โพรงไม้ตาย


"ราชการเขาให้ตัดสาง    โค่นต้นไม้ยืนตายและไม้เล็กอื่นๆไม่ให้รก"   แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านเปร็ดในอธิบายไปเรื่อยๆ  ขณะพวกเราเดินศึกษาป่าชายเลน

"ที่จริง ไม้ยอดด้วน ต้นไม้ยืนตาย เป็นที่อยู่อาศัยวางไข่ของนกของแมลง"

"โพรงไม้เป็นที่ขังของน้ำจืด  ทำให้สัตว์หลายชนิดมีชีวิตรอดในป่าชายเลนได้"

"ไม้เล็กใหญ่หลายชนิดออกดอกไม่พร้อมกัน  ทำให้ผึ้งมีดอกไม้ไว้กินน้ำหวานตลอดทั้งปี"

"เวลาตัดสางป่า  ใบไม้จำนวนมากถูกริดลงทับถมในดิน เกิดแกสที่รุนแรงเกินไปสำหรับสัตว์เล็กๆ  ใบไม้ทับถมลงมากอาจเป็นอาหารอย่างดีของสัตว์บางชนิดในช่วงหนึ่ง  แต่หลังสางป่าแล้ว เหลือใบไม้ร่วงลงดินในช่วงต่อมาน้อยลง    ช่วงนั้น  อาหารกลับไม่พอกิน"

เราชื่นชมกับภูมิปัญญา  นักศึกษาบางคนก็ชื่นชม  แต่บางคนก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา...

......

ชาวบ้านพาพวกเราเดินไปเรื่อยๆตามทางเดินป่าชายเลนที่ทำด้วยปูน  บางช่วงทำเป็นสะพานปูน  บางช่วงก็วางทางเดินปูนบนคันดินที่นายทุนมาขุดไว้สมัยบุกรุกป่า

"ราชการจะให้ซื้อเหล็กมาทำโครงปูน  แต่เราไม่เอา เพราะเหล็กไม่ทนกับน้ำเค็ม  ใช้ไม้ไผ่ทนทานกว่า"   เราฟังแล้วนึกถึงพี่เรืองที่นครศรีธรรมราช ที่บ่นอุบกับโครงการของจังหวัด  ทำอะไรสักอย่างในทะเล  แต่ใช้เหล็กแทนไม้ไผ่ภูมิปัญญา  ปัญหาเดียวกันความไม่คงทน

พวกเราเดินมาจนถึงปลายสะพาน  โผล่ออกจากป่าเกือบทึบ  ก็พบกับทะเลกว้างเวิ้งว้างดูกระจ่างตา   ทะเลสงบเงียบ  มีกระชังเลี้ยงหอยเป็นระยะๆ   เห็นเกาะช้างรางๆ  พระอาทิตย์ดวงกลมโตสีแดงอมส้มกำลังจะตกทะเล   เปลี่ยนความเหน็ดเหนื่อยให้เป็นสดชื่นได้ทันที

ที่สะดุดตาคือ  เต๋ายาง  ที่เรียงเป็นระยะๆ บนดินเลนชายฝั่ง  เต๋ายางเป็นการเอายางรถยนต์เก่าๆมาผูกไว้ 3-4  เส้น แล้วทิ้งไว้ตรงชายฝั่งเพื่อกันคลื่นกัดเซาะฝั่ง  

"ราชการจะใช้ เต๋าปูนซีเมนต์  เราไม่เอา เพราะถ้าน้ำท่วมถึง  เรือชาวบ้านที่วิ่งเลียบชายฝั่งจะมองไม่เห็นเต๋า  ถ้าชนเต๋าปูนก็ทำให้เรือแตกเสียหาย    เรารับผิดชอบเขาไม่ได้"  

ชาวบ้านผู้เรียนรู้จากประสบการณ์ปฏิบัติจริง ยังเข้าใจปัญหาและรอบคอบกว่าหน่วยงานราชการอยู่ดึ

........

ขากลับ  เราถามว่า  เด็กๆมัคคุเทศก์น้อย  ที่เคยนำชมป่า อธิบายจ้อยๆ  เอาสมุดติดมือมาเก็บข้อมูลด้วย  เด็กๆเหล่านี้คงโตขึ้นแล้ว  พวกเขาหายไปไหนกันหมด

"โอ้ย.. เห็นพวกเขาเรียนกันจนเครียด  การบ้านเป็นร้อยๆข้อ  ก็เลยไม่อยากจะกวนแล้ว..."

เมื่อเด็กๆหายไป  แล้วใครจะเป็นผู้รับการถ่ายทอด ชื่นชมภูมิปัญญาเหล่านี้...  กุ้งหอยปูปลาที่กลับมาชุกชุมในปัจจุบันก็ด้วยภูมิปัญญาเหล่านี้มิใช่หรือ...

ถ้าภูมิปัญญาหายไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น  ความรู้ในระบบโรงเรียนไม่เคยจัดสิ่งเหล่านี้เข้าไปเป็นองค์ความรู้...

ในระบบกำลังกัดเซาะชาวบ้านอีกแล้ว..

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 240803เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2009 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ดีจังครับ อ่านบล๊อกอาจารย์เหมือนนั่งฟังอาจารย์เล่าเรื่องเหมือนเมื่อก่อน

ผมว่าบ้านเราดูขาดความประณีตในการออกแบบนโยบายหรือกฎหมายมากเลยเนอะครับ ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า สถาบัน เอาเสียเลย ทำเอาโครงสร้างแรงจูงใจในระบบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กติกาชุมชนที่ดีอยู่ก็้รวนไปหมด ...

สวัสดีครับ อาจารย์

ชอบแนวคิดของอาจารย์ที่กล่าวว่า

เมื่อเด็กๆหายไป  แล้วใครจะเป็นผู้รับการถ่ายทอด ชื่นชมภูมิปัญญาเหล่านี้...  กุ้งหอยปูปลาที่กลับมาชุกชุมในปัจจุบันก็ด้วยภูมิปัญญาเหล่านี้มิใช่หรือ...

ถ้าภูมิปัญญาหายไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น  ความรู้ในระบบโรงเรียนไม่เคยจัดสิ่งเหล่านี้เข้าไปเป็นองค์ความรู้...

ผมคิดว่า หากทุกโรงเรียนหรือสถานศึกษา หันมาเป็นศูนย์กลางในการ
จัดการความรู้
โดยเน้นไปที่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
หรือ ภูมิปัญญาบรรพชน
เช่น องค์ความรู้ของสินค้า OTOP
ก็น่าที่จะทำให้การระบบการศึกษา
ไม่แยกเด็กออกจากชุมชนได้ครับ

ผมอยากเห็นการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ของรัฐบาล
หันมามองมุมมองที่อาจารย์ได้กล่าวไปแล้วบ้างครับ

สวัสดีค่ะชล

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย และสวัสดีปีใหม่ผ่านบล็อกนะคะ ขอให้ชลกับน้องฝ้ายมีสุขภาพแข็งแรงและประสบความสำเร็จในปีใหม่นี้เช่นกันค่ะ ฝ้ายเรียนอะไรอยู่ไปถึงไหนแล้ว ส่งข่าวบ้างนะคะ น่าเสียดาย ตอนที่ฝ้ายมาช่วยงาน ไม่ค่อยได้ลงพื้นที่มากนัก แต่ปีนี้ ต้องลงพื้นที่ถี่ยิบเลยค่ะ ได้สองหนุ่มมุมคล้ายกัน (คือโอมกับวรุต) ช่วยได้มากเลยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณณภัทร

เรื่องปฏิรูปการศึกษานี่ยากจังเลยค่ะ หาจุดคลี่ปมลำบาก เพราะปมนั้นเกิดขึ้นพันกันระหว่างค่านิยมของสังคม ทิศทางของกระทรวงศึกษา ปัญหาครูอาจารย์ ความคาดหวังของผู้ปกครอง

เคยชวนนักศึกษาช่วยกันวิเคราะห์เรื่องนี้ กลายเป็นวัวพันหลักเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีอีกครั้งครับ อาจารย์

เห็นด้วยครับว่ายากและยุ่งมากจริงๆ

ผมคิดว่าโรงเรียนต่างๆ น่าจะจับมือกับชุมชน
แล้วทำการปฏิรูปเองไปเลย
ไม่ควรรอความหวังจากกระทรวงศึกษา

ตั้งเป้าหมายว่า จะให้เด็กเรียนรู้อย่างไร
ที่จะตอบสนองต่อชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้
ให้เด็กอยู่กับชุมชน
และกลับมาร่วมพัฒนาชุมชนต่อไป

ผมว่าสิ่งที่กระทรวงศึกษาควรทำอย่างยิ่ง
หากตั้งใจจริงกับการปฏิรูปการศึกษาก็คือ
"การไม่ต้องทำอะไร"

เพียงแต่สร้างกลไกให้โรงเรียนเป็นอิสระที่จะจับมือกับชุมชน
ที่จะปฏิรูปการศึกษาด้วยลำแข้งของตัวเอง

แต่ปัญหาใหญ่ 2 ประการก็คือ

1. กระทรวงศึกษา หรือรัฐบาลจะใจกว้างพอหรือไม่ที่จะให้ทำอย่างนั้น

2. โรงเรียนเองพร้อมหรือไม่ที่จะร่วมมือกับชุมชน
ที่จะจัดการศึกษาเพื่อให้ชุมชนยั่งยืน

ลำพังข้อ 1. ผมไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่
กลัวแต่ข้อ 2. นี่แหละครับ  ต้องใช้ความกล้าหาญมากๆ ทีเดียว

ขอบคุณครับ

ประสบการณ์จากบางพื้นที่พบว่า แม้ครูพร้อมจะเปลี่ยนวิธีสอน คือ พาเด็กออกไปศึกษาธรรมชาติ ทานข้าวแถวลำธารใกล้หมู่บ้าน ก็จะถูกผู้ปกครองต่อว่า หาว่าครูไม่สอน

ครูจะให้เด็กช่วยกันทำนาเป็นกองบุญข้าวสาร สำหรับอาหารกลางวัน ผู้ปกครองก็หาว่า ครูใช้แรงงานเด็กทำงาน ทำไมไม่ให้เรียนหนังสือ

ในฐานะครู ได้พบอุปสรรคตัวใหญ่ คือ ความไม่เข้าใจของผู้ปกครองต่อนิยามว่า "การศึกษา" ค่ะ

ผมคิดว่าหากมีการใช้กระบวนการสื่อสารที่ดี
เช่น
"สุนทรียสนทนา"
น่าจะลดช่องว่างดังกล่าวได้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท