๕๑. ภาวะสุขสงบฉับพลัน ผ่านศิลปะและพระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น


".....แต่ดูจังหวะการนำคณะพวกเราสัมผัสสิ่งต่างๆ กระทั่งนั่งลงสวดมนต์แล้ว ดูเหมือนว่าท่านสามารถรู้และคาดการณ์ลำดับขั้นของการเกิดประสบการณ์ทางจิตวิญญาณในสภาพแวดล้อมอย่างนั้นได้......"

             เมื่อสอง-สามสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ประสบการณ์ประหลาด เป็นภาวะที่บังเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและได้อยู่กับภาวะนั้นอยู่พักหนึ่ง รู้สึกงดงามและอัศจรรย์ใจ เหมือนมีมิ่งมิตรมาเยือนให้เป็นพลังใจ พอออกมาแล้ว ทำให้ต้องมานั่งคิดทบทวนว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร 

             ผมไปเป็นวิทยากร ให้กับกองสุขศึกษา กระทรวงสาธารณสุข กับองค์การอนามัยโลก แล้วก็ชวนทีมวิจัยไปด้วย เพื่อเตรียมสร้างทีมประเมินและถอดบทเรียนพัฒนารูปแบบสุขศึกษาชุมชน เพื่อสร้างพลังเครือข่ายต้านภัยบุหรี่และยาสูบ(1) ในกลุ่มพื้นที่ตัวอย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยถอดบทเรียนและยกระดับขึ้นจากประสบการณ์ของชมรมสร้างสุขภาพและเครือข่ายชุมชน จะศึกษาทั้งในระดับมหภาคของประเทศไทยและลงไปดูบริบทเชิงพื้นที่ระดับจุลภาค ทั้ง 4 ภูมิภาค

             สิ่งที่เชือว่าจะได้ก็คือเครือข่าย / ความมีสุขภาพในความหมายที่กว้าง / และความมีสุขภาวะดีทั้งของเยาวชน ครอบครัว และชุมชนในพื้นที่ศึกษา รวมทั้งการเคลื่อนไหวทางสังคมในวงกว้างในการสร้างภาวะการปลอดบุหรี่โดยมีเยาวชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านปฏิบัติการต่างๆ ที่เครือข่ายจะมีกระบวนการเสริมพลังให้ทำได้

            ส่วนรูปแบบและองค์ความรู้ที่จะได้ ก็จะช่วยชี้นำบทบาทที่ส่งเสริมและเกื้อหนุนกันอย่างเหมาะสมของบุคลากรทางสุขภาพทั้งในส่วนกลางและในท้องถิ่น  อสม  ผู้นำชาวบ้าน และเครือข่ายต่างๆของคนในชุมชน ในการทำงานเชิงรุก ดำเนินการสุขศึกษาชุมชนจากรอบทรรศนะที่สร้างขึ้นจากชุมชน (Community Health Education by Community-Based Perspective) ให้ปัจเจก ครอบครัว และชุมชน สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมระบบสุขภาพปฐมภูมิและสุขภาพชุมชน ได้ดียิ่งๆขึ้น

             เป็นงานที่หนักเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน เพราะต้องทำกับกลุ่มที่หลากหลาย ทั้งหลากหลายประสบการณ์ รุ่นวัย สาขาอาชีพ อีกทั้งอยู่ในบรรยากาศของสังคมที่ผู้คนหวาดระแวงฝักฝ่าย การแบ่งขั้วและการแอบแฝง ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ก็เป็นกลุ่มผู้นำการปฏิบัติของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการนำไปสู่การริเริ่มสร้างสรรค์ทางการปฏิบัติของกลุ่มคนในชนบท  จึงทำให้รู้สึกได้เหน็ดเหนื่อยเพื่อให้เกิดสิ่งดีต่อผู้อื่น พอเสร็จงาน ก็เหมือนกับได้ทำสิ่งดีงามให้สำเร็จไปขั้นหนึ่ง

           จวบกับเป็นเวลาบ่ายคล้อย และเป็นวันศุกร์สุดสัปดาห์ เลยให้ความรู้สึกได้ความเบิกบานและรื่นรมย์ใจจากการได้ทำงานเหนื่อยแรงให้ล่วงไป พรรคพวกในทีมเลยชวนกันแวะไปไหว้พระ

           หะแรกก็นึกถึงพระอาจารย์เอนก เลขาธิการมูลนิธิหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ อยากไปกราบนมัสการท่านและขอสัมผัสความสงบเงียบในวัดป่าที่ท่านพำนัก ให้ได้พลังชีวิตกลับไปเผชิญชีวิตและการงานที่ดี  ทว่า คะเนดูแล้ว กว่าจะถึงก็คงจะมืดค่ำ เลยก็ไปที่วัดหนองแวงในตัวเมืองขอนแก่น มุ่งไปกราบนมัสการพระอาจารย์สุวรรณ ซึ่งเคยเมตตาเป็นพระวิปัสสนาจารย์นำกิจกรรมเจริญสติภาวนาให้กับชมรมชีวเกษมและเครือข่ายชุมชน ที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งผมและคณะได้ร่วมกิจกรรมอยู่ด้วย

           พอไปถึง นอกจากได้กราบนมัสการท่านพระอาจารย์สุวรรณแล้ว ท่านก็ยิ่งให้ความเมตตาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงพ่อพระราชปริยัติเมธี เจ้าอาวาสวัดหนองแวง และหอพระมหาธาตุแก่นนคร อนุสรณ์สาธุชน ที่ท่านระดมพลังศรัทธามหาชนสร้างขึ้น

           ผมเลยชวนพรรคพวกขอเข้าไปดูภายในพระมหาธาตุ ท่านเห็นว่าพวกเราสนใจ ก็เลยนำเข้าชมซึ่งนับเป็นบุญวาสนาอย่างยิ่งของพวกเราเพราะนอกจากท่านเจ้าอาวาสแล้ว พระคุณเจ้านับว่าเป็นพระของวัดหนองแวงรูปหนึ่ง ที่ทรงความรู้ในรายละเอียดด้านต่างๆเป็นอย่างดีที่สุด อีกทั้งเป็นพระวิทยากรนำชมให้แก่หมู่คณะต่างๆ อยู่เสมออีกด้วย

           หอพระมหาธาตุ มีทั้งหมด 9 ชั้น มีสัณฐานเป็นรูปแห ฐานแผ่ออกเหมือนปากแห ยอดบนสุดประยุกต์และผสมผสานรูปแบบพระธาตุพนมกับก้านไม้เรียวหวดฟ้า สูงลิบจนแหงนคอตั้งบ่า ปลายสอบ ลดหลั่นขึ้นไปจากฐาน เพรียวลงจนเหมือนเสียดยอดและหายวับไปกับความว่างเปล่าของนภากาศ ซึ่งพระอาจารย์สุวรรณไขขานให้ว่าเป็นนิมิตของพระเดชพระคุณท่านหลวงพ่อ พระราชปริยัติเมธี (ดูภาพประกอบท้ายบันทึก)

          ช่วงเวลาที่คณะของผมเริ่มเข้าไปในหอพระมหาธาตุนั้น เป็นเวลาเกือบห้าโมงเย็น  คนทั่วไปกลับเกือบหมด และเป็นเวลาที่จะปิดให้เข้าชมแล้ว สภาพแวดล้อมทุกอย่างจึงสงบ วังเวง โอ่อ่า เห็นพลังความยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราตระหนักรู้ถึงความเป็นสิ่งเล็กๆของตน ท่ามกลางงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ทั้งเบื้องหน้าและโดยรอบในที่แห่งนั้น

          สัมผัสได้ถึงความเงียบ

          เสียงสาธยายเรื่องราวต่างๆของพระอาจารย์สุวรรณ เหมือนเป็นคลื่นที่ลอยกังวานอยู่ในบรรยากาศ

          ท่านเริ่มนำพวกเรากราบนมัสการพระพุทธปฏิมา ทำให้จิตใจเริ่มเข้าสู่ความเป็นสมาธิ

          จากนั้นก็เริ่มเดินดูภาพเขียนฝาผนังโดยรอบ ชั้นล่างเป็นภาพที่พรรณาเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นของชนสมัยโบราณจากร้อยเอ็ด ส่วนหนึ่งของแขวงเมืองสุวรรณภูมิ สู่เมืองขอนแก่น

          ภาพเขียน เป็นภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังยุคใหม่ ทำขึ้นในช่วง 2546-2549 เขียนสีน้ำมันบนพื้นปูน มุมล่างของภาพลงนามพู่กันของช่างผู้เขียนว่า ธรรมธาตุ ซึ่งในเอกสารความรู้ระบุว่านามจริงคือ นายธรรมรงค์ แก้วโบราญ ดูเหมือนว่าจะเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชมงคลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

          

            ภาพที่ 1 จากซ้ายไปขวา  :  อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ  คุณเริงวิชญ์  นิลโคตร  ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  พระอาจารย์สุวรรณ์  คุณสนั่น  ไชยเสน  คุณกานต์  จันทวงษ์ หน้าพระประธานชั้นที่หนึ่งของหอพระมหาธาตุแก่นนคร อนุสรณ์สาธุชน วัดหนองแวง  อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

             พระอาจารย์สุวรรณ กลายเป็นมัคุเทศน์ทางจิตวิญญาณไปโดยที่คณะของผมก็ไม่ทันได้รู้ตัว โดยเฉพาะผมเอง ซึ่งมีความชอบในงานศิลปะ การวิจัยสร้างความรู้ท้องถิ่น และการสร้างแหล่งการเรียนรู้วิถีท้องถิ่น อยู่เป็นทุนเดิม พอเริ่มเดินไปรอบๆพร้อมกับการนำชมและการบรรยายอย่างต่อเนื่องของพระอาจารย์สุวรรณ ผมก็เข้าไปอยู่ในธรรมารมณ์ที่ท่านสาธยาย เป็นขั้นๆ ตามลำดับชั้นของหอพระมหาธาตุ ผมมานั่งทบทวนดูในภายหลังจึงพอจะเข้าใจและเห็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของการออกแบบและจัดวางองค์ประกอบต่างๆอย่างแยบคาย ในหอพระมหาธาตุแต่ละชั้นนี้

 

                                                                ภาพที่ 2  ภาพแกะสลักไม้สักทอง ลายนูนสูง  ฝีมือช่างล้านนา   

         จากประวัติศาสตร์และพัฒนาการของเมืองขอนแก่น  ก็เป็นชั้นสอง วิถีชีวิตและวิถีภูมิปัญญาที่มาในฮีตสิบสอง ซึ่งว่าด้วยวิถีสังคมแห่งคุณธรรมและบุญนิยม แสดงแนวคิดและวิถีการทำบุญในวาระต่างๆ ตลอดปีในแต่ละเดือน เพื่อเป็นหลักกำกับวิถีคิดวิถีปฏิบัติของชุมชนและระบบสังคม ให้สอดคล้องกลมกลืนกับวิถีการผลิตซึ่งมีความสัมพันธ์กับปัจจัยพื้นฐานของการผลิต ธรรมชาติ และฤดูกาล อย่างใกล้ชิด

        คองสิบสี่  เป็นหลักจารีตประเพณี แสดงแนวปฏิบัติที่ควรทำเพื่อจัดระเบียบสังคมและจัดความสัมพันธ์ระหว่างกันในขอบเขตต่างๆ นับแต่ระดับครอบครัว  ระหว่างความแตกต่างทางเพศ  ระหว่างรุ่นวัย  ชุมชน และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

       ให้หลักคิดและวิถีที่พึงปฏิบัติเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของปัจเจก ครอบครัวและชุมชน ในลักษณะที่เป็นความสุขและความศานติร่วมกันของส่วนรวม หรือสุขสาธารณะ

 

                                    

                                   ภาพที่ 3 และภาพที่ 4  แสดงลักษณะการเขียนภาพ เน้นการบันทึกและเล่าเรื่อง  วิถีชีวิตและฮีตสิบสอง

            จากนั้นก็เป็นคะลำ หรือข้อห้าม ข้อที่พึงละเว้นไม่ควรกระทำในกาละเทศะต่างๆ และต่อบุคคล รวมทั้งหมู่คณะ 

            ทั้งสองส่วน ครอบคลุมแนวคิดและหลักปฏิบัติที่ควรและไม่ควรกระทำ (Do and Don't Do) รวมไปจนถึงหลักจารีตและกฏหมายธรรมชาติ ให้พื้นฐานนับแต่หน้าที่และวิถีพลเมือง ไปจนถึงระบบสังคม สิ่งแวดล้อมและการวางท่าทีของมนุษย์ต่อธรรมชาติ ฤดูกาล จักรราศีทั้งในสุริยคติและจันทรคติ

            ภาพเขียนทั้งหมด สื่อสะท้อนถึงการวิจัยศึกษาข้อมูล และผ่านการถก  ติ  ปรับแต่ง ให้สามารถบันทึกและใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวต่างๆได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทางหลวงพ่อได้ทำหนังสือคู่มือการเรียนรู้สำหรับให้การศึกษาสำหรับคนทั่วไป โดยมีทั้งภาพเขียน คำอธิบายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ(2) ทำให้ภายในหอพระมหาธาตุ ทำหน้าที่ได้อย่างผสมผสาน ต่อท้องถิ่นและสาธารณชนผู้มาเยือน

 

             ภาพที่ 5   ตัวอย่างวิถีคิด คะลำ หรือข้อห้าม ไม่ยืนคร่อมหัวผู้อาวุโส  ยืนขึ้นสูงกว่าในขณะที่มีผู้ใหญ่นั่งอยู่ พูดหรือทำกริยากับผู้อื่นข้ามหัวผู้ใหญ่ แสดงความไม่เป็นผู้มีสัมมาคารวะ ไม่รู้กาละเทศะ ไม่มีความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่

          ทางหนึ่ง ก็เหมือนกับเป็นแหล่งสืบสานมรดกทางปัญญาอันลึกซึ้งของสังคมนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน อีกทางหนึ่งก็เป็นแหล่งให้ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ  แหล่งปฏิบัติกิจทางศาสนา และที่สำคัญ เป็นเสมือนมหาวิทยาลัยชีวิตของปวงชน จึงระหว่างที่เดินเรียนรู้ ก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงพลังการขัดเกลาจากสภาพแวดล้อมทั้งมวลโดยรอบ มีความกว้างขวาง รอบรู้ และยกระดับความละเอียด ประณีต ด้วยการจัดวางสิ่งต่างๆอย่างแยบคาย

          หากดูความลึกซึ้ง รอบด้าน และองค์ประกอบต่างๆที่สะท้อนระบบคิดเกี่ยวกับจักรวาล โลก ทรรศนะทางพุทธธรรม ประวัติศาสตร์และความเป็นหนึ่งเดียวกับจิตวิญญาณท้องถิ่น เข้าไปไว้ในองค์พระมหาธาตุทั้ง 9 ชั้นอย่างหมดจรดแล้ว ก็ต้องจัดว่าเป็นประดิษฐกรรมทางปัญญาแห่งยุคสมัย ที่ยิ่งใหญ่กว่าการจารึกทางปัญญาลงในงานศาสนสถานหลายแห่งในโลก ในอนาคตจะเป็นมรดกวิถีธรรมและวิถีภูมิปัญญาที่น่าอัศจรรย์อย่างที่สุดแห่งหนึ่ง

 

          ภาพที่ 6   สภาพแวดล้อม วิถีชุมชน และความเป็นอยู่ในเชิงอุดมคติ  แสดงวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันของครอบครัว  บ้าน  ชุมชน และวัด 

           การสัมผัสตรงหลากหลายช่องทางและการได้นำตนเองเข้าไปอยู่ในบรรยากาศ และสภาพแวดล้อม ที่องค์ประกอบต่างๆ ถูกออกแบบและจัดวาง ให้มีรหัสนัยต่อภูมิปัญญาอยู่ในทุกกระเบียดทั้งภายนอกและภายในพระมหาธาตุ  แม้นเป็นคนทั่วไปที่อ่านหนังสือไม่ออก ก็เชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงภาวะสูงสุดและเห็นมรรควิถีแห่งชีวิต ด้วยความตื่นรู้และตระหนักขึ้นภายในประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของตนได้  นับว่าเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชนโดยแท้

           กระทั่งถึงสามชั้นสุดท้าย ก็เริ่มด้วยชั้นที่เกียวกับพระสงฆ์ มีรูปปั้นพระผู้ใหญ่  สมเด็จพระสังฆราช และครูอาจารย์ของท่านเจ้าอาวาส เป็นรูปปั้นเท่าองค์จริง นับได้กว่า 10 รูป เห็นทั้งการจรดจารเรื่องราวของผู้นำทางจิตวิญญาณเพื่อสืบทอดแก่สังคม และเห็นมิติทางสังคมผู้นำทางจิตใจ (Spiritual Leadership Society) ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น  รวมทั้งเห็นพลังแห่งกตัญญูกตเวทิตาในอีกมิติหนึ่งของสังคมอารยะ (Civil Society) ที่ท่านหลวงพ่อ พระราชปริยัติเมธี ปฏิบัติต่อครูอาจารย์ของท่าน

 

          ภาพที่ 7    บันทึกและเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของเมืองและพัฒนาการของมณฑลในภูมิภาค กล่าวถึงปีพุทธศักราช 2450 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงวิไสยสิทธิกรรม (จีน ปิยรัตน์) ได้มาเป็นเจ้าเมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นยุคการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาระบบการบริหารจัดการเมืองของท้องถิ่นและในมณฑล  มีการย้ายที่ตั้งเมืองและที่ว่าการถึง 5 ครั้งด้วยกัน

          ถัดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งเป็นหอพระธรรม  ก็จะยิ่งสอบเล็กลง สัมผัสลมเย็นและความเวิ้งว้างบนหอคอยสูงอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

          กระทั่งชั้นสูงสุดเป็นหอแห่งความเป็นพุทธธะ และจัดวางให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในบุษบก 9 ยอด ซึ่งเป็นจุดที่จะทำให้สามารถรู้สึกได้ถึงความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งกับสรรพสิ่งรอบข้าง

          การเดินขึ้น พร้อมกับค่อยๆเรียนรู้ เปลี่ยนลำดับขั้นของเรื่องราวกลมกลืนไปกับการก้าวเดินจากชั้นที่หนึ่งอันกว้างใหญ่โอ่โถงของหอพระมหาธาตุ กระทั่งขึ้นสู่ชั้นที่เจ็ด  แปด แล้วก็ชั้นที่เก้า ซึ่งพอโผล่ขึ้นไปก็เห็นบุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เด่นเป็นประธานอยู่ตรงกลาง 

         ความตื่นตัวและความตื่นรู้ทั้งมวลที่ค่อยๆบังเกิดขึ้นอย่างเป็นระเบียบ ระหว่างปฏิสัมพันธ์เป็นหนึ่งกับบรรยากาศแวดล้อมทั้งมวลของชั้นต่างๆในหอพระมหาธาตุ พลันก็หลอมรวมพุ่งตรงไปยังพระบรมสารีริกธาตุ สายลมบนที่เกรียวกรูดังสายธารธรรมไหลผ่านตัวเรากับภาวะผสมผสานของสรรพสิ่งที่ปรากฏขึ้นอย่างฉับพลันเบื้องหน้า เชื่อมโยงตัวเราให้เป็นจุดเล็กๆ เปิดออกสู่ความว่างเปล่าอันไร้ขอบเขตรอบทิศ 

         พื้นโดยรอบสามารถนั่งล้อมวงได้ชั้นเดียว เป็นกรอบจัดวางตนเองของผู้ที่เข้าไปสู่กายภาพพื้นที่ดังกล่าวนั้นให้แผ่กระจายออกเป็นรัศมีโดยรอบ โดยมีพระบรมสารีริกธาตุเป็นศูนย์กลาง 

         ทั้งสี่ด้านเปิดออก  แลเห็นเวิ้งฟ้าและพื้นล่างเป็นอาณาบริเวณสุดสายตาที่ค่อยๆกลืนกลายเป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นฟ้ากว้างรอบทิศ ทำให้เข้าสู่ความผ่อนคลาย จิตใจเปิดออก  สบาย 

          ผมเองนั้น กำลังยืนเพ่งสมาธิไปที่องค์พระบรมสารีริกธาตุ ได้อารมณ์ภาวนาและติดตากับภาพเบื้องหน้า ผสมผสานเป็นหนึ่งกับบรรยากาศโดยรอบ

         พลัน พระอาจารย์สุวรรณท่านก็นำพวกเรานั่งลง สวดมนต์บูชาพระบรมสารีริกธาตุ  นับแต่การตั้งนโมสามจบ บทบูชาพระรัตนตรัย และบทสาธยายพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ อย่างเต็มที่ จากนั้นก็ว่าด้วยบทแผ่เมตตา

         การอยู่ในสภาพแวดล้อมอันสัปปายะอย่างยิ่งอย่างนั้น เมื่อได้ร่วมกันนั่งสาธยายคุณอันประเสริฐแห่งพระรัตนตรัยอย่างฉับพลัน ผมก็ได้สัมผัสกับความเป็นสมาธิในอีกมิติหนึ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นแก่ตนเองมาก่อน(3)  สวดมนต์ไปนิดเดียวผมก็รู้สึกเหมือนตัวเองเหลือเพียงคลื่นของเสียงสวดมนต์ที่ผสานไปกับเสียงกังวานล่องลอยไปในบรรยากาศโดยรอบของหมู่คณะ  แล้วก็เห็นก้อนควันขาวบางเบา เป็นก้อนเหมือนดอกบัว ลอยอยู่ตรงกลางในความตระหนักรู้ต่อตัวเอง ทำให้เหมือนมีพลังในการสวด และได้อยู่กับอารมณ์อย่างนั้น กระทั่งสวดจบ ซึ่งเป็นเวลาประมาณ  15 นาที(4) 

          ผมไม่กล้าเล่าให้พระอาจารย์สุวรรณฟัง แต่ดูจังหวะการนำคณะพวกเราสัมผัสสิ่งต่างๆ กระทั่งนั่งลงสวดมนต์แล้ว ดูเหมือนว่าท่านสามารถรู้และคาดการณ์ลำดับขั้นของการเกิดประสบการณ์ทางจิตวิญญาณในสภาพแวดล้อมอย่างนั้นได้

 

                      ภาพที่ 8  โรงเรียนวัดหนองแวง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น  เชื่อมต่อเป็นอาณาบริเวณเดียวกันกับวัดและองค์พระมหาธาตุ ภาพนี้ถ่ายจากชั้นที่ 9 ของหอพระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สาธุชน วัดหนองแวง จะสังเกตว่า อาคารเรียนเป็นตึกสูง 4 ชั้น ซึ่งโดยมาตรฐานทั่วไปจะสูงชั้นละสามเมตรครึ่งหรือ 350 เซนติเมตร และรวมความสูงของหลังคาหน้าจั่วซึ่งจะเห็นว่าสูงชันมากกว่าสองเท่าของความสูงหนึ่งชั้น รวมแล้วน่าจะประมาณ 3 เท่าของเสาไฟฟ้าข้างถนนทั่วไป ก็ยังกลายเป็นต่ำกว่าระดับสายตาลงไปอย่างมาก บ่งบอกถึงความสูงขององค์พระมหาธาตุ และการจัดวางพระบรมสารีริกธาตุบนชั้นสูงสุด ชั้นที่ 9 อย่างนี้  ก็ย่อมให้ประสบการณ์เชิงสัมผัสด้วยปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เหมือนสภาพทั่วไปบนพื้นโลก

             หลังจากออกจากหอพระธาตุแล้ว ท่านก็นำคณะของผมไปกราบนมัสการหลวงพ่อ พระราชปริยัติเมธี ซึ่งเพียงได้กราบก็ได้รับธรรมบารมีมากมายแล้ว ทว่า ไม่เพียงเท่านั้น ท่านได้นั่งคุย ให้หลักคิด และกล่าวเสริมพลังใจในการกลับออกไปทำหน้าที่และดำเนินชีวิตให้ดี มากมาย

            ผมและคณะ จึงเดินทางกลับด้วยความอิ่มปีติ เป็นการให้รางวัลแก่ตนเองโดยไม่ได้คาดหมายกันว่าจะได้ทุกสิ่งอย่างอันสุดประมาณอย่างนั้น เพราะแต่เดิม ต้องการกราบพระหลังเลิกงาน เพื่อเยี่ยมเยียนและหามงคลใส่ตัวกันก่อนเดินทางกลับเท่านั้น

-----------------------------------------------------------------------

(1)  โครงการพัฒนาเครือข่ายด้านสุขภาพร่วมต้านภัยบุหรี่  ดำเนินการภาคปฏิบัติการในชุมชน ในพื้นที่ตัวอย่าง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยกองสุขศึกษา กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก และโครงการวิจัยประเมินและถอดบทเรียนแบบเสริมพลัง ดำเนินการเป็นอีกมิติหนึ่งของโครงการ โดยสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดย ศจย : ศูนย์จัดการความรู้เพื่อควบคุมและป้องกันการบริโภคบุหรี่และยาสูบ และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)  เป็นโครงการแบบบูรณาการและดำเนินการแบบความร่วมมือของเครือข่ายพหุภาคี (Collaboration and Multisectoral Networking) มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ระหว่างกันยายน 2551- มิถุนายน 2552

(2)  พระราชปริยัติเมธี (2546) ประวัติเมืองขอนแก่น ของดีเมืองขอนแก่น วิถีชีวิตชาวบ้าน ฮีตสิบสอง คองสิบสี่. ขอนแก่น : วัดหนองแวง พระอารามหลวง.

 (3)  ในทางศิลปะ ก็มีการทำงานศิลปะประเภทหนึ่งที่ประมวลผลสภาพแวดล้อมและจัดแสดงงานขึ้นอย่างฉบัพลัน ให้ผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงงาน  สามารถเข้าถึงอารมณ์ร่วม และได้สุนทรียภาพความเป็นศิลปะภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมจำเพาะในชั่วขณะนั้นๆ ด้วยตนเอง เรียกว่า ศิลปะแบบฉับพลัน (Happening Art) 

 (4) ผมเคยมีประสบการณ์คล้ายกันอย่างนี้ ทว่า เป็นอีกแบบหนึ่ง ระหว่างการทำสมาธิแบบอาณาปนสติเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยได้อารมณ์กรรมฐาน ที่โปร่งเบาเหมือนกับตัวลอยล่องอยู่กลางอากาศแล้วก็เห็นแต่หน้าพระพุทธรูปลอยอยู่เบื้องหน้าอยู่ตลอดเวลา จะเดิน นั่ง นอน ก็เข้าสู่อารมณ์นั้นได้ง่ายๆอยู่ตลอดเวลาจนไม่อยากออกไปทำอย่างอื่นแม้แต่กินข้าว ต่อเนื่องอยู่สองสามวัน จากนั้น ก็ไม่เคยมีจิตละเอียดและความสงบใจพอที่จะเข้าสู่อารมณ์กรรมฐานอย่างนั้นได้อีกเลยนับเป็นสิบปี

หมายเลขบันทึก: 240607เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2009 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

·        ขอเพิ่มเติมต่อจากอาจารย์นะคะ ......

·        ภาพของ พระมหาธาตุแก่นนคร อนุสรณ์สาธุชน คะ .....

พระมหาธาตุแก่นนคร อนุสรณ์สาธุชน

วัดหนองแวง พระอารามหลวง

บุษบก 9 ยอด

ทำด้วยไม้มงคล 4 อย่าง

(แก่นขาม แก่นขนุน แก่นคูณ และแก่นยอ)

ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

 

วันนั้นปลื้มปิติมากๆ อย่างที่อาจารย์กล่าวจริงๆ คะ

 

 

 

ลบออกให้แล้วครับ ขอบคุณ อ.ณัฐพัชร์มากเลยที่ช่วยนำภาพพระมหาธาตุมาต่อเติมให้ ทำให้คนอ่านเห็นภาพรวมได้ดีขึ้นครับ มุมถ่ายภาพสวยด้วยครับ

สวัสดีครับ พี่ ลืมซอย ๖ หรือยังครับ เรายังคิดถึง อยู่เสมอมา ทราบว่าย้ายไปสิ่งแวดล้อม ใช่ไหม

  • จริงหรือนี่ เซอร์ไพรซ์จริงๆครับรงค์ อาจารย์เป็ดและเจ้าบอสส พี่แอ๊ว เจ้าหนึ่งน้องนิ๊งและเจ้าตัวเล็ก และ ดร.ทวีวัฒน์ สุขสบายกันดีรึ
  • เมื่อเดือนที่แล้วได้เจอ อาจารย์ ดร.ทวีวัฒน์ ยังออกปากหารือและชวนกันอยู่เลยว่าจะรวมคนซอย ๖ ทานข้าวด้วยกัน
  • เคยผ่านและแวะมอง สภาพเปลี่ยนไปจนจำไม่ได้เลยนะ ดูแออัด ทึบ แต่ก็คงสะดวกและดูอุ่นใจ มากกว่าเดิม
  • ดีใจมากเลยรงค์ที่แวะเข้ามาอ่าน
  • จัดเวลาและวางโปรแกรมพร้อมหน้าพร้อมตากันสักวันหน่อยสิ พี่กับหน่อยขอเป็นเจ้าภาพเอง
  • รักและคิดถึงทั้งบ้านเลย

ข่าวเร็วจริง กำลังขอไปอยู่ที่คณะสังคมแน่ะ ไม่ใช่คณะสิ่งแวดล้อมฯ ไม่มีอะไรแปลกต่างไปกว่าที่เดิมหรอก แต่อยากออกไปอยู่ต่างจังหวัดแล้ว ก่อนไปเลยอยากเปลี่ยนอริยาบทไปทำวิจัยและทำประสบการณ์วิชาการกับทีมอาจารย์อีกทีมหนึ่งที่ต่างออกไปจากเดิม จะเอาไปใช้ทำงานและเป็นเครือข่ายทำงานกันในอนาคตน่ะครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • เห็นภาพแล้วนึกถึงวิถีชีวิตเก่า ๆ เต็มไปหมดทุกที่ทุกแห่งคล้าย ๆ กันในชุมชนไทย
  • แต่แปลกดีวัดวาอารามไม่ค่อยจำลองภาพชุดนี้เก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเลย
  • เคยเสนอความคิดให้เจ้าอาวาสที่ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก
  • ให้จำลองวิถีชีวิตชาวบ้านบริเวณใกล้ ๆ วัดไว้บ้าง เพราะมีความน่าสนใจด้วยว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ย้ายมาจากต่างจังหวัด เมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านมา
  • มาจากชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี คนเก่าพูดเหน่อแบบสุพรรณบุรีเยอะ
  • โยมบอกว่าเมื่อมาใหม่ ๆ จะไปซื้อของใช้ในตลาดบ้านกร่างต้องเดินทางลุยโคลนบ้าง ฝุ่นบ้างเป็นวันครึ่งวัน
  • ในหมู่บ้านแม่ระหัน ต.บ้านกร่างนี้มีปลาชุมด้วย มีแม่น้ำยมไหลผ่าน ทำนาปรังได้ปีละ ๒ ครั้ง
  • บางครอบครัวย้ายมาจากสุพรรณบุรีด้วยเรือ เอาของใสเรือมาเต็มลำเรือเดินทางหลายวันกว่าจะถึงพิษณุโลก
  • แต่ชาวบ้านก็ชอบภาพพุทธประวัติ พระเจ้าสิบชาติ เมื่อชอบก็เป็นเจ้าภาพทางวัดสนองศรัทธาไปตามนั้น ก็เลยไม่ได้ภาพวิถีชีวิตของตนเองให้ได้เกิดเป็นความภูมิใจแก่ลูกหลานแก่ชุมชนของตัว
  • บันทึกก็ไม่มี ภาพถ่ายก็ไม่มี ภาพเขียนก็ไม่มี คำบอกเล่าก็เกือบจะไม่มีลูกหลานสนอกสนใจอยากจะฟัง ต่อไปก็ลืมเลือนสูญหายหลงลืมตนเองไปอีกหนึ่งชุมชน

ขอเจริญพร 

  • ผมดีใจที่พระคุณเจ้าได้เข้ามาในหัวข้อนี้และเห็นความสำคัญในเรื่องการเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของท้องถิ่น
  • ผมเองก็ประทับใจในการเข้ามามีบทบาทอย่างนี้ต่อท้องถิ่นของวัดครับ เลยพยายามบันทึกและถ่ายทอดไว้
  • รูปแบบอย่างนี้ ดูแล้วมีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อวัด เพราะให้ที่อื่นทำก็คงจะทำได้ไม่ดีเท่า แต่การทำอย่างนี้ จะอาศัยแต่ บวร : บ้าน วัด และโรงเรียน คงจะไม่พอครับ
  • ที่วัดหนองแวงนี้ ผมสังเกตว่าเขาอาศัยคนเพิ่มอีก ๓ กลุ่มที่สำคัญ คือ (๑) สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ซึ่งในกรณีของวัดหนองแวงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  (๒) กลุ่มคนที่เป็นภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรม ทั้งด้านแกะสลัก การทำงานพุทธศิลป์ การศึกษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มาจากคติความเชื่อของชาวบ้าน (๓) กลุ่มนักธุรกิจและนายทุนท้องถิ่น ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างสิ่งที่เป็นมรดกทางสังคม มากกว่าการทำบุญธรรมดา 
  • เมื่อก่อนวัดก็มีบทบาทในการเป็นแหล่งสะสมความรู้ สร้างปัญญา และเป็นแหล่งให้การศึกษาอบรมแก่ชุมชน ที่สำคัญมาก ในด้านที่ยังขาดอยู่มากก็เห็นอย่างที่พระคุณเจ้าตั้งข้อสังเกตครับคือ การมีแหล่งบันทึกวิถีชีวิตและเรื่องราวต่างๆของชุมชน เก็บไว้ให้ชุมชนและลูกหลาน

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท