                      4)  ช่วยขจัดความซ้ำซ้อนในการศึกษาวิจัย  เพราะดรรชนีจะช่วยให้ทราบได้ทันทีว่าผู้ใดทำงานวิจัยเรื่องใดไว้บ้างแล้ว  ทั้งทำให้ได้แนวคิดจากเรื่องที่มีผู้ศึกษาวิจัยไว้แล้ว  หรือนำเอาผลวิจัยนั้นมาศึกษาต่อให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไป

                      5)  เป็นสื่อระหว่างทรัพยากรสารนิเทศและผู้ใช้  และทำให้ทราบความสัมพันธ์ของรายการดรรชนี 

                      6)  ทำให้ทราบถึงแนวโน้มหรือสะท้อนถึงความคิดเห็นในสาขาวิชา

          หนังสือดรรชนี  คือ  หนังสือที่รวบรวมรายการ  หัวข้อเรื่องหรือบทความในวารสาร  ในหนังสือพิมพ์  ในหนังสือและวัสดุสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ  ที่ได้รับการเรียบเรียงอย่างมีระเบียบ  เพื่อช่วยในการค้นคว้าและสืบหาข้อความสำคัญ  หัวข้อเรื่อง  หรือบทความที่ต้องการว่าอยู่ในวารสาร  หนังสือพิมพ์  หรือหนังสือชื่อใด  ใครเป็นผู้แต่ง  แต่งไว้ตั้งแต่เมื่อไร  และปรากฏอยู่หน้าใดของสิ่งพิมพ์ดังกล่าว

ความสำคัญของหนังสือดรรชนี

          หนังสือดรรชนีเป็นคู่มือค้นหาสารนิเทศจากหนังสือ  บทความในหนังสือ  บทความในวารสาร  บทความในหนังสือพิมพ์และสาระสังเขป  หนังสือดรรชนีมีความสำคัญช่วยให้ค้นหาสารนิเทศได้สะดวกและรวดเร็วทันกับความต้องการที่จะใช้  เพื่อประโยชน์ของบุคคลในทุกวงการ  ถ้าหากไม่มีหนังสือดรรชนีแล้วการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ  ต้องใช้เวลานาน  ทำให้การปฏิบัติงานทุกอย่างล่าช้า  ดรรชนีช่วยชี้แนะให้สามารถค้นหาสารนิเทศที่กระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ  ได้อย่างทั่วถึง  เพราะดรรชนีแสดงถึงความสัมพันธ์ของทรัพยากรสารนิเทศที่นำมาทำดรรชนี  นอกจากนี้หนังสือดรรชนี ยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเครื่องป้องกันมิให้สารนิเทศบางเรื่องถูกละเลยโดยไม่มีการนำมาใช้อีกด้วย

วิธีใช้หนังสือดรรชนี

          การใช้หนังสือดรรชนีวารสาร  หนังสือดรรชนีหนังสือพิมพ์  และหนังสือดรรชนีหนังสือ  ก็เช่นเดียวกับการใช้ดรรชนีในหนังสือสารานุกรม  ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเปิดค้นที่หัวเรื่อง  บางครั้งถ้าผู้ใช้จำชื่อผู้แต่งได้อาจจะค้นได้ภายใต้ชื่อผู้แต่ง  สำหรับวิธีการใช้หนังสือดรรชนี  โดยทั่วไปสรุปเป็นข้อ ๆ  ได้ดังนี้ 

          1)  พิจารณาดูว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการเป็นบทความในวารสาร  หนังสือพิมพ์หรือหนังสือ  เลือกใช้ดรรชนีให้ตรงกับข้อมูลที่ต้องการ

          2)  ข้อมูลที่มีอยู่เป็นข้อมูลลักษณะใด  ชื่อผู้เขียนหรือชื่อบทความ  เลือกใช้ดรรชนีให้ตรงกับข้อมูลที่มีอยู่

          3)  ก่อนใช้ดรรชนีแต่ละชื่อเรื่อง  ควรอ่านคำแนะนำการใช้เป็นลำดับแรก

          4)  เมื่อได้ข้อเท็จจริงที่ต้องการแล้ว  พิจารณาแต่ละข้อความว่าหมายถึงอะไร  แล้วจึงดำเนินการค้นหาบทความที่ต้องการ               

ดรรชนีจำแนกได้  3  ประเภท  คือ

1.  ดรรชนีวารสาร  เป็นเครื่องมือช่วยค้นบทความในวารสาร  แต่ละรายการประกอบด้วย  ชื่อผู้เขียนบทความ  ชื่อบทความ  ชื่อวารสาร  ปีที่  ฉบับที่  เดือน  ปี  และเลขหน้าของบทความ  พร้อมทั้งจัดเรียงให้ค้นหาบทความได้สะดวกรวดเร็ว  ด้วยการแยกเป็น  ดรรชนีหัวเรื่อง  ดรรชนีชื่อเรื่อง  และดรรชนีผู้เขียนบทความ

2.  ดรรชนีหนังสือพิมพ์   เป็นหนังสือที่ให้รายละเอียดว่าบทความ  เรื่องราว  หรือข่าวสำคัญที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นั้น  อยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับใด  พิมพ์ออกเมื่อใด  อยู่หน้าหรือคอลัมน์ไหน  รายละเอียดในการช่วยสืบค้นจากหนังสือพิมพ์  ผู้จัดทำจะรวบรวมไว้โดยกำหนดหัวเรื่องหรือชื่อบทความเรียงตามลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง

3.   ดรรชนีหนังสือ  ส่วนใหญ่จะอยู่ท้ายเล่มของหนังสือ  เพื่อช่วยให้ค้นหาหัวข้อสำคัญ  หรือรายการสำคัญในหนังสือได้สะดวกและรวดเร็ว

 

หนังสือดรรชนีที่ควรรู้จัก

                1.  ดรรชนีวารสารไทย  โดย  สำนักบรรณสารการพัฒนา  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

                2.  ดรรชนีวารสารการศึกษาแห่งชาติ  โดย  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ

                3.  ดรรชนีวารสารทางการศึกษา  โดย  อนันต์  ส่งอำไพ

 

สรุป

          หนังสือดรรชนี  ประกอบด้วยรายการที่มีการจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบส่วนมาก    เรียงตามลำดับอักษรง่ายแก่ผู้ใช้จะใช้ค้นหาข้อมูล  ปัจจุบันการจัดทำดรรชนีได้มีการนำเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย  หนังสือดรรชนีแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ  ได้แก่  หนังสือดรรชนีวารสาร  หนังสือดรรชนีหนังสือพิมพ์ และหนังสือดรรชนีหนังสือ  เป็นต้น            หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคุณภาพของหนังสือดรรชนีต้องดูที่ผู้จัดพิมพ์ขอบเขต  รูปแบบ  หัวเรื่อง  ความทันสมัยและการลงรายการ

 

แหล่งที่มา

 

       นันทา  วิทวุฒิศักดิ์.  สารนิเทศและการศึกษาค้นคว้า. 

พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : ดี.ดี.บุ๊คสโตร์, 2536.

       สุทธิลักษณ์  อำพันวงศ์.  การใช้บริการห้องสมุดและการเขียนรายงานการค้นคว้า.  พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2535. 

       สุนิตย์  เย็นสบาย.  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิง. 

พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์  คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, 2543.

_____ .  สารนิเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า.  กรุงเทพฯ : ภาควิชา

บรรณารักษศาสตร์  คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบัน

ราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, 2539.

หมายเลขบันทึก: 240981เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2009 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากกๆนะคะที่ให้ความรู้  ช่วยหนูได้เยอะเลยคะ

ยังไงก็เอามาฝากอีกนะคะ  ขอบคุณค่ะ

เท่านี้หนูเรียนสารสนเทศมาเนี่ย รู้สึกว่าอะไรที่เกี่ยวกับห้องสมุดมันจะยากมากเลยค่ะ

หนูน่ะผ่านวิชาพวกที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาหมดแล้ว เหลือก็แต่เรื่องที่เกี่ยวกับห้องสุดนี่แหละที่ยังไม่ผ่าน

ยากมากกกกกกก แบบว่า มีอะไรมากมายอ่ะ ที่เราจะต้องมี ต้องเป็นคนที่เก่งจิงๆนะ ถึงจะจัดการทุกอย่างภายในห้องสมุดได้

แบบว่า...เก่งรอบด้านเลยก็ว่าได้ ไม่อย่างนั้นการจัดสารสนเทศต่างๆให้เข้าถึงผู้ใช้ที่ต้องการค้นคว้านั้นก็จะได้สะดวกและรวดเร็ว

ซึ่งนั่นก็หมายถึง...ผู้ประกอบการจะต้องวิเคราะห็ได้เก่งมากๆจับใจความสำคัญของเนื้อหาออกมาได้อย่างดีเยี่ยม แล้วนำมาจัดลำดับให้ผู้ใช้บริการได้ค้นคว้า ดังนั้นจะเห็นได้ว่า...บรรณารักษ์มีบทบทาที่สำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าใครที่ต้องการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมก็ยังต้องพึ่งพาบรรณรักษ์อยู่ดี....

ขอบคุณจิงๆนะคะ....^_^

ขอบคุณมากคับที่ให้ผมได้รุ้อะไรเยอะขึ้นอีกมาก

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท